28/05/2025
จากกระแสดราม่า ใครขี่งานนอกไม่ต้องเก็บคะแนนชิงแชมป์ ซึ่งต้องบอกก่อนนะครับว่าคนภาคเราไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันมาก่อนผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการ เป็นโฆษก เป็นผู้จัด นักแข่งทุกคนทุกทีม สามารถเดินเข้าสนามไหนก็ได้ แต่ในวันนี้มันกลับมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้ไม่เข้าใจกัน จากแรงยุ แรงส่งเสริมไม่มีทราบฝ่าย จนทำให้หลายคนที่เกี่ยวข้องเกิดความสับสน ว่า จัดได้? จัดไม่ได้? แข่งได้? แข่งไม่ได้? ขนรถแข่งไปจะโดนจับ? หรือไม่โดนจับ? สับสนอลหม่านไปหมด
ที่สุดของเชน ในครั้งนี้จึงอยากจะชวนให้แฟนๆ โมโตครอสได้หวนรำลึกนึกถึงความยิ่งใหญ่ของ ภาคอีสาน ว่า เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วนั้น มันมีความสุข สนุกตื่นเต้น กับบรรยากาศนักแข่งรถสูตรล้นเกทสตาร์ท คนดูเต็มสนาม เนินโดดที่ต่อเนื่องแบบไม่ต้องหายใจ ว่าใน ช่วงปี 2545-2550 ที่ถือได้ว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ จับมือกันแน่นที่สุด จน กำเนิด ซีรี่ย์ ชิงแชมป์ภาคอีสานขึ้น แบบเป็นจิตรจะลักษณะ ที่พูดกับพรรคพวกในรุ่นราวคราวเดียวกันทีไรก็ยังจำได้แม่นเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานทุกที กับเนื้อเรื่องในวันนี้
"บิ๊กโพธิ์ ที่สุดของเชน ที่สุดของภาคอีสาน ที่สุดของโลเคชั่นสนามแข่งรถโมโตครอสที่ดีที่สุดของประเทศไทย ใจกลางเมืองขอนแก่น"
ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนครับว่าเรื่องราวนี้อาจจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับนักแข่งภาคอีสานซะส่วนใหญ่ ต้องขออภัย FC ที่ติดตามเพจ Shane 23 ที่อาจจะทำให้ท่านไม่ อิน กับหัวข้อในวันนี้นะครับ แต่อ่านเพลินๆ ผมก็ยินดีเรียนเชิญทุกท่านย้อนเวลาไปพร้อมกันครับ
ได้ชื่อการแข่งโมโตครอสเขตภาคอีสาน พวกเราจะมีสนามที่เน้นการกระโดดเนิน สไตล์ Supercross เป็นหลัก เนินจะเยอะ ทางไซเคิลเราแทบจะไม่ได้ทำ Super Cup VIP กิตติมศักดิ์ หากโดดไม่ได้ก็ต้องไต่อย่างเดียว เว้นแต่ว่าในรุ่นนั้น ผู้จัดจะระบุ ว่า รุ่นนี้ โดดได้นะ รุ่นนี้ ไต่อย่างเดียวห้ามโดด!! ซึ่งส่วนใหญ่เราจะมาบอกกันหน้าเกทสตาร์ท เพื่อเป็นการย้ำให้ชัดเจน ทั้งๆ ที่ เมื่อก่อน รุ่นการแข่งขันในแต่ละสนาม จะไม่เกิน 15 รุ่น คือตอนเช้าเปิดซ้อม เที่ยงเปิดงาน และ รัน ยาวไปถึง 5 โมงเย็น
