สถานีข่าว เสียงประชาชน แห่งประเทศไทย

สถานีข่าว เสียงประชาชน แห่งประเทศไทย ข้อมูลการติดต่อ, แผนที่และเส้นทาง,แบบฟอร์มการติดต่อ,เวลาเปิดและปิด, การบริการ,การให้คะแนนความพอใจในการบริการ,รูปภาพทั้งหมด,วิดีโอทั้งหมดและข่าวสารจาก สถานีข่าว เสียงประชาชน แห่งประเทศไทย, บริษัทด้านสื่อ/ข่าวสาร, Bangkok.

สถานีข่าวเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย
ข้อมูลข่าวสาร “เพื่อการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคม”

ติดตามข่าวสารทางไลน์ https://lin.ee/Rf8ZuVN
ติดตามข่าวสารทางเวบไซต์ https://peoplevoiceofthailand.info/index.php/en/

บันทึกการเสวนาเรื่อง “พลวัตขบวนการแรงงานไทยสู่การเคลื่อนไหวสังคมใหม่”        การเสวนาในโอกาสวันกรรมกรปี  2568  ในประเด็น...
07/05/2025

บันทึกการเสวนา
เรื่อง
“พลวัตขบวนการแรงงานไทยสู่การเคลื่อนไหวสังคมใหม่”

การเสวนาในโอกาสวันกรรมกรปี 2568 ในประเด็น “พลวัตขบวนการแรงงานไทยสู่การเคลื่อนไหวสังคมใหม่” ที่จัดโดยกลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจ สถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย และกลุ่มศึกษาสำนักข่าวเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท) เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ผ่านพ้นไปด้วยความสำเร็จ สร้างความคึกคักทางปัญญา ก่อเกิดความคิดความเข้าใจต่อการเคลื่อนไหวของพลังสังคมสมัยใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมราว 35 คน.

มีประเด็นที่ควรบันทึกไว้ก่อนจะสูญสลายจากความทรงจำ คือ

1. ผู้ใช้แรงงานสมัยใหม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง ขณะเดียวกันกลไกอำนาจรัฐก็ติดตามอย่างกระชั้นชิด การเคลื่อนไหวจึงต้องคำนึงถึงกลไกอำนาจรัฐเหล่านี้ด้วย.

2. ระบบทุนนิยมมีวิธีการควบคุม หรือครอบงำ ผู้นำกลุ่มผู้ใช้แรงงานผ่านการให้สิทธิผลประโยชน์ และฐานะตำแหน่ง เช่น ในตะวันตก ผู้นำสหภาพแรงงานจะได้รับตำแหน่งรองประธานของวิสาหกิจ เท่ากับมีฐานะเป็นฝ่ายบริหาร มีรายได้สูงกว่าแรงงานทั่วไปมาก ส่วนรัฐไทยใช้วิธีแต่งตั้งเป็นกรรมการ, อนุกรรมการ, กรรมาธิการ, สมาชิกวุฒิสภา หรือ/และสภาแต่งตั้ง ให้สิทธิประโยชน์ด้านเงินเดือนและสวัสดิการ จนสูญเสียสถานะและความคิดอุดมการณ์ของผู้ใช้แรงงาน.

3. ขบวนการแรงงานที่ผ่านมาของไทย หากอยู่ในยุคเผด็จการ ขบวนการแรงงานจะถูกลด หรือห้ามมีบทบาทการเคลื่อนไหวโดยสิ้นเชิง เช่นสมัยสฤษดิ์, ถนอมและประภาส, สมัยประยุทธ์ อำนาจรัฐควบคุมอย่างเข้มงวด ผู้นำถูกเข่นฆ่าจับกุมคุมขังอุ้มหาย.

4. ขบวนการแรงงานมีบทบาทอย่างมากในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 มีความตื่นตัวต่อการเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเอง เกิดสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง และที่สำคัญคือมีการประสานกับพลังนักศึกษา ที่เข้าไปช่วยการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานอย่างใกล้ชิด.

5. ขบวนการแรงงานหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดภาวะชะงักงัน ถูกอำนาจรัฐตัดตอนลดบทบาท และควบคุมอย่างเข้มข้น สูญเสียพลังการเคลื่อนไหวเกือบจะสิ้นเชิง.

6. การยื่นข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน หากกลุ่มผู้ใช้แรงงานมีอำนาจต่อรองต่ำ ขาดความเข้มแข็ง การยื่นข้อเรียกร้องที่สูง จะทำให้ยากแก่การเจรจาต่อรองเพื่อความสัมฤทธิ์ผลของข้อเรียกร้อง.

7. การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน ต้องให้ได้รับชัยชนะ ไม่มากก็น้อย ต้องไม่เสียประโยชน์โดยไม่ได้อะไรเลย.

8. การเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงาน ปัจจุบันยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ขบวนการ” ในความหมายว่าขบวนการต้องประกอบด้วย 1. มวลชนสมาชิก 2. มีการจัดตั้ง 3. มีผู้นำ 4. มีเป้าหมายร่วมกัน และ 5. มีการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรม เรียกร้องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน.

9. ปัจจุบัน ผู้ใช้แรงงานระดับล่างคือคนทำงานในฐานะไร้ฝีมือ หรือกึ่งไร้ฝีมือ อาศัยการขายแรงงานเป็นหลัก ราว 15 – 18 ล้านคน จะอ่อนแอ ขาดอำนาจต่อรอง และราว 4 – 5 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติ เช่นพม่า, เขมร และลาว ต้องทำงานหนัก เพราะรายได้ต่อวันในขณะนี้ไม่เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ต้องอาศัยการทำงานล่วงเวลา จนแทบจะไม่มีเวลาไปคิดไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ๆ.

10. กลุ่มอาชีพอิสระเฉพาะด้าน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานร่วมกับพลังการผลิตสมัยใหม่ เช่นพนักงานโปรแกรมเมอร์, ไอที, วิศวกร และช่างเทคนิค รวมถึงอาชีพบริการ เช่นพนักงานโรงแรม, ธนาคาร, ตลาดหลักทรัพย์, นักวิเคราะห์, ที่ปรึกษา, ผู้เชี่ยวชาญเอไอ ฯลฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่พนักงานที่ใช้แรงงานเป็นหลัก จะมีจำนวนลดน้อยถอยลง เพราะโครงสร้างการผลิตในสังคมเปลี่ยนไป โครงสร้างผู้ใช้แรงงานจึงเปลี่ยนแปลงตามการพัฒนาของพลังการผลิตที่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมไฮเทค.

11. แรงงานไร้ฝึมือ และกึ่งไร้ฝีมือ จะมีอำนาจต่อรองต่ำ และขาดพลังในการรวมกลุ่มต่อสู้เรียกร้อง เช่นกรณีการขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท เพื่อเป็นของขวัญวันกรรมกรปี 2568 ปรากฎว่าพรรครัฐบาลทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยไม่ได้แสดงพลังขับเคลื่อนอย่างจริงใจและจริงจัง ผู้ใช้แรงงานก็ไม่สามารถรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามที่สัญญาเมื่อตอนหาเสียงได้.

12. สหภาพแรงงานที่มีอยู่ รวมทั้งผู้ใช้แรงงานกายระดับล่าง ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงคัดค้านการเฉื่อยเนือยของภาครัฐบาล ขณะเดียวกันตัวแทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการค่าจ้าง กลับมีข่าวว่าไปเห็นอกเห็นใจฝ่ายนายจ้าง และโน้มเอียงไปทางความคิดเห็นของภาครัฐ และนายจ้าง.

13. ข้ออ้างของรัฐบาลและฝ่ายนายจ้างยังคงเป็นข้ออ้างเก่าตลอดมา คือเศรษฐกิจไม่อำนวยให้ขึ้นค่าจ้างขณะนี้ เพราะผู้ประกอบการต้องเผชิญวิกฤตความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ทั้งผู้ลงทุนชาวต่างชาติมีแนวโน้มจะถอนการลงทุนไปประเทศอื่น ที่มีค่าแรงสวัสดิการถูกกว่า.

