11/06/2025
📌ทำความรู้จักกับโรคซิฟิลิสกันครับ
Cr.สถาบันโรคผิวหนัง
🛎 โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อชนิดสไปโรคีตที่เรียกว่า 𝘛𝑟𝘦𝑝𝘰𝑛𝘦𝑚𝘢 𝘱𝑎𝘭𝑙𝘪𝑑𝘶𝑚 เชื้อนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อเมือกเช่น ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ปาก เยื่อบุตา หรือทางผิวหนังที่มีแผล เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะเข้ากระแสเลือดและไปจับตามอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดโรคตามอวัยวะ
โดยคนเราได้รับเชื้อโรคได้ 3 ทางหลัก ๆ ได้แก่
📍 1. ทางเพศสัมพันธ์ โดยเชื้อโรคสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยผ่านทางเยื่อบุช่องคลอด ท่อปัสสาวะ
📍 2. จากแม่สู่ลูก เชื้อสามารถติดจากแม่ไปสู่ลูกขณะตั้งครรภ์และขณะคลอดได้
📍 3. การติดต่อทางอื่น หากผิวหนังที่มีแผลสัมผัสกับแผลที่มีเชื้อก็ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ อย่างไรก็ตามเชื้อชนิดนี้จะไม่ทนต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการสัมผัสมือหรือการนั่งโถส้วมจะไม่ติดต่อ
✅ อาการและอาการแสดง แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ระยะที่สอง ระยะแฝง และระยะที่สาม
🛎 ระยะแรก ผู้ที่ได้รับเชื้อซิฟิลิสอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ หากมีอาการจะเริ่มปรากฏหลังได้รับเชื้อ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน โดยจะปรากฎอาการของ ซิฟิลิสระยะแรกก่อน ได้แก่ตุ่มแดงแตกเป็นแผลที่บริเวณเชื้อเข้า ขอบแผลจะมีลักษณะแข็ง นูนและไม่เจ็บ หรือที่เรียกว่า แผลริมแข็ง มักพบได้ที่บริเวณอวัยวะเพศชาย อัณฑะ ทวารหนัก ช่องคลอด ริมฝีปาก แผลจะเป็นอยู่ 1-5 สัปดาห์และหายไปเอง หลังจากแผลหายเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดเกิดเป็นซิฟิลิสระยะที่สอง
🛎 ซิฟิลิสระยะที่สอง จะมีอาการตามระบบต่าง ๆ เช่น ผื่นตามผิวหนัง ปวดตามข้อ ต่อมน้ำเหลืองโต ตุ่มที่บริเวณอวัยวะเพศ ซอกพับ ขาหนีบ ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ซิฟิลิสระยะนี้จะพบผลเลือดเป็นบวกได้ อาการเหล่านี้จะเป็นนาน 1-3 เดือน และจะหายไปได้เอง อาจเป็นซ้ำได้
🛎 หลังจากนั้นตัวโรคจะเข้าสู่ระยะแฝงซึ่งเป็นระยะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการของโรค แต่ตรวจเลือดจะพบผลบวก ช่วงนี้กินเวลา 2-30 ปี หลังจากได้รับเชื้อ ในผู้ป่วยหญิงหากตั้งครรภ์เชื้อจะสามารถติดต่อไปยังลูกได้ ดังนั้นจึงควรตรวจเชื้อซิฟิลิสในผู้ที่ตั้งครรภ์ทุกรายแม้จะไม่มีอาการ
🛎 ซิฟิลิสระยะที่สาม เป็นระยะที่เชื้อโรคจะทำลายอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ หลอดเลือด นัยน์ตา สมอง ทำให้ตาบอด เกิดความผิดปกติของระบบประสาท หากรักษาไม่ทัน อวัยวะต่าง ๆ จะถูกทำลายโดยไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้
#คำแนะนำจากแพทย์
หากโรคได้รับการรักษาในระยะแรกหรือระยะที่สองจะทำให้ผลการรักษาดี มีโอกาสกลับเป็นซ้ำน้อย หากปล่อยไว้จนถึงระยะที่สามซึ่งเป็นระยะที่อวัยวะบางระบบของร่างกายถูกทำลายไปแล้ว ผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควร
ที่มาข้อมูล https://dst.or.th/Publicly/Articles/936.23.12
#ซิฟิลิส #โรคติดต่อ #แพทย์ผิวหนัง #สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
อย่าลืมกดถูกใจและกดติดตามเพื่อที่จะไม่พลาดความรู้ดีดีเรื่องผิวหนัง
Facebook : https://www.facebook.com/allaboutskin.thaiderm456
YouTube : https://www.youtube.com/
TikTok : https://www.tiktok.com/