The Red Line

The Red Line Safety Roads, Take Me Home.

“วิว กุลวุฒิ” ควงคู่ “เมย์ รัชนก” นำทีมตีแบดฯ หาหมวกกันน็อก ให้น้องเด็กสวมใส่เพื่อความปลอดภัย .ด้วยบริบทและข้อจำกัดของปร...
08/07/2025

“วิว กุลวุฒิ” ควงคู่ “เมย์ รัชนก” นำทีมตีแบดฯ หาหมวกกันน็อก ให้น้องเด็กสวมใส่เพื่อความปลอดภัย
.
ด้วยบริบทและข้อจำกัดของประเทศไทย ที่คนส่วนใหญ่ยังต้องพึงพาการเดินทางด้วย #มอเตอร์ไซค์ การรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ ในการสวม #หมวกกันน็อก อันเป็นอุปกรณ์สำคัญในการลดการบาดเจ็บที่หัวและสมอง จะช่วยให้อัตราการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตลดลงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและเยาวชน ผู้เป็นอนาคตของประเทศไทย ที่กำลังเผชิญวิกฤติโครงสร้างประชากรเกิดใหม่ถดถอย
ทุกคนรู้หรือไม่ว่า...ในแต่ละปีประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนปีละกว่า 17,000 คน ส่วนใหญ่หรือ 80% เกิดจากการใช้มอเตอร์ไซค์ สาเหตุสำคัญมาจากการไม่สวมหมวกกันน็อก (ค่าเฉลี่ยจากการสำรวจทั้งคนขับและซ้อนท้าย สวมหมวกกันน็อกไม่ถึง 50%)
ข้อมูลที่น่ากังวลคือ ในจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส มีเด็กอายุระหว่าง 3-15ปี รวมอยู่ด้วย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ มากกว่าปี 5 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงกำลังคนและบุคลากร ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตด้วย
จากข้อมูลการสำรวจของ แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ปัจจุบันเด็กก่อนวัยเรียนในบ้านเรา มีสถิติการสวมหมวกกันน็อกเพียง 16% เท่านั้น นอกจากความตระหนักรู้ในเรื่องความปลอดภัยแล้ว ส่วนหนึ่งยังมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของครอบครัว ที่ไม่สามารถหาซื้อหมวกกันน็อกสำหรับเด็กเล็กได้..
ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ค. 2568 สสส. ได้ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรมระดมทุนรับบริจาคเพื่อจัดหาหมวกกันน็อกสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งเป็นโครงการนำร่องให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี ‘นายกร ทัพพะรังสี’ อดีตนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันในพระบรมราชูปถัมภ์ ชวนนักกีฬาแบดมินตันขวัญใจคนไทย
ทั้ง ‘วิว - กุลวุฒิ วิทิตศานต์’ มือหนึ่งแบดมินตันชาย เจ้าของตำแหน่งแชมป์โลกปี 2024 และ ‘เมย์ - รัชนก อินทนนท์’ แชมป์แบดมินตันโลกหญิงเดี่ยว ปี 2013 และมือวางอันดับ 1 โลก ปี 2016 ร่วมด้วย ‘ส้ม - สรัลรักษ์ วิทิตศานต์’ แชมป์เยาวชนโลกปี 2024 เปิดสนามตีแบดระดมทุนเพื่อจัดซื้อหมวกกันน็อกสำหรับเด็กเล็ก โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดทั้งสิ้น
ทุกคนเห็นตรงกันว่า #หมวกกันน็อกสำหรับเด็ก เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ปกป้องศรีษะของบุตรหลาน ที่กำลังมีพัฒนาการทางสมองไม่ให้ได้รับการกระทบกระเทือน หากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดมอเตอร์ไซค์ล้มระหว่างการเดินทาง
หมวกกันน็อกแต่ละใบจะมีอายุการใช้งาน 3 ปี เว้นแต่มีการเกิดเหตุก็จะทำให้เสื่อมคุณสมบัติในการปกป้อง จึงจำเป็นสำหรับครอบครัว ที่ใช้มอเตอร์ไซค์ เป็นยานพาหนะในการเดินทาง ต้องจัดหาไว้ให้ลูกหลาน สวมใส่ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
“กิจกรรมนี้เป็นการใช้กีฬาเป็นสื่อรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ต้องซ้อนจักรยานยนต์ไปโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่สวมหมวกกันน็อก และบางครอบครัวก็ไม่สามารถจัดหาหมวกให้ลูกได้” - นายกร ทัพพะรังสี กล่าว
อดีตนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่นักกีฬาไทยระดับโลก มาร่วมรณรงค์ด้วยตัวเอง ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน และเป็นแบบอย่างที่ดีของนักกีฬาจิตอาสา และต้องขอบคุณ สสส. ที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา
ด้าน 'นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์’ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวถึงโครงการ “ตีแบดฯ เพื่อหัวน้อง” ว่า จุดเริ่มต้นคือการส่งเสริมให้คนที่ตีแบดมินตันสวมหมวกกันน็อก เพราะพบว่าบางส่วนใช้มอเตอร์ไซค์เดินทางมาสนามแบดฯ จึงเริ่มรณรงค์ในจุดนี้ก่อน จากนั้นได้ขยายมาเป็นการตีแบดการกุศลเพื่อระร่วมระดมทุน จัดตั้งเป็นกองทุนหมวกกันน็อกเพื่อหัวน้อง เพื่อจัดหาหมวกกันน็อกให้กับเด็กเล็ก ซึ่งจากตัวเลขมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั่วประเทศประมาณ 20,000 ศูนย์ ที่ไม่มีหมวกกันน็อกสำหรับเด็ก
“เด็ก ๆ มาโรงเรียนด้วยการโดยสารมอเตอร์ไซค์ของผู้ปกครอง แต่ไม่มีหมวกใส่ป้องกันการบาดเจ็บ สำหรับจังหวัดประจวบฯ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหมด 126 ศูนย์ สสส. ไม่ได้มีงบประมาณที่จะจัดหาหมวกน็อกให้กับทุกศูนย์ จึงอยากเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจ ร่วมบริจาคเข้ากองทุนฯ เพื่อจัดหาหมวกให้กับเด็ก ๆ เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเยาวชนไทย” นางก่องกาญจน์ กล่าว
นางก่องกาญจน์ บอกด้วยว่า สสส. ยังได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ เพื่อปลูกฝังวินัยและความปลอดภัยทางถนน นอกจากให้ผู้ปกครองและน้อง ๆ สวมหมวกกันน็อกทุกครั้งที่มาโรงเรียน ขณะเดียวกันคุณครูต้องเตรียมการสอน เรื่องวินัยจราจรและการสวมหมวกกันน็อก เพราะ สสส. ตระหนักว่าการเสริมสร้างวินัยจราจรตั้งแต่เด็ก จะเป็นส่วนช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนได้ เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้ คุณครูยังได้ร่วมกับชุมชนสำรวจจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน เพื่อแจ้งหน่วนงานในพื้นที่ร่วมกันปรับปรุงแก้ไขให้ปลอดภัย
สำหรับยอดเงินจัดหาหมวกกันน็อกเพื่อหัวน้อง สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปยอดเงินบริจาคในวันดังกล่าว 274,750 บาท
#วิวกุลวุฒิ #เมย์รัชนก #กรทัพพะรังสี
#ตีแบดเพื่อหัวน้อง #หมวกกันน็อกสำหรับเด็ก
#ประจวบคีรีขันธ์ #สสส #สอจร