14. หากเปรียบเทียบประโยชน์ของการขึ้นค่าจ้างแรงงานจาก 330 + เป็น 400 บาทต่อวัน สำหรับผู้ใช้แรงงานกายจำนวนประมาณ 20 ล้านคน (ประมาณการคร่าว ๆ) จะต้องใช้เงินราว 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ปีหนึ่งราว 120,000 ล้านบาท แน่นอนว่านายจ้างระดับเอสเอ็มอี ยากจะแบกรับภาระการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานได้ คำถามคือภาครัฐได้คิดและหามาตรการช่วยเหลือนายจ้างส่วนนี้หรือไม่ เช่นลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม, ลดสัดส่วนภาษีเงินได้, ภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับธุรกิจที่มีรายได้ไม่สูง, อุดหนุนสถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเหมือนสมัยโควิด – 19 เพื่อปรับโครงสร้าง,เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้เครื่องจักรเครื่องกลที่ทันสมัยอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ต้องกลัวแรงงานจะตกงาน รัฐสามารถจัดอบรมยกระดับฝีมือแรงงานให้สามารถใช้งานควบคุมเครื่องจักรกลไอที และเทคโนโลยีเอไอสมัยใหม่ เป็นต้น.
คำถามคือหากเทียบกับการแจกเงินคนละหนึ่งหมื่นบาท โครงการไหนจะให้ประโยชน์กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากกว่ากัน หากท่านเพิ่มค่าจ้างแรงงานให้ผู้ใช้แรงงานเดือนละ 1,500 บาท แน่นอนว่าเงินจำนวนนี้จะเข้าสู่การหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ เพราะผู้ใช้แรงงานจำเป็นต้องใช้เงินทันทีเนื่องจากค่าแรงปัจจุบันไม่พอยังชีพอยู่แล้ว การแจกเงินหมื่นที่ผ่านมาสองรอบได้พิสูจน์ชัดว่าไม่อาจขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้คึกคักสะพัดหมุนได้ตามที่คาดหวังไว้ อีกทั้งโครงสร้างการผลิตของไทยยังจะได้พัฒนายกระดับตามการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ด้วย

15. สหภาพแรงงานปัจจุบันมีราว 1,500 – 1,800 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนราว 2 – 3 % ของจำนวนโรงงาน 72,000 – 75,000 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่มีกิจกรรม ส่วนที่ยังมีบทบาทเคลื่อนไหวราว 400 แห่ง ขณะเดียวกันจำนวนสมาชิกก็มีสัดส่วนเพียง 2 – 3 % ของจำนวนแรงงานทั้งหมดเช่นกัน พลังในส่วนนี้จึงอ่อนด้อย และมีบทบาทน้อย.

16. โครงสร้างการผลิตยุคอุตสาหกรรม 4.0 ก่อเกิดอาชีพใหม่ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ เช่นไรเดอร์, แม่บ้านอิสระ, นักการเงิน, นักออกแบบสื่อ, ผู้เชี่ยวชาญไอที, ที่ปรึกษา, โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ การจ้างงานเป็นแบบโครงการ หรือชิ้นงาน บุคคลเหล่านี้อยู่และทำงานกันอย่างกระจัดกระจาย การรวมกลุ่มทำได้ยาก เช่นไรเดอร์, แม่บ้าน คนงานนอกระบบการจ้างงานปกติ, งานบริการ, คนขับรถรับจ้าง ฯ บวกกับการขาดผู้นำที่มีบุคลิกภาพ ทำให้การรวมกลุ่มแสดงพลังทำได้ยาก ส่วนใหญ่มีรายได้เกินกว่ารายได้มาตรฐานขั้นต่ำ จึงมิได้สนใจเรื่องค่าจ้าง เพราะมีอำนาจต่อรอง เป็นความต้องการของตลาด แม้จะขาดความมั่นคง และสวัสดิการ ตลอดจนหลักประกันสุขภาพ แต่กลุ่มคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไฮเทคคิดว่าสามารถใช้เงินที่หาได้ ซื้อสิ่งที่ต้องการได้ ความสนใจต่อชั้นชนอาชีพอื่นมีน้อย ขณะเดียวกัน บุคลากรเหล่านี้สามารถเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปทำงานยังประเทศอื่น ๆ ได้ ด้วยการสื่อสารสมัยใหม่ที่สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ความผูกพันในความเป็นชาติ หรือความรู้สึกร่วมกับชั้นชนที่ต่ำกว่าที่ด้อยโอกาสกว่าจึงยิ่งมีน้อยลง

17. ไรเดอร์ เช่นคุณประภาพร ผลอินทร์ จึงได้พลิกแพลงด้วยการใช้สวัสดิภาพความปลอดภัย และสุขภาพมาเป็นแรงจูงใจในการรวมกลุ่มไรเดอร์ ถือเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจและควรแก่การสนับสนุน.

18. สรุปคือแรงงานไทยสมัยใหม่ มีสภาพที่อ่อนแอ กระจัดกระจาย ขาดพลังในการเคลื่อนไหว จะต้องอาศัยพลังจากภายนอกมาช่วยกระตุ้นให้การศึกษาจัดอบรม เช่นดั่งการเคลื่อนไหวหลัง 14 ตุลาที่มีนักเรียนนักศึกษาและนักวิชาการเข้าไปช่วยเหลือร่วมขับเคลื่อน.

19. ประการต่อมา คือขบวนการแรงงานไทยต้องอาศัยพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เข้าใจและมีนโยบายยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้ใช้แรงงาน เช่นพรรคประชาชน เสนอกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ แต่ถูกพรรครัฐบาลแพทองธารตีตก เป็นต้น.

20. การสื่อสารสมัยใหม่ผ่านทางโซเชียลจะมาแทนที่โรงงานแบบเก่าที่ผู้ใช้แรงงานทำงานอยูู่ในอาคารเดียวกัน การให้การศึกษาการรวมกลุ่มสามารถใช้การสื่อสารออนไลน์ และเรียลไทม์ได้.

21. ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ ที่มีพลังชัดเจนในเวลานี้คือ กลุ่ม LGBTQ+ ที่ต่อสู้เรียกร้องจนได้รับการรับรองตามกฎหมาย สามารถจดทะเบียนสมรส จัดงานเฉลิมฉลองที่เรียกว่างานไพร์ดใหญ่โต การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ดำเนินโดยบุคลากร LGBRQ + ที่มีความรู้มีการศึกษามีฐานะการงานดี สร้างความคึกโครมไปทั่วโลกจากการจัดงานไพร์ดประจำปี แต่คำถามคือการเคลื่อนไหวได้ลงถึงบุคลากร LGBTQ + ระดับล่างหรือไม่อย่างไร และหากการเคลื่อนไหวยังจำกัดอยู่ในหมู่คนที่มีเพศสภาพข้างต้น โดยมิได้สนใจปัญหาสังคมอื่นของคนด้อยโอกาส เพศสภาพ LGBTQ + จะได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากผู้ใช้แรงงานระดับล่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านทั่วไปได้อย่างไร ?

22. อาจารย์อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ได้นำเสนอแนวคิดโซเชียลโซลิดาริตี้อีโคโนมี เป็นทางออกหนึ่ง การทำความเข้าใจรายละเอียดรูปธรรม จะต้องให้อาจารย์อรรคณัฐนำเสนออีกครั้ง แต่ผลงานที่เห็นคืออาจารย์อรรคณัฐได้ออกแบบและจัดทำแพลตฟอร์มการรับส่งอาหาร โดยคิดค่าบริการที่น้อยลง ไม่หวังผลกำไรมากเช่นธุรกิจเอกชน อาศัยไรเดอร์เป็นคนบริหารจัดการกันเอง เป็นต้น.

23. อาจารย์ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย นำเสนอแนวคิด “ส่วนรวมและการดูแลร่วม” จุดความสงสัยว่าจะได้ผลเพียงใด เมื่อหลายคนมีประสบการณ์ว่าอะไรที่เป็นทรัพย์สินสิ่งของร่วมกัน มักจะไม่มีใครดูแลจัดการ ปล่อยให้ดำเนินไปตามมีตามเกิด ขาดการดูแลรักษาและพัฒนาร่วมกัน แล้วจะสร้างจิตสำนึกการคำนึงถึงส่วนรวม และการดูแลร่วม ได้อย่างไร ?

24. ขบวนการเคลื่อนไหวสังคมใหม่ยังมีเรื่องราวอีกหลากหลายให้พวกเราได้ศึกษา และทำความเข้าใจ ผู้ร่วมเสวนาหลายท่านฝากความหวังว่าอาจารย์อรรคณัฐและทีมงานจะได้ขับเคลื่อนและจัดเสวนาเรื่องราวใหม่ ๆ ให้เราได้เข้าร่วมอีกต่อ ๆ ไป.

