
11/07/2025
💔 ถ้ามี “การสูญเสีย” ที่ต่างแดน…เราจะเริ่มต้นยังไงดี?
เรื่องนี้ผมเคยเขียนไว้รอบนึงแล้วครับ
แต่มีหลายคนอินบ็อกซ์มาขอให้
ผมลงแบบละเอียดจัดเต็ม
เพราะตอนเจอสถานการณ์จริง
มันมีรายละเอียดเยอะกว่าที่คิดเยอะเลยครับ!
ถ้าเข้าใจขั้นตอนแบบละเอียด จะช่วยลดความสับสน
และทำให้จัดการเรื่องต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นครับ 🙏
1. เรียกหมอออกใบรับรองการตาย (Totenschein)
ขั้นตอนแรก และสำคัญที่สุด
เพราะเป็นจุดเริ่มของกระบวนการทั้งหมด
⚠️ ต้องทำทันทีเมื่อทราบว่าผู้เสียชีวิตได้เสียชีวิตจริง
📍 ถ้าเสียชีวิตที่บ้าน
1. โทรเบอร์ฉุกเฉิน 112 แล้วแจ้งว่า
"Jemand ist verstorben" หรือ "eine Person ist tot"
2. ทีมแพทย์ฉุกเฉินจะมาที่บ้าน
ทำการตรวจสอบสภาพร่างกาย
รวมถึงดูว่า เสียชีวิตจากสาเหตุธรรมชาติหรือไม่
📍 ถ้าเสียชีวิตในโรงพยาบาลหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ
- เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้แจ้งหมอ
- โรงพยาบาลหรือ Heim
จะเป็นผู้ดำเนินการเอกสารเบื้องต้นให้ครับ
- แต่ญาติควรสอบถามเพื่อขอรับเอกสาร
Totenschein ด้วยตนเองนะครับ
📝 ใบ “Totenschein” คืออะไร?
- คือเอกสารที่ยืนยันว่า “บุคคลนี้เสียชีวิตแล้ว”
- ออกโดยแพทย์เท่านั้น
มีข้อมูล
✔ วัน - เวลา - สถานที่เสียชีวิต
✔ ข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียชีวิต
✔ สาเหตุการตายเบื้องต้น
✔ หมอผู้ตรวจเซ็นรับรอง
🔒 เป็นเอกสารที่จำเป็นสำหรับการขอใบมรณบัตร
(Sterbeurkunde) ห้ามทำสำเนาเอง
ต้องใช้ต้นฉบับเท่านั้นในบางกรณีครับ
📌 หมายเหตุสำคัญ
หมอจะตรวจดูว่าการเสียชีวิตเป็นแบบ
“ตามธรรมชาติ” หรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจ
ต้องมีการส่งศพไปชันสูตรที่นิติเวช
(Kriminalpolizei + Staatsanwaltschaft อาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย)
ถ้าเสียชีวิต “กระทันหัน”, “ไม่รู้สาเหตุ”,
หรือ “ไม่มีประวัติรักษา” อาจต้องรอผลชันสูตรก่อน
ถึงจะสามารถออกใบมรณบัตรได้ครับผม
💰 ค่าใช้จ่าย
การออก Totenschein โดยแพทย์ฉุกเฉิน
คิดค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 50 - 120 ยูโร
แล้วแต่ช่วงเวลา/วันหยุด/ระยะทาง ครับ
👨👩👦 ใครเป็นคนรับผิดชอบแจ้งหมอ?
- โดยหลักแล้ว จะญาติใกล้ชิด
เช่น ลูกหลาน สามีภรรยา ครับ
- ถ้าไม่มีญาติ จะเป็นเพื่อนบ้าน เจ้าของบ้าน
หรือเพื่อนร่วมอาศัยสามารถแจ้งได้ครับ
- ถ้าอยู่ในบ้านพักคนชรา เจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ครับ
🧾 2. ขอใบมรณบัตร (Sterbeurkunde)
หลังจากที่หมอออกใบรับรองการตาย (Totenschein) แล้ว
ขั้นตอนถัดไปคือ การขอใบมรณบัตร (Sterbeurkunde)
ซึ่งถือเป็นเอกสาร “ตัวแม่” ที่ต้องใช้กับหน่วยงานทุกแห่งครับ
📍 ต้องไปที่ไหน?
