18/06/2024
ชวนดูหนังกันนะคะ
[Work&life]ทำไมเมื่อโตขึ้น เราถึงมีความสุขได้น้อยลง? Inside Out 2 กับการชวนทบทวนว่า เรากำลังทำความสุขหล่นหายไป ในระหว่างทางของการเติบโตหรือเปล่า?
Inside Out ภาคสองที่กำลังฉายอยู่ในตอนนี้เล่าถึงเรื่องราวภาคต่อจากภาคแรกที่ทิ้งช่วงมานานราวๆ 9 ปี โครงเรื่องหลักเล่าถึงช่วงเวลาสามวันของไรลีย์ ตัวเอกที่เติบโตขึ้นมาจนถึงอายุราวๆ 13 ปี ในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อพร้อมกับอารมณ์ใหม่ที่ก่อร่างสร้างขึ้นมาในช่วงวัยนี้
นอกจากตัวละครตัวแทนอารมณ์ในภาคก่อนอย่าง 🤩 Joy (ลั้นลา) , 😢 Sadness (เศร้าซึม) , 😱 Fear (กลั๊วกลัว) , 🤢 Disgust (ขยะแขยง) , 😡 Anger (ฉุนเฉียว)
ภาคนี้มีอารมณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่าง 🫨 Anxiety (ว้าวุ่น) ,🥺 Envy (อิจฉา) , 🙄 Ennui (เฉยชิล) , 😶🌫️ Embarrassment (อ๊ายอาย) เข้ามามีบทบาทอยู่ในช่วงวัยของการเติบโต
นอกเหนือจากอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นมาในเรื่อง สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการเติบโตของไรลีย์ตามทฤษฎีจิตสังคมของนักจิตวิทยา
ทฤษฎีจิตสังคมของ Erik Erikson (Erikson’s Theory of Psychosocial Development) ได้กล่าวถึงช่วงที่น่าสนใจของเด็กอายุ 13 ปีไว้ว่าเป็นช่วงระยะที่ 5 ของการเจริญเติบโต (จากทั้งหมด 8 ระยะ) โดยในช่วงนี้ เด็กจะเข้าใจอัตลักษณ์ของตนเอง ไปพร้อมๆ กับการไม่เข้าใจตนเอง (Identity vs Role confusion)
โดยพวกเขาจะหาตัวตนผ่านค่านิยม ความเชื่อและเป้าหมาย และต้องการที่จะหาสังคมที่เหมาะสมกับตนเอง เหมือนที่ไรลีย์ ตัวเอกของเรื่องเกิดความรู้สึกบางอย่างกับตัวเองตามช่วงวัยที่เติบโตขึ้น
แม้จะมีตัวละครตัวอารมณ์เพิ่มขึ้นมาหลายตัว แต่ตัวละครที่เป็นอารมณ์หลักในการดำเนินเส้นเรื่องในภาคนี้ยังคงเป็น ‘Joy’ ซึ่งถ้าแปลอย่างตรงไปตรงมา คำนี้หมายถึงความสนุก แต่ภายในภาพยนตร์ เราอาจเชื่อมโยงไปถึงความสุขได้เช่นกัน
คำถามที่น่าสนใจที่หลายคนอาจตั้งคำถามหลังดูเรื่องนี้จบอาจเป็นคำถามที่ว่า ‘ทำไมเราถึงมีความสุขได้น้อยลงเมื่อเราโตขึ้น?’
[📌 ทำไมเราถึงมีความสุขได้น้อยลงเมื่อเราโตขึ้น?]
