11/09/2024
Storytelling หรือการเล่าเรื่อง ทักษะที่สำคัญ ที่ใครๆ ก็อยากเก่งขึ้น เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารที่ทรงพลังมากในยุคปัจจุบัน เพราะถ้าหากใครเล่าเรื่องเก่ง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานหรือการใช้ชีวิตก็มีความเป็นไปได้สูงมาก
เราจะเห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้มีคอร์สต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการเล่าเรื่อง ผุดขึ้นมามากมายให้คุณได้เลือกเรียน ตั้งแต่ราคาย่อมเยาว์ ไปจนถึงราคาที่สูงมากๆ ขึ้นอยู่กับเนื้อหา ความซับซ้อน และที่สำคัญคือตัวผู้สอนเป็นใคร มีชื่อเสียงในระดับไหน ก็เป็นทางเลือกให้กับเหล่าคนที่ชอบพัฒนาตัวเองได้เลือกในแบบที่ “เหมาะกับตัวเอง”
เนื่องด้วยผู้เขียนทำงานในสายพัฒนาคนในองค์กร จึงมีโอกาสได้เห็นหลักสูตรของสถาบันต่างๆ มากมาย และดีใจเป็นอย่างยิ่งที่สมัยนี้มีคนเก่งๆ เยอะ ที่ตั้งใจออกแบบและพัฒนาหลักสูตรหรือ workshop ให้ดูทันสมัยและเข้มข้น ตั้งใจจะให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เรียนไปแล้วจะเก่งขึ้น ถ้าหากไม่เอาไปลงมือทำ ไปทดลอง หรือแม้กระทั่ง เอาไปแชร์ ไปเล่า ไปสอนต่อ สิ่งที่ได้จากการเข้าไปเรียนคือคุณจะได้แค่ “ความรู้ติดตัว”
ดังนั้นไม่ว่าคุณจะอยากเก่งเรื่องอะไร ก่อนที่จะตัดสินใจไปลงเรียนคอร์สแพงๆ ควรทำความเข้าใจกับตัวเองก่อนว่าคุณจะเก่งเรื่องนี้ไปเพื่ออะไร หรือตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าทำไมต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านั้น มันจะมีประโยชน์ต่อตัวคุณอย่างไร ซึ่งคำตอบควรจะเชื่อมโยงไปถึงเป้าหมายของคุณ เว้นเสียแต่ว่าคุณยังไม่ได้ตั้งเป้าหมาย
กลับมาที่เรื่องของการพัฒนาทักษะการเล่าเรื่อง จริงๆ แล้วอยากให้ลองย้อนนึกไปถึงช่วงที่เราเป็นเด็ก “นิทาน” คือตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจว่าการเล่าเรื่องที่ดีเป็นอย่างไร นิทานจริงๆ แล้วเป็นเพียงแค่เนื้อหาของเรื่องนั้นๆ นิทานส่วนใหญ่ก็จะลงท้ายด้วยว่า “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…..” ซึ่งคือบทสรุป, ข้อคิด, หรือแก่นของสิ่งที่จะสื่อออกมาจากนิทานเรื่องนั้น เป็นสิ่งที่ผู้แต่งนิทานอยากจะให้ผู้อ่านรับรู้ถึงความสำคัญของอะไรบางอย่าง เช่น นิทานสอนเด็ก ก็มีเป้าหมายที่อยากจะสอนให้เด็กๆ รู้ว่าอะไรควรทำ หรืออะไรไม่ควรทำ แต่ถ้านิทานเรื่องนั้นถูกแต่งขึ้นมาโดยเพิ่มความสนุก น่าสนใจ น่าติดตาม มันจะช่วยส่งผลให้นิทานเรื่องนั้นกลายเป็นนิทานที่มีคนต้องการ เกิดผลที่มากกว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมคน ไปเป็นส่งผลในเชิงธุรกิจ เกิดกำลังซื้อที่มากขึ้น ยกตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น เจ.เค.โรว์ลิ่ง: นักเขียนนวนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่สร้างโลกเวทมนตร์ที่น่าหลงใหลและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ทั่วโลก เพราะแค่เราอ่านหนังสือเอง เรายังรู้สึกสนุกเลย ยิ่งพอเอาไปทำเป็นภาพยนต์ยิ่งยกระดับความสนุกของเรื่องเข้าไปอีก
หรือถ้าหากเราอยู่ในโหมดของการทำงานลองนึกถึงภาพของการเข้าร่วมประชุมอะไรบางอย่างแล้วคุณเคยเจอคนที่นำเสนองานเก่งๆ พูดแล้วทำให้คนเข้าใจ บางคนถึงขั้นสามารถโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ จริงๆ แล้วเป็นเพราะเขาพูดเก่ง มีเทคนิคดี หรือว่าจริงๆ แล้วเป็นเพราะเขาเก่งในเรื่องที่เขาพูดกันแน่?
