05/02/2024
#เล่าเรื่องเครื่องราง : พระสมเด็จจิตรลดา พระอัจฉริยภาพในการสร้าง Soft Power
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง โลกได้ถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายโลกเสรี และฝ่ายคอมมิวนิสต์ และเข้าสู่ยุคสงครามอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ยุคสงครามเย็น” ประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็นโดยอยู่ในฝ่ายโลกเสรีและมีส่วนในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั้งในประเทศและนอกประเทศ
โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางพุทธทศวรรษ 2500 เมื่อสถานการณ์ภายนอกประเทศได้เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอุดมการณ์ของทั้งสองฝ่าย ประเทศไทยก็มีส่วนร่วมโดยให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2504
และสถานการณ์ในประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ประกาศต่อสู้ด้วยอาวุธเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2508 ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดเรื่องภัยคุกคามคอมมิวนิสต์เพิ่มสูงขึ้น
การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ไม่ได้ถูกจำกัดวงเพียงการต่อสู้ทางการทหาร หรือการใช้กำลังเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐไทยในการเอาชนะคอมมิวนิสต์อีกด้วย
หากกล่าวถึงรากฐานของวัฒนธรรมไทยนั้น พระมหากษัตริย์และพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทย ในช่วงสถานการณ์ที่รัฐไทยกังวลต่อภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งขึ้นเพื่อนำไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และได้เททองหล่อพระพุทธรูปนั้นขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509 และได้โปรดเกล้าฯ ขนานพระนามพระพุทธรูปนั้นว่า “พระพุทธนวราชบพิตร”
และที่ฐานของพระพุทธนวราชขบพิตรนั้นได้บรรจุพระพิมพ์องค์เล็กไว้อีกองค์หนึ่งซึ่งไม่มีชื่อเป็นทางการแต่ในเอกสารราชการเรียกว่า “พระพิมพ์ที่ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์” ซึ่งต่อมาพระพิมพ์องค์นี้คนทั่วไปมักเรียกกันว่า “พระสมเด็จจิตรลดา” จึงอาจกล่าวได้ว่าพระสมเด็จจิตรลดานั้นมีความสัมพันธ์กับการสร้างพระพุทธนวราชบพิตรเป็นอย่างยิ่ง
พระราชดำริในการสร้างพระพุทธนวราชบพิตรนั้นเกิดขึ้นจากแต่เดิมจะมีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองไว้ให้จังหวัดต่างๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์และเป็นที่ระลึกถึงการเสด็จเมืองนั้นๆ ซึ่งมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7
แต่เมื่อรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลฯ ได้ทรงดำริที่จะสร้างพระพุทธนวราชบพิตรเพื่อพระราชทานแทนพระแสงราชศัสตราประจำเมืองอย่างในอดีต การสร้างพระพุทธนวราชบพิตรจึงเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์
หากมองว่าพระแสงราชศัสตรานั้นคืออาวุธ ย่อมเป็นสัญลักษณ์ของการใช้กำลังในการปกครอง แต่ในทางกลับกันพระพุทธรูปกลับเป็นสัญลักษณ์ของการใช้ความเมตตาและคุณธรรมทางศาสนาในการปกครอง การพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรแทนพระแสงราชศัสตราจึงแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านการปกครองที่ได้ผสมผสานคุณค่าทางวัฒนธรรมระหว่างพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์เข้าด้วยกัน โดยแสดงเป็นนัยว่าพระองค์จะทรงใช้อำนาจทางคุณธรรมในการปกครองมากกว่าด้วยกำลัง
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลฯ ได้ทรงเลือกไปพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรให้แก่จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2510 โดยมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศชาติไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของประชาชนชาวไทยอีกด้วย” และจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดต่อมา
ซึ่งจังหวัดหนองคายและอุดรธานีนั้นนับว่าเป็นพื้นที่สีแดงที่เป็นเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การเสด็จไปพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรในพื้นที่ดังกล่าวย่อมส่งผลต่อกำลังใจแก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว
และในหนังสือซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในการพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรแก่จังหวัดต่างๆ สำนักพระราชวังยังกล่าวไว้ด้วยว่า “พระพุทธนวราชบพิตรนั้น นอกจากจะเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดแห่งพุทธศาสนิกชนทั่วไปแล้ว
ยังเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างองค์พระมหากษัตราธิราชกับบรรดาพสกนิกรของพระองค์ในทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร” ทำให้เห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลฯ ทรงตั้งใจสร้างพระพุทธนวราชบพิตรเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์และพระพุทธศาสนาในการสร้างความสามัคคีแก่คนในชาติ