โดยแต่ละรุ่น จะแข่งกันไม่ต่ำกว่า 8 รอบ หรือ 10 นาทีขึ้นไป มันจึงทำให้การแข่งขันค่อนข้างที่จะสนุกตื่นเต้น กับ คนดูที่ยอมซื้อตัวใบละ 20 บาทเข้างาน รวมไปถึงนักแข่งก็ใส่กันเต็มที่ แม้กระทั่ง VIP ที่ไม่ไหวก็ต้องไหว หรือไม่ ก็ขับออกมาเป็นลมข้างสนาม
จนมีช่วงหนึ่ง นักแข่ง ภาคตะวันออกไม่มาเพราะเราเนินเยอะ และ นักแข่งภาคอิสานก็ไม่ไปภาคตะวันออกเพราะ สู้ความแรงบนภาคพื้นดินของพวกเค้าไม่ได้ ต่างคนก็ต่างมีความถนัดที่ไม่เหมือนกัน มันจึงทำให้ภาคอีสานของเราจะมีสำนักทีมแข่ง ที่เน้นรถสูตรโรงงาน และ ทุกบ้านจะมีรถสูตรมากกว่า Super Cup จึงอาจจะบอกได้ว่า ภูมิภาคนี้ได้ชื่อว่า รถสูตรเยอะที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ เพราะ รถใหม่ แกะกล่อง ทุกคนที่ติดตามนิตยสาร Riding Magazine จะทราบดีว่า จะมีอยู่คนหนึ่งที่นำเข้ารถแข่งมารีวิว ผ่านสายตา บนเล่มหนังสือ นั่นคือ เสี่ยหลั๋ว วิรัช ธนแพตย์ หมายเลข 101 เจ้าของทีมโรงกลึงเจริญยนต์ร้อยเอ็ด นั่นเอง (หากพิมพ์ชื่อผิดผมขอ อภัย ครับเฮีย)
การแข่งขันส่วนใหญ่ จึงเป็น สไตล์ Supercross และยิ่งได้รับการออกแบบสนามจากชายที่ชื่อว่า นิธิศเชษฐ์ สุทธิเจริญกุล หรือ "เปี๊ยกมอลล่า" ด้วยแล้วละก็ ถ้าคุณโดดไม่ผ่านไม่มีพื้นที่ให้คุณได้ลงจอดอย่างปลอดภัยแน่นอน เพราะชายคนนี้ ทำเนินเหมือนให้ เกรด A โดดได้เพียงรุ่นเดียว หรือที่พวกเราชอบล้อเลียนแซวกันว่า "น้องๆ ไทยแลนด์" มันจึงทำให้นักแข่งภาคอีสานส่วนใหญ่ เรียนรู้และฝึกฝนจนทำให้โดดเนินได้ทุกรูปแบบ จะบอกว่า เบสิคทักษะ ไม่แพ้นักแข่งที่ออกฉายทีวีช่อง 7 ก็คงเป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงเท่าไหร่
โปรโมเตอร์ทุกคนในภาคอิสานไม่เคยมีนโยบายปิดกั้นนักแข่งคนไหนเลย ยิ่งมีตัวดังๆมา ก็ยิ่งเป็นแม่เหล็กให้กับสนาม สามารถขายตั๋วเข้าชมได้เป็นกอบเป็นกำ และนักแข่งทุกคนต่างรู้ดีว่า ใครควรลงรุ่นไหน ไม่ควรลงรุ่นไหน ยกตัวอย่างเช่น
รุ่น มือใหม่ทั่วไป จะเป็นมือใหม่ ป้ายน้ำเงินจาก นครปฐม ผสมกับ นักแข่งมือใหม่ของภาค ถ้าในรุ่นราวคราวเดียวกันกับผมก็จะมี เพลง โคราช หรือทีรู้จักในนาม Pleng Pro Medic , เบิร์ดปากช่อง 179 , บอย ชัยภูมิ เชิดชาย พลดงนอก , กิตติ ขาวสะอาด ที่อยากจะลงไปสู้ +นักแข่ง VIP 30 ที่ยังมีแรงลงไปใช้ความเก๋า หรือ นักแข่ง 85 ที่เพิ่งมาจับ 125 (ยังไม่ถึง จูเนียร์) อย่างเช่น ธนรัตน์ เพ็ญจันทร์ , ทศพล ทรงหมู่ สามารถลงได้ จะไม่ค่อยอนุญาติ ให้เกรด B , C , Junior ลงในรุ่นนี้ เพราะ...
