16/07/2025
"แพลตฟอร์มเพียบ AI มาแล้ว"
เทรนด์คอนเทนต์-ครีเอเตอร์ใหม่จะเป็นอย่างไร
'ขจร iCreator' และ 'สุวิตา Tellscore'
จากเวที Creative Talk Conference 2025 มีคำตอบ
----
▪️ เทรนด์ของครีเอเตอร์ตอนนี้อยู่ที่ Facebook และ TikTok กำลังไล่จำนวนครีเอตเตอร์ตามมาติด ๆ
▪️ เทรนด์ของคอนเทนต์ที่คนทำเยอะ 3 อันดับแรกคือ หมวดไลฟ์สไตล์ ความสวยความงาม และท่องเที่ยว ส่วนคอนเทนต์ที่มีโอกาสโตมากคือ ครอบครัวและผู้สูงอายุ การออกกำลังกาย และคอนเทนต์ตลก
▪️ แน่นอนว่าวิดีโอสั้นมาแรง แต่รองลงมาคือภาพเดี่ยว และอัลบั้มภาพ พอดแคสต์ที่มีแค่เสียงรั้งท้ายรูปแบบการนำเสนอที่ได้รับความนิยม
----
ในโลกที่ทุกอย่างหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว อัลกอริทึมก็สามวันดีสี่วันไข้ แพลตฟอร์มก็เต็มไปด้วยผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา บางคนโตเร็วจนกลายมาเป็นแนวหน้าได้ไม่ยากถ้าอยู่ถูกที่ถูกเวลา แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นว่าสุดท้ายจะต้องมีอะไรขยับปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ จนบางทีเราก็รับมือกันไม่ทัน
ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ยุคนี้จึงต้องปรับตัวเร็ว และรับรู้สถานการณ์เทรนด์โลก เทรนด์ในประเทศ หรือเทรนด์แต่ละแพลตฟอร์มให้ทันท่วงทีเพื่อให้ตัวเองยังทรงตัวอยู่บนลู่วิ่งแสนรวดเร็วนี้ให้ได้ งาน Creative Talk Conference จึงได้จัด Session ที่ชื่อ 'อินฟลูฯเฟ้อ ครีเอเตอร์เอาไงต่อ Creator Trends 2026' กับ Speakers 2 ท่าน ได้แก่ 'ขจร เจียรนัยพาณิชย์' Executive Editor ที่ RAiNMaker และผู้จัดงาน iCreator Conferance และ 'สุวิตา จรัญวงศ์' CEO & Co-founder of Tellscore Co., Ltd. Influencer Platform เพื่อสรุปเทรนด์ที่น่าสนใจในโลกของคอนเทนต์ออนไลน์ในรอบครึ่งปีที่ผ่านมาให้ทุกคนได้ Catch Up ตามให้ทัน
เริ่มต้นให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ คุณขจรเล่าว่าทุกวันนี้ 'Creator' คือส่วนประกอบหลักสำหรับทุกอุตสาหกรรม เพราะทุกอย่างต้องการการสื่อสาร หรือตัวแทนในการสื่อสารเรื่องราวออกไปสู่ผู้คน อย่างข้อมูลจำนวนครีเอเตอร์ในบ้านเราที่บอกไว้ว่าตอนนี้บน Facebook มีสัดส่วนครีเอเตอร์มากที่สุดถึง 31% รองลงมาคือ TikTok ที่ 25%, Instagram อีก 25% และ Youtube 17% ตามลำดับ
เมื่อมองไปยังหมวดหมู่คอนเทนต์ยอดนิยม 10 อันดับแรก เราจะเห็นเลยว่าคอนเทนต์อันดับที่ 1 คือ คอนเทนต์ประเภท Lifestyle 19% รองลงมาอันดับที่ 2 Beauty & Fashion 17%, อันดับที่ 3 Travel 8%, อันดับที่ 4 Entertainment 8%, อันดับที่ 5 Gaming 7%, อันดับที่ 6 Food Drink & Cafe 7%, อันดับที่ 7 News & Reporter 4%, อันดับที่ 8 Parenting & Kids 3%, อันดับที่ 9 Art & Literature 2% และอันดับที่ 10 Pets 2% อีกทั้งข้อมูลยังบอกอีกว่าหมวดหมู่คอนเทนต์ที่มีโอกาสโตได้อีกคือ Family & Senior, Athlete และ Comedian