👉 ไปที่ Standesamt หรือ “สำนักงานทะเบียน”
ของเขต/เมืองที่ผู้เสียชีวิต เสียชีวิตจริง
(ตรงไม่ใช่ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านนะครับ ต้องระวังดีๆ)
ตัวอย่างนะครับ
ถ้าคุณพ่อเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเมือง Frankfurt
แม้ท่านมีทะเบียนบ้านอยู่ที่ Berlin คุณก็ต้องไปขอ
ใบมรณบัตรที่ Standesamt Frankfurt ครับ
📅 ต้องไปเมื่อไร?
⏰ ตามกฎหมายเยอรมัน
ให้แจ้งภายใน ภายใน 3 วัน หลังเสียชีวิต
แต่แนะนำว่า ควรไปภายใน 1–2 วัน จะดีที่สุด
เพื่อไม่ให้เอกสารอื่น ๆ ล่าช้าไปด้วยครับ
📂 เอกสารที่ต้องเตรียมไป:
1. Totenschein (ใบรับรองการตายจากหมอ)
2. บัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต ของผู้เสียชีวิต
3. ทะเบียนสมรส หรือใบหย่า (ถ้าเคยแต่ง/หย่า)
4. สูติบัตร หรือทะเบียนครอบครัว (Familienbuch)
5. ใบเปลี่ยนชื่อ (ถ้าเคยเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล)
6. บัตรประชาชนของผู้แจ้ง พร้อมใบมอบอำนาจ
(ถ้าไม่ใช่ญาติสนิท)
7. บางเมืองอาจขอ หลักฐานการอยู่อาศัย
เช่น Anmeldung หรือ Mietvertrag
🧠 เคล็ดลับนะครับ ถ้าเอกสารเป็นภาษาไทย
ต้องมี “แปลเป็นเยอรมัน” โดยนักแปลที่รับรอง
(beglaubigter Übersetzer) ด้วยนะครับ
📜 ขอใบ Sterbeurkunde ได้กี่ใบ?
📌 ขอได้หลายชุดครับ!
แนะนำว่าให้ขอไว้ อย่างน้อย 7–10 ใบ เลยครับ
เพราะต้องใช้กับ
- ธนาคาร
- ประกันชีวิต
- ที่ว่าการท้องถิ่น
- ศาล
- สถานทูต
- และบริษัทบริการต่าง ๆ
💰 ค่าธรรมเนียมโดยทั่วไป:
ใบแรก ประมาณ 10–15 ยูโร
ใบถัดไป ใบละ 5–10 ยูโร (ขึ้นกับเมืองครับ)
📎 เอกสารออกเมื่อไร?
ถ้าเอกสารครบและไม่มีปัญหา
📄 ใบ Sterbeurkunde จะออกให้ “ทันที”
หรืออย่างช้าภายใน 1–2 วัน
บาง Standesamt สามารถ “ส่งเอกสารทางไปรษณีย์”
หรือให้บริษัทรับจัดงานศพไปดำเนินการแทนก็ได้ครับ
🛂 ใช้ใบนี้ทำอะไรบ้าง?
