28/06/2025
@ผู้ติดตาม Good lesson from world leader :)
Must read
The Skill Up Next Co., Ltd.
ใครจะคิดว่า ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยยืนตรวจงานอยู่ในโรงงาน จะกลายมาเป็น CEO หญิงคนแรกของ General Mortors (GM) หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในอุตสาหกรรมยานยนต์ เรื่องราวของเธอเต็มไปด้วยความกล้า ความล้มเหลว และการปรับตัวที่ทรงพลังต่อผู้ประกอบการยุคใหม่ เธอไม่ได้แค่บริหารองค์กร แต่เปลี่ยนวิธีคิดของ GM ทั้งระบบ และกลายเป็นต้นแบบของ "ผู้นำยุคใหม่"
Mary Barra เกิดในครอบครัวเชื่อสายฟินแลนด์ที่รัฐมิชิแกน พ่อของเธอทำงานใน GM มากว่า 40 ปี จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเธอ ในการเลือกเดินทางสายอุตสาหกรรม โดยขณะที่เธอเรียนที่ GM Institude (ปัจจุบันคือ Kettering University) เธอได้ทำงานพาร์ตไทม์ในสายการผลิต ตรวจสอบคุณภาพแผงตัวของรถยนต์ เพื่อหาเงินค่าหนังสือและค่าเล่าเรียน แม้งานที่เธอทำจะเป็นงานที่ใช้แรง แต่เธอถือโอกาสนั้นในการเรียนรู้การทำงาน และซึมซับความซับซ้อนของสายการผลิตรถยนต์ จนกลายเป็นรากฐานทางความคิดที่เธอนำไปใช้เมื่อกลายเป็นผู้นำระดับสูง
หลังจากจบการศึกษา เธอได้เริ่มทำงานกับ GM อย่างเต็มตัวในตำแหน่งวิศวกรฝึกหัด ก่อนจะได้รับทุนจากบริษัทเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจที่ Stanford Graduate School of Business ซึ่งเป็นการลงทุนด้าน "คน" ที่ GM ไม่รู้เลยว่าในอนาคตจะได้รับผลตอบแทนสูงเพียงใด เมื่อเธอกลับมา เธอจึงเริ่มไต่เต้าจากตำแหน่งระดับกลางขึ้นสู่ระดับผู้บริหาร โดยเธอเคยดูแลทั้งฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดซื้อ และฝ่ายทรัพยากรบุคคล ซึ่งหล่อหลอมทักษะความเข้าใจทั้งด้านเทคนิคและมนุษยสัมพันธ์ได้อย่างสมดุล สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอมีศักยภาพมากพอที่จะเปลี่ยนทิศทางบริษัท ในวันที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก
จนในปี 2014 Mary Barra ถูกแต่งตั้งให้เป็น CEO หญิงคนแรกของ GM และของอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับ Big Three ของสหรัฐฯ (GM, Ford, Chrysler) ถือเป็นก้าวประวัติศาสตร์ที่ไม่เพียงเปลี่ยนชีวิตของเธอ แต่ยังสะเทือนวงการธุรกิจทั่วโลก เพราะอุตสาหกรรมนี้เคยถูกมองว่าเป็น "โลกของผู้ชาย" มาโดยตลอด แต่เธอได้แสดงให้เห็นว่า ความรู้ ความสามารถ และภาวะผู้นำไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ แต่อยู่ที่วิธีคิด และความสามารถในการผลักดันองค์กรให้ปรับตัวท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด
หลังจากรับตำแหน่ง CEO ได้ไม่นาน GM ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ "Ignition Switch Scandal" ซึ่งมีการเรียกคืนรถยนต์นับล้านคันจากปัญหาอุปกรณ์ที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัย จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย แทนที่เธอจะปฏิเสธความรับผิดชอบ Mary Barra เลือกเดินเข้าสู่รัฐสภา ยอมรับต่อหน้าคณะกรรมาธิการ และให้คำมั่นในการฟื้นฟูวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ด้วยการนำเสนอรายงาน Valukas ที่เปิดโปงปัญหาเชิงระบบภายในองค์กร เธอปลดผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ปรับระบบคุณภาพ และการตรวจสอบความปลอดภัย พร้อมออกนโยบาย "Speak Up For Safety" เพื่อสร้างความโปร่งใสและให้พนักงานกล้าพูดถึงปัญหา ทำให้ GM