บทความ How Happiness Changes With Age จากเว็บไซต์ The Atlantic ได้พูดถึงการศึกษาของนักจิตวิทยา Cassie Mogliner, Sepandar Kamvar และ Jennifer Aaker ถึงการมองหาหลักฐานว่าความรู้สึกของเราเกี่ยวกับความสุขเปลี่ยนแปลงไปตามอายุอย่างไร
เหล่านักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ Blog ส่วนตัวนับล้านบล็อกเพื่อที่จะดูว่า Bloger คิดอย่างไรเมื่อพวกเขาพูดถึงความรู้สึก "มีความสุข"
พวกเขาพบว่า Bloger ที่อายุน้อย จะอธิบายประสบการณ์ของความสุขว่าเป็นช่วงเวลาที่พวกเขารู้สึกตื่นเต้น เร่าร้อน หรือปลาบปลื้มใจ เป็นการคาดหวังถึงความสุขที่ชีวิตในภายภาคหน้าจะนำพามาให้ เช่น การค้นพบความรัก ความก้าวหน้าในการทำงาน หรือการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย
ในขณะที่ Bloger ที่มีอายุมากกว่าหรือผ่านโลกมาประมาณหนึ่งจะอธิบายถึงความสุขว่าเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย หรือโล่งใจ เหมือนกับตอนที่พวกเขาเข้ากันได้ดีกับคู่ชีวิต รวมไปถึงการมีสุขภาพดี และสามารถจ่ายเงินผ่อนบ้านได้ ความสุขกลับกลายเป็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้า และพอใจกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่า
กลายเป็นว่าความหมายของความสุขแปลผันตามช่วงวัย มันอาจไม่ใช่ความสุขฉับพลันในแบบที่เราสัมผัสได้จากการปาร์ตี้สุดเหวี่ยงในคืนวันศุกร์ แต่มันเเปลี่ยนแปลงและกลับกลายมาเป็นความความสงบสุขและสบายใจในอีกแบบ อาจเป็นการนอนเอนหลังในวันเสาร์ และออกไปกินข้าวกับคนที่เรารักในเช้าวันอาทิตย์
แต่แน่นอนว่าเราไม่อาจมีความสุขได้ในทุกวัน
ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยหัดเดินหรือผู้ใหญ่มากประสบการณ์ เราอาจมีวันที่เปราะบาง และสับสนได้บ้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
[📌 พลังของความเปราะบางที่ช่วยให้เราพัฒนาสายสัมพันธ์ที่ดี]
ใน Ted Talk ที่มีชื่อว่า The power of vulnerability โดยคุณ Brené Brown ที่มียอดเข้าชมกว่า 65 ล้านครั้ง เขาพูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ กับการค้นพบว่าสิ่งที่ขัดขวางสายสัมพันธ์ของผู้คนคือความอับอาย และความกลัวที่จะถูกมองว่าฉันไม่คู่ควรกับเขาคนนั้น
แล้วคนที่รู้สึกว่าตัวเองคู่ควรละ เขามีความรู้สึกอย่างไร ในการศึกษาต่อมา เธอพบลักษณะร่วมของคนที่มีความรู้สึกว่าตัวเองคู่ควร ได้แก่ ความกล้าที่จะไม่สมบูรณ์แบบ , ความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเองและผู้อื่น พวกเขายอมรับความเปราะบางอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขาเปราะบางทำให้พวกเขาสวยงาม
เธอยอมรับว่าการดำเนินชีวิตอย่างสมบูรณ์นั้นต้องอาศัยความเปราะบาง
เธอพบว่ามนุษย์มักจะใช้หลายวิธีเพื่อหนีความจริงนั้น เมื่อคนเราเจอความอับอาย เศร้าโศก กลัว หรือผิดหวัง เรามักมีปฏิกิริยาบางอย่างหรือพฤติกรรมที่แสดงออกมาเพื่อไม่ต้องรู้สึกถึงอารมณ์เหล่านั้น แต่เธอเรียนรู้จากงานวิจัยว่า เราไม่สามารถกีดกันหรือเลือกควบคุมอารมณ์ได้
การดำเนินชีวิตอย่างสมบูรณ์ต้องอาศัยความกล้าที่จะเผชิญและยอมรับกับความเปราะบาง แม้จะไม่สะดวกใจหรือเจ็บปวดบ้างก็ตาม นั่นคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าและเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้อย่างแท้จริง
อาจจะมีบางวันก็ได้ที่เรายอมปล่อยให้ความเศร้า ความสับสน ความเปราะบางเป็นตัวเข้ามาขับเคลื่อนหัวใจ หรือให้ความโกรธเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเมื่อเราพบเจอซึ่งความอยุติธรรม ความเฉยชา ความประหม่า ความอิจฉา หรือว่าความอาย ท้ายที่สุด ในทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นล้วนหล่อหลอมให้เราเป็นเรา
เราไม่ได้เศร้าตลอดไป และไม่ได้มีความสุขตลอดกาล
แต่สิ่งนั้นก็คือส่วนประกอบ ที่สร้างให้เราเป็นเรา
ขอให้ความสุขยังคงอยู่ในทุกๆ ช่วงวัย เผื่อในวันที่ป้าคนึงจิต (Nostalgia) มาควบคุมความรู้สึก วันนั้นจะมีแต่เรื่องราวดีๆ โผล่มาให้เป็นที่คิดถึง
เขียนโดย : ภคณัฐ ทาริยะวงศ์
#มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง2