เกษตรดิจิทัลนิวส์ Kaset Digital news

เกษตรดิจิทัลนิวส์ Kaset Digital news เพจเล็กๆ ที่อยากสื่อสารงานข่าว ด้านเศรษฐกิจ เกษตร สังคม ท่องเที่ยว การศึกษาที่น่าสนใจเป็นประโยชน์❤️🇹🇭❤️

กรมส่งเสริมสหกรณ์ มุ่งแปรรูปเพิ่มค่า “สินค้าสหกรณ์” สู่รายได้เพิ่มของเกษตรกรสมาชิกการปรับโครงสร้างสินค้าภาคการเกษตรของสห...
14/07/2025

กรมส่งเสริมสหกรณ์ มุ่งแปรรูปเพิ่มค่า “สินค้าสหกรณ์” สู่รายได้เพิ่มของเกษตรกรสมาชิก

การปรับโครงสร้างสินค้าภาคการเกษตรของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรโดยเน้นการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รองรับผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิก กลายเป็นผลงานเด่นของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้การนำของอธิบดี “วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์” ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพราะพลันที่นายวิศิษฐ์ ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งอธิบดีเมื่อกว่า 4 ปีก่อน “การส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร” คือ 1 ในนโยบายที่อธิบดีให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ
จากนโยบายดังกล่าว สู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมมากขึ้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายสินค้าเกษตร เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตระหว่างชนิดสินค้า (Matching Business) และขับเคลื่อนโดยระบบเครือข่ายที่จะช่วยให้สินค้ามีการพัฒนาร่วมกับการลดต้นทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สามารถขับเคลื่อนไปด้วยกัน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันให้สหกรณ์ภาคการเกษตรที่ปัจจุบันมีจำนวน 4,509 แห่ง และกลุ่มเกษตรกร อีก 4,661 กลุ่ม ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจในระดับชุมชนที่เป็นหลักในการช่วยเหลือให้บริการ และเป็นที่พึ่งให้กับเกษตรกรสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่ได้
นางสายฝน แสงใส ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ การันตีสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 ผู้ผลิตและจำหน่ายไข่ไก่ ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ปัจจุบันมีสมาชิก
31 ราย มีทั้งฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ กลางและรายย่อย ผลิตไข่ไก่ได้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนฟองต่อวัน จำหน่ายให้ห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ในจังหวัดภาคเหนือ ตลาดริมปิง เชียงใหม่ รวมทั้งเครือข่ายสหกรณ์ด้วยกัน โดยได้นำไข่ที่ได้รับความเสียหายจากกระบวนการผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การสนับสนุนด้านเครื่องมืออุปกรณ์การผลิตจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ปัจจุบันสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไข่ไก่มากมายหลายชนิด อาทิ ไส้กรอกไข่ขาว ไข่ขาวหลอดพร้อมรับประทาน เต้าหู้ไข่ไก่ และขนมฝอยทอง ทองหยิบทองยอดใช้วัตถุดิบจากไข่แดง จำหน่ายในตลาดริมปิง ร้านอาหาร ร้านค้าทั่วไปในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน
เช่นเดียวกับสหกรณ์การเกษตรสว่างอารมณ์ จำกัด อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล ข้าวกข43 และอื่น ๆ โดยการผลิตเฉลี่ย 1,000 ตันต่อรอบฤดูการผลิต ซี่งผลผลิตส่วนใหญ่นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นข้าวสารบรรจุถุงขนาดต่าง ๆ ภายใต้ตรา “เพชรสว่าง” ปัจจุบันนอกจากแปรรูปข้าวสารบรรจุถุงแล้ว สหกรณ์นำปลายข้าวหอมจากการสีมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตเป็น "เซรั่มบำรุงผิว" โดยร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดอุทัยธานีและทีมนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาชั้นนำในการดำเนินการ จนในที่สุดก็ได้ผลิตภัณฑ์เด่นออกมา ชื่อว่า "เซรั่มปลายข้าวหอมบำรุงผิว" ปัจจุบันขวดขนาด 90 ซีซี สนนราคาจำหน่ายอยู่ที่ 189 บาท ผลิตจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสหกรณ์ฯ กำลังต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ได้แก่ ครีมกันแดด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำวิจัย
นางอุบลรัตน์ นัคราจารย์ ที่ปรึกษาสหกรณ์การเกษตรสว่างอารมณ์ จำกัด กล่าวถึงผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวจากปลายข้าวหอมอินทรีย์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปล่าสุดของสหกรณ์ จากเดิมที่สหกรณ์ได้จำหน่ายปลายข้าว สนนราคาอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปลายข้าวหลายเท่าตัว ซึ่งปกติปลายข้าวหอม 5 กิโลกรัมจะผลิตเซรั่มบำรุงผิวได้จำนวน 500 ขวด นับว่าเป็นการแปรรูปสินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่าสูง ปัจจุบันผลิตตามออเดอร์เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 ขวดต่อเดือน ในอนาคตหากมีออเดอร์เพิ่มขึ้นก็จะสามารถผลิตในจำนวนที่เพิ่มขึ้นได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2566 ถึงปัจจุบัน จากผลการดำเนินงานปรากฏว่า ปี 2566 มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 140 แห่ง โดยสามารถสร้างเครือข่ายแปรรูปสินค้าเกษตรและเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตเพื่อนำมาแปรรูป จำนวน 7 เครือข่ายที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการแปรรูปผลผลิต โดยมีมูลค่าจำหน่ายสินค้า/ผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มขึ้น มูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปของสถาบันเกษตรกรก่อนเข้าร่วมโครงการมีมูลค่า 2,228.90 ล้านบาท และหลังจากที่เข้าร่วมโครงการมีมูลค่า 2,451.61 ล้านบาท โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่ากว่า 222 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2567 จำนวนกลุ่มเป้าหมายได้ลดจำนวนลงเหลือ 100 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามงบประมาณประจำปีที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนอุปกรณ์การผลิตการตลาดเพื่อการแปรรูปแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 32 แห่ง มูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปของสถาบันเกษตรกรก่อนเข้าร่วมโครงการมีมูลค่า 1,883 ล้านบาท และหลังจากที่เข้าร่วมโครงการมีมูลค่า 1,994 ล้านบาท โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.90 คิดเป็นมูลค่ากว่า 111 ล้านบาท
ล่าสุดปี 2568 ได้กำหนดเป้าหมายให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า จำนวน 177 แห่ง ใน 57 จังหวัด ซึ่งมีมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปของสถาบันเกษตรกรก่อนเข้าร่วมโครงการมีมูลค่า 4,063 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน (สิ้นสุดไตรมาส 2) มีมูลค่ากว่า 2,300 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 4 จะมีมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือประมาณกว่า 4,200 ล้านบาท รวมทั้งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการตลาดที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร จำนวน 16 แห่ง ทั้งนี้ ยังมีการสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายตลาดแปรรูปสินค้าเกษตร ให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
นับเป็นอีกก้าวของ "กรมส่งเสริมสหกรณ์" ในการยกระดับสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาล”ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้วยการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรสมาชิก
............................................................................................