งานเสวนาเนื่องในวันกรรมกรสากล (May Day)"พลวัตขบวนการแรงงานไทยสู่ขบวนการเคลื่อนไหวสังคมใหม่"วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๘ณ...
05/05/2025

งานเสวนาเนื่องในวันกรรมกรสากล (May Day)
"พลวัตขบวนการแรงงานไทยสู่ขบวนการเคลื่อนไหวสังคมใหม่"
วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๘
ณ Social Innovation Hub
โดย มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย และ ศูนย์ศึกษา สปท

ความเรียงชุด “แล้วเราจะพบกันอีก”*ปรีดา ข้าวบ่อเหลืออดเหลือทนยุคสมัยของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ถือเป็นรุ่นผู้มาก่อนกาล ทั้งการ...
04/05/2025

ความเรียงชุด “แล้วเราจะพบกันอีก”*
ปรีดา ข้าวบ่อ

เหลืออดเหลือทน

ยุคสมัยของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ถือเป็นรุ่นผู้มาก่อนกาล
ทั้งการประพันธ์ การหนังสือพิมพ์ ที่สำคัญทางด้านการสังคมและการบ้านการเมือง
ท่านเป็นหัวขบวนของพลเมืองภาคประชาสังคม
รางวัลชีวิตผู้หาญกล้าคือถูกเนรเทศ หรือไม่ก็ลี้ภัย
เฉกเช่นเดียวกับท่านปรีดี พนมยงค์

ภายใต้ยุคเผด็จการในรัฐจารีตที่มีจักรวรรดินิยมอเมริกาหนุนหลัง
ผู้รักชาติ รักเอกราช รักประชาธิปไตย ที่ตื่นรู้จำนวนไม่น้อย
ได้จัดตั้งองค์กรขึ้นต่อสู้กู้แผ่นดิน
ท่ามกลางอุปสรรคกางกั้น กลไกอำนาจรัฐตามบดขยี้
หลายคนยังคงเชิดหน้าชูธงจากวันนั้นจนแผ่นดินกลบหน้า
หลายคนวางมือแต่ก็เป็นพลเมืองที่ดีเลิศในทุกวงงาน
หลายคนฝากวีรภาพวีรกรรมที่สูงเด่น สง่างาม
ให้ผู้คนลือนามและสืบทอด

ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน
เยาวชน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ได้ร่วมกันโบกสะบัดผืนธงชัยไปทั่วสารทิศ
แต่แล้วอำนาจรัฐอำมหิตได้ยกกองกำลังเข้าปิดล้อมเข่นฆ่ากลางมหานคร
กำลังหลักแตกกระจายสู่ขุนเขาลำเนาไพร
อีกส่วนหนึ่งยืนหยัดทำงานในเมืองอย่างทรหด มุ่งมั่น
หากแต่หนทางสู่สังคมอุดมการณ์ยังคงเป็นเพียงความใฝ่ฝันแสนงาม

กรรมกรกลับมาขายแรงงาน
ชาวไร่ชาวนาหวนคืนหมู่บ้าน
คนชั้นกลางดิ้นรนกันไปตามฐานานุรูป
ศึกษาหาความรู้ ประกอบสัมมาอาชีวะ สร้างครอบครัวและสถานะทางสังคม
หลายคนยังติดตามข่าวสารบ้านเมือง
หลายคนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรม

ท่ามกลางกระแสธารที่เหมือนชะลอชะงักตัว
คนหนุ่มสาวลุกขึ้นท้าทายฟ้าดิน
ประกาศเปิดเผยความจริงที่ซ่อนซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน
คลื่นลูกใหม่พุ่งสูงทะลักทลายกรอบเกณฑ์กำแพงกั้น
แต่แล้วก็ถูกเล่นงานด้วยลูกไม้ "นิติสงคราม"
ซึ่งนำมาใช้แทนข้อหากบฏ ข้อหาคอมมิวนิสต์

ภาพข่าว และเหตุการณ์การเล่นเล่ห์หักเหลี่ยมชิงอำนาจ
และผลประโยชน์กันของชนชั้นนำ
ขณะที่ผลผลิตเกษตรกรรมถูกกดราคาตกต่ำ สินค้าแพง
การทำมาหากินฝืดเคือง คนตกงาน
อภิสิทธิ์อิทธิพลเต็มบ้านเต็มเมือง ยาบ้าล้นหมู่บ้าน
ฝุ่นพิษ PM 2.5 ฟุ้งกระจายทั่วทุกภูมิภาค
การต้มตุ๋นทางออนไลน์ลามระบาด เด็กผู้ใหญ่ติดการพนัน
ท่ามกลางความกระเหี้ยนกระหือรือตั้งบ่อนกาสิโน

ทั้งหมดนี้ปรากฏล่อนจ้อนต่อหน้าปวงประชาผ่านสื่อสารมวลชนทุกเช้าค่ำ
ระวัง !
ความขัดแย้ง การล่มสลายภายในของรัฐพันลึก
บวกรวมกับความเหลืออดเหลือทนของคนรากหญ้า
จะมาบรรจบสบเหมาะกัน

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
*รำลึกและครุ่นคำนึงในวาระ 120 ปีชาตกาล “ศรีบูรพา” - กุหลาบ สายประดิษฐ์.

รำลึก...สหายฟีงาแด่เธอ...ผู้มีศรัทธาและความรัก
02/05/2025

รำลึก...สหายฟีงา
แด่เธอ...ผู้มีศรัทธาและความรัก

📣 ขอเชิญร่วมงานเสวนาเนื่องในวันกรรมกรสากล (May Day)"พลวัตขบวนการแรงงานไทยสู่ขบวนการเคลื่อนไหวสังคมใหม่"🗓 วันอาทิตย์ที่ ๔...
30/04/2025

📣 ขอเชิญร่วมงานเสวนาเนื่องในวันกรรมกรสากล (May Day)
"พลวัตขบวนการแรงงานไทยสู่ขบวนการเคลื่อนไหวสังคมใหม่"

🗓 วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๘
🕙 เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.
📍 ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub
ชั้น ๑ อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

✨ มาร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดกับนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และผู้นำแรงงาน
เพื่อมองย้อนอดีตขบวนการแรงงานไทย และร่วมกันออกแบบ "ขบวนการเคลื่อนไหวสังคมใหม่" ที่จะตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน

🔹 ภาคเช้า: เสวนาโดย
แล ดิลกวิทยรัตน์ | ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา
ชาญณรงค์ เตชะรัชต์กิจ | ธิติมา ทองศรี I ประภาพร ผลอินทร์
ดำเนินรายการโดย อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ

🔹 ภาคบ่าย: กิจกรรม World Café
พูดคุย 4 ประเด็นสำคัญกับนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวร่วมสมัย
📌 ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ | 📌 ความเท่าเทียมทางเพศ
📌 การมีส่วนร่วมของประชาชน | 📌 การทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี (Gentrification)

📝 ลงทะเบียนได้ที่
👉 [สแกน QR Code บนโปสเตอร์] หรือกดลิงก์ https://forms.gle/fsKu2drRCEZCjTdn6
📌 กรุณาลงทะเบียนภายในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๘

📍 จัดโดย:
กลุ่มวิจัย ISSIE | มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย | ศูนย์ศึกษา สปท

ลุงขาบผู้ปฏิวัติตลอดกาล“ขาบ” เป็นชื่อจัดตั้งของ ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ อดีตกรรมการกรมการเมือง ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไ...
25/04/2025

ลุงขาบ
ผู้ปฏิวัติตลอดกาล

“ขาบ” เป็นชื่อจัดตั้งของ ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ อดีตกรรมการกรมการเมือง ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในสมัยประชุมสมัชชา ๔ ปี ๒๕๒๕ ในบางเขตงาน ใช้ชื่อจัดตั้งว่า “กรด” และยังมีบางที่ที่เรียกท่านว่า “ดำรง” แต่ใครๆ มักเรียกท่านว่า “ลุงขาบ”

ชื่อไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ ปรากฏให้เราเห็นในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาชน เป็นครั้งแรกในรายชื่อ กรรมการเจ็ดคนขององค์กรสันนิบาตเยาวชนแห่งประเทศไทย หรือ สยท. ที่จัดตั้งโดยกลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๔๙๒ ต่อ ๒๔๙๓

(กรรมการ ๗ คน มี ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์, ผิน บัวอ่อน, อุดม เจริญรัตน์, อดุลภมรานนท์, ฝังโพธิ์ บุญเลี้ยง, ประจวบ อัมพะเศวต, ปาล พนมยงค์ โดยมี อดุล ภมรานนท์ ซึ่งใช้ชื่อจัดตั้งว่า “กำปั่น” เป็นเลขาธิการ)

สยท.เป็นองค์กรลับ แต่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีนักศึกษาที่เอาการเอางานแต่ไม่ต้องการเปิดตัว มาเข้าร่วมจำนวนมาก การเคลื่อนไหวสำคัญๆ ที่ สยท.มีบทบาทเช่น กรณีกฏ ก.พ.ที่ ๑๑๐, กรณี ร.ร.เนติบัณฑิตยสภา, การเรียกร้องสันติภาพคัดค้านสงคราม, การเคลื่อนไหวเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน, การเดินขบวนคัดค้านนักเรียนนายร้อยทหารบกที่รุมซ้อมนักศึกษา ม.ธ.ก., การคัดค้านการขึ้นค่าเรียนสมัย จอมพล ป.เป็นอธิการบดี, รวมทั้งการเดินขบวนขับไล่ขุนประเสริฐเมื่อ วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๙๘