อบรมไวใช่ว่าจะเวิร์ก! เมื่อการฝึกอบรมขับขี่มอเตอร์ไซค์แบบวันเดียว ยิ่งสร้างความเสี่ยงในวัยรุ่นนอกจากความไม่ประมาทและเคาร...
30/06/2025

อบรมไวใช่ว่าจะเวิร์ก! เมื่อการฝึกอบรมขับขี่มอเตอร์ไซค์แบบวันเดียว ยิ่งสร้างความเสี่ยงในวัยรุ่น
นอกจากความไม่ประมาทและเคารพกฎจราจรแล้ว ทักษะการขับขี่ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ในการลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ด้วยเหตุนี้หลายประเทศจึงให้ความสำคัญ กับการฝึกอบรมทักษะการขับขี่ที่ปลอดภัย และยังมีกระบวนการที่เข้มข้นมาก ในการออกให้ใบอนุญาตขับขี่กับพลเมือง รวมถึงมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
แต่สำหรับประเทศไทย การฝึกอบรมทักษะการขับขี่ที่ปลอดภัยนั้น นอกจากไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในระบบการศึกษาภาคบังคับ กระบวนการได้รับใบอนุญาตขับขี่ ก็ถือว่าทำได้ไม่ยากนักและใช้เวลาเพียงไม่นาน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการตั้งคำถามชวนคิดจาก แผนงานยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน ว่า “การฝึกอบรมขับขี่รถจักรยานยนต์แบบวันเดียว สร้างความเสี่ยงของอุบัติเหตุในวัยรุ่นหรือไม่?”
มีการหยิบยกข้อมูลที่น่าสนใจจากงานวิจัยจำนวนมาก ที่พบว่าโปรแกรมการฝึกอบรมขับขี่รถจักรยานยนต์แบบวันเดียว แม้จะสามารถพัฒนาทักษะการรับรู้ความเสี่ยงในระยะสั้น (HAZARD PERCEPTION) ได้บ้าง แต่ไม่ได้ส่งผลเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการลดอุบัติเหตุในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น
ที่น่าเป็นห่วงคือข้อมูลงานวิจัยแบบสุ่มในออสเตรเลีย โดย IVERS ET AL. (2016) พบว่า หลักสูตรอบรมความปลอดภัย 4 ชั่วโมงสำหรับเยาวชน ไม่ได้ผลในการลดอุบัติเหตุ หรือลดจำนวนใบสั่งภายใน 12 เดือนหลังอบรม และในบางกรณีผู้ที่เข้าอบรมกลับมีพฤติกรรมขับรถเร็วมากขึ้น
ดังนั้น หากจะกล่าวว่า “ยิ่งอบรม ยิ่งเสี่ยง” อาจไม่ผิดนัก เมื่อความมันใจที่เกินจริง กลายเป็นภัยบนท้องถนน
งานวิจัยของ SAVOLAINEN & MANNERING (2007) ในรัฐอินเดียนา สหรัฐฯ พบว่า ผู้ที่ผ่านการอบรมขับขี่ระยะสั้น กลับมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่าผู้ที่ไม่ได้อบรม เนื่องจากเกิดความมั่นใจเกินจริงในทักษะของตนเอง ทำให้ขับรถเสี่ยงมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
อบรมไว ใช่ว่าจะเวิร์ก องค์การอนามัยโลกา (WHO, 2023) ระบุว่า หลักสูตรอบรมแบบเร่งรัด มักไม่ให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนในการลดอุบัติเหตุในกลุ่มวัยรุ่น เทียบเท่ากับหลักสูตรระยะยาว หรือระบบใบอนุญาตแบบแบ่งขั้น (GLS) ซึ่งเน้นการฝึกฝนสะสมประสบการณ์ และควบคุมความเสี่ยงอย่างเป็นระบบในระยะยะยาว
ที่ผ่านมาหลายประเทศเริ่มทบทวนนโยบาย การขับขี่ในโรงเรียนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ จากเยาวชนที่ยังขาดทักษะและประสบการณ์ โดยเมื่อปี 2015 จาการ์ตาประกาศห้ามนักเรียน ขับรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียน หลังพบอุบัติเหตุกว่า 226,000 ครั้งในปี 2011-2012 โดยเกือบ 700 ครั้ง เกิดจากผู้ขับที่อายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนด
จากข้อมูลข้างต้นที่หยิบยกมา ชี้ว่าโปรแกรมฝึกขับขี่ในโรงเรียนมัธยมแบบเร่งรัด ไม่ช่วยลดอุบัติเหตุในวัยรุ่นและอาจเพิ่มความเสี่ยง เนื่องจากทำให้เยาวชนได้ใบขับขี่เร็วและเกิดความมั่นใจเกินจริง หลายรัฐจึงปรับลดหรือยกเลิกโปรแกรมเหล่านี้ และใช้ระบบใบขับขี่แบบค่อยเป็นค่อยไป (GDL) แทน
#อบรมทักษะขับขี่ปลอดภัย #ใบอนุญาตขับขี่
#อุบัติเหตุทางถนน #ถนนปลอดภัย
#สสส #สอจร

ระดมสมองงัดกลยุทธ์...พิชิต “อำเภอเสี่ยงสูง” ภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศ ผสาน ”Hard Power - Soft Power“ ลดเสียช...
26/06/2025