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าปั้น “สมุนไพรไทย” สู่พืชเศรษฐกิจใหม่ เสริมแกร่งเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ ยกระดับมาตรฐานการผลิ...
14/07/2025

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าปั้น “สมุนไพรไทย” สู่พืชเศรษฐกิจใหม่ เสริมแกร่งเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ ยกระดับมาตรฐานการผลิต–แปรรูป พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางสมุนไพรคุณภาพในอาเซียน”

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ท่ามกลางกระแสรักสุขภาพที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สมุนไพรไทยไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกด้านการรักษาโรค แต่ยังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงเดินหน้าผลักดันสมุนไพรไทย สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ภายใต้โครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ประจำปี 2568 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรและยกระดับธุรกิจสมุนไพรให้แข็งแกร่งทั่วประเทศ
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนเครือข่ายความเข้มแข็งและพัฒนาธุรกิจพืชสมุนไพร” ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566–2570) โดยตั้งเป้าหมายให้มูลค่าของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพในประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกสมุนไพรชั้นนำในระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าววางอยู่บนกรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน, การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมสมุนไพรตลอดห่วงโซ่อุปทาน, การส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร, การบริโภคอย่างเหมาะสมและยั่งยืน และการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ มุ่งเน้นดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 1 ซึ่งครอบคลุมมาตรการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ได้ผลผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้รับรองมาตรฐานไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และเพิ่มมูลค่าการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ทั้งนี้เพื่อยกระดับสถาบันเกษตรกรให้เป็นกำลังสำคัญในการผลิตและพัฒนาสมุนไพรไทยที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และความยั่งยืน