ที่มากไปกว่านั้น ก็คือ สยท.เป็นแหล่งกำเนิดผู้ปฏิบัติงานสายปัญญาชนที่เอาการเอางาน ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท.จำนวนมาก เช่น เสถียร พงษ์เจิรญ, สุพร อ่อนเรือง, ถาวร จุฬเสวก ฯลฯ เยาวชนจำนวนมากถูกปลุกให้ตื่น และถึงแม้จะมีจำนวนหนึ่งไม่ได้เข้าร่วมงานกับพคท. แต่ก็เติบโตเป็นบุคคลคุณภาพของประเทศในเวลาต่อมา

จนกระทั่ง เกิด “กบฏสันติภาพ” ในปี ๒๔๙๕ นักศึกษาถูกจับกุมและคุมขังหลายสิบคน สยท.ต้องกระจัดกระจาย บางคนถึงกับวางมือ แต่ก็มีบางคนที่โถมตัวเองเข้าสู่การต่อสู้มากขึ้น หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ พร้อมๆกับ ผิน บัวอ่อน และสัมผัส พึ่งประดิษฐ์

ก่อนหน้านั้น ในการเคลื่อนไหวสันติภาพ ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ ก็เป็นคนหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่ถูกลงโทษ “ไม่ให้เข้าฟังการสอน ๑ ปี”

(นักศึกษา ๙ คนที่ถูกลงโทษในข้อหา “ดำเนินการเล่นการเมืองประชุมเกี่ยวกับสันติภาพ” “เคลื่อนไหวติเตียนมหาวิทยาลัยและเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล” มี ประจวบ อัมพะเศวต, ลิ่วละล่อง บุนนาค, มารุต บุนนาค, อาทร พุทธิสมบูรณ์, ทวีป วรดิลก, ปริญญา ลีละศร, อารีย์ อิ่มสมบัติ, พรชัย แสงชัจจ์ และไวฑูรย์ สินธุวณิชย์)

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๙๕ ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ ออกเดินทางจากท่าเรือคลองเตยโดยเรือบรรทุกสินค้าไปฮ่องกง และปักกิ่ง เพื่อเข้าศึกษาในสถาบันลัทธิมาร์กซ-เลนิน ที่ปักกิ่ง พร้อมกับ เสนาะ พาณิชย์เจริญ, สุนันทา กุลเวียงชัย, ฝังโพธิ์ บุญเลี้ยง และปักษ์ โดยใช้ชื่อจีนว่า จางซิ่น และได้สมรสกับ สุนันทา กุลเวียงชัย

ปี ๒๕๐๑ พคท.ต้องการปรับปรุงงานชนบท ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ รับหน้าที่ขยายงานที่จังหวัดระยอง แต่ครอบครัวเป็นที่รู้จักของคนที่นั่น บิดาเป็นคหบดีมีชื่อเสียง สุดท้ายถูกผู้ว่าราชการจังหวัดในเวลานั้นซึ่งคุ้นเคยกับบิดาเรียกไปตักเตือน จึงถูกย้ายไปรับผิดชอบงานภาคใต้ ในชื่อ “คุณขาบ”

คุณขาบถูกส่งไปเบตง เพื่อประสานงานกับพรรคมลายาที่กำลังต้องการผู้รู้ภาษาไทย แล้วได้รับมอบหมายงานให้ทำงานในหาดใหญ่ ทำหน้าที่นำสหายมลายาที่บาดเจ็บมารักษาตัว แต่คุณขาบฟังภาษาใต้ไม่ออก เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเป็นอย่างมาก พอดีกับสฤษดิ์ทำรัฐประหาร มีการกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่ คุณขาบจึงไปเป็นกรรมกรกรีดยางอยู่ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปี ๒๕๐๔ พคท.จัดประชุมสมัชชาครั้งที่ ๓ ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ ร่วมกับประสิทธิ์ เทียนศิริ, สิน เติมลิ่ม และยุพิน ศรีสังวาล ได้รับมอบหมายให้สร้างงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปี ๒๕๒๕ เมื่อพคท.จัดประชุมสมัชชา ๔ โดยแยกประชุมในที่ต่างๆ ๔ แห่ง ภาคอีสานจัดประชุมที่จังหวัดนครพนมนำโดย ประจวบ เรืองรัตน์ ภาคเหนือประชุมที่จังหวัดตากนำโดย ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ ภาคใต้ประชุมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำโดย สิน เติมลิ่ม ประเทศจีนประชุมที่คุนหมิง โดยมีกองอำนวยการประชุมอยู่ที่ศูนย์กลางพรรค ภายใต้ความรับผิดชอบของวิรัช อังคถาวร และธง แจ่มศรี

ในการประชุมครั้งนี้ ไวฑูรย์ สิธุวณิชย์ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกรมการเมือง

(รายชื่อคณะกรรมการกรมการเมือง สมัชชา ๔ จำนวน ๗ คน มี ธง แจ่มศรี, วิรัช อังคถาวร, ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์, ประจวบ เรืองรัตน์, สิน เติมลิ่ม, วินัย เพิ่มพูนทรัพย์, นพ ประเสริฐสม)

ปี ๒๕๓๐ คณะกรรมการกลางพยายามที่จะเปิดประชุมครั้งที่ ๓ แต่เสียลับ ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ถูกตำรวจจับกุม

(วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๓๐ ผู้ปฏิบัติงานถูกจับ ๑๖ คน มี ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์, นพ ประเสริฐสม, สิน เติมลิ่ม, ประจวบ เรืองรัตน์, วิบูลย์ เจนไชยวัฒน์, ชำนาญ บรรจงเกลี้ยง, ชิดชนก โสภณปาน, อ่อนศรี อินวุฒิไชย, ประเสิรฐ ท้าวธงไชย, สมบัติ ไชยเส, ปุ่น แก้วหานาม, นิภาพรรณ พัฒนไพบูลย์, วิโรจน์ บุญเพ็ชร, หนก บุณโยดม, สมพงษ์ วิจิตรใจพันธ์, นภดล ภักดี)

หลังจากได้รับการปล่อยตัวในปี ๒๕๓๑ ลุงขาบก็ยังร่วมเคลื่อนไหวในขบวนการต่อสู้ของประชาชนอยู่ตลอดเวลา ท่านมักจะไปปรากฏตัวในงานต่างๆ ของชาว พคท.ด้วยท่วงท่า เรียบง่าย สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน และพูดเท่าที่จำเป็น ทำให้มิตรสหายไม่น้อยไม่รู้จักท่าน ไม่รู้ว่าท่านผู้เฒ่าผิวขาวรูปร่างบอบบางเดินหลังตรงสีหน้าอ่อนโยนผู้นี้คือ นักปฏิวัติที่มีปณิธานแน่วแน่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์สูงส่งมาทั้งชีวิต

ลุงขาบเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๘ ในขณะที่มีอายุ ๙๗ ปี นับเป็นคนสุดท้ายของนักศึกษาสถาบันลัทธิมาร์กซ-เลนิน ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่จากไป

วีรภาพที่ยิ่งใหญ่ของท่านจะประทับอยู่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไปตลอดกาล

ด้วยคารวะ
สหายฟืน

กำหนดการ “พิธีสดุดีและรำลึกลุงกรด (สหายขาบ)”ในวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2568ณ อนุสรณ์สถานวีรชนประชาชนแห่งตะนาวศรี ตำบลยางน...
24/04/2025

กำหนดการ “พิธีสดุดีและรำลึกลุงกรด (สหายขาบ)”
ในวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2568
ณ อนุสรณ์สถานวีรชนประชาชนแห่งตะนาวศรี ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี

08.00 น.
ช่วงพิธีสงฆ์ ถวายภัตตาหารเช้า เมื่อเสร็จแล้ว พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เพื่อเป็นศิริมงคล

10.30 น.
ผู้เข้าร่วมงานพิธีได้มาพร้อมกัน ณ อนุสรณ์สถาน ฯ
พิธีกรกล่าวต้อนรับผู้มาร่วมพิธี และกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน
-ดนตรีบรรเลงเพลง
-ขบวนเชิญอัฐิ อันประกอบไปด้วย สหายในชุดทหาร ทปท จำนวน 12 คน (ถือธงนำหน้าและตามด้วยผู้ถือโกศอัฐิ) นำโกศอัฐิไปวางที่โต๊ะทำพิธี

10.50 น.
พิธีกล่าวคำสดุดีและไว้อาลัย
-สหายเทิด ตะนาวศรี ประธานกรรมการอนุสรณ์สถานฯ กล่าวคำสดุดีลุงกรด(สหายขาบ)
-พิธีกร ประกาศเชิญผู้ร่วมพิธีให้สงบนิ่ง เพื่อเป็นการไว้อาลัยเป็นเวลา 1 นาที
- พิธีกรเชิญ ผู้แทนของแต่ละเขตงานที่มาร่วมพิธี ขึ้นกล่าวสดุดี และระลึกคุณความดีของลุงกรด (สหายขาบ)
-การอ่านบทกวี สดุดีและไว้อาลัย
-พิธีกร เชิญผู้แทนทุกเขตงานที่มาร่วมพิธีขึ้นวางพวงหรีด และต่อด้วยการวางดอกไม้ของสหายทุกคน