ระดมสมองงัดกลยุทธ์...พิชิต “อำเภอเสี่ยงสูง” ภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศ ผสาน ”Hard Power - Soft Power“ ลดเสียชีวิต ให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากร
สถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติภัยทางถนนไทย ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แม้ได้ลดอันดับอัตราเสียชีวิตจากอันดับ 2 ลงมาสู่อันดับ 18 แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยอดและอัตราการเสียชีวิตยังค้างอยู่ที่ประมาณ 17,000 รายต่อปี หรือที่ 26 ต่อแสนประชากร ในขณะที่เป้าหมายตามแผนแม่บทฉบับที่ 5 ตั้งเป้าลดเหลือ 12 ต่อแสนประชากร ในปี 2570 ถือเป็นสถานการณ์พิเศษ ที่ต้องเร่งและร่วมมือจากทุกฝ่าย
‘นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร‘ ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า สอจร. ระยะที่ 10 ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รับผิดชอบสนับสนุนเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนน เพื่อมุ่งลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ตามเป้าหมายแผนแม่บทฉบับที่ 5 เริ่มดำเนินการเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2568 คลุมพื้นที่ สอจร. 7 ภาค 76 จังหวัด และเขตกรุงเทพมหานคร
นพ.อนุชา กล่าวว่า ทุกอำเภอเมืองในประเทศนี้เป็น “อำเภอเสี่ยงสูง” ทั้งสิ้น ปัจจุบัน สอจร. มีสมาชิกในแผนงานทั่วประเทศกว่า 400 คน ทุกภาคเน้นการระดมความร่วมมือกับหลากหลายเครือข่าย ตามบริบทของความเสี่ยงของพื้นที่ เพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาอำเภอเสี่ยงสูง ซึ่งมีประมาณกว่า 220 อำเภอ แต่กลับมีส่วนแบ่งของการเสียชีวิต สูงเกือบ ร้อยละ 70 และมุ่งเป้ากลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ที่มีอัตราเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 80 ในแต่ละปี
ทั้งนี้ สอจร. 10 ได้มีกระบวนการกระตุ้นการทำงานของ ศปถ.จังหวัด และ ศปถ.อำเภอ ร่วมกับเครือข่าย ตามหลัก Safe System เพื่อการมุ่งลดความเสี่ยงด้านคน รถ ถนน และความเร็ว ไปพร้อมกันอย่างเป็นระบบ พบว่ามีการอำเภอที่ลดการเสียชีวิตและออกจากความเสี่ยงสูง ได้มากกว่า 20 อำเภอ และพบว่ายิ่งมีความร่วมมืออย่างบูรณาการ ยิ่งลดความเสี่ยงลงได้เร็วขึ้น
ด้าน ‘นายขจร ศรีชวโนทัย‘ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กล่าวว่า สถิติที่ผ่านมาสังเกตได้ว่าอุบัติเหตุทางถนน จำนวนมากเกิดขึ้นในเขตชุมชน ถ้าเราลดการเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนในเขตชุมชนได้ จำนวนอุบัติเหตุของไทยจะหายไปครึ่งหนึ่ง แต่การดำเนินงานไม่ใช่ทำแค่ 7 วันอันตราย จะต้องดูแลความปลอดภัยตลอดทั้งปี เพื่อให้ประชาชนอยู่บนถนนด้วยความปลอดภัย ทั้งผู้ขับขี่ และเดินเท้า
“เป้าหมายลดผู้เสียชีวิตให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากร ต้องเน้นย้ำการดำเนินงานทั้ง Hard Power คือหน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ Soft Power คือภาคีเครือข่าย ซึ่งต้องขอบคุณ สอจร. และ สสส. ที่มีหน่วยงานและกองทุนเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งหลังจากได้พูดคุยแผนงานร่วมกัน ได้ตั้งเป้ากําหนดโฟกัสไปที่ชุมชน โดยเฉพาะเขตอําเภอเมือง กับเขตที่เจริญเติบโตเทียบเท่า บูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกัน” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำ
สำหรับแนวทางการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนนนั้น
‘ศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล‘ ผู้จัดการศูนย์ความเป็นเลิศ ThaiRAP และรองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด จะต้องทราบว่าจุดเสี่ยงจุดอันตรายอยู่ที่ไหน ถนนที่เป็นถนน 1 ดาว 2 ดาว มีความเสี่ยงสูงอยู่ตรงไหนบ้าง แล้ววิเคราะห์ออกมาทั้งโครงข่าย เพื่อบอกว่าในมิติของคนเดินเท้า คนปั่นจักรยาน และคนขับขี่รถ ตำแหน่งไหนบ้างที่ยังมีความเสี่ยงสูง
“เมื่อเราทราบแล้วว่าคนป่วยเป็นโรคอะไร หน้าที่ของหมอคือจ่ายอย่างให้มันถูกต้อง เรามีวัคซีนมีคำตอบอยู่แล้ว แค่ฉีดวัคซีนลงไปไปให้ถูกตำแหน่งถูกจุดตรงนั้น เราก็สามารถที่จะแก้ขันปัญหาได้”
ตัวอย่างหนึ่งของท้องถิ่น เมื่อสองปีที่แล้วนายกเทศมนตรีเมืองน่าน ตั้งใจทำถนนเส้นหนึ่งเป็นตัวอย่าง เป้าหมายคือเป็นถนน 3 ดาว การแก้ไขตรงนี้เป็นการบูรณาการรวมกัน ทั้งคน รถ ถนน และการใช้ความเร็ว มีการติดป้ายแจ้งเตือน และการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน ว่าถนนเส้นนี้ใช้ความเร็วได้เท่าไหร่ เมื่อความเร็วดี ถนนดี คนเคารพกฎถูกต้อง ถนนนี้จึงเป็นถนนที่ปลอดภัยจริงๆ ซึ่งปัจจุบันก็ถือเป็นถนนเส้นแรกๆ ของประเทศไทย ที่เป็นถนน 3 ดาว
สำหรับบันได 5 ขั้น ในการยกระดับบถนนไทยให้ปลอดภัยนั้น ต้องดูว่าปัจจุบันถนนในแต่ละพื้นที่ของตน อยู่ในระดับความปลอดภัยขั้นไหน
เริ่มแรกขั้นที่ 1 คือใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน ขั้นที่ 2 ตามด้วยเริ่มสร้างแผนปรับปรุง ขั้นที่ 3 คือนำแผนไปปฏิบัติจริง โดยกำหนดเป็นนโยบาย เช่น ถนนที่ผ่านโรงเรียนทุกแห่งจะต้องเป็นถนน 3 ดาว เพื่อให้เด็กนักเรียนเดินทางได้อย่างปลอดภัย รวมถึงจำกัดความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. บริเวณหน้าโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล หน้าชุมชน
จากนั้นไปสู่ขั้นตอนที่ 4 คือการประเมินผลมีการรายงานผลให้ภาคประชาชนรับรู้ และสุดท้ายขั้นตอนที่ 5 คือมีนวัตกรรมและสามารถเป็นตัวอย่าง มีการถอดบทเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอาไปถ่ายทอดสู่พื้นที่อื่นต่อไป เพื่อความยั่งยืน
“การจะเป็น Safe System ได้นั้น ไม่ใช่เฉพาะถนน แต่คน รถ แล้วก็เรื่องของการใช้ความเร็ว ล้วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ฉะนั้นถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้เนี่ยเชื่อมั่นว่าทุกอำเภอ ทุกตำบลในประเทศไทยสามารถที่จะทำให้มีความปลอดภัยได้ครับ”
สุดท้ายอยากจะบอกว่าถนนที่ปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องมีงบประมาณที่ดีที่สุด ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ตรงประเด็น มีมาตรการที่มีความคุ้มค่า และมีการปรับเปลี่ยนความคิด โดยใช้ข้อมูลขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ พร้อมตั้งเป้าหมายชัดเจน รวมถึงมีการริเร่ิมถึงความตั้งใจร่วมกัน สุดท้ายสิ่งที่พวกเราฝันก็จะเป็นจริงได้
ด้าน ’พล.ต.ต.วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์’ รอง ผบช.สยศ.ตร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ครั้งหนึ่งเคยคุยกับผู้ที่รับผิดชอบเรื่องถนนว่า ตรงโค้งจะปรับปรุงอย่างไรเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ได้รับคำตอบว่าถ้าผู้ขับขี่ขับตามป้ายแจ้งเตือน ใช้ความเร็วไม่เกิน 40 กม./ชม รับรองได้เลยว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่ข้อเท็จจริงคนขับรถเร็วกว่านั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงเกิดความเสียหายและรุนแรงถึงชีวิต เถียงไม่ได้เลยว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมของคน
ที่ผ่านมาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ล่าสุดใช้ยาแรงจับปรับผู้ขี่ไม่ใส่หมวกกันน็อก 2,000 บาท โดยให้แต่ละพื้นที่เลือกบังคับใช้ ในถนนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เจอทัวร์ลงหนักมาก แต่ในมุมของตำรวจถือประชาชนรับรู้แล้ว และยืนยันว่าจะดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และถ้าทุกคนใส่หมวกกันน็อกกันหมด ตำรวจก็ออกใบสั่งน้อยลงและได้ส่วนแบ่งค่าปรับลดลงไปด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คนอยากให้เป็นเช่นไม่ใช่หรือ
ขณะเดียวกันนอกจากยาแรงแล้ว ก็ยังมีเรื่องเบา ๆ คือ แจ้งเตือน โดยการประกาศเตือนไม่เน้นใบสั่ง แต่เน้นประจาน มีการนำร่องในบางพื้นที่ โดยใช้ AI เข้ามาช่วย ผ่านระบบกล้องตรวจจับ หากพบรถจักรยานยนต์จอดทับเส้น จะมีเสียงประกาศดังต่อเนื่องจนกว่าจะปฏิบัติถูก ทำให้เกิดภาพว่าประชาชนให้ความร่วมมือ และเริ่มปฏิบัติกฎหมายจราจรเพิ่มมากขึ้น
#กลยุทธ์ลดอุบัติเหตุอำเภอเสี่ยงสูง #อุบัติเหตุทางถนน #ถนนปลอดภัย #สสส #สอจร

