30/10/2024
สรุปงบโฆษณาออนไลน์ 2024 มูลค่า 33,859 ล้าน โต 16% "เฟซบุ๊ค-ยูทูบ-Tiktok" กวาดงบสูงสุด
สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT และบริษัทคันทา (ประเทศไทย) บริษัทวิจัยการตลาดและที่ปรึกษากลยุทธ์ด้านแบรนด์ สรุปมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของประเทศไทย ปี 2024 อยู่ที่ 33,859 ล้านบาท เติบโต 16%
#ท็อป10สื่อกวาดงบโฆษณาสูงสุด
1. Meta (เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม) มูลค่า 9,305 ล้านบาท (สัดส่วน 27% ลดลงจาก 30% ปีก่อน)
2. YouTube มูลค่า 4,619 ล้านบาท (สัดส่วน 14%)
3. TikTok มูลค่า 3,647 ล้านบาท (สัดส่วน 11% ขยับจาก 7% ปีก่อน)
4. Creative มูลค่า 3,020 ล้านบาท (สัดส่วน 9%)
5. Online Video มูลค่า 2,740 ล้านบาท (สัดส่วน 8%)
6. Social มูลค่า 2,686 ล้านบาท (สัดส่วน 8%)
7. Search มูลค่า 2,338 ล้านบาท (สัดส่วน 7%)
8. LINE มูลค่า 1,759 ล้านบาท (สัดส่วน 5%)
9. Display มูลค่า 1,638 ล้านบาท (สัดส่วน 5%)
10. E-commerce มูลค่า 1,112 ล้านบาท (สัดส่วน 3%)
แพลตฟอร์มสื่อแมส ทั้ง Meta, YouTube และ TikTok เป็น 3 สื่อที่ครองงบโฆษณาสูงสุดสัดส่วน 52% ของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาดิจิล
Meta ยังคงเป็นสื่อที่นักการตลาดเลือกใช้งบโฆษณามากที่สุด ขณะที่ TikTok เติบโตสูงสุดที่ 71% (เติบโตต่อเนื่องจากปี 2023 ที่ 103%) ส่วนช่องทางเสพสื่อออนไลน์วีดีโอ ทั้ง YouTube และช่องทางสตรีมมิ่งอื่น ๆ ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
#10กลุ่มธุรกิจใช้งบโฆษณาสูงสุด
1. ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ มูลค่า 5,047 ล้านบาท (ครองแชมป์ต่อเนื่อง 2 ปี)
2. ยานยนต์ มูลค่า 3,898 ล้านบาท
3. เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มูลค่า 2,844 ล้านบาท
4. ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม 2,053 ล้านบาท
5. ค้าปลีก มูลค่า 1,641 ล้านบาท
6. กลุ่มสื่อสาร มูลค่า 1,460 ล้านบาท
7. เครื่องสำอาง มูลค่า 1,254 ล้านบาท
8. ธนาคาร มูลค่า 1,142 ล้านบาท
9. อสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 1,126 ล้านบาท
10. วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มูลค่า 994 ล้านบาท
ดร.อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการฝ่ายลูกค้า และประธานฝ่ายการเจริญเติบโตแห่งเอเชียอาคเนย์ คันทาร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าปีนี้จะเห็นการเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเป็นเลขสองหลัก เนื่องจากการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดเจนของกลุ่มที่ใช้งบโฆษณาสูง เช่นกลุ่มผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่เติบโต 40% ปี 2023 และยังคงขยายตัวต่อเนื่องถึง 46% ในปี 2024 เป็นผลมาจากการแข่งขันและการขยับตัวของแบรนด์ต่าง ๆ
กลุ่มยานยนต์เองก็มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรถไฟฟ้า ในขณะที่ผู้เล่นปัจจุบันพยายามสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าเอาไว้ ส่งผลให้กลุ่มยานยนต์เติบโตถึง 30% ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วที่เติบโต 24%
ขณะที่กลุ่มสื่อสารหลุดจากท็อป 5 ใช้งบโฆษณาสูงสุด โดยมีกลุ่มค้าปลีกขึ้นมาอยู่อันดับ 5 แทน จากผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านและมีการจับจ่ายมากขึ้น ไตรมาสสุดท้ายนักการตลาดใช้งบโฆษณากระตุ้นการจับจ่ายรองรับกำลังซื้อจากรัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาท
การเติบโตของช่องทางอีคอมเมิร์ซยังส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเติบโต จากพฤติกรรมผู้บริโภคใช้ทั้งช่องทางออนไลน์และหน้าร้านเพื่อหาข้อมูลและตัดสินใจซื้อ แบรนด์จึงต้องทำการสื่อสารกับผู้บริโภคทั้งช่องทางดิจิทัลและช่องทางการซื้อขายปกติแบบไร้รอยต่อ
#โฆษณาดิจิทัล