12.00 น.
พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.00 น.
กิจกรรมภาคบ่าย การเสวนาในหัวข้อ “สหายขาบ: บทบาทและอิทธิพลในขบวนปฏิวัติไทย"
ร่วมเสวนาโดย
1. สหายจันทา เขตน่านใต้
2. สหายภูมิ สุราษฎร์
3. สหายดอน ตะนาวศรี
ผู้ดำเนินการเสวนา สหายแดง ตะนาวศรี

*กิจกรรมรำลึก เมื่อการเสวนาเสร็จสิ้นลง ตัวแทนของทุกเขตงาน ร่วมกันนำหรืดต้นไม้ที่นำมาร่วมพิธี ไปปลูก ณ สถานที่ที่เจ้าภาพได้จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการระลึกถึงและความผูกพันของสหายร่วมอุดมการณ์ พร้อมๆกับการแสดงดนตรีของ “วงจู่โจม"

15.00 น.
พิธีกรกล่าวปิดงานและขอบคุณผู้ร่วมงาน
วงดนตรีบรรเลงเพลงและผู้ร่วมพิธีร่วมกันร้องเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา

บทรายงานและวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ : ยุทธวิธีกับทรัมป์ : ประชาชนไทยอยู่ตรงไหนย่างเข้าเดือนเมษายน อากาศในไทยนอกจากจะร้อนอ...
16/04/2025

บทรายงานและวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ :
ยุทธวิธีกับทรัมป์ : ประชาชนไทยอยู่ตรงไหน

ย่างเข้าเดือนเมษายน อากาศในไทยนอกจากจะร้อนอบอ้าวเป็นบางวันแล้ว ยังสลับด้วยฝนผสมพายุฤดูร้อน บวกกับอากาศเย็นในช่วงเช้า สะท้อนความวิปริตผิดปกติของธรรมชาติ.

เช่นเดียวกับ สถานการณ์เศรษฐกิจ, การเงิน และการเมืองของโลกที่ปั่นป่วนส่งผลกระทบคนทั้งมวล.
วันที่ 2 เมษายน ศกนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ 10 % จนถึง 49 %.

จีนโดนเรียกเก็บภาษี 34 % จากเดิมที่ขึ้นมาแล้ว 20 % รวมเป็น 54 %.

กัมพูชาโดนเรียกเก็บภาษีสูงสุด 49 % ตามมาด้วยลาว 48 % เวียตนาม 46 % และไทย 36 % อินโดนีเซีย 32 % มาเลเซีย 24 % และสิงคโปร์โดนไป 10 %.

สังเกตได้ว่าประเทศในกลุ่มอาเซี่ยนที่ทุนจีนไปลงทุนผลิตสินค้า แล้วส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเป็นสัดส่วนสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ที่เป็นทุนจีนไม่มาก.

นโยบายของทรัมป์ทำให้ตลาดหุ้นร่วงระนาวดุจแผ่นดินไหว ภายในสองสามวัน หุ้นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ลดลงนับพันจุดติดต่อกัน สูญเสียมูลค่าตลาดไป 11.1 ล้านล้านดอลลาร์.

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตกลงรวดเร็วอย่างเป็นประวัติการณ์.

นักลงทุนและนายทุนจีนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ วันเดียว มากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 4.8 %.

ราคาน้ำมันลดลงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาเรล.

สภาวะเช่นนี้ บีบให้ทรัมป์ต้องถอยตั้งหลัก วันที่ 9 เมษายน เขาประกาศชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าออกไปอีก 90 วัน อ้างว่าเพื่อให้เวลาประเทศต่าง ๆ ได้เข้ามาเจรจากับสหรัฐฯ.

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกคาดการณ์ว่าโลกจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง สินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนสินค้าไฮเทค เช่นโทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, รถยนต์, อุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นสองสามเท่า.

การขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ทำให้ประเทศทั่วโลกตื่นตระหนก มี 75 ประเทศขอเจรจากับสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีอินเดีย และญี่ปุ่นรีบเดินทางไปพบทรัมป์ ยื่นข้อเสนอซื้อสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นทั้งด้านสินค้าเกษตร, อุตสาหกรรม และอาวุธยุทโธปกรณ์ พร้อมทั้งลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีเวียดนามยื่นข้อเสนองดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นต้น.

กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เรียกประชุมใหญ่โดยทันที และประกาศจะตอบโต้สหรัฐฯ อย่างเท่าเทียม แต่รอเวลาเจรจากับทรัมป์ ก่อนเดินหน้าเพิ่มภาษีตอบโต้สหรัฐฯ เช่นเดียวกับแคนาดา และเม็กซิโก เพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ ต่างใช้กลยุทธ์เดียวกับสหภาพยุโรป.

ทรัมป์ขู่ว่าถ้าประเทศใดตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เขาจะขึ้นภาษีเพิ่มอีกเท่าตัว ทรัมป์ถึงกับกล่าวเหยียดหยามประเทศคู่ค้าทั้งหลายว่า “แล้วพวกแกก็ต้องคลานมาเลียก้นฉัน”

โลกนี้มีเพียงจีนประเทศเดียว ที่ประกาศตอบโต้ทรัมป์แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จีนไม่ยอมสยบต่อคำข่มขู่คุกคามของทรัมป์ ถึงถูกทรัมป์ประกาศเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจาก 54 % เป็น 104 % และ เพิ่มอีก 25 % บวกกับฐานเดิมที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ 20 % รวมแล้ว สินค้าจีนที่เข้าสหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษี 145 %.

จีนตอบโต้ทันควันด้วยการเรียกเก็บอัตราภาษีสินค้าสหรัฐฯ ที่ส่งเข้าจีนในอัตรา 125 % และมีผลทันที.
ทรัมป์คาดว่าจีนต้องยอมสยบ เพราะจีนส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯจำนวนมาก ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ มหาศาล สหรัฐฯส่งสินค้าเข้าจีนมีมูลค่า 4.9 ล้านล้านบาท ขณะที่จีนส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯมีมูลค่าถึง 18.2 ล้านล้านบาท ยังไงจีนก็ต้องขอมาเจรจา.

แต่การณ์ไม่ได้เป็นไปตามแผนของทรัมป์ จีนสงบนิ่ง ตอบโต้ตามความเป็นจริงที่สหรัฐฯ กระทำต่อตน
ประกอบกับแรงกดดันจากกลุ่มบริษัทไฮเทคโนโลยี่ของสหรัฐฯ ที่นำเสนอข้อเท็จจริงว่า สินค้าไฮเทคที่ขายในสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่ที่สุดนำเข้า หรือมีส่วนประกอบหลักจากจีน โทรศัพท์ไอโฟน 80 % ประกอบในจีน และอีก 20 % ประกอบในอินเดีย ไม่นับรวมคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ.

หากขึ้นภาษี 145 % ต่อสินค้าจีน จะทำให้บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ สินค้าไฮเทคจะมีราคาสูงขึ้นสองสามเท่าตัว และแน่นอนว่าจะกระทบการใช้และพัฒนาเทคโนโลยี่สมัยใหม่ทันที.

วันที่ 11 เมษายน ทรัมป์จึงประกาศยกเว้นภาษีต่างตอบแทนแก่สินค้า สมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์จากจีน รวมทั้งเซมิคอนดัคเตอร์, แผงโซล่าเซลล์, การ์ดหน่วยความจำ ฯลฯ คือไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม 145 % ซึ่งเป็นผลดีต่อบริษัทเช่นแอปเปิล, เอนวีเดีย, ไมโครซอฟท์ เป็นต้น.

ข้ออ้างของทรัมป์คือเพื่อให้บริษัทไฮเทคต่าง ๆ มีเวลามากขึ้นในการเตรียมตัว และย้ายการผลิตคืนสู่แผ่นดินสหรัฐอเมริกา.

สงครามการค้ากับจีนไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ จีนได้ตอบโต้ใส่หัวใจการผลิตสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯ ด้วยการสั่งห้ามส่งสินค้าแร่หายาก ที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าไฮเทคสมัยใหม่แก่สหรัฐฯ.

ถ้าไม่มีแร่หายาก การผลิตดาวเทียม, เครื่องบินรบ, ขีปนาวุธ, เซมิคอนดัคเตอร์, คอมพิวเตอร์, รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ต้องหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง เพราะจีนควบคุมแหล่งแร่หายาก ควบคุมการขุด และสกัดมาใช้ประโยชน์ ราว 70 % ของแร่หายากในโลก.

