
14/07/2025
โค้งสุดท้าย! 'วิทัย' และ 'รุ้ง' โจทย์ใหญ่แก้หนี้ประชาชน พยุงเศรษฐกิจไทยอนาคต อนาคตทัพ ธปท .
ปี 2568 คือปีที่ประเทศไทยยังเดินอยู่บนรอยร้าวของวิกฤตหนี้ครัวเรือน ซึ่งพุ่งทะลุ 90% ต่อจีดีพีอย่างต่อเนื่อง ชนชั้นกลางล่างหายใจไม่ทั่วท้อง ผู้ประกอบการรายย่อยขาดสภาพคล่อง ขณะที่ระบบธนาคารยังปล่อยกู้แบบระแวดระวังราวกับโลกนี้ไม่มีใครกล้าผิดพลาดอีกต่อไป แต่ในฉากหลังของความระแวงนั้น กลับมีสองบุคคลสำคัญมากความสามารถแคนดิเดต ผู้ว่า ธปท.ที่ขับเคลื่อน “ความกล้า” เพื่อออกแบบระบบการเงินที่ยั่งยืน วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นักปฏิบัติผู้พร้อมปลดล็อกภาระหนี้ และคืนโอกาสให้ประชาชน และ ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอวิสัยทัศน์ใหม่ให้ธนาคารชาติ
ภายใต้การนำของวิทัย รัตนากร ธนาคารออมสินไม่ใช่แค่ “ธนาคารของรัฐ” อีกต่อไป แต่กำลังกลายเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” หรือ Social Bank ที่มีหัวใจหลักคือ การเข้าถึงคนเปราะบาง ปล่อยสินเชื่อให้โอกาสในการเริ่มต้นใหม่ และช่วยเหลือคนไทยมากกว่า 13 ล้านคน ภายในเวลาไม่นานธนาคารออมสินสามารถนำส่งเงินกำไรให้เป็นงบประมาณกับรัฐบาล ได้มากกว่า 96,000 ล้านบาท ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นับเป็นรัฐวิสาหกิจที่ส่งเงินให้รัฐสูงสุดหนึ่งในสามลำดับแรก
วิทัยไม่เพียงพูดถึงเงิน แต่พูดถึง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของลูกหนี้ พร้อมเสนอโมเดลใหม่ที่ธนาคารไม่ใช่แค่เจ้าหนี้ แต่เป็น “ผู้ให้โอกาส” ร่วมเดินไปกับลูกค้า
ขณะที่อีกฟากหนึ่งของระบบ ดร.รุ่ง กำลังผลักดันแนวคิดว่า ธนาคารกลางควรเป็น “ผู้ออกแบบความเป็นธรรมทางการเงิน” มากกว่าผู้ควบคุมเสถียรภาพเพียงอย่างเดียว แนวคิด “Your Data = Your Power” คือการเสนอให้เปลี่ยนวิธีวัดเครดิตใหม่ โดยใช้ ข้อมูลทางเลือก เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ การใช้มือถือ หรือพฤติกรรมการออม มาประเมินความเสี่ยง แทนที่จะอิงแต่รายได้ประจำหรือเครดิตบูโร
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ประเทศไทยพัฒนา Virtual Banking และระบบเครดิตทางเลือก ที่ไม่ตัดสินจาก “อดีต” แต่เปิดโอกาสให้คนที่ล้มเหลวทางการเงินได้มีพื้นที่เริ่มต้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินผ่านดอกเบี้ยและนโยบายมหภาค แต่โจทย์ในปี 2568 ต้องขยับจาก “คุมเงินเฟ้อ” สู่การออกแบบระบบที่ ไม่ทิ้งคนไม่มีเครดิตไว้ข้างหลังเพราะหากระบบการเงินยังตัดสินเฉพาะคนที่มี “ความเสี่ยงต่ำ” ประเทศไทยจะเหลือแต่คนที่รอดอยู่แล้ว และอีกครึ่งหนึ่งของสังคมจะยิ่งห่างจากโอกาส
นับเป็นสองผู้ว่าแคนดิเดตที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ว่าใครจะได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็นับเป็นก้าวที่สำคัญในการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ
ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับ "ภาวะวิกฤติ" และความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก การตัดสินใจเลือกผู้นำสูงสุดของ ธปท. จึงมีความหมายมากกว่าแค่การบริหารงานทั่วไป ผู้นำคนใหม่จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่เฉียบคม มีความเข้าใจในกลไกเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง และความสามารถในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด เพื่อนำพานโยบายการเงินของชาติให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์