- แจ้งประกันทุกประเภท
- ยื่นเรื่องมรดกที่ศาล
- แจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัญชี
- ยื่นขอเงินช่วยเหลือค่าศพ
- แจ้งรัฐเพื่อขอยกเลิกสัญญาต่าง ๆ
- ติดต่อสถานทูตไทยเพื่อจัดการพาสปอร์ต/วีซ่า
⚠️ คำแนะนำจากประสบการณ์
- บางเมืองใช้เวลา “คิวนาน” ควรโทรจองล่วงหน้า
- ถ้าไม่มั่นใจว่าเอกสารครบไหม ให้เอาไปให้มากที่สุด
- ถ้าเป็นต่างเมือง แนะนำให้ให้ Bestatter จัดการให้
📞 3. แจ้งญาติ เพื่อน และที่ทำงาน
การบอกข่าวเศร้านี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถือเป็น
ขั้นตอนสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับทั้งความรู้สึก
และสิทธิที่ครอบครัวจะได้รับครับ
👨👩👧👦 ญาติและครอบครัวใกล้ชิด
- แจ้งทันทีเมื่อได้รับใบรับรองการตาย
- ถ้าอยู่ต่างเมืองหรือต่างประเทศ อาจใช้โทรศัพท์,
วิดีโอคอล หรือแชท ก็ได้
- การสื่อสารควรเป็นแบบตรงไปตรงมา
และให้ข้อมูลชัดเจน เช่น
“พ่อเสียชีวิตเมื่อเช้านี้ที่บ้าน หมอกำลังออกใบรับรอง
เดี๋ยวผมจะจัดการเรื่องเอกสารกับทางอำเภอเอง”
✅ บอกข้อมูลพื้นฐาน:
- วันที่และเวลาที่เสียชีวิต
- สถานที่
- เบอร์ติดต่อสำหรับสอบถามเพิ่มเติม
🧑🤝🧑 เพื่อนสนิทและชุมชน
- แจ้งกลุ่มเพื่อน คนรู้จัก
- หลายครั้งเพื่อนจะช่วยเตือนเรื่องเอกสารที่อาจลืม
หรือช่วยติดต่อ Bestatter
- ถ้าเคยมีพินัยกรรม
คนใกล้ชิดอาจรู้ว่าผู้เสียชีวิตเคยมีความประสงค์ยังไง
🏢 ที่ทำงานของผู้เสียชีวิต
ถ้าผู้เสียชีวิตยังทำงานอยู่ ต้องแจ้งนายจ้างหรือ HR ทันที
ข้อความแจ้งอาจใช้รูปแบบสุภาพ เช่น
“เรียนผู้จัดการฝ่ายบุคคล ขอแจ้งให้ทราบว่า
นาย… ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่…
ขอความกรุณาดำเนินการตามสิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง”
📂 สิ่งที่นายจ้างอาจดำเนินการให้:
- ยุติสัญญาจ้าง
- คำนวณเงินเดือนค้างจ่าย/โบนัส/วันลาพักร้อน
- ดำเนินเรื่องเกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญ (ถ้ามี)
- ส่งต่อข้อมูลให้กรมแรงงาน หรือประกันสังคม
🧍 สำหรับ "ผู้แจ้ง" ที่เป็นญาติใกล้ชิด
หากคุณเป็น “ลูก”, “ภรรยา/สามี”, หรือ “พี่น้อง”
คุณอาจมีสิทธิ์ ลางานเป็นกรณีพิเศษ
(Sonderurlaub หรือ Trauerurlaub)
📌 ไม่ใช่ทุกบริษัทจะให้เหมือนกัน
บางที่ให้ 1 วัน บางที่ให้ 3 วัน หรือมากกว่านั้น
ตรวจสอบกับฝ่ายบุคคลอีกทีนะครับ
⚰️ 4. ติดต่อบริษัทจัดงานศพ (Bestatter)
เมื่อต้องจัดงานศพในเยอรมัน
ไม่ใช่ว่าเราจะจัดเองเหมือนเมืองไทยได้นะครับ
ที่นี่ทุกอย่างต้องผ่านบริษัทรับจัดงานศพ
หรือที่เรียกว่า "Bestatter"
ซึ่งมีใบอนุญาตและต้องทำตามกฎหมายเป๊ะ ๆ
🔍 จะเลือก Bestatter ยังไงดี?
- ค้นหา Bestatter ใกล้บ้าน
(ใน Google,หรือถามคนรู้จัก)
- ดูรีวิวบริการ ความสะอาด ความตรงต่อเวลา
และความเข้าใจในเรื่องพิธีของคนต่างชาติ
- ขอใบเสนอราคาเปรียบเทียบจาก 2–3 เจ้า ก่อนตัดสินใจ
🧾 เอกสารที่ Bestatter ต้องใช้
- ใบรับรองการตาย (Totenschein)
- บัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตของผู้เสียชีวิต
- ใบมรณบัตร (ถ้ายื่นไปแล้ว)
- ข้อมูลติดต่อของญาติผู้ประสานงาน
- ถ้ามีพินัยกรรมเกี่ยวกับการจัดงานศพ
(เช่น เจตนารมณ์ให้เผาหรือฝัง)
📦 บริการที่บริษัท Bestatter ให้มีอะไรบ้าง?
