JudSoob - จุดสูบ

JudSoob - จุดสูบ JUDSOOB จัดให้ถูกสูบที่จุด 🚬

โครงการปริญญานิพนธ์วารสารสนเทศและสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2566

ของแทร่! รีวิวหลังแจ้งพบผู้สูบในที่ห้ามสูบผ่าน traffy fondue เปลี่ยนไปยังไงบ้างนะ ?หลังจากได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นายแพท...
17/05/2024

ของแทร่! รีวิวหลังแจ้งพบผู้สูบในที่ห้ามสูบผ่าน traffy fondue เปลี่ยนไปยังไงบ้างนะ ?
หลังจากได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นายแพทย์ธนัช พจน์พิศุทธิพงศ์ ว่าหากพบผู้สูบในที่ห้ามสูบสามารถร้องเรียนผ่านระบบ traffy fondue เพื่อให้เจ้าพนักงานดำเนินการได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นมาแล้วนั้น (อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/JUDSOOB/posts/pfbid02WTqVpfghSKoMXFfZjbxf23yzc3qCSpgftp3mLL9wHCe1WSZPBWXCj5aDRmr5gvLVl )
JudSoob เลยขออาสาลองให้ว่าการร้องเรียนปัญหาควันบุหรี่ผ่านระบบ traffy fondue จะเป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา ระหว่างที่เรากำลังเดินเข้าศูนย์การค้า centralwOrld ด้านทางเข้าโซน A (ติดกับ Apple Store สาขา centralwOrld) กลับพบว่ามีผู้สูบจำนวนหนึ่งนั่งสูบบุหรี่อยู่ในบริเวณที่นั่งสาธารณะ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างทางเข้า-ออกของศูนย์การค้า ทำให้ผู้ที่จะมาใช้บริการได้รับผลกระทบจากกลิ่น และควันอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงตัดสินใจแจ้งเรื่องผ่านระบบ traffy fondue ในเวลา 14:00 น.
หลังจากนั้น สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้ส่งเรื่องต่อไปยังเขตปทุมวัน และเขตปทุมวันได้เชิญฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ เขตปทุมวันมาร่วมด้วย จนเริ่มดำเนินการในวันที่ 26 เมษายน 2567 (รวมเวลาในการส่งเรื่องทั้งหมด 22 ชั่วโมง 34 นาที)
กระทั่งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม เวลา 17:15 น. ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ เขตปทุมวันแจ้งกลับว่าได้ดำเนินการแก้ไขเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย โดยมีการแจ้งไปยังศูนย์การค้าให้กำชับพนักงานฯ และลูกค้าห้ามสูบในบริเวณดังกล่าว พร้อมทั้งติดตั้งป้าย ‘ห้ามสูบบุหรี่’ ณ จุดดังกล่าวด้วย และหลังจากสอบถามเจ้าหน้าที่อาสา และสังเกตความเปลี่ยนแปลงหลังผ่านไปราว 1 สัปดาห์ พบว่าผู้สูบลดลงไปค่อนข้างมาก แต่ก็ยังคงมีอยู่บ้าง ซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ โดยพวกเขาจะใช้วิธีการ ‘ย้าย’ ที่สูบ คือ จากเดิมจะนั่งและสูบ เปลี่ยนเป็นมาสูบด้านข้างทางเข้า Apple Store แทน แต่อีกส่วนหนึ่งเมื่อเห็นป้ายก็จะย้ายไปสูบในบริเวณที่ศูนย์การค้าจัดไว้ให้
สรุประยะเวลาที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ เขตปทุมวัน ใช้ในการดำเนินการทั้งหมดรวมเป็น 14 วัน 1 ชั่วโมง 34 นาที หรือราวครึ่งเดือน นอกจากนี้ เราไม่พบข้อมูลว่าผู้สูบที่สามารถถ่ายภาพขณะกำลังสูบอยู่นั้น ถูกดำเนินการปรับตามกฎหมายหรือไม่
อ้างอิง : https://bangkok.traffy.in.th/detail?ticketID=2024-ETZCDC
#จุดสูบ #กทม

OPINION: คุ้มครองแบบใด? แบบไหนถึงรู้สึกว่าได้รับการคุ้มครอง? ชวนดูกฎหมายว่าด้วย ‘การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่’หาก...
15/05/2024