ทั้งนี้ จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงเดินหน้าส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้สามารถผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภคพร้อมต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยได้คัดเลือกพืชสมุนไพรเป้าหมายที่มีศักยภาพโดดเด่นจำนวน 15 ชนิด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสมุนไพรศักยภาพ เช่น กระชายดำ กวาวเครือขาว ขมิ้นชัน มะขามป้อม และใบบัวบก กลุ่มสมุนไพรที่มีความต้องการในตลาด เช่น ไพล ขิง ว่านหางจระเข้ มะระขี้นก เพชรสังฆาต กระชาย และฟ้าทะลายโจร และกลุ่มสมุนไพรที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ กัญชง กัญชา และกระท่อม โดยสมุนไพรเหล่านี้ถูกส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ “เมืองสมุนไพร” จำนวน 16 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น เชียงราย อุดรธานี สกลนคร พิษณุโลก สุรินทร์ จันทบุรี สงขลา เป็นต้น ซึ่งแต่ละจังหวัดล้วนเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการเพาะปลูก เพื่อสร้างแหล่งผลิตวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ

“สำหรับปีงบประมาณ 2568 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับสถาบันเกษตรกร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจสมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งด้านการผลิตตามมาตรฐาน GAP/เกษตรอินทรีย์ ด้านการลดต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการแปรรูปและวางแผนการตลาด และด้านการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อขยายตลาดและเพิ่มมูลค่า ปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,460 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2,265 ไร่ ในสถาบันเกษตรกร 73 แห่ง กระจายอยู่ใน 32 จังหวัดทั่วประเทศ สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการส่งเสริมพืชสมุนไพรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าในอนาคต” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

สวพส. จัดการน้ำบนพื้นที่สูง…เปลี่ยนชีวิตชุมชน…สู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนแม้ฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉล...
26/06/2025

สวพส. จัดการน้ำบนพื้นที่สูง…เปลี่ยนชีวิตชุมชน…สู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

แม้ฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 5 - 10 (ข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา 13 พ.ค. 2568) แต่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะได้ประโยชน์จากฝนที่ตกมากขึ้นโดยเฉพาะชุมชนบนพื้นที่สูง ที่บริบทพื้นที่ทำกินส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งยังคงต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นแหล่งน้ำหลัก ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ชุมชนเหล่านี้มักเผชิญกับปัญหาฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งซ้ำซาก ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศหรือสภาวะโลกเดือด

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็กมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน และกระจายน้ำให้เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง ไม่เพียงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่ยังมุ่งสร้างระบบจัดการน้ำที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมไปถึงการฟื้นฟูดูแลรักษาป่ารอบๆ แหล่งน้ำตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรกว่า 24,000 ราย ในพื้นที่สูง 458 แห่งทั่วประเทศ ได้รับประโยชน์โดยตรง เข้าถึงแหล่งน้ำที่พัฒนาแล้ว 930 แห่ง มีระบบกระจายน้ำ 412 กิโลเมตร ทั้งแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ไม่เพียงแค่มีน้ำใช้ตลอดปี แต่ยังสามารถเพิ่มรายได้กว่า 447 ล้านบาท ในปี 2567 จากผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พืชผัก ไม้ผล หรือกาแฟคุณภาพสูง
การมีแหล่งน้ำที่เพียงพอยังช่วยให้เกษตรกรปรับตัวสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ลดความเสียหายจากภัยแล้งและรักษาคุณภาพของผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันเกษตรกรเริ่มหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแต่มูลค่าสูง โดยไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกหรือบุกรุกพื้นที่ป่าแต่อย่างใด ผลที่ตามมาอย่างเป็นรูปธรรม คือ พื้นที่ป่าต้นน้ำได้รับการฟื้นฟูกลับคืนกว่า 526,000 ไร่ จากการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้เศรษฐกิจที่หลากหลายถึง 58 ชนิด ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการจัดการของชุมชนในพื้นที่

การจัดการแหล่งน้ำยังมีส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน จากการติดตามจุดความร้อนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง (ม.ค. - พ.ค. 2568) พบว่า จุดความร้อนในพื้นที่เกษตรลดลงถึง 57.21% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมากกว่า 68% ของกลุ่มบ้านที่เข้าร่วมโครงการไม่พบจุดความร้อนเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในปีงบประมาณ 2568 สวพส. ยังคงเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จโดยขยายโครงการไปยัง 49 ชุมชน ครอบคลุมอีก 127 แห่ง พร้อมระบบกระจายน้ำที่เพิ่มขึ้นเกือบ 20 กิโลเมตร มีผู้ได้รับประโยชน์เพิ่มอีก 460 ราย ครอบคลุมพื้นที่เกษตรรวมกว่า 5,120 ไร่ และการดูแลป่าต้นน้ำอีก 13,000 ไร่
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กไม่ใช่แค่การรับมือภัยแล้ง แต่คือการสร้างโอกาสให้ชุมชนมีน้ำใช้ มีอาหาร มีรายได้ และมีชีวิตที่มั่นคงมากขึ้น เป้าหมายของเราคือแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่สูงอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในชุมชนที่ยังต้องพึ่งพาน้ำฝน ทั้งเพื่อการดำรงชีวิตและการเกษตร เมื่อชุมชนมีแหล่งน้ำเพียงพอ ก็สามารถพัฒนาระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้อย่างยั่งยืน และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและทุกภาคส่วน เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากชุมชน ..............................................................................................................

กรมวิชาการเกษตร ขยายผล 7 ฝ้ายพันธุ์ดีพร้อมเทคโนโลยีผลิตครามหนุนชุมชนผ้าทอมืออีสาน โกยรายได้กว่า 3 แสนบาทต่อปีนายภัสชญภณ ...
26/06/2025

กรมวิชาการเกษตร ขยายผล 7 ฝ้ายพันธุ์ดีพร้อมเทคโนโลยีผลิตคราม
หนุนชุมชนผ้าทอมืออีสาน โกยรายได้กว่า 3 แสนบาทต่อปี

นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เพื่อสร้างรายได้ สร้างโอกาส และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เกษตรกรไทย ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ผ้าฝ้ายและผ้าย้อมครามพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยให้นำผลงานวิจัยการผลิตฝ้ายพันธุ์ดีที่มีเอกลักษณ์ของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้แก่ ฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาล พันธุ์ตากฟ้า 3 พันธุ์ตากฟ้า 6 และพันธุ์ตากฟ้า 8 ฝ้ายเส้นใยยาวสีขาว พันธุ์ตากฟ้า 2 พันธุ์ตากฟ้า 7 และพันธุ์ตากฟ้า 84-4 ฝ้ายเส้นใยสีเขียวพันธุ์ตากฟ้า 86-5 พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีการผลิตครามที่ให้ปริมาณและคุณภาพเนื้อครามสูง ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร มาขยายผลต่อยอดในพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอัตลักษณ์

นายไกรสิงห์ ชูดี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า คณะนักวิจัยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 และศูนย์เครือข่ายในจังหวัดต่าง ๆ ได้นำพันธุ์ฝ้ายพันธุ์ดี
ทั้ง 7 พันธุ์ เทคโนโลยีการผลิตฝ้ายและคราม รวมถึงการแปรรูปฝ้ายและครามไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายและครามในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยการสร้างชุมชนต้นแบบในโครงการ "เทคโนโลยีการผลิตฝ้ายและคราม เสริมสร้างอัตลักษณ์ผ้าทอมืออีสาน สร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชน” จำนวน 15 กลุ่ม สมาชิกกว่า 639 ราย ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม หนองคาย มุกดาหาร เลย สกลนคร หนองบัวลำภู และอุดรธานี ทำให้แต่ละกลุ่มมีเงินหมุนเวียนตั้งแต่ 1,100-300,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตและกลุ่มผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากฝ้ายและครามอีกจำนวน 100 รายด้วย

ทั้งนี้ เกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้ความสนใจพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาล สีเขียว และสีขาวของกรมวิชาการเกษตร ด้วยมีคุณลักษณะที่โดดเด่น คือ ฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาลและสีเขียว
ไม่ต้องย้อมสี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปทอเป็นผืนผ้าได้ทันทีทั้งแบบสีพื้นและแบบสลับสี ส่วนฝ้ายเส้นใยสีขาว จะได้เส้นใยที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับทำผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ เช่น สีคราม สีเปลือกไม้ และสีหินธรรมชาติ มีกรรมวิธีขั้นตอนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น

