05/12/2024
#๕ธันวาคม #วันชาติ #วันพ่อแห่งชาติ #วันดินโลก #ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
* ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักคิดคุ้มครองไทย ปรัชญาคุ้มครองโลก
หลักคิดสำคัญในการดำเนินชีวิตและกิจการงานที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานให้ไว้กับพสกนิกรชาวไทยและชาวโลก คือ หลักคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" หรือ ปรัชญาของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนครอบคลุมในทุกมิติ จนอาจกล่าวได้ว่านี่คือ..."หลักคิดคุ้มครองไทย ปรัชญาคุ้มครองโลก"
* ความหมายของ "เศรษฐกิจพอเพียง"
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในวโรกาสต่าง ๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของประชาชนโดยทั่วไป มีดังนี้
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน
ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
* รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
การดำเนินชีวิตและกิจการงานให้อยู่รอดปลอดภัย พร้อมตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ในทุกรูปแบบ พึงเข้าใจและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ คือ
1. ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง
2. การเปลี่ยนแปลงเกิดจากเหตุปัจจัย
3. การเปลี่ยนแปลงอาจปรากฏเป็นวงจร
4. การเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดผลกระทบที่รวดเร็ว รุนแรง และกว้างขวาง
5. ผลกระทบมีทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
* แนวคิดหลักในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
แนวคิดหลักในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ทางสายกลาง หรือ “มัชฌิมา” ตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ
1. ความพอประมาณ
2. ความมีเหตุผล
3. การมีภูมิคุ้มกัน
* ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
การดำเนินชีวิตและกิจการงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะประสบความสำเร็จได้ ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ
1. เงื่อนไขด้านคุณธรรม หมายถึง ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต อดทน ขยันหมั่นเพียร ใช้สติปัญญา และรู้จักแบ่งปัน
2. เงื่อนไขด้านความรู้ หมายถึง ต้องมีความรอบรู้ รอบด้าน และใช้ความรู้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง
* ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิดคุ้มครองไทย ปรัชญาคุ้มครองโลก ที่มีความเป็นที่สุดที่น่าอัศจรรย์ คือ
1. เป็นหลักคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน สังคม และวัฒนธรรม ฯลฯ
2. เป็นหลักคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ฯลฯ
3. เป็นหลักคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกสภาพภูมิสังคมและทุกสาขาอาชีพ ทั้งเกษตรกร นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ครูอาจารย์ นิสิต, นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ฯลฯ
4. เป็นหลักคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกขนาดของการผลิต การลงทุน การบริโภค และทุกขนาดของกิจการ ทั้งเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน และเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า จึงครอบคลุมกิจการหรือโครงการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
5. เป็นหลักคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับของสังคม ตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับโลก ดังนี้
• ระดับบุคคล / ครอบครัว
• ระดับชุมชน / องค์กร
• ระดับประเทศ / โลก
* "ทฤษฏีใหม่" (New Theory)
เป็นรูปธรรมหนึ่งของการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับภาคเกษตรและเกษตรกร โดยมีขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : บริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมในระดับครอบครัวให้พออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้ ด้วยสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10
หมายถึง แบ่งพื้นที่เป็นแหล่งน้ำ 30 % นาข้าว 30 % ไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชผักสมุนไพร 30 % และที่อยู่อาศัย โรงเรือนเพาะเห็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ฯลฯ 10 % แต่ทั้งนี้ สัดส่วนนี้ก็อาจปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้ตามสภาพพื้นที่และสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกันไป
ขั้นตอนที่ 2 : รวมกลุ่มในรูปแบบของกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ ร่วมมือกันในด้านการผลิต การแปรรูป การบริหารจัดการ การตลาด และร่วมกันพัฒนาสวัสดิการชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งในระดับองค์กรและชุมชน
ขั้นตอนที่ 3 : ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา เพื่อจัดหาทุน วิชาการความรู้ เทคโนโลยี มาช่วยสนับสนุนการลงทุน การพัฒนาผลผลิต การส่งเสริมการตลาด และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
* "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ภายใต้หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง"
ในระดับบุคคลหรือครอบครัว ประชาชนทั่วไปสามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและกิจการงาน ด้วยวิธีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ภายใต้หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง” ดังนี้
* ลดรายจ่าย
1. จัดทำบัญชีครัวเรือน จัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่าย วิเคราะห์ให้ออกว่ารายการใดเป็น “ความจำเป็น” (Need) และรายการใดเป็น “ความ