ต่อมาคือในส่วนรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ สัดส่วนที่กินพื้นที่การเข้าถึงมากที่สุดเลยหนีไม่พ้นรูปแบบวิดีโอสั้น 82.7% รองลงมาคือภาพเดี่ยว 53.8%, ภาพอัลบั้ม 47.2%, บทความสั้น 35.7%, วิดีโอยาว 26.3%, บทความยาว 15%, ไลฟ์ 14.1% และพอดแคสต์ 6.8% โดยสำหรับแชมป์ในหมวดรูปแบบการนำเสนอนี้ วิดีโอสั้นเอาชนะรูปแบบการทำคอนเทนต์ทุกชนิดไปโดยสิ้นเชิง เพราะสามารถทำคลิปทีเดียวแล้วลงแพลตฟอร์มไหนก็ได้ ขณะที่รูปแบบคอนเทนต์อื่นอาจเหมาะเพียงบางแพลตฟอร์มเท่านั้นเอง
ทางฝั่ง Influencer Trends จากข้อมูลของคุณสุวิตา Tellscore ก็มีข้อมูลน่าสนใจเช่นกัน อย่างเช่น หมวด Niche Content ที่กำลังมาแรงในช่วงปีที่ผ่านมาและน่าจับตามองเลย มีด้วยกัน 5 หมวดหมู่ ได้แก่
1️⃣ หมวด 'Scam Alert' หรือสายเตือนภัยมิจฉาชีพ เพราะตอนนี้คนไทยกำลังเจอแต่การหลอกลวงบนโลกออนไลน์ และกำลังมองหาความจริงที่เชื่อถือได้มากขึ้น
2️⃣ หมวด 'Joy Feed' หรือวิดีโอคอนเทนต์ที่นำเสนอเรื่องราวเชิงบวกในชีวิต อาจจะเป็นสัตว์เลี้ยง ความตลก หรือเนื้อหาเบาสมอง เพราะขณะนี้คนไทยมีความเครียดสูงจากภาวะต่าง ๆ ที่ประเดประดังเข้ามา
3️⃣ หมวด 'In Search for Equality' เนื้อหาวิดีโอที่เน้นนำเสนอเนื้อหาเพื่อสร้างความเท่าเทียมและเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้อย่างเท่ากัน เพื่อสะท้อนว่าตอนนี้สังคมเรากำลังเจอกับความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก
4️⃣ หมวด 'In Search for Income' เนื้อหาวิดีโอที่เน้นนำเสนอช่องทางการหารายได้ใหม่ ๆ ให้ผู้คน เป็นหมวดคอนเทนต์ที่สะท้อนว่าตอนนี้คนไทยกำลังเจอกับภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง แม้แต่มนุษย์เงินเดือนเองก็เจอภาวะเดือนชนเดือน ต้องการหารายได้ทางอื่นเพิ่มมากขึ้น
5️⃣ หมวด 'Entrepreneur Life' เนื้อหาวิดีโอเล่าชีวิตของคนทำธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่เข้าถึงง่าย เพราะคนยุคนี้ต้องการประสบความสำเร็จ และเนื้อหาเบื้องหลังคนทำธุรกิจเหล่านี้ก็ช่วยเติมไฟให้ผู้คนว่าหน้าตาของความสำเร็จมันเป็นเช่นไร
ขณะเดียวกันแนวโน้มของสิ่งที่แบรนด์ต้องการและครีเอเตอร์ต้องการก็มีประเด็นเฉพาะเแยกย่อยลงไปมากขึ้น ทั้งเรื่องของการลด Cost ในการทำงาน แต่ยังคงเน้นคุณภาพคล้ายเดิม หรือประเด็นของ Hyper Local & Hyper Niche อย่างเช่นการที่แบรนด์สินค้าอยากทดลองสินค้ากับกลุ่มเป้าหมายการทดลองที่เฉพาะเจาะจงกว่าเดิม เพื่อความแม่นยำในการทดลองตลาดมากขึ้น หรือการพยายามทำความเข้าใจกลุ่มคน GEN Z ให้มากขึ้น เพราะอนาคตกลุ่มคนเหล่านี้จะกลายเป็นเป้าหมายหลักทางการตลาดต่อไปในอนาคต ไปจนถึงเรื่องของ Quick Win หรือการพยายามเอาชนะสมรภูมิคอนเทนต์ด้วยความรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างการไลฟ์ขายของนั่นเอง
