
21/05/2025
MOODY: ยิ่งไขว่คว้ามากเท่าไหร่ ยิ่งห่างไกลความสุขมากเท่านั้น ทำอย่างไร เมื่อความสำเร็จวนลูปจนรู้สึกไร้ค่า
-------------------
เคยไหม? ที่บางครั้งก็คิดว่า
ถ้าเราสำเร็จกว่านี้…
ถ้ามีเงินมากกว่านี้...
ถ้าเป็นที่ยอมรับมากกว่านี้...
เราคงจะมีความสุขมากขึ้น
แต่พอได้สิ่งเหล่านั้นมาจริงๆ กลับรู้สึกดีอยู่แค่พักเดียว แล้วก็เริ่มตั้งเป้าใหม่อีกครั้ง วนซ้ำไปเรื่อยๆ แบบไม่จบไม่สิ้น จนบางครั้งก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า หรือเรากำลังไล่ตามบางอย่างที่ไม่มีจริงอยู่หรือเปล่า?
ในปี 2024 มีผลสำรวจจาก Bankrate พบว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่าต้องมีรายได้เฉลี่ยปีละ 186,000 ดอลลาร์ ถึงจะรู้สึกมั่นคง ทั้งที่รายได้เฉลี่ยของคนทำงานเต็มเวลาในสหรัฐฯ อยู่ที่แค่ 79,000 ดอลลาร์ และถ้าจะรู้สึกว่าตัวเอง ‘รวย’ ก็ต้องมีเงินแตะ 520,000 ดอลลาร์ต่อปีเป็นอย่างน้อย ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนแค่เรื่องเงิน แต่มันสะท้อนความคิดที่ฝังอยู่ลึกๆ ว่า ‘เรายังมีไม่พอ’ เสมอ
เราเชื่อกันว่าถ้าได้มากกว่านี้อีกสักนิด ไม่ว่าจะเป็นเงิน ชื่อเสียง หรือความสำเร็จ เราจะรู้สึกดีขึ้น แต่ความจริงคือ แม้จะไปถึงเป้าหมายแล้ว ความรู้สึกดีเหล่านั้นก็มักอยู่กับเราไม่นาน เพราะสมองของมนุษย์มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ‘การปรับตัวทางอารมณ์’ (hedonic adaptation) ซึ่งหมายถึงการที่เราจะค่อยๆ กลับสู่ระดับความรู้สึกเดิม ไม่ว่าจะเจอเรื่องดีหรือร้ายแค่ไหน
ในงานวิจัยชื่อดังของ บริคแมน (Brickman et al., 1978) มีผู้เข้าทดสอบกลุ่มหนึ่งเป็นคนที่เพิ่งถูกรางวัลลอตเตอรี่ ส่วนอีกกลุ่มเป็นคนที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุรุนแรงอย่างเป็นอัมพาต ใครๆ ก็คงคิดว่าคนที่ถูกรางวัลน่าจะมีความสุขกว่าในระยะยาว แต่ความจริงคือ ทั้งสองกลุ่มค่อยๆ ปรับตัว และสุดท้ายกลับมามีระดับความสุขในชีวิตประจำวันใกล้เคียงกัน
เรื่องนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ อาร์เธอร์ บรู๊คส์ (Arthur Brooks) เคยเขียนไว้ในบทความ The Atlantic ปี 2022 ว่า ความพึงพอใจในชีวิตไม่ได้มาจากเงิน ความสำเร็จ หรือของที่เรามีเลย แต่กลับอยู่ในสิ่งที่ลึกและเบากว่านั้นมาก
มันอาจอยู่ในการทำสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เรารู้สึกเป็นตัวเอง สิ่งที่เราอยากทำแม้ไม่มีใครเห็น หรือแม้จะไม่ได้อะไรกลับมาเลยก็ตาม เช่น การทำอาหาร ปลูกต้นไม้ วาดรูป หรือแม้แต่แค่ได้ช่วยคนอื่นโดยไม่ต้องประกาศให้โลกรู้ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า ‘เป้าหมายเล็กๆ’ (little-p purpose) ซึ่งไม่ต้องยิ่งใหญ่ แต่กลับให้พลังใจอย่างน่าประหลาด
อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เรารู้สึกพอใจในชีวิตมากขึ้น คือการมองชีวิตแบบ ‘การได้เป็น’ แทนที่จะมัวแต่ ‘การประสบความสำเร็จ’ สมมติคุณอยากเป็นนักเขียนดังระดับเบสต์เซลเลอร์ แต่ถ้าคุณมัวแต่คิดถึงแค่ยอดขายหรือชื่อเสียง คุณอาจหลงลืมความสุขของการได้เขียนในแต่ละวันไป การเป็นนักเขียนที่เขียนทุกวัน ฝึกฝีมือ และใส่ใจในงานที่ตัวเองรัก ไม่ว่าคนจะอ่านสักสิบหรือหมื่นคน อาจให้ความรู้สึกเติมเต็มได้มากกว่าแค่คำว่า ‘สำเร็จ’ ด้วยซ้ำ
ทว่า สิ่งที่สำคัญกว่าปัจจัยอื่นใดทั้งหมดคือ ‘ความสัมพันธ์’ มีงานวิจัยจากโครงการศึกษาพัฒนาการของผู้ใหญ่ที่ฮาร์วาร์ด (Waldinger & Schulz, 2023) ซึ่งติดตามชีวิตผู้คนมายาวนานกว่า 80 ปี พบว่า ‘คุณภาพของความสัมพันธ์’ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขและสุขภาพในระยะยาวมากที่สุด ไม่ใช่เงินเดือน ตำแหน่ง หรือสถานะทางสังคมอย่างที่เรามักเข้าใจ
โดยความสัมพันธ์ที่ดี ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แค่ได้อยู่ท่ามกลางคนที่รับฟัง เข้าใจ และทำให้เรารู้สึกว่าเรามีความหมายในกลุ่มนั้นๆ ก็เพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน กลุ่มอาสา หรือแค่ชุมชนเล็กๆ ที่มีค่านิยมคล้ายกัน สิ่งเหล่านี้คือรากฐานของชีวิตที่สมบูรณ์แบบในแบบที่ความสำเร็จไม่สามารถมอบให้ได้
สุดท้ายนี้ ความสำเร็จอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันอาจไม่ใช่คำตอบของความสุขที่ยั่งยืน ถ้าเราเอาชีวิตไปผูกไว้กับแค่ ‘เป้าหมายใหญ่’ เราอาจพลาดโอกาสในการสัมผัส ‘ความหมายเล็กๆ’ ที่อยู่รอบตัวทุกวันก็ได้
-------------------
เพราะชีวิตที่ดีอาจไม่ได้อยู่ปลายทาง แต่มันซ่อนอยู่ในทุกวันที่เราตื่นมาแล้วได้ทำสิ่งที่เรารัก อยู่กับคนที่เข้าใจ และเป็นในสิ่งที่เราอยากเป็น โดยไม่ต้องรอให้ใครมาตัดสิน บางที แค่นั้นก็เพียงพอแล้วจริงๆ