
05/01/2025
ไขมันพอกตับ ปล่อยไว้ระวังมะเร็งตับ!
“ไขมันพอกตับ” เป็นโรคที่หลายคนคิดว่าไกลตัว จริงๆ แล้วมันใกล้กว่าที่คิด เพราะโรคนี้ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์อย่างเดียว เดี๋ยววันนี้จะอธิบายให้ฟัง พร้อมวิธีจัดการเพื่อให้ตับเราแข็งแรงนะครับ
1. ไขมันพอกตับมาจากไหน? (สองแบบที่ต้องรู้จัก)
ไขมันพอกตับแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ
• แบบแรก: ไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Fatty Liver Disease หรือ AFLD)
เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เยอะเกินไป ตับเราจะเผาผลาญแอลกอฮอล์จนเกิดสารพิษชื่อ อะเซทัลดีไฮด์ ที่ทำร้ายเซลล์ตับโดยตรง นอกจากนั้น แอลกอฮอล์ยังทำให้ระบบเผาผลาญไขมันในร่างกายรวน ไขมันเลยสะสมในตับมากขึ้นเรื่อยๆ
• แบบสอง: ไขมันพอกตับที่ไม่ได้มาจากแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic Fatty Liver Disease หรือ NAFLD)
แบบนี้เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญในร่างกาย เช่น อินซูลินดื้อ (ปัญหาที่เกี่ยวกับการควบคุมน้ำตาลในเลือด) หรือปัจจัยอื่นๆ อย่างความอ้วน น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ทำให้ไขมันในร่างกายไปสะสมในตับ รวมไปถึงการกินอาหาร พวกแป้ง หรือของหวานเยอะๆ อันนี้ก็ ทำให้เกิดไขมันพอกตับได้ ทั้งที่คนกลุ่มนี้อาจไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยก็ได้
ถึงแม้จะต่างกันที่สาเหตุ แต่ถ้าปล่อยไว้ ไขมันพอกตับทั้งสองแบบสามารถทำให้เกิด การอักเสบ (Steatohepatitis) และลุกลามไปถึงขั้น ตับแข็ง หรือ มะเร็งตับ ได้ในอนาคต
2. ใครบ้างที่เสี่ยง? มาดูตัวเองกัน
ถ้าไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังมีปัจจัยเหล่านี้อยู่ อาจเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงของ NAFLD:
• รอบเอวใหญ่:
ผู้ชายที่เอวเกิน 90 ซม. และผู้หญิงที่เกิน 80 ซม.
• น้ำหนักตัวเกิน:
คนที่มีค่า BMI เกิน 25 (น้ำหนักเกิน) หรือ 30 (อ้วน)
• ผลเลือดผิดปกติ:
เช่น ไตรกลีเซอไรด์สูง (>150 mg/dL), HDL ต่ำ, น้ำตาลในเลือดสูง (>100 mg/dL)
โดยเฉพาะกลุ่มที่มี เมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพหลายอย่างรวมกัน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติ ถ้ามี 2-3 ข้อจากนี้ ต้องระวังนะครับ
3. ไขมันพอกตับมีระยะไหนบ้าง? แล้วจะตรวจยังไงดี?
ไขมันพอกตับไม่ได้พัฒนาเร็วแบบข้ามวันข้ามคืน แต่มี 4 ระยะหลักๆ:
1. ไขมันพอกตับ (Simple Fatty Liver):
ไขมันเริ่มสะสมในตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบ ถ้าปรับพฤติกรรมก็กลับมาเป็นปกติได้
2. ตับอักเสบจากไขมัน (Steatohepatitis):
ตับเริ่มอักเสบ ซึ่งถ้าปล่อยไว้จะนำไปสู่การเกิดพังผืด
3. พังผืดในตับ (Fibrosis):
ตับเริ่มถูกทำลายและเกิดรอยแผลเป็น ซึ่งเป็นความเสียหายแบบถาวร
4. ตับแข็ง (Cirrhosis):
ตับถูกทำลายจนทำงานได้ไม่ปกติ และเสี่ยงมะเร็งตับ
วิธีตรวจเช็กง่ายๆ:
• เจาะเลือด: ดูค่าเอนไซม์ตับ (ALT, AST)
• อัลตราซาวด์: เช็กว่ามีไขมันสะสมในตับไหม
• FibroScan: ดูความยืดหยุ่นของตับว่ามีการอักเสบหรือพังผืดหรือเปล่า
• ตัดชิ้นเนื้อตับ: ใช้ในกรณีที่ซับซ้อน
4. ปรับพฤติกรรมยังไงให้ตับปลอดภัย?