ส่องความสำเร็จ Southampton เมืองที่มีประชากร 260,111 คน แต่สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน แค่ 2 ชีวิต ในปีที่ผ่านมาในการเดิน...
20/06/2025

ส่องความสำเร็จ Southampton เมืองที่มีประชากร 260,111 คน แต่สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน แค่ 2 ชีวิต ในปีที่ผ่านมา
ในการเดินทางไปศึกษาดูงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของรัฐสภาไทย ณ สหราชอาณาจักร บริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ ระหว่างวันที่ 8-15 มิถุนายน 2568 มีเป้าหมายหลักเพื่อศึกษาแนวทางบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน จากประเทศที่มีผลงานโดดเด่นในการลดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตบนท้องถนนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2568 คณะศึกษาดูงานเดินทางไปยัง Southampton Safety Council เรียนรู้ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนของ Southampton จากการมีนโยบายส่วนกลางกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน มีผู้บริหารที่เห็นความสำคัญ มีวิสัยทัตน์ยาวไกล มีความรู้ มุ่งมั่น และจริงจัง รวมถึงมีทีมงานที่มีความสามารถและได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร ที่สำคัญ Road Safety Master Plan ได้นำแนวคิด Safe System มาเป็นกรอบในการวางแผนและการดำเนินงาน
สำหรับกิจกรรมเชื่อมต่อ สัมพันธ์ เอื้ออำนวยต่อกัน เช่น การส่งเสริมให้คนเดินและขี่จักรยาน ด้วยการมีช่องทางรถจักรยานโดยเฉพาะ มีทางเท้าที่น่าเดิน มีถนนคนเดินที่ห้ามรถยนต์เข้ามาวิ่ง มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว รวมถึงมีการลดความเร็วในเขตเมืองเหลือ 20 ไมล์ต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย ทำให้คนอยากเดิน อยากขี่จักรยาน มีการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่ฝ้าฝืนอย่างเข้มงวด โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน ที่สำคัญคือมีการดำเนินงานตามแผนอย่างต่อเนื่อง และมีงบประมาณที่เหมาะสมต่อการพัฒนา
สำหรับ Southampton เป็นเมืองที่มีประชากร 260,111 คน (จำนวนประชากรเท่า ๆ กับจังหวัดนครนายก และจังหวัดพังงา) ในปี 2024 มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพียง 2 คน หรือน้อยกว่า 1 ต่อเเสนประชากร (ในปี 2023 นครนายก มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 76 คน หรือ 30.1 คนต่อแสนประชากร ส่วน พังงา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 71 คน หรือ 28.0 ต่อแสนประชากร)
#อุบัติเหตุทางถนน #ถนนปลอดภัย #สสส #สอจร