สามารถกลับมายืนในอุตสาหกรรมได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ Barra ยังวางเป้าหมายให้ GM กลายเป็น "บริษัทเทคโนโลยียานยนต์" ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ผลิตอีกต่อไป ด้วยการผลักดัน Ecosystem แบบครบวงจร ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า (EV), ระบบขับขี่อัตโนมัติ, การเชื่อมต่อ IoT ผ่าน OnStar ไปจนถึงบริการใหม่อย่าง Cruise (รถไร้คนขับ), และ BrightDrop (ขนส่งโลจิสติกส์ไฟฟ้า) เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งอย่าง Tesla และ Waymo ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ได้สร้างรายได้ระยะยาว เพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า และป้องกันไม่ให้ GM ถูกลดบทบาทเหลือเพียง "ผู้ผลิต hard part" ของอุตสาหกรรมอีกต่อไป
ในปี 2011 GM ประกาศเป้าหมายที่โลกต้องจับตามอง หยุดขายรถน้ำมันทั้งหมดภายในปี 2035 พร้อมทุ่มงบประมาณกว่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีอัตโนมัติ โดยเริ่มจากแพลตฟอร์ม Ultium Battery และการเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นเรือธงอย่าง Cadillac Lyriq และ Chevy Silverado EV ความกล้าครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นการพลิกโมเดลธุรกิจให้ตอบโจทย์โลกที่มุ่งสู่ความยั่งยืน แสดงให้เห็นว่า GM แม้จะเก่าแก่ แต่ไม่ล้าหลัง ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของเธอที่กล้า "เปลี่ยนก่อนจะถูกเปลี่ยน"
เพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากภาษีนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นในยุคสงครามการค้า Barry ผลักดันให้ GM ลงทุนเพิ่มในสหรัฐฯ ทั้งการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า เช่น โรงงาน Ultium Cells ที่นิวยอร์กมูลค่ากว่า 900 ล้านดอลลาร์ เธอให้ความสำคัญกับการควบคุมซัพพลายเชน และลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ เธอยังแสดงจุดยืนในการเจรจาด้านนโยบายเศรษฐกิจ ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ควรมี "สนามแข่งขันที่เท่าเทียม" (Level Playing Field) เพื่อให้บริษัทอเมริกันแข่งขันในระดับโลกได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ Barry ยังเป็นนักขับเคลื่อนด้านความเท่าเทียมในองค์กร โดยจัดตั้ง Inclusion Advisory Board ภายใน GM เพื่อส่งเสริมความหลายทางเพศ เชื้อชาติ และความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นกรรมการในบริษัทระดับโลกอย่าง Disney, Stanford และ Duke University ความสามารถของเธอได้รับการยอมรับจากนิตยสาร TIME, Forbes และ Fortune ที่ยกให้เป็นหนึ่งในผู้หญิงทรงอิทธิพลที่สุดในโลกหลายปีติดต่อกัน ความสำเร็จของเธอ สะท้อนได้ทั้งในแง่ของการเติบโตของ GM และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำธุรกิจที่อยากสร้างองค์กรแบบ "เปิดใจ สร้างสรรค์ และเปลี่ยนแปลงได้จริง"
ดังนั้นเรื่องราวของ Mary Barra จึงเป็นบทเรียนของการทำงานหนัก ฝึกฝนตัวเอง และกล้าเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างซื่อตรง เธอพิสูจน์ว่า "ผู้นำที่ดี" ไม่ใช่แค่วิสัยทัศน์ แต่ต้องกล้ารับผิด กล้าเปลี่ยน และกล้าทำในสิ่งที่โลกยังไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ สำหรับนักธุรกิจที่กำลังสร้างเส้นทางของตัวเอง สิ่งที่คุณควรถามคือ คุณพร้อมแล้วหรือยังที่จะสร้างองค์กรที่ไม่กลัวความเปลี่ยนแปลงและเป็นผู้นำในโลกใบใหม่ของคุณ?
เรียบเรียงโดย: THE INSIDER