หรือไม่คุณลองนึกถึงตัวเองเวลาที่ได้คุยกับเพื่อน เวลาที่คุณเล่าอะไรให้เพื่อนฟังแล้วมันลื่นไหล เล่าแบบไม่ต้องคิดอะไรเลย ไม่ได้มีการซ้อมมาก่อนว่าจะเอาไปเล่าให้เพื่อนฟัง คุณสามารถทำได้นั่นเป็นเพราะคุณ “เข้าใจหรือรู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดี”
สิ่งที่กำลังจะบอกก็คือต่อให้คุณไปเรียนเทคนิคการเล่าเรื่องแบบขั้นเทพแค่ไหน มันจะไปไม่สุดถ้าคุณไม่ได้รู้จริงในเรื่องนั้นๆ นั่นหมายถึงพื้นฐานของการเล่าเรื่องที่ดีคือคุณควรเข้าใจเรื่องที่คุณจะเล่าหรือไปนำเสนอก่อน หาข้อมูลเพื่อทำให้คุณเกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่จะเล่าไปนั้นคือเรื่องจริงที่เชื่อถือได้ มีที่มาที่ไป มีเหตุและมีผลของมัน ร้อยเรียงกันอย่างเป็นลำดับ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น และเพื่อการวางแผนพัฒนาตัวเองให้เหมาะสม ขอแยกคำออกเป็นสองคำดังนี้
Storytelling = Story + Telling
1. Story คือเนื้อหาหรือข้อมูลที่จะนำไปเล่าหรือไปนำเสนอ ถามตัวเองว่าเรื่องนั้นเราเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังรู้ไม่มาก ยังไม่เข้าใจ ก็ควรหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ เพิ่มเติม ทำความเข้าใจกับข้อมูลก่อนซึ่งอาจจะต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลและการจับประเด็นเข้ามาร่วมด้วย
2. Telling คือวิธีการเล่า เล่าอย่างไรให้เกิดผลอย่างที่เราต้องการ (Impact) ส่วนนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางด้านเทคนิคที่คุณจำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่ม เช่น การทำความเข้าใจกับผู้ฟัง (Audience) คนที่คุณจะไปเล่าหรือไปนำเสนอ เขาเป็นใคร เพราะการเตรียมเรื่องไปเล่าอาจไม่สามารถใช้แนวทางเดียวกันได้ ยกตัวอย่างเช่น การไปนำเสนองานให้กับหัวหน้าหรือผู้บริหาร สิ่งที่คุณต้องทำความเข้าใจคือคนเหล่านี้เขามีเวลาไม่มาก ดังนั้นการนำเสนองานจำเป็นต้องกระชับ ใช้เวลาสั้น แต่สามารถสื่อข้อความสำคัญให้กับคนกลุ่มนี้ได้ (Touch to the point) ยิ่งถ้าหากเราต้องการถึงขั้นได้รับการอนุมัติงานชิ้นนั้นๆ เรื่องราวหรือข้อมูลซึ่งก็หมายถึง Story ของเราที่เตรียมไปก็ควรจะต้องมีคุณภาพมากๆ ด้วย
เราจึงควรประเมินตัวเองก่อนว่า จริงๆ แล้วส่วนไหนกันแน่ที่เราต้องพัฒนาให้เก่งขึ้น ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือว่าทั้งสองส่วนเลย ถ้ามั่นใจแล้วว่า Story ของเราดี เจ๋งแล้ว แต่ขาดเรื่องการทำให้น่าสนใจ ก็ไปพัฒนาเรื่องเทคนิคการเล่าเรื่อง แต่ถ้าพบว่ายังขาดตั้งแต่ส่วนแรก ก็ไปทำความเข้าใจกับเรื่องที่จะเล่าก่อน เพราะคุณเองอาจมีความเก่งหรือมีเทคนิคเฉพาะตัวอยู่แล้วในการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ ซึ่งคุณอาจสังเกตตัวเองได้ว่าบางครั้งคุณก็ทำมันได้ดี ส่วนบางครั้งที่มันไม่ดี มันอาจเป็นเพราะคุณไม่รู้จริงในเรื่องนั้นก็เป็นไปได้
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการที่เราเข้าใจตัวเองและเข้าใจเรื่องที่จะเล่า จึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของการฝึกทักษะนี้ ให้ลองสังเกตคนที่คุณรู้จัก ใครก็ตามบนโลกใบนี้ คนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพต่างๆ นอกจากเขาจะสื่อสารและเล่าเรื่องต่างๆ ให้เราฟังได้อย่างเข้าใจและน่าสนใจ น่าประทับใจ สร้างแรงจูงใจได้ ส่วนใหญ่คือคนที่รู้จริงและเก่งในอาชีพนั้นๆ …. เล่าเก่ง หรือเก่งในเรื่องที่เล่า ลองสังเกตกันดูนะคะ
เขียนและเรียบเรียง โดย
วิชุตา กิจธนากำจร 🦉