ทุกสนามจะมีรุ่น C, D(มือใหม่),J(จูเนียร์ป้ายเหลือง) รองรับนักแข่งไทยแลนด์อยู่แล้ว รุ่นนี้ จะเป็นรุ่นไฮไลท์ที่ใครลงก็ได้ยกเว้น นักแข่งป้ายดำ และ ป้ายแดง โดย คุณจะได้เห็น พวกน้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์อย่าง เกมส์ ตระการ ทั่งทอง โบ้ ศิริวัฒน์ กองตาพันธุ์ นูด้า อภิเดช บุญศรี ลงแข่งกับ เป้ อัจฉริยะ พึ่งแก้ว , สามารถ ธุมาสิงห์, อภิชาติ เทพสถิต เป็นต้น ซึ่งรุ่นนี้ถ้านักแข่งไม่กลัวกัน รถจะเยอะเป็นพิเศษ
Open หาก โปรโมเตอร์ มีความสัมพันธ์อันดีกับนักแข่งระดับประเทศ วันนั้นคนดูจะได้เห็น ชาคริต รุ่งสุวรรณ (นานๆ จะมาภาคอีสานสักที😅) อมรเทพฤทธิ์ ศรีกสิกิจ , โอฬาร วุฒิชัย, นเรศ ศรีกสิกิจ, วรรธณะ กัลยา, ชัยยันต์ โรมพันธ์ ,ชินพัฒน์ ใจแก้ว รวมไปถึงนักแข่ง เกรด B ฝีมือดีอีกหลายคน ลงแข่งกับ นักแข่ง C D J เท่ากับว่า รุ่นที่ทุกคนรอคอย อย่างไรก็ไม่ต่ำกว่า 10 คันแน่นอน
เมื่อย้อนกลับมาพูดถึง สนาม "บิ๊กโพธิ์" สนามที่มีโลเคชั่นที่ดีที่สุด ในภาคอีสาน ในวันนั้นคนดูแทบไม่มีที่ยืน เพราะได้ แต้มบุญของ เปี๊ยก มอบล่า ที่ได้เชิญ นักแข่งหน้าหยกขวัญใจชาวไทยตลอดกาลอย่าง อมรเทพฤทธิ์ ศรีกสิกิจ ที่น้อยครั้งนักจะออกจากรายการใหญ่มาแข่งรายการนอก นำรถ 4 จังหวะ เสียงทุ้มๆ หมายเลข 6 ขอบล้อ สีแดง มาขับขี่ให้พี่น้องชาวภาคอิสานได้เห็นกับตาว่า 4 จังหวะนั้นเค้าขี่ยังไง และ ถ้าจำไม่ผิด วันนั้นเค้าน่าจะมากับเพื่อนร่วมทีม สิทธิชัย แช่ตัน หรือ ตี๋หาดใหญ่ เพราะในความทรงจำผมคือ อมร ไม่ได้มาคนเดียว
เมื่อคนดูรู้ว่า อมร มา สนามก็แทบแตกละครับ และยิ่งได้เห็นนักแข่งฝีมือดีอีกหลายคน ก็ยิ่งทำให้การแข่งขันในวันนั้นมันยิ่งใหญ่และเป็นความทรงจำของใครหลายคน โดยเฉพาะผมที่ ทุกครั้งได้ผ่านสถานที่แห่งนี้ทีไรภาพวันเก่าก็ย้อนกลับมาทุกที และ จำได้ดีว่าสนามนี้นั้นยากเพียงใด บอกเลยว่ายากจริงๆ เพราะเนินทุกชุดไม่มีตรงกลาง โค้งแคบ ไม่มีทางส่งแบบง่ายๆ หลายเนินต้องนั่งออกจากโค้งแล้วโดด ก็น้องๆ ไทยแลนด์อะครับ บางจุดอาจจะยากกว่าด้วยซ้ำ คุณจะต้องผ่านระนาด แบบ AMA คือ ลึก และ กว้าง ดินแข็ง เจอรถแข่งวิ่งผ่านกี่คันก็ไม่สะเทือน ผมยังจำได้ว่าหลังจากซ้อมเสร็จ แก๊งค์ BMX ของขอนแก่น มาขอใช้ลูกระนาดชุดนี้เพื่อประชันความเร็วว่าใครดีกว่ากัน ก็คิดดูละกันครับว่า มันโหด แค่ไหน ถึงสามารถให้รถจักรยาน BMX ลงไปปั่น ใหลเป็นคลื่นได้