เรียนรู้ศูนย์ฝึกอบรมผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรสหราชอาณาจักร - แก้ไขจุดเสี่ยงโดยใช้หลักการ Safe Systemในการเดินทางไปศึกษาดูงานของคณ...
19/06/2025

เรียนรู้ศูนย์ฝึกอบรมผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรสหราชอาณาจักร - แก้ไขจุดเสี่ยงโดยใช้หลักการ Safe System
ในการเดินทางไปศึกษาดูงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ณ สหราชอาณาจักร บริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ ระหว่างวันที่ 8-15 มิถุนายน 2568 ของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนของรัฐสภาไทย มีเป้าหมายหลักเพื่อศึกษาแนวทางบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน จากประเทศที่มีผลงานโดดเด่นในการลดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตบนท้องถนนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2568 คณะดูงานเดินทางไปศึกษาดูงาน The role of Office of Rail and Road หน่วยงานรับผิดชอบในการดูแลถนนหลวงและการขนส่งระบบราง ให้อยู่ในสภาพตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย และศึกษาดูงาน UK Road Offender Education (UKROEd) กรุงลอนดอน
UKROEd เป็นองค์กรการกุศลที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2014 มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารและดำเนินโครงการต่าง ๆ ในนามของกรมตำรวจอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ โดยมีภารกิจหลักในการกำกับดูแลโครงการอบรมผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรในระดับประเทศ ภายใต้ชื่อ National Driver Offender Retraining Scheme (NDORS) UKROEd เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางถนนในสหราชอาณาจักร
โดยใช้วิธีการทางการศึกษาเข้ามาร่วมกับมาตรการทางกฎหมายในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎหมายจราจร เป้าหมายสูงสุดขององค์กรคือการลดอัตราการเสียชีวิตและการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นศูนย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน และยังเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัย การพัฒนาหลักสูตร การบริหารจัดการฐานข้อมูล DORS+ การประเมินคุณภาพ (APR) และการออกใบอนุญาตแก่ผู้สอนหลักสูตรต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน
ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตสอนตามหลักสูตรของ UKROEd มากกว่า 1,100 คนทั่วประเทศ UKROEd มุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎหมายจราจร ซึ่งสามารถเลือกเข้าร่วมอบรมแทนการถูกปรับหรือตัดคะแนนจากใบอนุญาตขับขี่ได้ ทั้งนี้ ผู้ขับขี่สามารถเลือกชำระค่าปรับจำนวน 100 ปอนด์ หรือเลือกลงทะเบียนเข้ารับการอบรมกับ UKROEd ด้วยค่าธรรมเนียมในอัตราเดียวกัน แต่ไม่ต้องถูกตัดคะแนนใบขับขี่
รายได้จากการจัดหลักสูตรจะนำเข้ากองทุนความปลอดภัยทางถนน (Safety Fund) เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาและสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 100 โครงการทั่วประเทศ UKROEd ยังทำงานร่วมกับตำรวจในการติดตั้งกล้อง CCTV มากกว่า 3,000 จุดทั่วประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนมูลนิธิ Safer Road Foundation เพื่อวิจัยและพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนในยุคปัจจุบัน
เช่น การเติบโตของอาชีพรับส่งสินค้า (Delivery) ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 75 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นชายวัยรุ่น ซึ่งมีแนวโน้มขับรถเร็วและชอบความท้าทาย UKROEd จึงให้ความสำคัญกับการออกแบบหลักสูตรที่มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ โดยการใช้มาตรการทางกฎหมายร่วมกับมาตรการทางการศึกษา
คณะยังได้เดินทางไปดูงาน Road Safety and Intervention ซึ่งมีภารกิจหลักในการแก้ไขจุดเสี่ยง โดยใช้หลักการ Safe System เป็นกรอบในการวางแผน ดำเนินการ กำกับติดตาม ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงคมนาคม รวมถึงดูงาน Driver and Vehicle Standards Agency - DVSA หน่วยงานตรวจสภาพรถ อบรมการขับขี่ปลอดภัยเพื่อขอรับใบขับขี่ และการกำกับติดตาม
คณะยังได้พูดคุยเกี่ยวกับ Autonomous Vehicle Act (พระราชบัญญัติรถยนต์อัตโนมัติ) แม้จะยังไม่มี Autonomous Vehicle operated เต็มรูปแบบ แต่ประเทศอังกฤษก็เตรียมการควบคุมโดยออกกฎหมายมารองรับแล้ว
#อุบัติเหตุทางถนน #ถนนปลอดภัย #สสส #สอจร

สานพลังเดินหน้า Safe Guard "หมวกนิรภัย" เพื่อชีวิตที่ปลอดภัยของคนไทย - ลอนดอนเมืองต้นแบบ “คนเดินถนน - ขี่จักรยาน” ปลอดภั...
16/06/2025

สานพลังเดินหน้า Safe Guard "หมวกนิรภัย" เพื่อชีวิตที่ปลอดภัยของคนไทย - ลอนดอนเมืองต้นแบบ “คนเดินถนน - ขี่จักรยาน” ปลอดภัย
ในการเดินทางไปศึกษาดูงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ณ สหราชอาณาจักร บริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ ระหว่างวันที่ 8-15 มิถุนายน 2568 ของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนของรัฐสภาไทย มีเป้าหมายหลักเพื่อศึกษาแนวทางบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน จากประเทศที่มีผลงานโดดเด่นในการลดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตบนท้องถนนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
วันที่ 11 มิ.ย. 2568 คณะดูงานเดินทางไปศึกษาดูงานสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (Federation International Automobile: FIA) โดยมีโอกาสได้พบปะหารือกับ Mr. Saul Billingsley Executive Director of FIA Foundation
FIA foundation เป็นองค์กรสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน การคมนาคม สิ่งแวดล้อม สิทธิเด็กที่ยังยืน ในระดับสากล รวมทั้งร่วมมือกับ UN, WHO, World Bank ในการผลักดันนโยบายในระดับนานาชาติ
ภารกิจที่สำคัญครอบคลุมหลักการของ Safe System คือ Safer Cars (ทำงานร่วมกับ Global NCAP), Motorcycle Safety, Safer roads (ทำงานร่วมกับ iRAP), Safe and healthy journeys to school, Child Health Initiative, Safer active travel, Occupational road safety practice
สำหรับโครงการ Safe Guard "หมวกนิรภัย" เพื่อชีวิตที่ปลอดภัยของคนไทย หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ AIP foundation และ FIA foundation ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ คือ เสริมสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนของรัฐบาล ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน สนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนแผนงานด้านการสื่อสารสู่สาธารณะ
การดูงานในครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญยิ่ง ที่คณะประเทศไทยได้ร่วมพิจารณากลไก การทำงานร่วมกัน ระหว่าง AIP foundation และ PACTS-Thailand เพื่อยกระดับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากโครงการ Safe Guard นี้
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายในการดำเนินงานในประเทศไทย คือ