ไขมันพอกตับป้องกันได้ง่ายๆ โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมชีวิต วิธีง่ายๆคือ
1. ลดน้ำหนัก:
แค่ลดน้ำหนักให้ได้ 5-10% ของน้ำหนักตัว ก็ช่วยลดไขมันในตับได้แล้ว
2. เลือกกินอาหารดีๆ:
ลองกินอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด และไขมันดีจากน้ำมันมะกอกหรือถั่ว
3. เลี่ยงของหวานและของทอด:
ตัดน้ำหวาน เค้ก ขนมปังขาว และอาหารทอดออกจากชีวิต
4. ออกกำลังกาย:
ทำอะไรก็ได้ที่ชอบ เช่น เดินเร็ว วิ่ง หรือปั่นจักรยาน อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
5. เลิกดื่มแอลกอฮอล์:
ถึงจะดื่มน้อยก็ไม่ดี ตับเราไม่ได้แยกประเภทหรอกว่าดื่มมากหรือน้อย
5. ยาและอาหารเสริม มีอะไรช่วยได้บ้าง?
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาไขมันพอกตับโดยตรง แต่มีอาหารเสริมที่ช่วยได้นะ เช่น
• วิตามินอี (Vitamin E):
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าวิตามินอีในปริมาณ 800 IU ต่อวันสามารถลดการอักเสบของเซลล์ตับในผู้ป่วย NAFLD ได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่มีภาวะเบาหวาน แต่ไม่ควรใช้ในระยะยาว และควรใช้ในคำแนะนำของหมอนะ
• โอเมก้า-3 (Omega-3 Fatty Acids):
โอเมก้า-3 ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ซึ่งสัมพันธ์กับการสะสมของไขมันในตับ นอกจากนี้ยังช่วยปรับสมดุลของไขมันในร่างกาย งานวิจัยแนะนำปริมาณ 2-4 กรัมต่อวัน ในคนที่มีไขมันพอกตับ
• โคลีน (Choline):
โคลีน เป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการทำงานของตับและช่วยขจัดไขมันสะสมในตับผ่านกระบวนการที่เรียกว่า lipoprotein export มีงานวิจัยชี้ว่าการขาดโคลีนอาจเพิ่มความเสี่ยงของ NAFLD โดยเฉพาะในผู้ที่รับประทานอาหารแบบคาร์โบไฮเดรตสูงหรือไขมันสูง
• อาหารทึ่เป็นแหล่งโคลีน คือ ไข่แดง เนื้อสัตว์ ตับ และถั่วเหลือง
• ปริมาณที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่คือ 425-550 มก. ต่อวัน
• Silymarin (จาก Milk Thistle):
จะช่วยต้านการอักเสบและช่วยปกป้องเซลล์ตับจากความเสียหาย นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูเซลล์ตับที่ได้รับผลกระทบ
แต่จำไว้นะว่าอาหารเสริมเป็นตัวช่วยเสริม ที่สำคัญคือการปรับพฤติกรรมเป็นหลัก
โรคไขมันพอกตับไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ไม่ว่าคุณจะดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ก็ตาม โรคนี้เราควรที่จะใส่ใจ แต่เราสามารถป้องกันและจัดการมันได้ด้วยตัวเอง เริ่มจาก การปรับพฤติกรรมง่ายๆ เช่น ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย และกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
สิ่งสำคัญคือการตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำ ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หรือมีความเสี่ยงตามที่บอกไว้ อย่าลืมไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และอย่าลืมว่า ตับเป็นอวัยวะที่ฟื้นตัวได้ ถ้าเราดูแลตัวเองให้ดี
เริ่มดูแลตับตั้งแต่วันนี้ ห่างไกลไขมันพอกตับ ไม่ว่าจะอยู่ในระยะไหน ก็ยังมีโอกาสให้กลับมาดีได้ ใครมีคำถามคอมเมนต์ไว้ได้เลยนะเดี๋ยวผมมาตอบครับ