06/03/2025
ครูมื่อของพวกเรา 😊 ศพด.อบต.แม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
การพัฒนาการเด็กในช่วงวัยปฐมวัยเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะได้สร้างพื้นฐานของการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่เด็กๆ มักเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาและการเสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสม
เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งดูแลโดย ‘ครูมื่อ - ประทิม สายชลคีรี’ ครูที่มุ่งมั่นพัฒนาเด็กๆ ในทุกด้านให้มีพัฒนาการสมวัย แม้จะเผชิญกับข้อจำกัดในเรื่องของทรัพยากรและสภาพแวดล้อมทางสังคม โดยเฉพาะเด็กชาติพันธุ์เผ่ากะเหรี่ยงที่เติบโตในครอบครัวที่ใช้ภาษาถิ่นเป็นหลักและอาศัยอยู่บริเวณใกล้ชายแดน
‘ครูมื่อ’ ได้แบ่งปันประสบการณ์ในงานมหกรรมวิชาการ #สุขMarathon ‘Happiness is Blooming’ ภายใต้แนวคิด ‘เพราะสุขภาพคือพลังสำคัญที่เราสร้างได้ร่วมกัน’ รวมพลังสร้างสุขภาวะชุมชนอย่างยั่งยืน โดยนำเสนอวิธีการพัฒนาศักยภาพเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล ผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ด้วยเครื่องมือ ICAP (Integrated Child and Adolescent Development Program) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะเด็กในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม เพราะครูมื่อเชื่อว่า การส่งเสริมพัฒนาการในช่วงวัยนี้จะช่วยให้เด็กมีศักยภาพในระยะยาวและลดปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“ครูเป็นคุณครูชาวเขาชาวดอย เป็นครูชายขอบ อยู่ติดชายแดนอำเภอท่าสองยาง เด็กๆ ที่คุณครูสอนเป็นเด็กชาติพันธุ์เผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งพวกเขามีภาษาถิ่นเป็นของตัวเอง พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ อ่านเขียนก็ไม่ออก และเด็กที่นี่ก็มีจำนวนเยอะมาก” ครูมื่อเล่าถึงสภาพแวดล้อมของโรงเรียน
ในพื้นที่ท่าสองยาง มีเด็กอยู่สองกลุ่ม คือ เด็กที่มีเชื้อชาติและสัญชาติไทย และเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้เรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พวกเขาจะไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา
“หากเด็กไม่ได้เข้าเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พวกเขาก็จะใช้ชีวิตไปตามวิถีชีวิตของตัวเอง โดยไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา” ครูมื่อกล่าว
นอกจากปัญหาการขาดเอกสารสถานะทางทะเบียนราษฎร์ ยังมีอุปสรรคสำคัญในเรื่องของการพัฒนาทักษะภาษาไทยของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะผู้ปกครองสามารถพูดภาษาไทยได้บ้าง แต่เนื่องจากขาดความมั่นใจและกลัวจะสอนลูกผิดจึงหลีกเลี่ยงการพูดภาษาไทยกับลูก ครูมื่อจึงมีการสื่อสารกับผู้ปกครองให้ลองสื่อสารภาษาไทยในชีวิตประจำวันกับลูก เพื่อช่วยเสริมพัฒนาการทางภาษาให้สมวัย
“ครูเชื่อว่า ถ้าเราได้ยินและพูดอะไรทุกวัน เราก็จะซึมซับและพูดได้ เช่นเดียวกับเด็กๆ ถ้าเขาได้พูดภาษาไทยทุกวัน วันหนึ่งเขาก็จะพูดได้เอง เหมือนกับครูที่พึ่งมาพูดภาษาปกาเกอะญอได้ตอนมาคลุกคลีกับเด็กๆ ครูเลยกำชับคุณครูที่อยู่ในพื้นที่ว่า ‘ห้ามพูดภาษาถิ่นกับเด็ก’ ให้ใช้แต่ภาษาไทย” ครูมื่อกล่าว
การเรียนการสอนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ แม้ว่าจะต้องปรับให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน แต่การขาดแคลนงบประมาณและบุคลากรที่เพียงพอ และพัฒนาการของเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็กเอง ครูมื่อจึงต้องมีการกระตุ้นและส่งเสริมเด็กๆ ให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
สิ่งที่ครูมื่อทำในงานการศึกษาของเด็กชายขอบและเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การเรียนการสอนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงการใช้ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่บูรณาการการเรียนรู้ผ่านการเล่น โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กอย่างครบถ้วน และใช้สื่อการเรียนการสอนรวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ จากการประยุกต์ใช้สิ่งรอบตัวที่มีในชุมชนมาเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กเล็ก
นอกจากการสอนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแล้ว ครูมื่อยังได้มีบทบาทสำคัญในการอบรมและถ่ายทอดความรู้ให้กับครูในพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยให้แก่คนอื่นด้วย โดยได้เข้าร่วมอบรมและเป็นวิทยากรให้กับครูในหลายพื้นที่ ทำให้การพัฒนาเด็กไม่เพียงแค่จำกัดอยู่ในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น แต่ยังขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ด้วย
“สิ่งที่อยากฝากถึงคุณครูของเราทุกคน ทุกวันนี้เรามีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ครูเชื่อว่าครูชายขอบทุกคนที่เข้ามาอยู่ตรงนี้ ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการพัฒนาเด็ก เราจะทำอย่างไรให้พวกเขามีพัฒนาการที่สมวัย มีความฝัน มีจินตนาการ และได้รับแรงบันดาลใจ เพื่อที่พวกเขาจะจดจำได้ว่า ตอนเด็กๆ พวกเขาเคยได้เรียนรู้ ได้เก็บเกี่ยวความสุข สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และเมื่อเด็กเติบโตขึ้น สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วยค่ะ”
ติดตามเรื่องราวการทำงานและผลลัพธ์จากการพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ ผ่านกระบวนการที่ครูมื่อได้นำเสนอ พร้อมทั้งกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการทำงานของครูมื่อได้แบบฉบับเต็มเร็วๆ นี้ ทางเว็บไซต์และเพจ The Potential