07/07/2025
ส่วนเครื่องฟอกไตนั้น จากข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุขในปี 2566 พบว่า จำนวนเครื่องฟอกไตทั่วประเทศมีจำนวน 9,654 เครื่อง โดยภาคกลางมีจำนวนเครื่องฟอกไตมากที่สุด 3,940 เครื่อง รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตามลำดับ ซึ่งหากนำจำนวนเครื่องฟอกไตมาหารเฉลี่ยกับผู้ป่วยระยะที่ 4-5 ที่จำเป็นต้องฟอกไตรายภาคแล้ว จะพบว่าภาคที่เครื่องฟอกไตต้องรองรับผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย 1 เครื่องต้องรองรับผู้ป่วย 47 คน รองลงมาคือภาคใต้ และภาคเหนือ ซึ่งยิ่งตอกย้ำภาระทางสาธารณสุขของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่น่ากังวลทั้งในปัจจุบันและอนาคตมากขึ้นไปอีก
ไม่เพียงแค่นั้น หากจะพิจารณาถึงความเพียงพอระหว่างผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตกับจำนวนเครื่องฟอกไตที่มี โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ว่าผู้ป่วยไตวายที่ต้องบำบัดด้วยการฟอกเลือดล้างไตจะต้องล้างวันละ 4 – 5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง หรือใน 1 วัน ตามเวลาราชการ 8:30 – 16:30 น. จะทำการฟอกไตผู้ป่วยได้เพียง 2 คนต่อวันในเวลาราชการ ต่อ 1 เครื่องฟอกไต และอาจจะสามารถฟอกได้ เพียง 4-6 คน ต่อสัปดาห์ ต่อการให้บริการ 1 เครื่อง หากมีการจัดคิวฟอกไตอย่างเป็นระบบ
การคำนวณอัตราการให้บริการเครื่องฟอกไต หากมีการให้บริการตามเวลาราชการ 8:30 – 16:30 น. (8 ชั่วโมง) ซึ่งสถานบริการฟอกไตส่วนใหญ่มักเปิดทำการ 6 วันต่อสัปดาห์ จะเท่ากับ 1 x 2 x 6 = 12 ครั้ง ต่อสัปดาห์ สำหรับ 1 เครื่อง (ไม่นับรวมกรุงเทพฯ ที่บางโรงพยาบาลสามารถให้บริการนอกเวลาได้) จะพบว่ามีเพียงพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถรองรับความต้องการฟอกไตของผู้ป่วยไตเรื้อรังในระยะที่ 4 - 5 ได้ ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ อาจมีไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ หากคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับการฟอกไต สำหรับการฟอกไตในส่วนของการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพียงอย่างเดียว ด้วยจำนวนผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง กว่า 63,352 คน ซึ่งผู้ป่วย 1 คน มีค่าใช้จ่ายต่อปีอยู่ที่ 160,000-170,000 บาท แล้วนั้น จะพบว่าต้องใช้งบประมาณมากกว่า 10,136,320,000 - 10,769,840,000 บาท ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวเลขจากผู้มีสิทธิบัตรทอง ที่สามารถเข้าถึงการล้างไตด้วยการฟอกเลือดโดยเครื่องไตเทียม ได้อย่างเหมาะสมเท่านั้น แต่หากดูตัวเลขผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระยะที่ 4 - 5 นั้น จะพบว่ามีอีกจำนวนมากที่อาจจะยังเข้าไม่ถึงการรักษาที่เหมาะสม
หากจะให้เข้าถึงการรักษาและสามารถฟอกไตได้ทุกคน เมื่อคำนวณจากผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระยะที่ 4-5 ที่จำเป็นต้องได้รับการฟอกไตในปี 2567 ซึ่งมีทั้งหมด 294,691 คน (รวมจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิบัตรทอง) อาจจะต้องใช้งบประมาณถึง 47,150,560,000- 50,097,470,000 บาท
และหากพิจารณาในส่วนของเครื่องฟอกไต โดยอ้างอิงข้อมูลที่ว่าสถานพยาบาลนั้นเปิดบริการ 6 วัน (ไม่รวมคลินิกฟอกไต) จะเท่ากับว่าใน 1 สัปดาห์จะล้างไตให้ผู้ป่วยได้ 4 - 6 คน หรือหากคำนวณตามจำนวนเครื่องฟอกไตที่อยู่ทั้งหมดในปัจจุบันจะรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 38,616 - 57,924 คน ซึ่งอาจจะทำให้มีผู้ป่วยที่อาจจะเข้าไม่ถึงการฟอกไตอย่างสม่ำเสมอ อีกกว่า 256,075 - 236,767 คนจากจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องฟอกไตทั้งหมด
ซึ่งหากอยากให้ผู้ป่วยในระยะที่ 4-5 เข้าถึงการฟอกไตด้วยการจัดหาเครื่องฟอกไตให้มีจำนวนเพียงพอต่อผู้ป่วย จะพบว่าต้องมีการจัดหาเครื่องฟอกไตเพิ่มอีกอย่างน้อย 54,365 เครื่อง ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4-5 และหากอ้างอิงราคามาตรฐานของเครื่องฟอกไตทั่วไปในราคาเครื่องละ 500,000 บาทก็จะพบว่าต้องใช้งบประมาณมากกว่า 32,009,375,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เครื่องฟอกไตที่มีประสิทธิภาพสูงอาจมีราคาสูงถึง 940,000 บาท ซึ่งก็อาจจะทำให้งบประมาณที่ต้องใช้เพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่ถึงอย่างนั้น ความพยายามจะให้ผู้ป่วยในระยะที่ 4-5 เข้าถึงการฟอกไตได้อย่างสม่ำเสมอไม่ได้มีเพียงปัจจัยในเรื่องของเครื่องฟอกไตเท่านั้น แม้จะมีงบประมาณเพื่อจัดหาเครื่องฟอกไตมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นตามกันด้วยก็คือบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาลอีกเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงว่า วิกฤตของโรคไตเรื้อรังในประเทศไทย ไม่ได้มีเพียงแค่ประเด็นเรื่องจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาระทางสาธารณสุขที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ และทำให้ผู้ป่วยไม่อาจเข้าการรักษาได้อย่างสม่ำเสมอ และดูเหมือนว่าหากจำนวนผู้ป่วยยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ยังคงมีไม่เพียงพอเช่นนี้ก็จะทำให้โรคไตเรื้อรังยากที่จะดูแลจัดการได้ในอนาคต
อ่านทั้งหมดที่ https://rocketmedialab.co/kidney-disease/
#โรคไต #โรคไตเรื้อรัง #โรคไตวายเรื้อรัง