OPINION: คุ้มครองแบบใด? แบบไหนถึงรู้สึกว่าได้รับการคุ้มครอง? ชวนดูกฎหมายว่าด้วย ‘การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่’
หากพูดถึงคำว่า ‘คุ้มครอง’ เราน่าจะรู้สึกกับคำนี้ว่าเรากำลังจะปลอดภัย หรือได้รับการป้องกันภัยอันตรายจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยหากอ้างอิงความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ระบุไว้ว่า “คุ้มครอง (ก.) ป้องกันรักษา, ระวังรักษา, ปกป้องรักษา” ซึ่งจะให้ความรู้สึกในลักษณะเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเรากำลังได้รับการป้องกันรักษา เหมือนที่ได้ระบุความหมายเอาไว้หรือไม่
JudSoob จึงชวนมาดูเนื้อหาด้านในของ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ในหมวด 5 ซึ่งว่าด้วยเรื่อง “การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่” ว่าภาครัฐกำลังให้ความคุ้มครองแบบใด และแบบไหนเราถึงจะรู้สึกว่าได้รับการคุ้มครอง
ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในหมวด 5 ตั้งแต่มาตรา 41-46 นั้น ใจความสำคัญจะพูดถึงการคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ในรูปแบบของการจัดโซนนิงแก่ผู้สูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว ซึ่งหากย้อนกลับไปดูเนื้อหาใน ‘พรบ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535’ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับตั้งต้นของ พรบ. ฉบับดังกล่าว จะพบว่าใจความสำคัญของการคุ้มครองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพียงแต่ฉบับ พ.ศ. 2560 จะมีการกำหนดโซนนิ่งให้ละเอียดมากขึ้นเพียงเท่านั้น
นั่นอาจตีความให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า ‘การคุ้มครอง’ ที่ภาครัฐกำลังมอบให้กับผู้ไม่สูบบุหรี่คือการกำหนดบริเวณสำหรับสูบ และห้ามสูบเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ระบุเรื่องของ ‘สุขภาพ’ เลยแม้แต่น้อย
ซึ่งสิ่งนี้อาจขัดกับ ‘สิทธิด้านสุขภาพ’ ที่ได้ให้การรับรองไว้ใน พรบ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งได้ระบุความหมายไว้ว่า “สิทธิด้านสุขภาพ หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพที่บุคคลพึงได้รับด้วยมาตรฐาน ‘ที่สูงที่สุด’ เท่าที่จะเป็นไปได้...” นั่นหมายถึง หากมาตรฐานที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้คือผู้ไม่สูบบุหรี่จะต้องไม่ได้รับความเดือดร้อนจากควันบุหรี่เลย ผู้ไม่สูบก็มีสิทธิ์ที่พึงจะได้รับในขั้นพื้นฐานด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น นายเอ เป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่ และเขาจำเป็นต้องเดินผ่านร้านอาหารแห่งหนึ่งเพื่อไปทำงานอยู่เป็นประจำ แต่จุดสูบบุหรี่ของร้านอาหารแห่งนั้นอยู่ติดกับทางที่เขาต้องเดินผ่าน โดยร้านได้ทำการติดป้ายเขตสูบบุหรี่ไว้อย่างชัดเจน นั่นทำให้เขาได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่อยู่เป็นประจำ และสุขภาพทรุดลง
ข้อสังเกตของตัวอย่างนี้คือ นายเอ กำลังถูกลิดรอนสิทธิด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ตนพึงได้รับ และไม่ได้รับการคุ้มครองสุขภาพจากภาครัฐอยู่หรือไม่ หรือผู้สูบบุหรี่ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เพราะร้านอาหารซึ่งเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมาย ได้ติดสัญลักษณ์ระบุเอาไว้อย่างเช่นเจนแล้วว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเขตสูบบุหรี่ นั่นทำให้ไม่เข้าข่ายความผิดตาม พรบ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 เนื่องจากในมาตรา 46 วรรค 2 ระบุไว้ว่า “ในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ หากผู้ดำเนินการได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งตามสมควรแล้ว ผู้ดำเนินการนั้นไม่มีความผิด”
ดังนั้นแล้ว การคุ้มครองที่ภาครัฐกำลังมอบให้แก่ประชาชนนั้นทำให้ประชาชนได้รับ ‘การคุ้มครอง’ อย่างแท้จริงหรือไม่ ในเมื่อหมวดที่พูดถึงการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ กลับไม่มีส่วนใดพูดถึงเรื่องสุขภาพเลยแม้แต่น้อย หรือภาครัฐกำลังมองว่าการมอบการคุ้มครองแบบในปัจจุบันนั้นมากพอแล้ว
อ้างอิง :https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/039/27.PDF
https://www.senate.go.th/assets/portals/28/fileups/146/files/พรบ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่%20พ.ศ.%202535_2_1.pdf
https://www.nationalhealth.or.th/en/node/2129
#จุดสูบ

คุยกับ ผอ.ธนัช แห่งสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด กับแนวคิดและนโยบายการคุ้มครองผู้ไม่สูบในอนาคตจุดไหนสูบได้ จุดไห...
16/04/2024