“สำหรับครามสามารถผลิตเป็นเนื้อครามที่ใช้ย้อมสีผ้าฝ้ายไว้จำหน่ายโดยสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เสื้อ ผ้าถุง ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่ม ผ้าพันคอ หมวก กระเป๋า ปลอกหมอน และผ้าปูที่นอน ส่งผลให้เกษตรกรสามารถสร้างอาชีพเป็นรายได้หลักให้กับตนเองได้ และเกิดชุมชนต้นแบบเทคโนโลยีผลิตฝ้ายพันธุ์ดีและคราม สร้างรายได้สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ผ้าทอมืออีสานกว่า 3 แสนบาทต่อปี ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 โทรศัพท์ 0 4320 3500 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนทั้ง 8 ศูนย์” นายไกรสิงห์ กล่าว

***************************************

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีวิทยาลัยเกษตรฯ ไม่ได้รับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายโครงการอาหารเสริม (นม) โรง...
25/06/2025

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีวิทยาลัยเกษตรฯ
ไม่ได้รับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน

ตามที่ปรากฏข่าววิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) บางแห่ง ไม่ได้รับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน 2 ปีติดต่อกัน ทำให้เสียโอกาสในการจัดการเรียนการสอนด้านโคนม ส่งผลให้อาจต้องปิดโรงงาน เนื่องจากสถาบันการศึกษาไม่สามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายนมโรงเรียนได้นั้น

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 โดยให้ลำดับความสำคัญผู้ประกอบการภาคสหกรณ์ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมอื่น ตามลำดับ ประกอบกับเอกสารแนบท้ายประกาศ ได้ชี้แจงแนวทางการกำหนดสัดส่วนการจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียน โดยต้องมีข้อมูลการซื้อขายน้ำนมโคหรือสัญญาซื้อขายประกอบการยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ได้ยื่นสมัครในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2568 ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการต้องได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน มีใบอนุญาตผลิตอาหาร มีใบรับรองระบบมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP 420 มีใบรับรอง GMP/GAP ของแหล่งน้ำนมดิบและคุณภาพน้ำนมโค มีผลตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร และมีผลวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนที่ผ่านการตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
จากการตรวจสอบคุณสมบัติของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ที่ได้ยื่นสมัครในแต่ละพื้นที่ พบว่ามีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ วษท.สุโขทัย และ วษท.บุรีรัมย์ ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ครบถ้วน โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์ฯ
ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (https://schoolmilk.cpd.go.th) และรูปแบบออฟไลน์โดยจัดส่งความคิดเห็นมายังกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งได้เปิดรับฟังความเห็นเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 11 เมษายน 2568 เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความเห็นต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์ ก่อนประกาศใช้ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน มิได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากฉบับร่างที่มีการรับฟังความคิดเห็น หาก วษท. หรือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมรายอื่น ๆ มีความประสงค์สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ก็สามารถศึกษาหลักเกณฑ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการสมัครเข้าร่วมโครงการได้ รวมถึงกรมฯ จะมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัดให้ศึกษา (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์ เพื่อให้สามารถเข้าร่วมโครงการต่อไปได้อีกทางหนึ่ง

“กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ยืนยันว่ากรมฯ ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมอย่างเท่าเทียม และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๘ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้บริโภคต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
………………………………………………………………………………………………

กรมหม่อนไหม เดินหน้ายกระดับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หนุนแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดยุคดิจิทัลกรมหม่อนไหมเดินหน้าขั...
18/06/2025

กรมหม่อนไหม เดินหน้ายกระดับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หนุนแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม
สู่ตลาดยุคดิจิทัล

กรมหม่อนไหมเดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านโครงการพัฒนาความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อเสริมศักยภาพการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหมให้มีคุณภาพ พร้อมเชื่อมโยงสู่ตลาดยุคใหม่ เพิ่มรายได้ และสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกร

นายนวนิตย์ พลเคน อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยเน้นการส่งเสริมองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถ่ายทอดสู่สมาชิกในกลุ่มอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเพื่อวางแผนการผลิต การตลาด และการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
“กรมฯ ยังสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เช่น การใช้งานแอปพลิเคชันออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์ และบริหารจัดการกลุ่มอย่างทันสมัย รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่จำเป็นต่อการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหม และช่องทางตลาด เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในทุกมิติ” อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ ยังมุ่งผลักดันการรวมกลุ่มของเกษตรกร และการแปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าสูง ตรงตามความต้องการของตลาด โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรพัฒนาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ สามารถยืนหยัดในตลาดยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง ตัวอย่างความสำเร็จ คือ การจัดอบรมหลักสูตร “การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม” โดย ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดนครราชสีมา ณ ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรพอเพียง หมู่ 12 ตำบลหนองบุนนาก อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมาการอบรมมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยภาคปฏิบัติเน้นการลงมือทำจริง อาทิ การผลิตโยเกิร์ตมัลเบอร์รี่ คอมบูฉะมัลเบอร์รี่ และชาใบหม่อน ซึ่งมีนางสาวผาสุข หงษ์ราช ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนผาสุข มัลเบอร์รี่ เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้