พูดแล้วก็นึกถึงความยิ่งใหญ่ของภาคอิสาน ที่ไม่เคยมีประวัติแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่มีใครมาวุ่นวาย ใครจัดก็ไป เชิญใครก็มา ไม่ต้องกลัวใครจะว่า เกรด A ไม่ต้องห่วงว่าจะเข้าที่เท่าไหร่ เพราะถ้าผู้จัดเชิญไปแข่งอย่างน้อย 10,000-20,000 ค่าน้ำมัน ค่าที่พักต้องมีให้อยู่แล้ว เพราะผู้จัดรู้ดีว่า ต่อให้รุ่นแข่งขันจะไม่มาก แต่ ค่าบัตรผ่านประตู ค่าที่จอดรถ คืนทุนได้แน่นอน
ผมถือว่าโชคดีที่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น โชคดีที่ได้ขี่คู่กับนักแข่งในดวงใจหลายคน อาจจะไม่ได้คลุกคลีกับใครเพราะผมเป็นนักแข่งบ้านนอกที่ไม่มีสังกัด แต่เชื่อว่า เมื่อเจอหน้ากัน เพื่อนๆ ที่แข่งรุ่นเดียวกันก็น่าจะจำกันได้
ปัจจุบัน วงการเปลี่ยนไปมาก แต่มีบางสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน ทุกคนก็น่าจะรู้ดีว่าอะไร ที่ไม่เคยเปลี่ยน สนามดีๆ เกิดขึ้นแล้วหายไป ผู้จัดเคยจัดแล้วไม่กลับมาจัดอีก นักแข่งถูกจำกัดให้แข่งเฉพาะรายการนั้นรายการนี้ แข่งเสร็จต้องรีบลงจากรถ ทำตัวล่องหน เพราะกลัวคนจะไปรายงานผู้ใหญ่ โทษใครไม่ได้ครับ พวกคุณยอมรับกันเอง และมิหนำซ้ำผู้จัดยังจะมาไม่เข้าใจกันเองอีก จัดตรงกันบ้าง ออกกฎบ้าบอไม่ให้ไปแข่งบ้าง เมื่อก่อนทุกท่านก็ทราบดีนี่ครับว่าเรื่องพวกนี้ไม่มีใคร เคย คอนโทรล พวกคุณได้
"คืนอิสระให้กับนักแข่งเถอะครับ"
แล้วผู้จัดจะมีกำลังใจ สปอนเซอร์วิ่งเข้าหา คนดูได้ดูนักแข่งที่เค้าชอบ มูลค่าของนักแข่งเพิ่มขึ้น โฆษก ช่างภาพ จะได้มีงานเพิ่มขึ้น
ขอขอบคุณภาพจากเพื่อนๆ ขอนแก่น กับสนามแข่งที่สวยที่สุด โหดที่สุด และ โลเคชั่นดีที่สุด "บิ๊กโพธิ์ Supercross เก็บคะแนนชิงแชมป์ภาคอิสานสนามสุดท้าย ฤดูกาล 2547 โฆษกในวันนั้นเสียงใหญ่ ชัดถ้อยชัดคำ จดจำได้ดี "พี่แดง รชต สุขเรณู ผู้ควบคุมการแข่งขัน เปี๊ยก มอลล่า
ปัจจุบันที่ตรงนี้ คือสวนสาธารณะ 4 แยก เซ็นทรัล ประตูเมืองขอนแก่น