14/11/2019
ถือเป็นเรื่องใหญ่เลยเหมือนกันครับสำหรับการประกาศ ของยูทูปเมื่อวันที่ 12 พย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ประกาศปรับส่วนต่างๆ ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ประกาศใหม่นี้ ดูจะเป็นฝันร้ายสำหรับครีเอเตอร์ที่ผลิตคอนเทนต์สำหรับเด็กๆ
ตามกฏหมาย COPPA พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทางออนไลน์ของเด็กปี 1998 เป็นกฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ บังคับให้ยูทูปทุกๆ คลิป และทุกๆ ช่องทำเหมือนกันหมดคือ ต้องกดรายงาน ช่อง และ คลิปรายคลิป ว่าคลิปนั้นคลิปนี้ “Made for kids” หรือไม่
ฟังดูไม่น่าจะใช่เรื่องเลวร้ายหรือลำบากอะไร แต่ปรากฏว่า มันมีประเด็นว่า หากเรากดว่า Made for kids แล้ว จะทำให้โฆษณาประเภท ที่เรียกว่า Personalized ads ไม่เข้าครับ ซึ่งแน่นอนมันกระทบต่อรายได้ของคลิปนั้นอย่างแน่นอน
ไม่ใช่แค่นั้น คลิปที่กดว่าเป็น Made for kids จะยังถูกปิดความสามารถต่างๆ ดังนี้
- คอมเมนต์
- info cards
- end screens
ส่วนช่องที่เป็น Made for kids จะ ไม่สามารถใช้งานฟีเจอร์นี้ได้
- Community tab
- Notification bell (ไม่แจ้งเตือน)
- Stories (โพสไม่ได้)
- คนดูจะ Save to Watch Later (เซฟไว้ดูทีหลัง) ไม่ได้
- คนดูจะ Save to playlist ไม่ได้
คำถามคือ แล้วถ้าเราไม่กด ได้ไหม หรือกดให้ผิดเพี้ยนไป (คลิปทำสำหรับเด็ก แต่ไม่กดว่า Made for kids) คำตอบคือ ได้ครับ แต่ยูทูปจะใช้ระบบอัตโนมัติในการสแกนหาและเปลี่ยนมันให้ถูกต้องอยู่ดี และถ้าเราจงใจตั้งผิด บ่อยๆ ยูทูปใช้คำว่า อาจส่งผลต่อสถานะของช่องของคุณได้ (โหดมาก ตรงนี้)
และถ้าคอนเทนต์เราไม่ได้ Made for kids แต่ระบบยูทูปมาตั้งให้เราเป็น Made for kids ล่ะ เราสามารถยื่นคำร้องให้ยูทูปพิจารณาใหม่ได้ไหม ตรงนี้ ดูเหมือนจะเป็นสิทธิ์ขาดของยูทูปในการพิจารณา เพราะในระบบมีปุ่มให้กดครับ แต่เป็นปุ่ม Send Feedback หาใช่ปุ่ม Dispute เหมือนเวลาคลิปเจอ Copyright ซึ่งแค่ชื่อปุ่มเราก็น่าจะพอเดาได้ว่า มันไม่ใช่คำร้อง แต่มันเป็นแค่ Feedback เท่านั้นเอง
สิ่งที่ยูทูปใช้ในการพิจารณาว่า คอนเทนต์ไหนเป็น Made for kids บ้าง มีดังต่อไปนี้ครับ
1.เนื้อหา
2.มีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับชมไหม
3.มีเด็กเป็นนายแบบนางแบบ หรือนักแสดงในคลิปไหม
4.มีดาราหรือคนดัง หรือของเล่นที่เป็นที่ดึงดูดเด็กๆมาดูไหม ซึ่งรวมไปถึงการ์ตูน อนิเมชั่นคาแรกเตอร์ด้วย
5.ภาษาที่ใช้ในช่อง ง่าย หรือ สื่อสารไปยังเด็กไหม
6.มีกิจกรรมที่เด็กๆ ชอบ ในคลิปไหม เช่น (การแสดง,ดนตรีง่ายๆ, เกม)
7.มีเพลง, นิทาน, หรือบทกลอนที่เด็กๆ ชอบไหม
ในวันถัดมาหลังจากประกาศนี้ FTC ก็ออกมาประกาศต่อว่า พวกเขากำลังพิจารณาค่าปรับสำหรับเจ้าของคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับเด็ก และละเมิดกฏหมายว่า เขาตั้งค่าปรับต่อคลิปไว้ถึง 42,530 ดอลล่าร์สหรัฐเลยทีเดียว
เมื่อกันยาที่ผ่านมา FTC ระบุว่า กูเกิลกำลังเตรียมจ่ายค่าปรับ 170 ล้านดอลล่าร์ เพราะยูทูปฝ่าฝืนกฏหมายการเก็บข้อมูลเด็ก กล่าวคือยูทูปใช้คุ๊กกี้โดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองและใช้มันเพื่อโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นเรื่องผิดในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก (ต่ำกว่า 13 ปี) และจากเรื่องนี้เอง ที่น่าจะส่งผลต่อเนื่องมายังความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้
เราคงต้องเกาะติดเรื่องนี้พอสมควร เพราะน่าจะกระทบครีเอเตอร์หลายช่องในเมืองไทย รวมทั้งวงกว้างในทั่วโลกด้วย