✅ รับศพจากบ้าน, โรงพยาบาล, หรือสถานที่เกิดเหตุ
✅ เก็บศพในห้องเย็น (Kühlraum) ตามกฎหมาย
✅ ดำเนินเอกสารราชการที่เกี่ยวข้อง
✅ ติดต่อจองสถานที่ฝัง/เผา
✅ จัดหาโลงศพ, ชุด, ผ้าห่อศพ, ดอกไม้
✅ เตรียมพิธี (ทางศาสนา/ฆราวาส)
✅ พิมพ์หนังสือสวด/หนังสือระลึก
✅ ขนส่งศพไปต่างเมือง หรือต่างประเทศ (ถ้าต้องการ)
✅ ช่วยติดต่อสถานทูตกรณีศพต้องกลับไทย
💸 ราคาโดยประมาณ
ราคาจะแตกต่างกันมากครับ
ขึ้นอยู่กับว่าเลือกบริการแบบไหน
- Basic Package (เรียบง่าย): 2,000 – 4,000 ยูโร
- Standard (พร้อมพิธีเล็ก): 4,000 – 7,000 ยูโร
- Full Service (พร้อมพิธี/โบสถ์/ห้องรับแขก)
ราคาจะอยู่ที่ 7,000 – 12,000 ยูโรขึ้นไป
- การเผาศพ (Cremation)
จะถูกกว่าการฝังประมาณ 30–40%
📌 ค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวม:
- ค่ารับศพ
- ค่าโลงศพ/โกศ
- ค่าห้องเย็น
- ค่าจัดพิธี
- ค่าดอกไม้ เพลง และอุปกรณ์
- ค่าขนส่งศพ (กรณีต่างรัฐหรือต่างประเทศ)
📋 ข้อควรรู้เพิ่มเติม
- กฎหมายเยอรมันไม่อนุญาตให้เก็บศพไว้บ้าน
- งานศพจะต้องจัดภายใน 4 - 10 วัน (ขึ้นกับรัฐ)
- หากไม่มีญาติจัดงาน รัฐจะจัดให้แบบพื้นฐาน
โดยเรียกเก็บจากทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต อีกทีครับ
💼 5. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หลังจากได้ ใบมรณบัตร (Sterbeurkunde)
ให้รีบดำเนินการแจ้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตครับ
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้ หรือรายการหักอัตโนมัติซ้ำซ้อน
🏦 ธนาคาร
- แจ้ง ธนาคารทุกแห่ง ที่ผู้เสียชีวิตมีบัญชี
- ธนาคารจะ “อายัดบัญชีชั่วคราว”
เพื่อป้องกันการถอนเงินโดยไม่ถูกต้อง
- ถ้าเป็นบัญชีร่วม อีกฝ่ายยังใช้ได้
แต่เงินส่วนของผู้ตายจะถูกระงับแยกไว้
- ต้องใช้ใบมรณบัตร และหลักฐาน
แสดงความเป็นทายาทเพื่อขอถอนเงิน/ปิดบัญชี
📌 ถ้ามีบัญชีออมทรัพย์ บัญชีลงทุน บัญชี PayPal
ก็ควรแจ้งให้ครบครับ
💳 บริษัทบัตรเครดิต
- แจ้งเพื่อยกเลิกบัตรและป้องกันการใช้งาน
- ตรวจสอบว่ามียอดค้างจ่ายไหม
- ยื่นเอกสารขอปิดบัญชีพร้อมแนบ Sterbeurkunde
🏡 เจ้าของบ้าน / ผู้ให้เช่า (Vermieter)
ถ้าผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่คนเดียว
ต้องแจ้งยกเลิกสัญญาเช่าตามเงื่อนไข
(มักต้องแจ้งล่วงหน้า 3 เดือน)
ถ้าอยู่ร่วมกับครอบครัว