1) ทบทวนมาตรฐานหมวกนิรภัย และ เสริมสร้างกลไกการตลาด

2) เสริมสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย

3) เพิ่มการสร้างความตระหนักของสังคมผ่านโรงเรียนและชุมชน
วันเดียวกันคณะประเทศไทยยังได้ศึกษาดูงาน Transport for London: TFL และ London Road Safety Council โดยมหานครลอนดอน แบ่งการบริหารด้วยองค์กรระดับท้องถิ่น 33 แห่ง ดูแลประชากร 8.9 ล้านคน
ผู้บริหารมีนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน Vision Zero ต่อทุกโครงข่ายการขนส่งของมหานครลอนดอน และวางเป้าสำคัญให้ 70% ของชาวลอนดอน จะต้องอยู่ในรัศมี 400 เมตร เพื่อเข้าถึงการขนส่งสาธารณะ พร้อมกับให้ทุกคนจะต้องมี active travel เช่น เดิน ขี่จักรยน อย่างน้อย 20 นาที ภายในปี 2041
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายให้รถส่วนตัวในลอนดอน จะต้องลดลงเหลือน้อยกว่า 3 ล้านคัน ควบคู่ไปกับ Zero emission (ลดการปล่อยก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์) จากระบบโครงข่ายการขนส่ง
เป้าหมายข้างต้นจะดำเนินงานภายใต้แผนงานสำคัญ อาทิ

▪️ Healthy street approach เพื่อให้ลอนดอน น่าเดิน น่าขี่จักรยาน และใช้ระบบโดยสารสาธารณะ

▪️ ยึดหลัก Safe system ในทุกมิติ เป็นกรอบวางแผนและดำเนินงาน

▪️ กำจัดทุกความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ต่อคนเดินถนนและคนขี่จักรยาน (Direct Vision Standard)

▪️ เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุก

▪️ จำกัดความเร็ว Lowering Speed Limit ในมหานครลอนดอน เหลือ 20 ไมล์/ชม. (ประมาณ 30 กม./ชม.)
#ลอนดอน #อุบัติเหตุทางถนน #ถนนปลอดภัย #สสส #สอจร

เสนอขยายผลสำเร็จ “แก้ไขจุดเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี” ลดความสูญเสียอุบัติเหตุทางถนนในการเดินทางไปศึกษาดูงานของคณะกรรมการพิจารณา...
15/06/2025

เสนอขยายผลสำเร็จ “แก้ไขจุดเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี” ลดความสูญเสียอุบัติเหตุทางถนน
ในการเดินทางไปศึกษาดูงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ณ สหราชอาณาจักร บริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ ระหว่างวันที่ 8-15 มิถุนายน 2568 คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนของรัฐสภาไทย มีเป้าหมายหลักเพื่อศึกษาแนวทางบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน จากประเทศที่มีผลงานโดดเด่นในการลดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตบนท้องถนนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
ในวันที่ 10 มิ.ย. 2568 คณะดูงานได้เข้าร่วมประชุมหารือกับผู้บริหารกองทุนด้านความปลอดภัยทางถนu Safer Road Foundation (SRF) เป็นองค์กรการกุศล ก่อตั้งและบริหารงานโดย Mr. Michael Woodford มีภารกิจหลักคือการลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก โดยมาตรการการแก้ไขจุดอันตรายบนถนน ร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศในการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยทางถนน และการรณรงค์ให้ความรู้สู่สาธารณะ
ที่ผ่านมา SRF ได้บริจาคงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจัง เน้นการแก้ไขจุดเสี่ยงด้วยเทคโนโลยีในกรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครนายก สงขลา เกาะสมุย และภูเก็ต ซึ่งพิสูจน์ชัดว่ามีผลทำให้สามารถลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีนัยสำคัญ
‘นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย’ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านวิชาการฯ และยังมีตำแหน่งเป็นประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ได้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ ระบุข้อเสนอเชิงนโยบายถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ประเทศไทยควรดำเนินการต่อจากนี้ไป คือ

1) ขยายผลรูปแบบการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ ไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ

2) เร่งรัดการแก้จุดเสี่ยงอย่างเป็นระบบ

3) ขยายมาตรการการบังคับใช้กฎหมายด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน

4) ผลักดันการบังคับใช้ระบบ เบรก ABS สำหรับรถจักรยานยนต์ทุกขนาด ที่สามารถวิ่งได้เกิน 50 กม./ชม.

5) นำมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนระดับสากลมาใช้ในบริบทไทย เช่นป้ายสัญญาณ และอุปกรณ์การทางต่าง ๆ

6) ใช้ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการกำหนดนโยบาย และการกำกับติตามประเมินผล
ในวันเดียวกัน คณะดูงานยังได้ประชุมหารือกับผู้บริหาร จาก European Transport Safety Council (ETSC) EU มีสมาชิก 27 ประเทศ ประชากรรวม 450 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปี 2023 จำนวน 20,400 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีประชากรเพียง 66 ล้านคน แต่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปีเดียวกัน มากถึง 17,000 คน
แม้ว่าในช่วงปี 2013-2023 การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของ EU โดยรวมลดลง 16% แต่ยังเดินหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการเสียชีวิตให้ได้ 50% ภายในปี 2030 และยังได้ตั้งเป้า zero death ภายในปี 2050 ภายใต้การดำเนินการด้วยระบบ Safe System Approach โดยยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ คือ Safe Speed, Safe Road, Safe Vehicle, Safe People และ Post-Crash Care


#อุบัติเหตุทางถนน #ถนนปลอดภัย
#สสส #สอจร

คติสอนใจวันนี้ “ขับขี่ปลอดภัย ใบสั่งไม่ใกล้ฉัน”
13/06/2025

คติสอนใจวันนี้
“ขับขี่ปลอดภัย ใบสั่งไม่ใกล้ฉัน”

ผลักต้นแบบ “มาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน” ที่ทำงานขับขี่ปลอดภัยสู่ชุมชนไทยไร้อุบัติเหตุเวทีเสวนา "พื้นที่รูปธรรมกา...
12/06/2025

