24/06/2025
“พลังงาน-คลัง” ประเมินผลกระทบเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ชายแดน
ไทย-กัมพูชา และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
บทสรุป
(23 มิ.ย. 68) กระทรวงการคลัง ได้เรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความตึงเครียดไทย–กัมพูชา เพื่อเตรียมหามาตรการรองรับการค้าขายชายแดน โดยย้ำว่าไทยยังคงยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี และอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง มีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดทุนไทย และมีมติให้ใช้ 2 มาตรการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 23 – 27 มิถุนายน 2568 เพื่อดูแลเสถียรภาพของตลาดและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน ขณะที่ กระทรวงพลังงาน ได้ประชุมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และเตรียมพร้อมด้านพลังงาน หลังมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ส่งผลกระทบทั้งปริมาณน้ำมันสำรอง (ที่ประเมินเบื้องต้นคงเหลือสามารถใช้ได้ 60 วัน หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น) และราคาที่จะปรับสูงขึ้น รวมถึงการผลิตไฟฟ้า จึงได้เตรียมแนวทางการบริหารจัดการและหามาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ พร้อมขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และใช้พลังงานอย่างประหยัด ส่วนสถานการณ์ล่าสุดในตะวันออกกลางได้ขยายวงมากขึ้น กระทรวงการต่างประเทศได้อพยพแรงงานไทยชุดแรก จำนวน 22 คน เดินทางกลับไทย รวมถึงพิจารณาเพื่อย้ายแรงงานไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลยืนยันความพร้อมที่จะอพยพคนไทยกลับประเทศทันที
รายละเอียด
“คลัง” พร้อมรับมือผลกระทบเศรษฐกิจจากความตึงเครียดไทย–กัมพูชา
(23 มิ.ย. 68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ระบุว่า “พร้อมรับมือผลกระทบเศรษฐกิจจากความตึงเครียดไทย–กัมพูชา” โดยได้เรียกประชุมเร่งด่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างไทยกับกัมพูชา แม้สถานการณ์ในขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่ในฐานะผู้กำกับดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับทุกความเป็นไปได้อย่างรอบคอบและรวดเร็ว
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่
1. ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการค้าชายแดน ภาคการผลิตที่พึ่งพาวัตถุดิบจากกัมพูชา ภาคการเงินที่มีธุรกิจในกัมพูชา รวมถึงภาคบริการ เช่น สายการบิน โทรคมนาคม และพลังงาน
2. วางแผนมาตรการรองรับ เช่น Soft Loan มาตรการภาษี การขนส่งสินค้า และการกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดชายแดน โดยเปิดรับฟังข้อเสนอจากภาครัฐและเอกชนอย่างรอบด้าน
นายพิชัย กล่าวย้ำว่า “การประชุมฉุกเฉินนี้ เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมในเชิงเศรษฐกิจ ไม่ใช่การส่งสัญญาณที่เป็นปฏิปักษ์ ไทยยังคงยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี และการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์กับเพื่อนบ้าน”
รองนายกฯ พิชัย ย้ำ “ตลาดทุนไทยยังแข็งแกร่ง” พร้อมรับมือความผันผวน หลังเหตุการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง
(23 มิ.ย. 68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่ากรณีเหตุการณ์สู้รบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอาจสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย รัฐบาลไทยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะต่อเสถียรภาพของตลาดการเงินและการลงทุน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้มีการประชุมเร่งด่วนและมีมติออกมาตรการชั่วคราว 2 ข้อ เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในตลาด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2568 ได้แก่
1. การปรับ Ceiling & Floor ของราคาหลักทรัพย์ (ราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวัน)
- ลดกรอบการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์จาก ±30% เหลือ ±15% สำหรับตลาด SET, mai และ TFEX เพื่อชะลอความผันผวนที่รุนแรงในระยะสั้น
2. การปรับกรอบราคา Dynamic Price Band (กรอบราคาซื้อ-ขายหลักทรัพย์ที่เคลื่อนไหวระหว่างวัน)
- ลดจาก ±10% เหลือ ±5% ของราคาซื้อขายล่าสุดในแต่ละหลักทรัพย์ เพื่อจำกัดความผันผวนของราคาระหว่างวัน
นายพิชัย ย้ำว่า “มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่การปิดตลาดหรือการสกัดกั้นการลงทุน แต่เป็นการดูแลเสถียรภาพตลาดในช่วงที่มีเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่แน่นอน เชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจไทย และจะดำเนินการทุกวิถีทางในการรักษาความมั่นคงของตลาดทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุน”
รองนายกฯ พีระพันธุ์ เรียกประชุมด่วน เตรียมมาตรการรองรับด้านพลังงาน ทั้งราคา-ปริมาณสำรอง
(23 มิ.ย. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรียกประชุมผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน หลังจากสหรัฐอเมริกาโจมตี 3 โครงการนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับอิหร่านเป็นอย่างมาก และรัฐสภาอิหร่านลงมติเห็นชอบในการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางในการขนส่งน้ำมันระหว่างประเทศที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้ supply (การเสนอขาย) น้ำมันหายไปประมาณ 20% ของความต้องการโลก
ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 90% และมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางประมาณ 60% โดยนำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต ซาอุดิอาระเบีย และโอมาน ซึ่งต้องขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบฮอร์มุซ กระทรวงพลังงานได้มีการเตรียมฉากทัศน์ (Scenario) ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านหากทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก และระยะเวลาในการปิดช่องแคบฮอร์มุซที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เพื่อดำเนินมาตรการการจัดเตรียมปริมาณน้ำมันสำรองภายในประเทศ รวมทั้งการเตรียมหามาตรการช่วยเหลือด้านราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
โดย ณ ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ประมาณ 72 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (1 บาร์เรล =159 ลิตร ) และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่วนในด้านปริมาณสำรองน้ำมันภายในประเทศ ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2568 มีน้ำมันดิบ เพียงพอต่อความต้องการใช้ 22 วัน น้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง (ผ่านช่องแคบฮอร์มุซแล้ว) เพียงพอต่อความต้องการใช้ 20 วัน และน้ำมันสำเร็จรูปเพียงพอต่อความต้องการใช้ 18 วัน รวมปริมาณน้ำมันคงเหลือที่สามารถใช้ได้ 60 วัน ซึ่งหากสถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จะมีการบริหารจัดการเพื่อรักษาเสถียรภาพปริมาณสำรองน้ำมันภายในประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงและความเชื่อมั่นภายในประเทศ
ในส่วนของสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการดูแลด้านราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2568 สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบประมาณ 35,408 ล้านบาท โดยเป็นบัญชีก๊าซหุงต้ม
ติดลบ 44,403 ล้านบาท และในส่วนของบัญชีน้ำมันสถานะเป็นบวก 8,995 ล้านบาท ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้มีการปรับลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซลไปแล้วรวม 4 ครั้ง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันให้กับประชาชน
สำหรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ก็ต้องนำเข้าผ่านช่องแคบฮอร์มุซเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน ดังนั้นเพื่อเตรียมรับผลกระทบต่อราคาไฟฟ้า จึงสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากแหล่งอื่นที่มีราคาถูกเพื่อรองรับสถานการณ์นี้ด้วยแล้ว
นายพีระพันธุ์ ระบุว่า “หลังสถานการณ์อิสราเอล-อิหร่านทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วนเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทุกด้าน รวมทั้งอาจจะขอความร่วมมือกับกระทรวงการคลังในการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงพุ่งสูงขึ้น ขอยืนยันว่ากระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเตรียมแนวทางการบริหารจัดการด้านราคาและปริมาณสำรองภายในประเทศ หากการสู้รบรุนแรงและยืดเยื้อ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์และดำเนินทุกมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและปริมาณสำรองน้ำมัน และขอให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัดเพื่อลดการนำเข้า ก็จะช่วยให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อีกทางหนึ่งด้วย”
กต. เตือนแรงงานไทยออกจาก “อิสราเอล-อิหร่าน” หลังสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
(23 มิ.ย. 68) นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ในตะวันออกกลาง และการให้ความช่วยเหลือคนไทยว่า ประเทศไทยแสดงความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ และดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ในประเทศอิสราเอล สถานเอกอัครราชทูตกรุงเทลอาวีฟ และฝ่ายแรงงาน รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยในภูมิภาค ได้ประสานงาน
กับบริษัทก่อสร้าง ที่นำแรงงานชุดแรก จำนวน 22 คน เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว โดยได้เดินทางออกจากอิสราเอลทางบก ไปยังประเทศเพื่อนบ้านและเดินทางถึงประเทศไทย ในวันที่ 23 มิถุนายน 2568 ขณะที่สถานทูตอยู่ระหว่างการช่วยเหลือคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางออกจากอิสราเอลอีกจำนวน 12 คน สถานเอกอัครราชทูตและฝ่ายแรงงานอยู่ระหว่างประสานงาน กับกรมการจัดหางาน ภาคการก่อสร้างของไทย ถึงความเป็นไปได้ที่จะย้ายแรงงานก่อสร้างในอิสราเอล อีกประมาณ 3,000 คน ออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรอดูสถานการณ์หรือเดินทางกลับไทย
สำหรับสถานการณ์ในอิหร่าน สถานเอกอัครราชทูตกรุงเตหะราน ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยชุดแรก 3 คน ที่ประสงค์เดินทางออกนอกประเทศ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยปลอดภัยแล้ว และอยู่ระหว่างประสานช่วยเหลือคนไทยในอิหร่าน จากเมืองต่าง ๆ อีก 73 คน ที่ประสงค์จะออกจากอิหร่าน สถานเอกอัครราชทูตจึงได้เปิดสถานที่ทำการชั่วคราว รวมถึงศูนย์พักพิงให้ความช่วยเหลือคนไทยขึ้นที่ Elite World Van Hotel คนไทยในอิหร่านสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตที่หมายเลขฉุกเฉิน (+99) 912 159 8699 และ (+98) 912 500 7933 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
รัฐบาลเตรียมพร้อมอพยพคนไทยในตะวันออกกลาง หากสถานการณ์เพิ่มความรุนแรง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงความพร้อมการอพยพคนไทยในตะวันออกกลางว่า ได้เตรียมความพร้อมทั้งหมดแล้ว ทั้งเส้นทางลำเลียงระยะเวลา รวมถึงการประเมินสถานที่ในพื้นที่ โดยได้เตรียมพร้อมเครื่องบินที่จะปฏิบัติการอยู่แล้ว หากมีเหตุการณ์ที่รุนแรงและต้องอพยพจะดำเนินการทันที
#พลังงานคลังประเมินผลกระทบเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชาและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง #สถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชา #ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง #กระทรวงพลังงาน
#กระทรวงการคลัง #กระทรวงการต่างประเทศ #นโยบายรัฐบาล20กระทรวง