- สามารถโอนชื่อผู้เช่าไปยังสมาชิกในบ้านได้
- ต้องทำสัญญาเช่าใหม่ หรือตกลงกับ Vermieter
🔌 สาธารณูปโภค & บริการรายเดือน
เช่น
- ไฟฟ้า (Strom)
- แก๊ส (Gas)
- น้ำ (Wasser)
- อินเทอร์เน็ต & มือถือ (Telekom, O2, Vodafone ฯลฯ)
- ทีวี/วิทยุ (Rundfunkbeitrag)
- Netflix, Spotify, Amazon Prime ฯลฯ
📌 ต้องส่งหนังสือ + แนบใบมรณบัตร
📌 ถ้าเป็นบัญชีตัดอัตโนมัติ (SEPA Lastschrift)
อันนี้ก็ต้องยกเลิกด้วยนะครับ
🏥 ประกันชีวิต & ประกันสุขภาพ
- แจ้งบริษัทประกัน ชีวิต เพื่อขอรับเงินตามเงื่อนไข
- แจ้ง ประกันสุขภาพ (Krankenkasse)
เพื่อมให้หยุดการคุ้มครอง ครับ
- ถ้ามี ประกันอุบัติเหตุ/ประกันทุพพลภาพ/
ประกันฝังศพ ให้ตรวจเอกสารเพิ่มเติม อีกทีด้วย
📌 หลายกรณีอาจต้องแจ้งภายใน 24–72 ชั่วโมงหลังเสียชีวิต
📌 ถ้าเลยกำหนด อาจไม่ได้รับสิทธิ์นะครับ
🏛️ หน่วยงานภาครัฐ
Rentenversicherung (ประกันบำนาญ)
- ถ้าได้รับเงินบำนาญ ต้องแจ้งยกเลิก
- หรือยื่นขอ “เงินช่วยเหลือกรณีพิเศษ”
- ทายาทอาจมีสิทธิ์ “รับเงินบำนาญชั่วคราว”
อันนี้จะเรียกว่า Sterbevierteljahr
Finanzamt (กรมภาษี)
- แจ้งการเสียชีวิต เพื่อยุติการคำนวณภาษีบุคคล
- หากยังไม่ยื่นภาษีปีล่าสุด
ทายาทต้องเป็นคนยื่นภาษีแทนด้วยนะครับ
- ถ้ามีมรดก อาจต้องเสียภาษีมรดก (Erbschaftsteuer)
🧾 ประกันสังคม & สำนักงานแรงงาน
- หากผู้เสียชีวิตยังทำงานอยู่
ให้แจ้ง Jobcenter หรือสำนักงานประกันสังคม
ตรวจสอบว่ามี สิทธิ์เงินชดเชย หรือไม่ เช่น:
- เงินทดแทนกรณีว่างงาน
- เงินสะสมวันลาหรือค่าชดเชยล่วงหน้า
👥 อื่น ๆ ที่ควรแจ้ง
- สมาคมต่าง ๆ (ชมรมกีฬา, ชมรมผู้สูงอายุฯลฯ)
- ระบบสมาชิก เช่น ฟิตเนส, คลินิก, ร้านค้า
- ประกันรถยนต์ แจ้งเพื่อโอนรถหรือยกเลิก
- สำนักงานขนส่ง (Kfz-Zulassungsstelle)
แจ้งหากมีรถจดทะเบียนอยู่ครับ
📜 6. ตรวจพินัยกรรม & จัดการมรดก
ในเยอรมัน เรื่องมรดกมีขั้นตอนทางกฎหมายชัดเจนมากครับ
ถ้ามีหรือไม่มีพินัยกรรม วิธีจัดการต่างกันโดยสิ้นเชิง
🟢 ถ้ามีพินัยกรรม (Testament)
📍 ต้องส่งพินัยกรรม “ต้นฉบับ” ไปที่
ศาลจัดการมรดก (Nachlassgericht)
โดยเร็วที่สุดหลังพบเอกสารด้วยครับ
📩 วิธีส่ง
- ยื่นด้วยตัวเองที่ศาล
- ส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียน
(Einschreiben mit Rückschein)
👨⚖️ ศาลจะตรวจสอบความถูกต้อง
ถ้าครบถ้วน จะเปิดพินัยกรรมอย่างเป็นทางการ (Eröffnung)