บุคลิกของทรัมป์

บุคลิกโดดเด่นของทรัมป์ที่นักเจรจาทุกคนน่าจะรู้กันดีแล้ว และคงจะนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อเจรจาต่อรอง

1. ทรัมป์เป็นคนกลับกลอก หน้าด้าน และเปลี่ยนแปลงพลิกลิ้นได้ตลอดเวลา ถ้าเห็นว่าสิ่งที่นำเสนอออกไป เกิดสะดุดชนกำแพง ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เขาจะกลับลำทันที โดยไม่กลัวเสียหน้า ภายในเวลา 9 วัน นับจากวันที่ 2 เมษายน ทรัมป์ปรับเปลี่ยนนโยบายการขึ้นภาษีตอบโต้ไปสามรอบ เคยหาเสียงว่าจะยุติสงครามรัสเซีย - ยูเครนภายใน 24 ชั่วโมง ผ่านมา 3 เดือน ยังไม่เห็นผลคืบหน้า เขาได้แต่เพียงอ้างว่ามันลำบากที่จะหาข้อยุติ จะยุติกี่โมง ทรัมป์ไม่พูดถึงแล้ว.

2. ทรัมป์เป็นคนโอหัง เย่อหยิ่ง เหยียดหยามดูแคลนคนและชาติอื่น ๆ นโยบายของเขาตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าสหรัฐฯเจริญที่สุด ผลิตสินค้าคุณภาพดีที่สุด ทำไมประเทศอื่นไม่ซื้อสินค้าสหรัฐฯ กลับเอารัดเอาเปรียบ ได้ดุลการค้าสหรัฐฯมากมายมหาศาล ขณะเดียวกันก็หยาบคาย แสดงตัวเป็นพี่ใหญ่ที่ทุกชาติต้องมาสยบยอม เหมือนกับที่เขาพูดว่าในที่สุดก็ต้องคลานมาเลียก้นเขา.

3. ทรัมป์เป็นคนไม่มีหลักการบนพื้นฐานทฤษฎีรองรับ คือตัดสินกำหนดนโยบายต่าง ๆ ตามใจตามอารมณ์ ศาสตราจารย์โจเซฟ สติ๊กลิสซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล วิจารณ์ว่าทรัมป์กำลังนำเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับสู่ทศวรรษ 1950 ทั้งที่ปัจจุบันเป็นศตวรรษที่ 21 สหรัฐฯ ไม่ได้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคมากมายอีกแล้ว สหรัฐฯผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพียง 9 – 10 % ของจีดีพี แต่สหรัฐฯ เน้นผลิตสินค้าภาคบริการ เช่นเทคโนโลยี่ชั้นสูง, ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์, การศึกษา และการท่องเที่ยว เป็นต้น เขาไม่ได้เรียนรู้ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ว่าค่าเงินดอลลาร์จะตกต่ำ เงินเฟ้อจะรุนแรง เพราะเขาไม่มีพื้นฐานความรู้ทางทฤษฏีเศรษฐศาสตร์เลย.

ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของทรัมป์ เช่นนายนาวาโร ก็ถูกนายอีลอน มัสก์ ผู้ร่ำรวยที่สุดในสหรัฐฯ จากการผลิตรถเทสลา และยานอวกาศ ฯ วิจารณ์ว่าเป็นพวกสมองกลวง.

ทรัมป์เริ่มหลักคิดจากการเป็นคนคลั่งชาติ อเมริกาต้องยิ่งใหญ่ ต้องโดดเด่นเหนือชาติอื่น ๆ เขาจึงไม่สนใจเป็นพันธมิตรกับใคร แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดอย่างสหภาพยุโรป และแคนาดา, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ ทรัมป์ไม่สน ขอเพียงประโยชน์เฉพาะหน้าอเมริกามาก่อน.

4. ทรัมป์จะต้อนให้ผู้นำ และประเทศอื่น ๆ มาเล่นเกมของตัวเอง เขาไม่สนับสนุนการเจรจาแบบพหุภาคี แต่เน้นการเจรจาแบบตัวต่อตัว ประเทศต่อประเทศ ไม่ยอมเจรจาแบบรวมกลุ่ม เพื่อเขาจะได้กดดันทั้งด้านอารมณ์การเจรจา และบรรยากาศการเจรจา เหมือนที่เขาและรองประธานาธิบดีแวนซ์บีบคั้นกดดันต่อประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครน ให้ยอมรับข้อเสนอทุกอย่างของสหรัฐฯ.
เรื่องนี้ กลุ่มสหภาพยุโรปทราบดี จึงไม่ยินดีที่จะเจรจาเป็นรายประเทศ แต่พร้อมเจรจาในนามกลุ่มสหภาพยุโรป นายอันวาร์ ซาดัต นายกรัฐมนตรีมาเลเซียมองออกเช่นกัน จึงเสนอให้กลุ่มประเทศอาเซี่ยนจับมือกันเพิ่มอำนาจต่อรอง.

ไทยจะตอบโต้อย่างไร
กลับมาดูผลประโยชน์ของประเทศเรา เราควรมีท่าทีต่อนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าต่างตอบแทนของทรัมป์อย่างไร ?

1. ตระหนักรู้จุดแข็งจุดอ่อนของทรัมป์ และสหรัฐฯ ทรัมป์มุ่งผลักดันให้ประเทศอื่นเปิดตลาดรองรับสินค้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เช่นถั่วเหลือง, ข้าวโพด, เนื้อหมู และเครื่องใน, ไวน์ ฯลฯ ซึ่งผู้ประกอบการเกษตรเหล่านี้เป็นฐานเสียงที่สนับสนุนเลือกทรัมป์ รวมทั้งอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์ และทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ การขึ้นภาษีเป็นเพียงบทเริ่มต้นให้ประเทศอื่น มาซื้อสินค้าสหรัฐฯ.
ทรัมป์ยังมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่แอบแฝง คือการมุ่งทำลายจีน ซึ่งทรัมป์ถือเป็นศัตรูอันดับหนึ่ง เขามุ่งดึงชาติอื่น ๆ ให้ถอยห่างออกจากความสัมพันธ์ทางการค้า, การลงทุน และความร่วมมือกับจีน.

2. ไม่รีบเร่งแสดงท่าที อ่อนน้อมยอมศิโรราบต่อการข่มขู่คุกคามของทรัมป์ เวียดนามหน้าแตกมาแล้ว เมื่อข้อเสนอเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ลดลงเป็น 0 แต่ทรัมป์บอกยังไม่พอ ยังมีข้อเสนอรูปธรรมอะไรอีก อินเดียและญี่ปุ่นที่รีบเจรจา เจอการกลับลำนโยบายของทรัมป์แล้ว จะปรับนโยบายอย่างไร เมื่อได้ยื่นข้อเสนอบางอย่างไปแล้ว.

ไทยควรจะสงวนท่าที ไม่เร่งรัดเจรจาหาข้อสรุปกับสหรัฐฯ ข่าวว่ารัฐบาลแพทองธารจะส่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ร่วมกับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของทรัมป์ ในวันที่ 21 เมษายน ศกนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อตกลงกันไปแล้ว ทรัมป์จะไม่กลับลำ หรือเสนอนโยบายใหม่ให้เราต้องยอมปฏิบัติตาม รอดูตัวอย่างจากประเทศอื่นก่อน น่าจะดีกว่าการรีบเร่งหาข้อยุติกับทรัมป์.

3. พยายามร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างใกล้ชิด กำหนดนโยบายร่วมกันในการรับมือกับการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ อย่าเปิดการเจรจาตัวต่อตัวตามแบบที่ทรัมป์ต้องการ เขาเป็นคนได้คืบเอาศอก ไม่มีหลักการ ไม่มีความเป็นพันธมิตรเก่าแก่ดั้งเดิม มีแต่ผลประโยชน์ที่จะรีดจากประเทศอื่น.

4. ประเทศไทยควรจะเล่นบทหลายหน้า ทางด้านต่างประเทศ จะเจรจาก็ทำไป แต่ไม่รีบเร่งยอมรับข้อสรุปกับทรัมป์โดยเร็ว ควรจะรอกำหนดนโยบายร่วมกันของกลุ่มอาเซียน เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มสหภาพยุโรปให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ววัน ขณะเดียวกันก็รักษาและพัฒนาสัมพันธภาพอันดีกับจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง.

ภายในประเทศ องค์กรภาคประชาชนควรจะพิจารณาวางมาตรการคว่ำบาตรสินค้า และการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา เช่นที่อินโดนีเซียได้กระทำมา คือการคว่ำบาตรสินค้าโค้ก, พิซซ่า, เคเอฟซี, สตาร์บัค รวมทั้งสินค้าไฮเทค เช่นคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ, รถยนต์อเมริกัน เพื่อช่วยลดทอนแรงกดดันโดยตรงของทรัมป์ เพราะถ้าธุรกิจข้างต้นถูกกระทบมาก เหมือนสินค้าไฮเทคในสหรัฐฯ บริษัทเหล่านี้ก็จะกดดันทรัมป์ให้ยอมลดทอนนโยบายแข็งกร้าว เหมือนที่ทรัมป์ยอมถอยยกเว้นภาษีสินค้าและอุปกรณ์ไฮเทคที่นำเข้าสหรัฐฯ.