“กรมฯ มุ่งหวังให้เกษตรกรได้รับทักษะใหม่ในการต่อยอดผลผลิตทางการเกษตร พัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เพิ่มรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน พร้อมทั้งยกระดับแบรนด์ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง” นายนวนิตย์ พลเคน อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าส่งเสริมอาชีพและการตลาดในพื้นที่ คทช.ตามนโยบายรัฐบาลกระจายที่ดินทำกิน ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรก...
13/06/2025

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าส่งเสริมอาชีพและการตลาดในพื้นที่ คทช.
ตามนโยบายรัฐบาลกระจายที่ดินทำกิน ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร
ผ่านการรวมกลุ่มสหกรณ์และส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ภายใต้นโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินด้วยการกระจายการถือครองที่ดินให้เกิดความเท่าเทียมเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงที่ดินทำกินได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 อนุมัติในหลักการจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎร ที่ยากไร้ในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ โดยส่งเสริมการประกอบอาชีพและพัฒนาอาชีพของราษฎรในรูปแบบกลุ่มหรือชุมชน อาทิ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกษตรกรได้ร่วมกันบริหารจัดการที่ดิน ภายใต้หลักการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน
การดำเนินการทั้งหมดอยู่ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกรมส่งเสริมสหกรณ์รับหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ในพื้นที่ คทช. โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่ มุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างเครือข่าย สร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ ควบคู่กับการจัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา และถนนเข้าสู่พื้นที่

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การกำกับของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นการส่งเสริมการเกษตรที่มีมูลค่าสูง ใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต พร้อมทั้งสนับสนุนการตลาดอย่างครบวงจร นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยร่วมกับป่า เช่น ในภาคเหนือตอนบน มีการส่งเสริมอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกกาแฟ หรือพืชเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ

ปัจจุบันคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาอาชีพในพื้นที่ คทช. แล้วทั้งสิ้น 357 พื้นที่ 68 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 377,000 ไร่ ประกอบด้วยการพัฒนาด้านการผลิตการส่งเสริมการรวมกลุ่มจัดตั้งสถาบันเกษตรกร การพัฒนาดิน แหล่งน้ำ และสาธารณูปโภค รวมถึงการสนับสนุนแหล่งเงินทุน และการทำบัญชีครัวเรือน ให้กับประชาชนกว่า 57,000 ราย“สำหรับแผนงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 มีเป้าหมายขยายการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องเพิ่มเติมอีก 50 พื้นที่ใน 28 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 85,000 ไร่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนต่อไป" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

พาณิชย์ชี้ใช้สิทธิ FTA ไตรมาสแรกปี 68 โตเกินคาด 19.04%กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ไตรมาสแรก...
12/06/2025

พาณิชย์ชี้ใช้สิทธิ FTA ไตรมาสแรกปี 68 โตเกินคาด 19.04%

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ไตรมาสแรกปี 2568 ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 22,001.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 660,037.80 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA 79.75% เติบโต 19.04% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน กระทรวงพาณิชย์เน้นย้ำการใช้สิทธิประโยชย์ภายใต้ FTA เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ขยายโอกาสทางธุรกิจไทยได้ไกลกว่าเดิม