ในส่วนของพระสมเด็จจิตรลดานั้น เป็นพระพิมพ์รูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว นอกจากจะบรรจุที่ฐานของพระพุทธนวราชบพิตรแล้ว นับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2508 จนถึง 2513 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลฯ ได้ทรงสร้างและพระราชทานให้แก่บุคคลต่างๆ ในฐานะ “พระเครื่อง” อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่ามีจำนวนกี่องค์ โดยมีการคาดกันว่าอาจมีประมาณ 2,500 องค์ (แต่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีจำนวนมากกว่านั้น เนื่องจากผู้ที่ได้รับพระราชทานนั้นยังรวมถึงทหารไทยที่ไปรบในสงครามเวียดนามด้วย)
โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลฯ ทรงออกแบบเอง และให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ เป็นผู้แกะพิมพ์ ในส่วนขั้นตอนการพิมพ์พระขึ้นพระองค์เป็นผู้จัดการด้วยพระองค์เองทุกขั้นตอน
โดยความพิเศษของพระสมเด็จจิตรลดานอกจากเป็นพระเครื่องเดียวที่พระมหากษัตริย์ทรงออกแบบและพิมพ์ด้วยพระหัตถ์เองแล้วยังเป็นพระเครื่องที่ไม่ผ่านการปลุกเสก หรือที่เรียกว่า “พิธีพุทธาภิเษก” แต่ผู้ที่ได้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดาก็ล้วนเชื่อว่าพระสมเด็จจิตรลดามีความศักดิ์สิทธิ์ด้วยตัวเองอยู่แล้วจากการสร้างขึ้นโดยพระมหากษัตริย์
อีกทั้งยังมีมวลสารที่ศักดิ์สิทธิ์อันประกอบด้วย “เส้นพระเจ้า” คือ เส้นผมของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลฯ ที่เจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงเครื่องใหญ่ทุกครั้ง และมวลสารศักดิ์สิทธิ์ที่รวบรวมจากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัด
ในการพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดานั้นเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับพระราชทานมักเป็นข้าราชบริพารที่มีโอกาสได้รับใช้ใกล้ชิด รวมทั้งทหารที่ไปรบในสงครามเวียดนามซึ่งมีอยู่หลายรุ่นด้วยกัน ตลอดช่วงระยะเวลาปี พ.ศ. 2508-2513 และมักจะมีพระบรมราโชวาท “ให้นำทองมาปิดที่หลังพระ” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นข้อความประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลฯ อันมีความหมายว่าให้ทำงานอย่างจริงจังโดยไม่จำเป็นที่จะต้องการให้ใครมาเห็น
Joseph S. Nye, Jr. ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจการเมืองระหว่างประเทศว่า อำนาจคือ ความสามารถในการจูงใจให้ผู้อื่นกระทำให้เป็นผลไปตามที่เราต้องการ โดยมีวิธีการไม่กี่วิธีที่จะทำให้ผู้อื่นกระทำตามที่เราต้องการ เช่น การบังคับโดยการข่มขู่ ชี้นำให้กระทำโดยการจ้าง หรือโน้มน้าวและเข้าร่วมกับผู้อื่นในสิ่งที่เราต้องการให้ผู้อื่นทำ
โดยทั่วไปเราคุ้นเคยกับอำนาจทางการทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนอื่นเปลี่ยนจุดยืนของตัวเองได้เป็นประจำ เรียกว่า “hard power”
อีกทางหนึ่งเป็นทางอ้อมที่จะทำให้ได้รับสิ่งที่เราต้องการ บางครั้งถูกเรียกว่า “หน้าที่สองของอำนาจ” (the second face of power) ประเทศหนึ่งอาจได้รับผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการในโลกการเมืองเพราะประเทศอื่นยอมรับในคุณค่าของประเทศนั้น, ทำตามตัวอย่างของประเทศนั้น, มีความต้องการอยู่ในระดับของความสำเร็จและการเปิดของประเทศนั้น และต้องการดำเนินตามประเทศนั้น นัยยะนี้เป็นส่วนสำคัญเช่นกันต่อการก่อตั้งแผนการและดึงดูดให้ประเทศอื่นในโลกการเมือง ที่ไม่ใช่เพียงการบังคับประเทศอื่นให้เปลี่ยนแปลงโดยการข่มขู่ด้วยกำลังทหาร หรือการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “soft power”
โดยมีแหล่งที่มาจาก 3 สิ่ง คือ วัฒนธรรมของประเทศนั้นที่มีความน่าดึงดูดต่อผู้อื่น, คุณค่าทางการเมืองเมื่อประเทศนั้นดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของตัวเองทั้งในประเทศและนอกประเทศ, และนโยบายต่างประเทศของประเทศนั้นที่จะทำให้ประเทศนั้นมีความชอบธรรมและมีอำนาจทางคุณธรรม และภายหลังทฤษฎีเรื่อง soft power ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในความหมายที่กว้างขึ้นมากกว่าความหมายในทางการเมืองระหว่างประเทศ
เราอาจกล่าวได้ว่า การสร้างพระพุทธนวราชบพิตรเพื่อพระราชทานให้แก่จังหวัดต่างๆ เพื่อพระราชทานแก่บรรดาข้าราชบริพาร และทหารที่ไปสงครามเวียดนามเป็นการใช้วัฒนธรรมทางศาสนาที่เป็นรากฐานของสังคมไทย คุณค่าทางการเมืองของพระพุทธศาสนาและสถาบันกษัตริย์ให้รวมเข้าด้วยกัน และเป็นการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในการดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งรัฐไทยยืนอยู่ในฝ่ายโลกเสรี
การสร้างพระพุทธนวราชบพิตรและพระสมเด็จจิตรลดาจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการสร้าง soft power ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลฯ ในช่วงสงครามเย็น
เรื่อง: ยินดี วิทยะ
ภาพ: ezlife
ติดตามข้อมูลข่าวสารหลากแง่มุม เกี่ยวกับความเชื่อ-ศาสนา เครื่องราง-ของขลัง และงานวัด-งานบุญ ผ่านสื่อออนไลน์ของ “พร้อมมู-Prompt Mu” ได้ทุกช่องทาง
#เล่าเรื่องเครื่องราง #พร้อมมูสตอรี่ #พร้อมมูstory #มูเตลู #ข่าว #มูเตลูเสริมดวง #ไหว้ขอพร #โชคลาภ #สายมูเตลู #รัชกาลที่9