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการเจรจาขอลดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้ากับทรัมป์ได้ผลมากน้อยเพียงใด ปัญหาที่ตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ก็คือเศรษฐกิจและการค้าโลกจะตกต่ำ สินค้าที่เคยส่งเข้าสหรัฐฯ จะต้องกระจายไปยังตลาดใหม่ ๆ เกิดการตัดราคาสินค้า ส่วนเหลื่อมของกำไรลดลง ส่งผลต่อค่าแรงและผลตอบแทนต่อแรงงาน บางโรงงานที่สายป่านสั้นอาจต้องปิดตัวลง ภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้น.

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำฝืดเคือง ประชากรประเทศต่าง ๆ มีรายได้ลดลง เผชิญภาวะเงินเฟ้อ และเงินฝืดไปพร้อมกัน ย่อมกระทบการเดินทางท่องเที่ยวของคนทั่วโลกที่จะลดลงตาม ความคาดหวังของไทยที่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวมาค้ำจุนการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องสะดุดไปด้วย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดหวังไว้ 2.5 – 3.0 % มีความเป็นไปได้ที่จะลดลงเหลือการเติบโตเพียง 1 – 1.5 % .

นั่นเป็นภาวะเลวร้ายทางเศรษฐกิจที่คนไทยต้องเตรียมรับสถานการณ์ตั้งแต่เวลานี้.

บทรายงานและวิเคราะห์ข่าวในประเทศ  :  มหากาพย์ประกันสังคม : ตื่นเถิดผู้ประกันตนท่านทราบไหมว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.)  ...
23/03/2025

บทรายงานและวิเคราะห์ข่าวในประเทศ :
มหากาพย์ประกันสังคม : ตื่นเถิดผู้ประกันตน

ท่านทราบไหมว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีเงินกองทุนประกันสังคม 2.5 ล้านล้านบาท (2,500,000,000,000 บาท) ราวครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดินตลอดปี

ท่านทราบไหมว่ามีผู้ประกันตนจำนวน 25 – 26 ล้านคน ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมทุกเดือน ราว 5 % ของเงินเดือน และนายจ้างอีก 5 % เช่นกัน.

เงินที่ผู้ประกันตนส่งไปสมทบกองทุนประกันสังคม รวมปีละประมาณ 150,000,000 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท).

สำนักงานประกันสังคมใช้จ่ายเงินค่าบริหารจัดการในยุคเผด็จการทหาร ปี 2563 จำนวน 4,000,000,000 บาท (สี่พันล้านบาท), ปี 2564 จำนวน 5,300,000,000 บาท (ห้าพันสามร้อยล้านบาท), ปี 2565 จำนวน 5,300,000,000 บาท (ห้าพันสามร้อยล้านบาท), ปี 2566 จำนวน 6,600,000,000 บาท (หกพันหกร้อยล้านบาท) และปี 2567 ลดลงเหลือ 4,100,000,000 บาท (สี่พันหนึ่งร้อยล้านบาท) หลังจากมีการเลือกตั้งตัวแทนผู้ส่งเงินเข้ากองทุนในบอร์ด สปส.

ขอขอบคุณคุณรักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชนเขตกรุงเทพฯ และคุณสหัสวัต คุ้มคง สส. ชลบุรี พรรคเดียวกัน ที่เป็นกรรมการในคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณแผ่นดินได้พบข้อพิรุธจากการใช้จ่ายเงินของสำนักงานประกันสังคม หลายกรณี เช่น

1. งบประมาณดูงานเมืองนอก แต่ละครั้งใช้เงินหลักล้านบาท นั่งเครื่องบินเฟิร์สคลาส ซึ่งผิดจรรยาบรรณการใช้เงินของผู้ประกันตน.

2. วางงบจัดทำปฏิทินประจำปีถึง 50 ล้านบาท สำหรับปี 2569.

3. ใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาท ตั้งคอลล์เซ็นเตอร์ เพื่อรับสายจากผู้ประกันตน ที่ไม่เคยโทรติด หรือไม่รับสาย หรือต้องรอคอยเป็นเวลานานมาก ๆ .

4. งบจัดทำแอปของ สปส. มูลค่า 850 ล้านบาท ทดแทนระบบเก่า เมื่อผู้รับเหมาส่งงานล่าช้า ต้องปรับเป็นเงิน 193 ล้านบาท แต่ สปส. ปรับเพียง 640,000 บาท อ้างเหตุผลว่าเป็นช่วงโควิดระบาด ยกเว้นค่าปรับให้ได้.

5. ที่สำคัญ คือใช้งบถึง 7,000 ล้านบาท ซื้อตึกร้างเก่าอายุ 25 ปี ซึ่งสร้างตั้งแต่ปี 2540 เมื่อปลายปี 2565.

นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการคนปัจจุบันของ สปส. ร่วมกับรัฐมนตรีแรงงานได้ร่วมกันแถลงว่า การจัดซื้อตึกสกายไนน์ (SKYY 9) บนถนนพระราม 9 เป็นไปและถูกต้องตามกฎหมาย เลขาธิการ สปส. และบอร์ด สปส. มีอำนาจจัดซื้อได้.

เรื่องราคาประเมินที่ดินและตึกสกายไนน์ นางมารศรีแจ้งว่า ราคาประเมินตามวิธีพิจารณารายได้จากการใช้ประโยชน์ให้เช่าของตีก ประมาณ 7,300 ล้านบาท และหากประเมินด้วยวิธีพิจารณาจากต้นทุน จะมีมูลค่าราว 8,000 ล้านบาท.

สปส. ซื้อที่ดินและตึกมาในราคาเพียง 6,900 ล้านบาท

ปัจจุบัน มีการเช่าพื้นที่รวม 45 % โดยมีผู้เช่าเข้าใช้พื้นที่แล้ว 25 % และในปี 2568 จะมีผู้เช่าเข้าใช้พื้นที่อีก 20 % เป้าการให้เช่าพื้นที่ในปี 2568 อยู่ที่ 68 % ซึ่งคาดว่าผลตอบแทนเงินสด จะไม่ต่ำกว่า 5 % ถ้าเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ 2.3 % ต่อปี ยังไม่นับรวมมูลค่าที่ดินและตึกที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต.

ดร. โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัย และประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัทเอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) ได้ประเมินราคาโครงการโดยประมาณที่ 3,588,480,000 บาท (สามพันห้าร้อยแปดสิบแปดล้านสี่แสนแปดหมื่นบาท) ถ้าคิดประเมินจากวิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่าจะอยู่ที่ 3,512,880,000 บาท (สามพันห้าร้อยสิบสองล้านแปดแสนแปดหมื่นบาทถ้วน).

ส่วน ดร. ม.ล. กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อดีตกรรมการบอร์ดกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ดูแลการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ประเมินราคาใกล้เคียงกันที่ 3,000 ล้านบาท ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท.

ราคาประเมินทรัพย์สินคือที่ดินราวสองไร่ครึ่ง และตึกใช้งาน ต่างกันราว 3,000 – 4,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ วิธีการจัดซื้อก็ยอกย้อนแยบยล แทนที่ สปส. จะซื้อที่ดินและตึกในนามของตนเอง สปส. กลับไปตั้งกองทุนทรัสต์ 10,000 ล้าน (หนึ่งหมื่นล้านบาท) แล้วนำเงิน 7,000 ล้านบาทไปซื้อบริษัทที่เป็นเจ้าของอาคารสกายไนน์ ส่วนอีก 3,000 ล้านบาท ไปลงทุนซื้อหุ้นในต่างประเทศ.

ตามกฎหมาย กองทุนประกันสังคมสามารถนำเงินสมทบเข้ากองทุนไปทำประโยชน์ให้เกิดดอกออกผลได้ ตั้งแต่การลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล, ซื้อหุ้น และลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ เช่นซื้อที่ดินอาคารให้เช่าทำสำนักงาน เป็นต้น.

แต่กรณีนี้ คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ ?

คุณรักชนก และคุณสหัสวัต เห็นตรงกับ ม.ล. กรกสิวัฒน์ว่า เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ตอนซื้อมาปี 2565 เป็นตึกร้าง โดยมีคนเช่าเพียง 1 % ปี 2567 มีคนเช่าย้ายเข้า 25 % และคาดว่าปี 2568 จะมีคนเช่าย้ายเข้าอีก 20 % ต่ำกว่าเป้าที่ 68 % แน่นอนว่าตั้งแต่ซื้อมา คิดค่าบริหารจัดการก็ขาดทุนไปแล้ว.

คุณรักชนกให้ข้อมูลต่างจากคุณสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีแรงงานที่กำกับดูแล สปส. ในปี 2565 ว่าหากมีผู้เช่าเต็ม 100 % ต้องใช้เวลา 30 ปีถึงจะคืนทุน แต่คุณสุชาติมองว่าเป็นการลงทุนที่เหมาะสม ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า บวกกับราคาที่ดินและตึกที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต.