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลการใช้สิทธิ FTA ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2568 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลง FTA รวม 22,001.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 79.75% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 19.04% โดยเป็นการส่งออกไปยังอาเซียนภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 7,895.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 67.07% อันดับสองเป็นการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) มูลค่า 4,926.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 90.92% อันดับสามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 3,908.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 87.11% อันดับสี่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 1,572.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 74.89% อันดับห้า ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 1,346.20ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 56.85% ภาพรวมสินค้า 5 อันดับแรกที่มีการใช้สิทธิ FTA ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ (1) แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผง มูลค่า 1,655.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) ยานยนต์สำหรับขนส่งของอื่น ๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน
มูลค่า 1,588.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3) ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มูลค่า 857.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4) แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผงอื่น ๆ มูลค่า 760.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (5) น้ำตาลที่ได้จากอ้อยอื่น ๆ มูลค่า 473.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางอารดาฯ กล่าวว่า จาก FTA ทั้งหมด 12 ฉบับที่กรมการค้าต่างประเทศติดตามการใช้สิทธิฯ ในปัจจุบัน มี FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 รวม 6 ฉบับ ได้แก่ (1) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ส่งออกไปอินเดีย) เพิ่มขึ้น 201.64% (2) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพิ่มขึ้น 21.27% (3) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ส่งออกไปจีน) เพิ่มขึ้น 17.64% (4) ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เพิ่มขึ้น 7.69% (5) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (ส่งออกไปเกาหลี) เพิ่มขึ้น 4.31% และ (6) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-เปรู เพิ่มขึ้น 0.33% ซึ่งการใช้สิทธิ FTA ที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด เป็นผล
มาจากภาพรวมการส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2567 จาก 70,753.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 81,532.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 โดยสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูง 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำตาลที่ได้จากอ้อย เนื้อของสัตว์ปีกเลี้ยงแช่เย็นจนแข็ง ไก่ที่ปรุงแต่ง ผลไม้สด (เงาะ ลำไย ทับทิมสด) และทุเรียนสด มูลค่ารวม 4,775.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 21.71% ของมูลค่าการใช้สิทธิฯ ทั้งหมด และสินค้าอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผง ยานยนต์สำหรับขนส่งของ ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผงอื่น ๆ และเครื่องปรับอากาศชนิดติดผนังหรือติดเพดาน มูลค่ารวม 17,225.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 78.29% ของมูลค่าการใช้สิทธิฯ ทั้งหมด

นางอารดาฯ ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการค้าและขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย มุ่งเน้นการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA โดยกรมการค้าต่างประเทศ จะจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการภายใต้โครงการส่งเสริม SMEs ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล ในช่วงวันที่ 10-12 มิถุนายน 2568 ในพื้นที่ภาคอีสาน ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ ภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมการอภิปรายเรื่อง “เทคนิคการต่อยอดธุรกิจด้วย FTA” และการบรรยาย เรื่อง “การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA” กระทรวงพาณิชย์เน้นย้ำว่าการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างแต้มต่อในการส่งออก ช่วยลดภาษีนำเข้า ลดต้นทุนทางการค้า ทำให้สินค้าส่งออกจากไทยน่าดึงดูดเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จาก FTA และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐได้เจรจาจัดทำ FTA ฉบับใหม่กับประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นไทย-ศรีลังกา ไทย-สมาคม
การค้าเสรียุโรป หรือ เอฟต้า ไทย-ภูฏาน โดยการใช้สิทธิฯ ผ่าน FTA ทั้งหมดนี้ จะช่วยขยายตลาดการส่งออกใหม่ๆ และลดการพึ่งพาตลาดเดียวในการส่งออก

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลการจัดสัมมนาได้ทางเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th รวมทั้งสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โทร. 081 701 4654 หรือ สายด่วน 1385

📣 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอเชิญชวน สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ ส่งสินค้าแ...
12/06/2025

📣 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอเชิญชวน สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ ส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ เข้าร่วมประกวด
🏆 "สุดยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ของสถาบันเกษตร"
📌 เปิดรับสมัคร 1 - 13 มิถุนายน 2568
🔸 ฟรี❗️ไม่มีค่าใช้จ่าย
☎️ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
กลุ่มวิจัยและพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตร กองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร
โทรศัพท์ 02 628 5534
🔴 ดาวน์โหลดใบสมัคร https://drive.google.com/drive/folders/155crQUGVZzoFcAV4GISLoxfG1-aOJWYd?usp=drive_linkก
#กองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร #กรมส่งเสริมสหกรณ์

กรมวิชาการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลิต“แหนแดง”เชิงพาณิชย์สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้สู่ 2 วิสาหกิจชุมชนเมือง 2 แควนายภัสชญภณ ห...
11/06/2025

กรมวิชาการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลิต“แหนแดง”เชิงพาณิชย์
สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้สู่ 2 วิสาหกิจชุมชนเมือง 2 แคว
นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่ากรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจขยายผลต่อยอดงานวิจัยและเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร โดยมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ดำเนิน “โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์แหนแดงเชิงอุตสาหกรรม” เพื่อแก้ปัญหาการผลิตแหนแดงของเกษตรกรในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ มีปริมาณมากเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มปริมาณแหนแดงในบ่อเพาะเลี้ยง สำหรับนำไปใช้ประโยชน์เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนในอาหารสัตว์ของวิสาหกิจชุมชนไก่ดำเซิงหวาย ตำบลตลุกเทียม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก โดยใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงแหนแดงตามกรรมวิธีของกรมวิชาการเกษตร สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มในหมู่บ้านช่วยเหลือกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทำให้กลุ่มเป็นศูนย์กลางรับองค์ความรู้ถ่ายทอดวิชาการไปสู่เกษตรกร รวมถึงสามารถใช้กระบวนการกลุ่มช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพและพึ่งพาตนเองได้
นายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนไก่ดำเซิงหวายได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 ได้ร่วมบูรณาการจัดอบรมให้ความรู้การผลิตแหนแดง เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนที่ช่วยแก้ปัญหาต้นทุนด้านอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่มีราคาสูง ส่งผลให้รายได้น้อย โดยจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้แหนแดงผสมกับอาหารสัตว์สำเร็จรูปเป็นอาหารไก่ดำ ให้กับกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนไก่ดำเซิงหวาย ด้วยอัตราการผสมระหว่างอาหารไก่สำเร็จรูปกับแหนแดง อัตรา 1:1 คือ ใช้อาหารไก่รุ่นเฉลี่ย 1.25 กิโลกรัม ผสมแหนแดง 1.25 กิโลกรัมต่อตัว ทำให้ต้นทุนอาหารไก่ลดลงร้อยละ 28 ต่อไก่ 1 ตัว ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ดำมีความต้องการใช้
แหนแดงวันละ 100-400 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งนี้เกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจการผลิตแหนแดงเพื่อขายให้วิสาหกิจชุมชนไก่ดำเซิงหวาย
จึงได้ก่อตั้ง “กลุ่มส่งเสริมอาชีพแหนแดงพารวย” แต่ประสบปัญหาแหนแดงมีขนาดเล็ก เจริญเติบโตช้า มีโรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้ผลิตแหนแดงได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด กรมวิชาการเกษตร จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเพิ่มปริมาณแหนแดงในบ่อเพาะเลี้ยง ด้วยพันธุ์และเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร อาทิ วิธีการผลิตเพาะเพิ่มปริมาณแหนแดงในบ่อเพาะเลี้ยง และการจัดการขนาดบ่อเพาะเลี้ยงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแหนแดง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรสามารถผลิตแหนแดงที่มีขนาดใหญ่ เพาะเลี้ยงได้ง่าย ขยายพันธุ์ได้เร็ว ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมือง 10 เท่า เจริญเติบโตเพิ่มปริมาณได้รวดเร็วเป็น 2 เท่า และใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงแหนแดงน้อย ทำให้ผลิตแหนแดงได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในการนำแหนแดงมาใช้ทดแทนอาหารไก่ประเภทโปรตีนที่มีราคาแพงได้ ส่งผลให้เกษตรกร“กลุ่มส่งเสริมอาชีพแหนแดงพารวย” มีรายได้เพิ่ม 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน
“ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนไก่ดำเซิงหวาย สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 180,000 บาท ต่อรอบการผลิต และได้ต้นแบบกระบวนการเลี้ยงไก่ดำเซิงหวายด้วยแหนแดงสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารไก่ที่ใช้แหนแดงผสมกับอาหารสำเร็จรูป ส่วนกลุ่มส่งเสริมอาชีพแหนแดงพารวย สามารถเพาะเลี้ยงแหนแดงใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง และจำหน่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่ดำเซิงหวาย เพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงไก่ดำ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนทั้ง 2 กลุ่มมีความเชื่อมโยงเกื้อกูลกันและทำกิจกรรมร่วมกัน ถือเป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนผลิตแหนแดงเชิงพาณิชย์ที่สร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 โทรศัพท์ 0 5531 3127 , 0 5531 3130 , 0 5531 3161”
นายธงชัย กล่าว

ที่อยู่

Phra Nakhon

เบอร์โทรศัพท์

+66897716426

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ เกษตรดิจิทัลนิวส์ Kaset Digital newsผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

ติดต่อ ธุรกิจของเรา

ส่งข้อความของคุณถึง เกษตรดิจิทัลนิวส์ Kaset Digital news:

แชร์