
12/07/2025
ช่วงนี้มีข่าวหนึ่งที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย เมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เปิดโปงปฏิบัติการครั้งใหญ่ ทลายเครือข่ายแรงงานไอทีเกาหลีเหนือที่แอบแฝงตัวเข้าไปทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีในอเมริกา โดยไม่มีใครรู้เลยว่าพวกเขากำลังปั๊มรายได้ส่งกลับไปพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ให้รัฐบาลเปียงยาง !
[แผนลับ IT แฝงตัว เพื่อปั๊มเงินให้โครงการนิวเคลียร์]
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เพิ่งแฉเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า มีแรงงานไอทีเกาหลีเหนือจำนวนมาก แอบเข้ามาทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีในอเมริกาแบบรีโมต โดยปลอมตัวเป็นชาวอเมริกัน ใช้เอกสารปลอม สมัครงาน ฝังตัวทำงานจริงเหมือนคนทั่วไป เขียนโค้ด เข้าประชุม ส่ง Pull Request ตรงเวลา แต่เบื้องหลังคือกำลังหาเงินส่งตรงกลับบ้าน เพื่อไปสนับสนุนโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ
เรื่องนี้เริ่มแดงขึ้นเมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) ร่วมกับ FBI บุกค้นกว่า 21 จุดใน 14 รัฐ และสามารถยึดแล็ปท็อปไป 137 เครื่อง พร้อมโดเมนเว็บไซต์และบัญชีธนาคารที่ใช้ฟอกเงินอีกเพียบ
[กระบวนการนี้ทำงานยังไง ?]
คนที่เป็นเหมือนหัวขบวนคือ Zhenxing Danny Wang หนุ่มอเมริกันจากนิวเจอร์ซีย์ ที่ DOJ บอกว่าเขาเปิดบริษัทบังหน้าเพื่อคอยช่วยแรงงานไอทีเกาหลีเหนือสมัครงานกับบริษัทเทคสัญชาติอเมริกัน รับเงิน แล้วส่งต่อออกนอกประเทศ
ในทีมยังมีชาวจีนอีก 6 คน กับชาวไต้หวันอีก 2 คนที่ DOJ บอกว่ามีส่วนร่วม ทั้งในแง่ฟอกเงิน แฮกระบบ และฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรแบบครบเซ็ต
และทั้งหมดนี้สร้างรายได้มากกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับรัฐบาลเกาหลีเหนือ ผ่านงานเขียนโค้ดธรรมดาๆ ที่ดูเหมือนไม่มีพิษภัย ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ บางคนที่แฝงตัวเข้าไปในบริษัท ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลลับได้ เช่น ซอร์สโค้ดจากบริษัทด้านเทคโนโลยีกลาโหมในแคลิฟอร์เนียที่ทำ AI สำหรับอุปกรณ์ทางทหาร
โดยกระบวนการทำงานของคนพวกนี้ไม่เพียงแค่ใช้ชื่อปลอม แต่ยังลงทุนตั้ง “ฟาร์มแล็ปท็อป” จริงจังในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นห้องๆ ที่มีคอมพิวเตอร์ต่อเน็ตเอาไว้ให้แรงงานจากเกาหลีเหนือควบคุมจากระยะไกลผ่านอุปกรณ์อย่าง KVM Switches (เครื่องที่ทำให้ควบคุมหลายคอมฯ ด้วยเมาส์กับคีย์บอร์ดเดียว)
ในระบบของบริษัทต่างๆ ที่รับพวกเขาเข้าทำงาน ก็ไม่มีใครรู้เลยว่า dev คนนั้นไม่ได้อยู่ที่ Colorado หรือ Chicago อย่างที่เขาระบุไว้ แต่จริงๆ อาจกำลังนั่งอยู่ในอพาร์ตเมนต์มืดๆ แถวชายแดนจีน-เกาหลีเหนือ
ยังไม่พอ แรงงานบางคนยังใช้ตัวตนปลอมแฮกระบบและขโมยคริปโตเคอร์เรนซีจากบริษัทในสหรัฐฯ ไปได้กว่า 900,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมๆ แล้วนับว่าเป็นปฏิบัติการดิจิทัลที่แนบเนียนและลึกซึ้งที่สุดในรอบหลายปี
อ่านบทความเต็มได้ที่ลิงก์ใต้คอมเมนต์👇