📜 ถ้าไม่มีใครค้าน
ศาลจะออกเอกสารชื่อว่า Erbschein
(ใบรับรองสิทธิรับมรดก)
📌 ใช้ Erbschein สำหรับ
- เบิกเงินจากบัญชี
- โอนทรัพย์สิน เช่น รถ, บ้าน
- ติดต่อธนาคาร ประกัน ฯลฯ
🔴 ถ้า ไม่มีพินัยกรรม
จะใช้ระบบสืบทอดแบบอัตโนมัติของเยอรมัน
หรือที่เรียกว่า (Gesetzliche Erbfolge)
🔸คนที่มีสิทธิรับมรดกตามลำดับ
- คู่สมรส
- ลูก/หลาน
- พ่อแม่ / พี่น้อง
- ญาติห่าง ๆ (ถ้าไม่มีใครเลย)
📌 แต่ละลำดับจะได้รับ “สัดส่วน” ต่างกัน
(ตัวอย่างเช่น ถ้ามีคู่สมรสและลูก จะแบ่งคนละครึ่ง)
❌ การ “ปฏิเสธมรดก” (Ausschlagung)
ถ้าผู้เสียชีวิตมีหนี้สินเยอะ หรือภาระตามมา
ผู้รับมรดกสามารถ ปฏิเสธ ไม่รับได้ครับ
🕓 ต้องยื่นคำปฏิเสธภายใน 6 สัปดาห์
(ถ้าอยู่ต่างประเทศ จะขยายเป็น 6 เดือน)
📍 ยื่นที่ Nachlassgericht พร้อมเอกสารยืนยันตัวตน
📌 ถ้าเลยกำหนด จะถือว่ารับมรดกโดยอัตโนมัติ
แม้จะมีหนี้ติดตัวด้วยก็ตามนะครับ
💰 ภาษีมรดก (Erbschaftsteuer)
ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับผู้ตาย และมูลค่าทรัพย์สิน
📊 ตัวอย่างการยกเว้นภาษี
- คู่สมรส จะยกเว้นได้ถึง €500,000
- ลูก จะยกเว้นได้ถึง €400,000
- หลาน จะยกเว้น €200,000
- คนอื่น ๆ จะยกเว้น €20,000
ถ้าเกินจากนี้ ต้องจ่ายภาษีมรดกตามอัตรา 7–30%
(ขึ้นกับวงเงินและความสัมพันธ์นะครับ)
📅 และต้องยื่นภาษีมรดกภายใน 3 เดือนหลังได้รับมรดก
🧾 เอกสารที่ควรเตรียม
- สำเนาใบมรณบัตร (Sterbeurkunde)
- พินัยกรรม (ถ้ามี)
- เอกสารแสดงทรัพย์สิน
เช่น โฉนดบ้าน บัญชีธนาคาร
-เอกสารแสดงความสัมพันธ์
(ทะเบียนสมรส, สูติบัตรลูก ฯลฯ)
🌺 7. จัดพิธีศพ & จัดการหลังงาน
เมื่อเอกสารเรียบร้อยแล้ว
การจัดพิธีศพ จะเป็นขั้นตอนที่หลายคน
ต้องใช้เวลาและจิตใจอย่างมากครับ
เพราะต้องรวมความเชื่อ วัฒนธรรม
และกฎหมายเยอรมันไว้ด้วยกัน
⚰️ ประเภทของพิธีศพที่ทำได้ในเยอรมัน
🇩🇪 เยอรมันมีกฎหมายควบคุมการจัดการศพ
(Bestattungsgesetz)
แต่ก็เปิดกว้างให้เลือกตามความเหมาะสม
🔥 เผาศพ (Feuerbestattung)
- นิยมในหลายรัฐ เพราะประหยัดพื้นที่
- ศพจะถูกเผาที่ Krematorium
กระดูกใส่ใน Urne (โกศ)
- Urne จะถูกฝังในสุสาน หรือนำไปเก็บใน Columbarium
- ค่าใช้จ่ายรวม ๆ ประมาณ 2,000–5,000 ยูโร
แล้วแต่สถานที่
⚰️ ฝังศพ (Erdbestattung)
- แบบดั้งเดิม ใช้โลงศพและฝังในสุสาน
- ต้องจองที่ดินสำหรับหลุมฝัง