คุณสุชาติ ชมกลิ่นคงไม่ได้คิดเรื่องค่าเสื่อมราคา และอายุการใช้งานของตึกที่เป็นจริง.

คุณรักชนกตั้งข้อสังเกตว่า เงินส่วนต่าง 3,000 – 4,000 ล้านบาท จากการซื้อที่ดินและอาคารสกายไนน์ ตอนปลายปี 2565 เป็นช่วงใกล้กับเวลาการเลือกตั้งต้นปี 2566

ม.ล. กรกสิวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่าค่าใช้จ่ายประจำปีของ สปส. ที่ 5 – 6,000 ล้านบาทต่อปี เป็นค่าใช้จ่ายที่เกินจริงไปมาก ตามกฎหมายจัดตั้ง สปส. อนุญาตให้มีค่าใช้จ่ายราว 10 % ของรายรับจากเงินสมทบกองทุนแต่ละปี คือ 150,000 ล้านบาท ใช้ได้ 15,000 ล้านบาท แต่ สปส. อ้างว่าใช้จ่ายเพียง 33 – 40 % ของเงินที่ใช้ได้เท่านั้น คำถามคือมันมากเกินไปจนใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเกินเหตุไหม ?

ม.ล. กรกสิวัฒน์ ได้เปรียบเทียบตัวเลขว่า กบข. มีขนาดกองทุน และรายได้ราวหนึ่งในสาม หรือเกือบครึ่งหนึ่งของ สปส. มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ ปีหนึ่งใช้จ่ายเพียงหนึ่งพันกว่าล้านบาท หรือ 1 – 2 % ของรายได้เท่านั้น.

สปส. ยังมีโครงการจะใช้เงินอีก 130,000 ล้านบาท (หนึ่งแสนสามหมื่นล้านบาท) ลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์อีก ความโปร่งใส และการตรวจสอบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

รัฐมนตรีแรงงาน เป็นคนกำกับดูแล สปส. เป็นคนแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ สปส. แต่งตั้งข้าราชการที่ทำงานใน สปส. เท่ากับว่าระบบราชการครอบงำ สปส. ภายใต้อำนาจของรัฐมนตรีแรงงาน เข้าควบคุมรายรับปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท และเงินกองทุนอีก 2.5 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่ารัฐมนตรีแรงงานตั้งเอง กำกับเอง ตรวจสอบเอง ความโปร่งใสยังจะมีอยู่ไหม ?

ข้อเสนอแก้ไข

1. แก้ไขกฎหมายการจัดตั้ง สปส. เช่น ลดอำนาจของเลขาธิการ สปส., สร้างระบบการตรวจสอบที่รัดกุม, จำกัดวงเงินใช้จ่ายของ สปส. ตั้งแต่บอร์ด จนถึงเลขาธิการ และข้าราชการในสังกัด, กำหนดคุณสมบัตินิติบุคคล หรือบุคคลที่จะบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมที่เป็นมืออาชีพ มากกว่าให้ข้าราชการระดับ 10 หรือต่ำกว่าเป็นคนบริหารจัดการกองทุนฯ หรือใช้เงินกองทุนฯ ลงทุนทั้งในตลาดหุ้น, ตลาดพันธบัตร และนอกตลาดหุ้น, กำหนดความรับผิดชอบของบอร์ด สปส. และเลขาธิการอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อผลประกอบการไม่ได้เป็นไปตามการคาดการณ์ ฯลฯ.

2. สัดส่วนกรรมการฝ่ายผู้ประกันตน ควรมีจำนวนคนมากกว่าฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายข้าราชการ แทนที่จะมีจำนวน 1 ใน 3 เท่ากันหมด ฝ่ายผู้ประกันตนควรมีผู้แทนราวครึ่งหนึ่ง หรือ 60 % ของกรรมการ เพราะผู้ประกันตนเป็นผู้ส่งเงินสมทบทุกเดือน บวกกับเป็นผู้ใช้บริการของ สปส. ต่างจากฝ่ายนายจ้างที่ส่งเงินสมทบอย่างเดียว และฝ่ายข้าราชการที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบเท่านั้น

3. ให้ สปส. เป็นองค์การอิสระ ไม่ขึ้นกับระบบราชการ ไม่ขึ้นกับรัฐมนตรีแรงงาน เช่นเดียวกับ กบข. หรือ สสส. มีคณะกรรมการอิสระ และคณะกรรมการตรวจสอบอิสระ ไม่ขึ้นต่อการเมือง.

4. ทำความจริงให้ปรากฏ คณะกรรมาธิการติดตามการใช้งบประมาณได้ขอข้อมูล และเชิญผู้แทนจากฝ่ายนายจ้าง, ข้าราชการ และฝ่ายผู้ประกันตนมาให้ข้อมูล ทั้งขอข้อมูลรายงานการประเมินราคาที่ดินและตึก ตลอดจนรายงานการประชุมของบอร์ด สปส. แต่ สปส. ไม่ยอมให้ข้อมูล ตัวแทนฝ่ายนายจ้างยืนยันเด็ดขาดไม่ยอมให้ข้อมูล อ้างว่าเป็นความลับ ซึ่งสร้างความสงสัยว่ามีอะไรซ่อนเร้นจึงต้องปิดบังอย่างเข้มงวด เป็นความลับขนาดเปิดเผยให้เจ้าของเงินที่ส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทราบไม่ได้ ทั้งขัดต่อพระราชบัญญัติเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร.

กรณีนี้ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคการเมืองที่ต้องการสร้างความโปร่งใสและซื่อสัตย์สุจริตของ สปส. ต้องยื่นฟ้องศาลปกครอง และ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ปปช.) พร้อมทั้งติดตามขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลของการปฏิบัติงานใน สปส. ข้อพิรุธจากการปกปิดข้อมูลแทบจะทุกอย่าง ทำให้ยิ่งต้องเจาะลึกเรื่องราวนโยบายต่าง ๆ ให้ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้น.

ขณะเดียวกัน ควรตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อประเมินราคาที่ดินและตึกสกายไนน์อย่างเป็นทางการ เพราะราคาที่ดินและอาคารตามคำอ้างของ สปส. ต่างกับราคาประเมินของผู้เชี่ยวชาญอิสระ 3 – 4,000 ล้านบาท ราคาใดถูกต้อง ราคาใดเป็นเท็จ และเงินส่วนต่างหากมี ไปอยู่กับใครที่ไหน.

5. ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ผู้ประกันตนต้องรวมกลุ่มจัดตั้งชมรมผู้สมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมให้เข้มแข็ง ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิผลประโยชน์ผู้ประกันตน และกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเลขาธิการและข้าราชการใน สปส. อย่างใกล้ชิดและละเอียด ไม่ปล่อยให้บุคคลเหล่านี้อ้างช่องโหว่ของกฎหมายจัดตั้ง สปส. สูบเลือดสูบเนื้อของผู้ประกันตน ต่อไปจะวางเฉยไม่สนใจการดำเนินงานของ สปส. เหมือนในอดีตไม่ได้อีกแล้ว.

6. บทบาทสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญยิ่งในการปฏิรูป สปส. ให้โปร่งใสตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ลบล้างความเลอะเทอะของการปฏิบัติงาน เพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มบุคคลที่แอบแฝงเข้าเกาะกินประกันสังคม ฉกฉวยผลประโยชน์จากผู้ประกันตน ทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าที่ควร ดังมีการเปรียบเทียบว่าสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ยังได้น้อยกว่าคนถือบัตรทองเสียอีก.

7. ผู้ประกันตน และวิญญูชนที่รักความถูกต้องยุติธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและโปร่งใสในการปฏิบัติงาน ต้องพร้อมช่วยเหลือคุณรักชนก และคุณสหัสวัต ที่ถูกอดีตรัฐมนตรีแรงงาน คุณสุชาติ ชมกลิ่นฟ้องในคดีที่ไปเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อที่ดินและอาคารสกายไนน์ ซึ่งกระทบชื่อเสียงของคุณสุชาติ ผู้รับผิดชอบกระทรวงแรงงานในขณะซื้อที่ดินและอาคารสกายไนน์ เรียกร้องค่าเสียหายถึง 50 ล้านบาท.

มหากาพย์ประกันสังคม เพิ่งจะเริ่มต้นก้าวแรกในการทำความจริงให้ปรากฏ ลบล้างความไม่ชอบมาพากลของ สปส. เพื่อประโยชน์ของผู้ส่งเงินสมทบประกันสังคม มนุษย์เงินเดือนทุกคนที่ต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมจึงต้องช่วยกันติดตามเรื่องราวการปฏิบัติงานของ สปส. อย่างใกล้ชิด และพร้อมร่วมมือในการรณรงค์ต่อ ๆ ไป.

ที่อยู่

Bangkok
10310

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ สถานีข่าว เสียงประชาชน แห่งประเทศไทยผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

แชร์