29/09/2023
ธารน้ำแข็งสวิตเซอร์แลนด์ละลายไว หายไป 10% ใน 2 ปี
นักวิทยาศาสตร์เผย ธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ละลายรวดเร็วอย่างน่าตกใจ โดยสูญเสียมวลน้ำแข็งรวม 10% ภายในเวลาแค่ 2 ปี
ข้อมูลจากคณะกรรมการสังเกตการณ์น้ำแข็งวิภาคของสถาบันวิทยาศาสตร์สวิส ที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (28 กันยายน) ระบุว่า ในปี 2566 ธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์สูญเสียมวลน้ำแข็งแล้ว 4% ซึ่งลดลงมากเป็นอันดับ 2 รองจากปี 2565 ที่ธารน้ำแข็งละลายไป 6%
ปริมาณน้ำแข็งที่ละลายในช่วงสองปีรวมกัน เทียบเท่ากับปริมาณมวลน้ำแข็งที่สูญเสียไปในช่วงระยะเวลากว่า 30 ปี ระหว่างปี 2503-2533
แมทเธียส ฮุส หัวหน้าเครือข่ายเฝ้าติดตามธารน้ำแข็งสวิส (GLAMOS) ซึ่งเป็นองค์กรรวบรวมและประเมินข้อมูลธารน้ำแข็ง ระบุว่า การสูญเสียที่เห็นในปี 2565-2566 รวดเร็วอย่างน่าเหลือเชื่อและมากกว่าที่เคยพบเจอ โดยธารน้ำแข็งละลายในอัตราเร่งอย่างมหาศาล และจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
การละลายของธารน้ำแข็งในช่วง 2 ปี ทำให้ ลิ้นธารน้ำแข็ง (glacier tongue) หรือส่วนปลายสุดของธารน้ำแข็งที่ยื่นออกไปในทะเล พังทลายไปหลายแห่ง และธารน้ำแข็งขนาดเล็กจำนวนมากในสวิตเซอร์แลนด์ได้ละลายหายไปแล้ว เช่น มวลน้ำแข็งของธารน้ำแข็ง เซนต์ อันนาเฟิร์น ในภาคกลางของประเทศ ลดลงอย่างมากจน GLAMOS หยุดสังเกตการณ์แล้ว
นอกจากนี้การสูญเสียน้ำแข็งยังเกิดขึ้นในพื้นที่สูง ซึ่งปกติไม่ค่อยพบ เช่น น้ำแข็งหายไปหลายเมตรในรัฐวาเล และหุบเขาเองกาดิน ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,200 เมตร
การสูญเสียน้ำแข็งของธารน้ำแข็งทั่วสวิตเซอร์แลนด์เกิดขึ้นหลังจากฤดูหนาวมีหิมะตกน้อยมาก โดยปริมาณหิมะตกในช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ทำสถิติต่ำสุดเหลือเพียงเกือบ 30% ของค่าเฉลี่ยระยะยาว
นอกจากนี้มีปัจจัยจากฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงมาก โดยในเดือนมิถุนายนที่ร้อนและแห้งแล้งมาก ทำให้หิมะละลายเร็วขึ้นกว่าปกติ 2-4 สัปดาห์
และในเดือนสิงหาคม บอลลูนวัดสภาพอากาศของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ ต้องลอยสูงถึง 5,298 เมตรกว่าอุณหภูมิจะลดลงแตะ 0 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึก ยิ่งกว่านั้นอุณหภูมิยังสูงต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน ซึ่งหมายความว่า หิมะตกช่วงฤดูร้อนละลายอย่างรวดเร็ว
ฮุส เตือนว่า การละลายของธารน้ำแข็งอย่างมากในช่วง 2 ปี กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของเทือกเขาแอลป์อย่างมีนัยยะสำคัญ สร้างสถานการณ์อันตรายที่อาจเกิดหินถล่มจากบนภูเขา
เขาบอกด้วยว่า แม้น้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งช่วยบรรเทาภัยแล้งได้ชั่วคราว และเติมน้ำในเขื่อนได้ แต่ก็เป็นช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ และเมื่อธารน้ำแข็งหดตัวเรื่อย ๆ ก็จะสูญเสียบทบาทสำคัญในฐานะแหล่งน้ำในเวลาที่ประชาชนต้องการ การขาดแคลนน้ำจะยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้นในช่วงคลื่นความร้อนในอนาคตอันใกล้ และในระยะยาว ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์จะยังคงหดตัวอย่างมากจนถึงยอดเขาสูงสุด
นอกจากนี้เขาเตือนด้วยว่า “เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงในไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเป็นไปได้ที่จะจินตนาการได้ว่า ประเทศนี้จะไม่มีธารน้ำแข็งเหลือแล้ว” พร้อมกับย้ำความจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของสภาพภูมิอากาศด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์โดยเร็วเท่าที่เป็นไปได้
#สวิตเซอร์แลนด์ #สวิส #ธารน้ำแข็ง #ธารน้ำแข็งละลาย #สูญเสียมวลน้ำแข็ง #การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ #คลื่นความร้อน #หิมะตกน้อย