(เช่าได้เป็นระยะเวลา เช่น 20 ปี)
- ค่าใช้จ่ายมักสูงกว่าการเผา 4,000–7,000 ยูโร
⛪ สถานที่จัดพิธี
- ในโบสถ์ (Kirchliche Trauerfeier)
สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์
มีบาทหลวง หรือบาทหลวงคาทอลิกเป็นผู้นำพิธี
- แบบฆราวาส (Freie / Zivile Trauerfeier)
ไม่มีพิธีทางศาสนา มีผู้ดำเนินพิธี (Trauerredner)
พูดถึงชีวิต ความทรงจำ และความดีของผู้เสียชีวิต
ใช้ดนตรี บรรยากาศ และข้อความส่วนตัว
📋 สิ่งที่ควรวางแผนในพิธี
💐 ดอกไม้ประดับโลงหรือโกศ
🎼 เพลงที่ผู้เสียชีวิตชอบ
🗣️ คำกล่าวสดุดี (Trauerrede) จากครอบครัวหรือเพื่อน
📖 หนังสือระลึก (Totenkarte) พร้อมภาพและคำไว้อาลัย
🍽️ จัดเลี้ยงหลังพิธี (ตามธรรมเนียมหรือเลือกได้)
📬 การจัดการหลังพิธีศพ
หลังจากงานศพผ่านไป ยังมีสิ่งที่ต้องตามเก็บครับ:
🪦 การดูแลหลุมศพ / Urne
ถ้าเป็นหลุมฝังศพ ต้องเลือกดูแลเอง
หรือจ้างบริษัทดูแลหลุม (Grabpflege)
ราคาค่าเช่าหลุมศพเฉลี่ยอยู่ที่
ประมาณ 2,000–4,000 ยูโร / 20 ปี
ถ้าเป็น Urne สามารถฝังในแปลงพิเศษ
หรือเก็บใน Columbarium ได้
📑 เอกสารหลังการฝังศพ
- ขอเอกสาร Begräbnisbescheinigung
ใช้สำหรับเบิกประกัน หรือแจ้งต่อหน่วยงานอื่น ๆ
- ส่งจดหมายขอบคุณ (Danksagung) ให้แขกที่มาร่วมงาน
- แจ้งบริษัทประกันอีกครั้งหากยังไม่เบิกเงินช่วยเหลือ
✨ วัฒนธรรมพิเศษที่พบในเยอรมัน
- บางคนวางแผนพิธีศพไว้ล่วงหน้า (Vorsorgevertrag)
จะมีรายละเอียดครบ ทั้งรูปแบบเพลง ดอกไม้ และข้อความ
- งานศพที่เป็นกันเอง เรียบง่าย
ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน
- พิธีแบบ "Urnenbeisetzung mit Musik"
หรือพิธีเก็บโกศพร้อมดนตรีสดเริ่มแพร่หลาย
🕊️ สุดท้ายนี้...
การจากไปของใครสักคน
อาจทำให้โลกของเราหยุดหมุนไปชั่วขณะ
แต่หน้าที่ของคนที่ยังอยู่ คือการส่งเขาไปด้วยความรัก
และจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยที่สุด
ไม่ใช่แค่เรื่องเอกสารหรือพิธีศพ
แต่มันคือ “การให้เกียรติ” และ “ส่งใจสุดท้าย”
แด่คนที่เรารักครับ ❤️
ไม่ว่าจะอยู่ไทยหรือเยอรมัน
ขอให้เราทุกคนมีสติ เข้าใจระบบ
และพร้อมรับมืออย่างเข้มแข็ง
เพราะเมื่อเราทำเต็มที่แล้ว...
ไม่เพียงแค่ศพจะได้พักอย่างสงบ
แต่ใจเราก็จะสงบไปด้วยครับ
#คนไทยในเยอรมันนี #อีสานเยอรมัน #คนไทยในเยอรมัน #ข่าวเยอรมนี #เยอรมนี2025 #คนไทยในต่างแดน