ผลักต้นแบบ “มาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน” ที่ทำงานขับขี่ปลอดภัยสู่ชุมชนไทยไร้อุบัติเหตุ
เวทีเสวนา "พื้นที่รูปธรรมการขับเคลื่อนงานมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน" ในงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 37 เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2568 ‘นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์‘ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. ได้กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย โดยฉายภาพระบบนิเวศงานความปลอดภัยทางถนนและบทบาทของหน่วยงานสนับสนุน
นางก่องกาญจน์ บอกว่า แนวคิด RSO (Road Safety Organization) เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงในโรงงานเล็ก ๆ ที่อำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ที่กล้าหันมาดูแลพนักงานของตัวเองให้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ปลอดภัย ใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง ได้ผลชัดเจนลดอุบัติเหตุได้จริง
จากจุดเล็ก ๆ นี้ ขยายผลสู่มากกว่า 2,000 องค์กรทั่วประเทศในเวลา 10 ปี ภายใต้แคมเปญ "ห่วงใครให้ใส่หมวก" เพราะเราเชื่อว่าองค์กรทุกที่สามารถเป็นจุดเปลี่ยนได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน อปท. บริษัท หรือหน่วยงานรัฐ RSO คือการรวมพลังของคนในองค์กรเพื่อดูแลกันเอง และขยายผลสู่ชุมชนรอบข้าง ไม่ได้ยุ่งยาก ไม่ต้องรอคำสั่งจากใคร ขอแค่มีใจและเชื่อว่า "การเปลี่ยนแปลงเริ่มได้จากที่นี่"
นางก่องกาญจน์ กล่าวว่า องค์กรสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ตรวจเช็กสภาพรถของพนักงาน ตั้งจุดเตือนพฤติกรรมเสี่ยงสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัย ร่วมมือกับ อปท. และชุมชนรอบข้างเพื่อดูแลจุดเสี่ยงในพื้นพื้นที่ เรามีพี่เลี้ยงจากแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด หรือ “สอจร.” พร้อมสนับสนุนทุกจังหวัด มีเครื่องมือ RSO ที่ออกแบบมาให้ใช้ง่าย เห็นขั้นตอนชัดเจน และปรับใช้ได้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ สิ่งสำคัญคืออย่ารอให้เกิดอุบัติเหตุก่อนแล้วค่อยหาทางแก้ เพราะเมื่อชีวิตใครสักคนหายไป มันเอาคืนไม่ได้
“อุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่แค่ตัวเลยในข่าว แต่มันคือโศกนาฎกรรมที่พรากชีวิตคนที่เรารัก จากสถิติปี 2567 คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 17,417 คน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือวัยทำงาน คนที่ยังมีบทบาทสำคัญกับครอบครัวและประเทศชาติ สิ่งที่เราทำได้...ไม่ใช่แค่การให้ความรู้ แต่ต้องลงมือเปลี่ยนวิถีองค์กรด้วยแนวทางที่จับต้องได้“ นางก่องกาญจน์ กล่าว
ด้าน ‘พรพิมล สามสี’ ร้านเค้กกนิษฐา จ.ตรัง เล่าถึงจุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนว่า เกิดจากการสูญเสียบุคลากรอันเป็นที่รักจากอุบัติเหตุทางถนน ประกอบกับมีเครือข่ายพี่เลี้ยง สอจร. ชักชวนเข้าร่วมมาตรการองค์กรฯ โดยมีการให้ความรู้ในเรื่องการขับขี่ปลอดภัย สร้างจิตสำนึกและความตระหนักรู้ ซึ่งหลังภายหลังเข้าร่วมโครงการพนักงานได้ปรับพฤติกรรมมาสวมหมวกกันน็อก 100% อันเกิดจากแรงผลักดันของทุกคนที่อยากขับขี่ปลอดภัย
“ถ้าเจ้าของสถานประกอบการไม่มีใจ ก็จะไม่สามารถร่วมโครงการได้ แต่ในฐานะสถานประกอบการเล็ก ๆ ยืนยันว่าผลที่ได้มากกว่า 100% เพราะพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย การสวมหมวกกันน็อก ยังขยายไปถึงครอบครัวพนักงานด้วย เหมือนสมัยนี้ทุกคนต้องมีมือถือติดตัวไปทุกที่ ก็อยากให้สวมหมวกกันน็อกทุกครั้งที่ขับขี่ด้วยเหมือนกัน” พรพิมล กล่าว
เช่นเดียวกับ ‘ชนิดาภา ประทีป ณ ถลาง’ Fleet safety บริษัท หาดทิพย์ จำกัด ที่บอกว่า บริษัทเข้าร่วมมาตรการองค์กรฯ มาสักระยะแล้ว ประกอบกับบริษัทแม่มีข้อกำหนดนโยบายในเรื่องขนส่งที่เข้มงวด เนื่องจากมีการขนส่งสินค้าในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ และมีเซลล์ขับมอเตอร์ไซค์วิ่งไปเก็บคำสั่งซื้อสินค้า จึงกำหนดให้มีการออกใบขับขี่ของบริษัทต่างหากด้วย โดยพนักงานต้องผ่านการฝึกอบรมตามระเบียบ ซึ่งยากกว่าใบขับขี่ที่ออกให้โดยภาครัฐ และยังมีการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติสำหรับพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานขับรถส่งของ และขยายไปถึงคู่ค้า รวมถึง นศ.ฝึกงานด้วย กฎข้อแรกที่ต้องปฏิบัติคือ สวมหมวกกันน็อก 100% และคาดเข็มขัดนิรภัย
“อีกเหตุผลที่เราเข้าร่วมโครงการมาตรการองค์กรฯ เพราะอยากได้ความปลอดภัยในการเดินทางนอกงานด้วย เพราะจากสถิติพบว่าอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นกับพนักงานคนต่างถิ่นมากที่สุด เนื่องจากไม่คุ้นชินกับเส้นทางและกายภาพของถนนในเกาะภูเก็ต จึงได้นำเอาข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยงทั้งจังหวัด มาวิเคราะห์และนำมาสื่อสารและฝึกอบรม เพื่อให้ขนส่งสินค้าและขับขี่ได้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการกำหนดจุดจอดรถในการส่งของด้วย ซึ่งก็ช่วยลดอุบัติเหตุลงได้เช่นกัน” ชนิดาภา กล่าว
บริษัทยังได้ลงทุนติดตั้งสัญญาณ Telematics เทคโนโลยีการส่ง รับ และจัดเก็บข้อมูล 35 ล้านบาท เพื่อติดตามพฤติกรรมการขับรถ หากไม่ขาดเข็มขัดจะสตาร์ทรถไม่ได้ และต้องเสียบบัตรขับขี่ที่บริษัทออกให้ถึงจะสตาร์ทรถได้ และยังมีทีมงานคอยมอนิเตอร์ผ่ารกล้อง จับสังเกตพนักงานขับรถ หากพบกระพริบตาบ่อยจะมีการโทรเข้าไปสอบถามอาการ
ส่วน ‘ลัดดาวรรณ อินธรรม’ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย แผนกความปลอดภัย บริษัท เอ็ม
เอ็ม ซี ทูลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมแชร์ข้อมูลว่าบริษัทมีพนักงานไม่ต่ำกว่า 1,300 คน ด้วยสถานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางประอิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานเยอะ เมื่อคนเยอะการจราจรก็เยอะตามไปด้วย ทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนเยอะ โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์เฉี่ยวชนในช่วงเร่งรีบ และรวมไปถึงพฤติกรรมเมาแล้วขับ
ดังนั้น นอกจากการดำเนินมาตรการองค์กรในสถานประกอบการ ตามนโยบายจากบริษัทแม่ที่มุ่งเน้นการลดและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ทั้งการประชุมวิเคราะห์ข้อมูล การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ข่าวสารความรู้ผ่านเสียงตามสาย และรณรงค์ปฎิบัติตามกฎจราจร รวมถึงออกประกาศเป็นนโยบายเน้นย้ำการสวมหมวกกันน็อก 100% คาดเข้มขัดนิรภัยในเขตพื้นที่โรงงาน และดื่มไม่ขับ โดยมีการสุ่มเป่าแอลกอฮอล์ ห้ามเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าพบเกินกำหนดจะให้นั่งพักและกลับบ้าน
ขณะเดียวกัน จึงมีการทำกิจกรรมเชื่อมโยงออกไปยังพื้นที่โดยรอบสถานประกอบการ เนื่องจากเป็นแหล่งพักอาศัยของพนักงาน เป็นการทำเพื่อสังคมด้วย เชื่อมโยงไปยังชุมชน มีการสำรวจจุดเสี่ยงเส้นทางเดินทางจากบ้านมายังบริษัท รวบรวมข้อมูลประสานต่อไปยังหน่วยงาน เช่น สอจร. ตำรวจ ทางหลวง เพื่อเข้ามาประบปรุงจุดเสี่ยงให้ปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม
“หลังจากเข้าร่วมมาตรการองค์กร สถิติอุบัติเหตุลดลง และ พนง.ให้ความร่วมมือมากขึ้น แม้แรก ๆ จะลำบาก แต่การย้ำเตือนบ่อย ๆ ก็ช่วยให้ทุกคนค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมได้“ ลัดดาวรรณ กล่าว
ขณะที่ ‘ธนพงศ์ อรชร‘ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต บอกเล่าถึงความพยายามในการชวนสถานประกอบการ ให้ลุกขึ้นมาเห็นความสำคัญในการดำเนินมาตรการองค์กรฯ ที่ในทางปฏิบัติสามารถขยายขอบเขตของความปลอดภัย ไปให้ไกลกว่าสถานประกอบการหรือสำนักงานได้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงของทุกคน
สิ่งที่เรามุ่งเน้นคือบทบาทของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือ จป. โดยเฉพาะในสถานประกอบการที่มีรถจำนวนมาก เช่น ธุรกิจขนส่ง ต้องไม่ลืมว่า "รถ" คือ "เครื่องจักรเคลื่อนที่" และมีกฎหมายบังคับให้ตรวจสอบสภาพก่อนออกถนน ถ้าเกิดเหตุล้อหลุดจากความบกพร่อง เราไม่ได้เสียแค่รถ แต่เราอาจสูญเสียชีวิตของบุคลากรด้วย
“จป. ในองค์กรมีบทบาทสำคัญมาก ตั้งแต่ตรวจรถ บังคับให้ใส่หมวกนิรภัย ไปจนถึงสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยแบบเข้มข้นในองค์กร หลายคนอาจบอกว่าแต่มันอยู่นอกกฎหมายจะไปทำยังไง? ผมเชื่อว่ากฎหมายคือสิ่งหนึ่ง แต่ใจต่างหากคือสิ่งสำคัญ ถ้าผู้นำไม่มีใจ ข้ออ้างจะตามมาเสมอ แต่ถ้ามีใจ แม้กฎหมายไม่ไม่บังคับ เราก็ขยับได้” ธนพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
#มาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน
#อุบัติเหตุทางถนน #ขับขี่ปลอดภัย #วินัยจราจร
#สสส #สอจร

Address


Alerts

Be the first to know and let us send you an email when The Red Line posts news and promotions. Your email address will not be used for any other purpose, and you can unsubscribe at any time.

Contact The Business

Send a message to The Red Line:

Shortcuts

  • Address
  • Alerts
  • Contact The Business
  • Claim ownership or report listing
  • Want your business to be the top-listed Media Company?

Share

TRL TEAM

ร่วมเปลี่ยน “เส้นทางสีแดง” สู่ถนนที่ปลอดภัย เพียงเคารพกฎจราจร และมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง เพราะอุบัติเหตุ ไม่ใช่เรื่อง "บังเอิญ" แต่เป็นสิ่งที่เรา "ป้องกัน" ได้