ต้องการ” (Want) แล้วตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปทันที โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข
2. ถ้าสภาพพื้นที่และสภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวย สามารถลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลงได้ ด้วยการทำกินเองใช้เองให้มากขึ้น อาทิ การปลูกพืชผักสวนครัวไว้เป็นอาหารในครัวเรือน หรือการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันไว้ใช้เอง
3. รวมกันซื้อเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ “การประหยัดโดยขนาด” (Economy of Scale) ในการซื้อปัจจัยการผลิต วัตถุดิบ หรือสินค้าอุปโภคบริโภค ถ้าซื้อด้วยจำนวนมาก ๆ ซื้อเหมาแทนที่จะซื้อปลีก ก็จะทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ราคาต่อหน่วยถูกลง การรวมกันซื้อจึงเป็นวิธีการลดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง
4. ฟื้นฟูทุนทางสังคม อันเป็นประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมที่เคยมีมา เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิต ด้วยการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนแรงงานกันไป ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความรักความสามัคคีในชุมชนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ดังที่เรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคว่า การลงแขก การออกปาก หรือการกินวาน เป็นต้น
5. การบริหารจัดการหนี้สินเพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยลง โดยการปรับเปลี่ยนหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า
* เพิ่มรายได้
1. มีอาชีพหลักและสร้างอาชีพเสริม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อดทน ขยันหมั่นเพียร เพื่อเพิ่มเติมให้มีรายได้หลายทาง
2. กระจายความเสี่ยงในการลงทุน ด้วยการจัดสัดส่วนของการลงทุน จัดลำดับความสำคัญมีทั้งการลงทุนหลักและการลงทุนรอง มีทั้งความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในยามที่มีผลกระทบเกิดขึ้น เช่น ถ้าเป็นเกษตรกรก็ไม่ฝากชีวิตไว้กับพืชเชิงเดี่ยว แต่ต้องทำเกษตรผสมผสานในรูปแบบไร่นาสวนผสม เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสามารถอุ้มชูดูแลตัวเองได้ในยามที่การผลิตหรือการตลาดไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
3. สร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ด้วยกลยุทธ์ของการเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) สามารถบริหารจัดการให้มีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าคู่แข่ง หรือสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยกลยุทธ์ของการสร้างความแตกต่างในตัวสินค้าและบริการ (Differentiation) ให้มีคุณภาพโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างอย่างไม่เหมือนใคร สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้มากกว่าคู่แข่งในตลาด
4. รวมกันขายผลผลิต เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้ผลิตมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น ทั้งยังสามารถร่วมกันพัฒนาและควบคุมคุณภาพของผลผลิต การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างมาตรฐานสินค้า รวมทั้งการร่วมกันรักษาจรรยาบรรณของวิชาชีพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน
* การขับเคลื่อนชุมชนสู่ความพอเพียง
การขับเคลื่อนให้ประชาชนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและกิจการงานเพื่อให้มีความสุขยั่งยืน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ระดับบุคคลไปสู่ครอบครัว และขยายผลสู่ชุมชน เพื่อสร้าง “ชุมชนพอเพียง” นั้น มีข้อควรพิจารณา ดังนี้
1. มีแนวคิดที่ถูกต้อง ชัดเจน มีผู้นำทางความคิดที่เป็นที่ยอมรับของชุมชน
2. ขับเคลื่อนโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง มีความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง
3. ใช้ฐานความรู้สร้างประโยชน์สุขให้กับชุมชน เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้
4. เป็นโครงการที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมและสภาวการณ์ของสังคม
5. มีการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ทั้งในระดับองค์กรและชุมชน
6. ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรม ทั้งคำพูด การกระทำ และความประพฤติ
* ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ จุดประกายสหประชาชาติ
แนวพระราชดำริเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและพระราชกรณียกิจนานัปการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงงานหนักด้วยความวิริยะอุตสาหะมาอย่างยาวนานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลกอย่างกว้างขวาง และจุดประกายให้สหประชาชาติได้น้อมนำแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal)
จึงอาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานให้ไว้กับพสกนิกรชาวไทยและชาวโลกนั้น เป็น “หลักคิดคุ้มครองไทย ปรัชญาคุ้มครองโลก” โดยแท้จริง
นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของคนไทย ที่นายโคฟี อานัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล "ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์" (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติที่ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
นับเป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติได้จัดทำรางวัลนี้เพื่อมอบแก่บุคคล ดังคำกล่าวสดุดีของนายโคฟี อานัน เลขาธิการสหประชาชาติ ดังนี้
"...เป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติได้จัดทำรางวัลเกียรติยศนี้เพื่อมอบแด่บุคคลดีเด่นที่ได้อุทิศตนตลอดช่วงชีวิต สร้างผลงานที่มีคุณค่าอันเป็นที่ประจักษ์และเป็นคุณูปการที่ผลักดันความก้าวหน้าในการพัฒนาคนจำนวนมาก...”