ระหว่างพูดคุยเรื่องแนวโน้มสำคัญ ก็มีประเด็นหนึ่งน่าสนใจเกิดขึ้นมาก็คือ AI จะมีผลต่อครีเอเตอร์อย่างไรบ้างในยุคนี้ คุณขจรก็สะท้อนเรื่องหนึ่งให้ได้ฟังกัน นั่นคือการที่ยุคหนึ่งเราจะเห็นว่าผู้คนมีความแอนตี้ AI เป็นอย่างมาก กลับกันในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ ด้วยความก้าวหน้าของ AI ที่ดีขึ้น ทำให้คนเริ่มยอมรับในการเป็นผู้รับสาร และใช้ AI เป็นผู้ส่งสารมากขึ้น อย่างในรายการของคุณสิทธิชัย หยุ่น ก็มีนักข่าว AI มาเป็นผู้ดำเนินรายการร่วม หรือใน TikTok ก็มีคนเล่าเรื่อง AI ออกมามากขึ้น
ในแง่รูปธรรม ช่วงเดือนที่ผ่านมามีการเก็บสถิติว่า Channel Youtube จำนวน 30 ช่องที่มีคน Subscribe มากที่สุดในโลกมีช่องไหนบ้าง ซึ่งก็มี 2 ช่องด้วยกันที่เป็น AI Creator 100% ขยับมาทางคุณสุวิตาก็ให้ข้อมูลว่า ข้อที่น่ากังวลสำหรับครีเอเตอร์เองนั่นคือการที่ พรบ. AI ยังไม่ชัดเจน อาจทำให้เกิดการสร้างเนื้อหาที่บิดเบือน หรือปลอมแปลงออกมาได้อย่างง่ายดาย โดยอาจจะส่งผลโดยตรงกับครีเอเตอร์ที่เป็นมนุษย์ เพราะบางครั้งครีเอเตอร์แบบสุจริตจะหาเงินจากตรงนี้ได้ยากขึ้น
แล้วถ้าถามว่าวิธีการได้เงินจากโลกออนไลน์ของครีเอเตอร์จะเป็นอย่างไรต่อไป ข้อมูลจากทางคุณขจรก็ชี้ชัดว่า ในปัจจุบันครีเอเตอร์สามารถมีรายได้หลายทางเหมือนกัน ทั้งรายได้จากแพลตฟอร์ม, คอนเทนต์สปอนเซอร์และแบรนด์, การทำคอนเทนต์ปักตะกร้าขายสินค้า, เป็นวิทยากร, การโดเนตและของขวัญ, การออกสินค้า, ลิขสิทธิ์, การจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์ และการสมัครสมาชิก แต่ที่สำคัญก็คือเราต้องหากลุ่มแฟน ๆ ให้เจอ เพราะกลุ่มแฟน ๆ จะได้ซัปพอร์ตเราผ่านการหารายได้ในทุกช่องทางเหล่านี้ต่อไป
ทางฝั่งคุณสุวิตาก็มีการทำ Forecast Research เพื่อค้นหาว่าวิธีการใดที่ทั้งแบรนด์และครีเอเตอร์จะปรับตัวได้ในโลกการสื่อสารในอนาคตข้างหน้าออกมาเป็นภาพอนาคต 5 ภาพใหญ่ ได้แก่ การเปิดกว้างทางความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำให้สิ่งที่เราคิดก้าวไปสู่ระดับโลกได้, การที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยจะก้าวไปในระดับโลกได้อย่างแน่นอน, การเติบโตของครีเอเตอร์บนเส้นทางที่ไม่มั่นคงนัก, โลกแห่งวิกฤตความน่าเชื่อถือวงการคอนเทนต์ทั่วโลก และสุดท้าย การอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในยุคก่อนหน้า
ทั้งหมดนี้คืออนาคตในโลกคอนเทนต์ที่ไม่แน่นอน แต่ก็ยังเป็นโลกที่หลายคนใฝ่หา เพราะเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่รอการลงมือทำ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าเนื้อหาในบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับคนที่กำลังหาที่ทางบนการเป็นครีเอเตอร์ไม่ว่าจะรูปแบบใด แม้แต่ตัวผู้เขียนเอง ซึ่งก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นี้ก็ตาม
เรื่อง : ศุภณัฐ เลิศรักษ์กุล
ภาพ : มณฑล ชลสุข
----------
อย่าลืมกด 'FOLLOW' 👆 เพื่อติดตาม SUM UP
จะได้ไม่พลาด 'ความรู้' และ 'ข่าวสาร' ที่สนุกและเป็นประโยชน์
อ่านทุกเรื่องบนเว็บไซต์ https://www.sumupth.com/
----
#เทรนด์คอนเทนต์
#อินฟลูเอนเซอร์
#คอนเทนต์ครีเอเตอร์