27/06/2025
อุ๊ยยยย ดีต่อใจ🥰
ครั้งแรกในศาลที่ “หมา”
ไม่ได้ถูกมองแค่เป็นทรัพย์สิน
แต่ตีความในฐานะ "ครอบครัว" 🦊
ในนิวยอร์กมีเหตุการณ์เศร้าคดีหนึ่งที่สุนัขพันธุ์ดัชชุนชื่อ “Duke” ถูกชนเสียชีวิตขณะเจ้าของจูงเดินอยู่ด้วยกัน เป็นเรื่องเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้ในทุกเมือง แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือวิธีพิจารณาของศาลที่อาจเปลี่ยนมุมที่กฎหมายมองสัตว์เลี้ยงไปตลอดกาล
แม้ศาล Brooklyn Supreme Court ยังไม่ได้ตัดสินคดีนี้ถึงที่สุด แต่มีคำสั่งที่สำคัญว่า Nan DeBlase ผู้เป็นเจ้าของ สามารถเดินหน้าฟ้องร้องค่าเสียหายทางจิตใจได้ ภายใต้หลักการที่เคยใช้กับ “คนในครอบครัว”
และที่สำคัญที่สุด ศาลเปิดทางให้ใช้หลัก Zone of Danger กับกรณีที่ “ผู้ฟ้องเป็นเจ้าของสุนัข”
นั่นคือ ครั้งแรกในนิวยอร์กที่ศาลรับฟังความเจ็บปวดจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยงในเชิงสิทธิ
🔴 ก่อนหน้านี้กฎหมายมองสุนัขเป็นแค่สิ่งของ
ทั้งในไทยและอเมริกา กฎหมายพื้นฐานยังจัดให้ “สัตว์เลี้ยง” เป็นทรัพย์สินเคลื่อนที่ เหมือนรถยนต์หรือกระเป๋าเงิน
หากสุนัขถูกชนตายหรือเสียชีวิตจากการรักษาผิดพลาด แม้เจ้าของจะเดินเรื่องฟ้องสุดซอยจนชนะคดี แต่สิ่งที่ได้ก็คือเพียง “ค่าทรัพย์สิน” เท่านั้น ซึ่งหมายถึงราคาประเมินตอนซื้อสัตว์เลี้ยงอย่างสูงก็แถว 50,000 บาท
คุณจะไม่ได้ค่าชดเชยจากความเสียใจ ความพังของชีวิตที่ขาดเขาไป ในสายตากฎหมาย เขาก็ยังเป็นแค่สิ่งของ
🔴 คดี Duke กับคำสั่งที่เปลี่ยนเส้นแบ่งระหว่าง “สัตว์” และ “คน”
เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 2023 ย่าน Mill Basin ที่นิวยอร์ก Duke ถูกชนเสียชีวิตต่อหน้าคุณแม่ Nan DeBlase ซึ่งเป็นคนจูงสายจูงอยู่
ศาลพิจารณาว่า Nan อยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “Zone of Danger” หรือ “เขตอันตราย” หมายถึงที่เจ้าตัวอยู่ในเหตุการณ์เสี่ยงชีวิตเช่นกันหรือเห็นเหตุสะเทือนใจจนมีสิทธิฟ้องร้อง
เดิมที หลักนี้ใช้ได้เฉพาะกรณีที่ผู้เสียชีวิตเป็น คนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ลูก หรือคู่สมรสเท่านั้น
แต่คำสั่งในคดี Deblase v. Hill เปิดประตูใหม่ให้ศาล ไม่ปิดกั้นการฟ้องร้องกรณีเจ้าของเห็นสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสียชีวิตต่อหน้า
เป็นคำสั่งที่ยังไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายไหนผิด แต่ “ยอมรับ” ให้ความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับสุนัขเข้าสู่ระบบพิจารณาแบบเดียวกับมนุษย์ได้ครั้งแรก
🔴 หมา = ครอบครัว แล้วสังคมจะตอบสนองอย่างไร?
แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาว่าสุนัขคือ “ครอบครัวโดยชอบด้วยกฎหมาย” แต่สิ่งที่ศาลทำคือ ยอมรับความสัมพันธ์นั้นในระดับ “ความเสียหายทางใจ”
มันไม่ใช่การเปลี่ยนกฎหมายทันที แต่คือ “การไม่ปฏิเสธ” ว่าความสูญเสียจากการเสียหมาที่รักที่สุด
เป็นสิ่งที่สมควรถูกฟัง
และการยอมฟัง คือสิ่งที่ระบบยุติธรรมไม่เคยทำมาก่อน
🔴 ถ้าเกิดในไทย...เราพร้อมแค่ไหน?
ในประเทศไทย แม้จะมี พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ แต่ในเชิงกฎหมายแพ่ง สุนัขยังคงเป็นทรัพย์สิน
แม้ถ้าฟ้องคลินิกสัตวแพทย์ที่รักษาผิดพลาดและชนะคดี ก็ยังได้เพียง “ค่าซื้อตัวใหม่” หรือค่ารักษา ไม่ใช่ค่าความเจ็บปวดที่ต้องอยู่โดยไม่มีเขาอีกต่อไป
🔴 ไม่มีใครอยากได้เงินแทนชีวิต
หลายคนอาจเข้าใจผิด เจ้าของส่วนใหญ่ไม่ได้อยากได้เงิน แต่สิ่งที่ต้องการ คือมาตรฐานความรับผิดชอบที่เป็นดีพอ ที่จะมองทุกคนสำคัญในครอบครัวพวกเรา ถูกยกระดับให้ใกล้เคียงกับมนุษย์
เพื่อลดการเกิดความผิดพลาดซ้ำ และเพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องตระหนักว่า นี่ไม่ใช่สิ่งของที่เสียที่พังแล้วก็จบไป หรือผิดพลาดก็เป็นแค่เรื่องปกติ เพราะบางทีนั่นคืออีกครึ่งชีวิตของเราที่หายไป
🔴 ไม่ใช่แค่เรื่องของกฎหมาย แต่มันคือเรื่องของชีวิตที่เปลี่ยนไป
สมัยนี้มีหลายบ้านที่มีพวกเขาอยู่ พวกเขาที่พูดเองไม่ได้ แต่เขาทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว
เขาอยู่ในภาพถ่ายครอบครัว อยู่ในงานแต่งงาน อยู่ในเสียงเห่าต้อนรับหลังเลิกงาน และอยู่ในความเงียบที่ตามมาหลังเขาจากไป
คำสั่งศาลนี้อาจไม่ใช่คำพิพากษาครั้งสุดท้าย แต่มันคือการเริ่มฟังเสียงของคนที่สูญเสียชีวิตเล็กๆ ที่มีความหมายมากกว่าแค่คำว่า “สัตว์เลี้ยง”
และมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกเริ่มยอมรับว่า
"สุนัขไม่เคยเป็นแค่ทรัพย์สินเลยตั้งแต่แรก"