"...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามจากชาวโลกว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา พระองค์ทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรที่ยากไร้และด้อยโอกาสทั่วทุกภูมิภาค ทรงสดับตรับฟังปัญหาทุกข์ยากของราษฎร ทรงมีพระเมตตาพระราชทานแนวทางการดำรงชีพ เพื่อให้ประชาชนของพระองค์สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ทรงงานด้านการพัฒนาชนบท ที่ยังประโยชน์นานัปการต่อประชาชนนับล้านในประเทศไทย...”
"...รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์นี้ สหประชาชาติมีปณิธานที่จะส่งเสริมประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติ ในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันทรงคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้ของพระองค์ท่าน เพื่อจุดประกายแนวความคิดการพัฒนาแบบใหม่สู่นานาประเทศเพื่อเฉลิมพระเกียรติความสำเร็จสูงสุดและความมุ่งมั่นในพระราชหฤทัยในการพัฒนาคนสำหรับประชาชนของพระองค์..."
"มหาบุรุษแห่งศตวรรษ
พระมหากษัตริย์แห่งยุคสมัย
ธรรมราชาผู้ครองใจ
โลกเทิดไท้เชิดชูองค์ภูมิพล..."
อภิชาติ ดำดี
๕ ธ.ค. ๒๕๖๗
* บทกวี "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"
๐ ท่ามกลางโลกาภิวัตน์
โลกสะพัดความเปลี่ยนแปลง
รวดเร็วและรุนแรง
อย่างกว้างขวางและกว้างไกล
๐ การเปลี่ยนแปลงทุกประเภท
เกิดจากเหตุและปัจจัย
ภายนอกและภายใน
ควบคุมได้-ไม่ได้ก็มี
๐ การเปลี่ยนแปลงที่ประสบ
ย่อมกระทบทุกวิถี
ทั้งวัตถุและชีวี
สิ่งแวดล้อม-วัฒนธรรม
๐ จะอยู่กันอย่างไร
ไม่ให้ไทยต้องตกต่ำ
ไม่ให้ถูกกระทำ
ถูกเหยียบย่ำกลืนหายไป
๐ แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง”
ลดความเสี่ยงจากโพยภัย
ปกป้องให้ผองไทย
มีสุขได้ในโลกา
๐ ใจกายเดินสายกลาง
ตามเส้นทาง “มัชฌิมา”
กินอยู่ในชีวา
ไม่เกินกว่าที่เรามี
๐ มีความพอประมาณ
บริหารให้พอดี
เหตุผลกลวิธี
สร้างให้มีภูมิคุ้มกัน
๐ แรงโลกกรรโชกไป
เราอยู่ได้ไม่ไหวสั่น
มีสุขทุกคืนวัน
เพราะยึดมั่นหลักพอเพียง
๐ ใช้ความรู้อย่างรอบคอบ
ช่วยเป็นกรอบกันความเสี่ยง
สิ่งหนึ่งซึ่งคู่เคียง
คือต้องมีคุณธรรม
๐ โลกนี้ไม่มั่นคง
มีขึ้นลงมีสูงต่ำ
ยืนยงพ้นกงกรรม
ด้วยธรรมะพระราชา
๐ บริโภคพอสมเหตุ
ไม่ตามกิเลสและตัณหา
ไม่หลงในมายา
รับรองว่าจะสุขพอ
๐ ล้อมวงกันกินข้าว
เพลงขลุ่ยเคล้าส่งเสียงคลอ
ลูกไทยทุกเหล่ากอ
ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง ฯ
(อภิชาติ ดำดี)
* เพลง "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"
บทประพันธ์ : อภิชาติ ดำดี
ขับร้อง/ดนตรี : ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ
https://youtu.be/1ERpMq8N190