คุยกับ ผอ.ธนัช แห่งสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด กับแนวคิดและนโยบายการคุ้มครองผู้ไม่สูบในอนาคต
จุดไหนสูบได้ จุดไหนสูบไม่ได้ ? แล้วทำไมมีป้ายห้ามสูบแต่ก็ยังเห็นสูบกันอยู่ ? คนไม่สูบคงสงสัยว่าถ้ามีกฎหมายเกี่ยวกับผู้สูบ แล้วสำหรับผู้ที่ไม่สูบล่ะจะมีบ้างไหมนะ
JudSoob ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายแพทย์ธนัช พจน์พิศุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด กรุงเทพมหานคร ถึงแนวทางการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอนาคต
❓แผนคุ้มครองผู้ไม่สูบในปัจจุบันและอนาคต
ผอ.ธนัช เล่าให้ฟังว่า ในปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้นมีด้วยกันเพียง 1 ฉบับ คือ พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งถูกปรับปรุงและแก้ไขเพื่อมาทดแทน พรบ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535
ใจความสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าวจะอยู่ในมาตรา 41 ซึ่งพูดถึง การกำหนดประเภท หรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเป็นเขตสูบบุหรี่ ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
โดยเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการจัดตั้งจากคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีอำนาจในการปรับตามกฎหมาย กล่าวคือ หากเจ้าหน้าที่พบเห็นสามารถดำเนินการปรับเป็นพินัย (โทษอาญาที่ไม่มีโทษจำคุก) ตาม พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้ โดยเจ้าหน้าที่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ปรับได้ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร และกลุ่มที่ปรับได้เฉพาะเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ซึ่ง ผอ.ธนัช เผยว่าการดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น และหากประชาชนพบเห็นก็สามารถร้องเรียนผ่านระบบ traffy foundue ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ท่านยังเสริมอีกว่า ในอนาคตจะมีการพัฒนาให้ผู้ที่ฝ่าฝืนสามารถชำระค่าปรับผ่านระบบ E-payment ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องนำตัวผู้ฝ่าฝืนไปดำเนินการปรับที่สถานีตำรวจในแต่ละพื้นที่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
❓แนวคิดเรื่องตู้สูบบุหรี่
ในหัวข้อถัดมาเราถามถึงความเป็นไปได้ของแนวคิด ‘ตู้สูบบุหรี่’ ว่าสามารถเกิดขึ้นในอนาคตได้ไหม
ผอ.ธนัช เผยว่า ตนมองว่าแนวคิดเรื่องดังกล่าวค่อนข้างน่าสนใจ เนื่องจากหน่วยงานได้พยายามหาแนวทางต่าง ๆ ที่จะทำให้ผู้สูบบุหรี่ยังสูบบุหรี่ได้โดยไม่สร้างผลกระทบต่อผู้อื่น ซึ่งถ้าจะให้แนวคิดเรื่องตู้สูบบุหรี่เกิดประโยชน์ต่อคนรอบข้างอย่างสูงสุด ท่านแนะนำว่าควรควรมีกระบวนการในการบำบัดสารพิษก่อนปล่อยออกด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงตู้ที่ให้เข้าไปสูบแล้วดูดควันออกมาเพียงอย่างเดียว
แต่ถ้าถามว่ากรุงเทพมหานครมีแผนที่จะทำให้นโยบายเกี่ยวกับตู้สูบบุหรี่หรือไม่ คำตอบ ณ ปัจจุบันคือ “ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับตู้สูบบุหรี่ครับ”
ท่านเล่าเสริมว่า ก่อนหน้านี้เคยมีคนนำประเด็นดังกล่าวยกขึ้นมาพูดในที่ประชุมว่า “การมีตู้สูบบุหรี่ไปตั้งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงการสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้นหรือไม่” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่า แทนที่จะตั้งจุดสูบบุหรี่ หรือตู้สูบบุหรี่ในพื้นที่ที่คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เราควรตั้งจุดสูบให้ห่างออกไปไกล ๆ หน่อย คล้าย ๆ กับเป็นการสร้างอุปสรรค์ในการสูบบุหรี่ให้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนตัวตนก็เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
นอกจากนี้ท่านยังมองว่าการจัดให้มีตู้สูบบุหรี่นั้นเหมือนกับการเชิญชวนให้ผู้สูบมาสูบได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่มากขึ้นด้วยเช่นกัน
❓ตามห้างสรรพสินค้าสามารถจัดจุดสูบได้ไหม ?
จากการสำรวจพื้นที่บริเวณ สยาม-สามย่าน-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย JudSoob พบว่าในบริเวณของห้างสรรพสินค้าอย่าง สามย่านมิตรทาวน์ และ สยามสแควร์วัน มีการจัดตั้งจุดสูบบุหรี่ไว้แต่หากพิจารณาตาม พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 41 ในข้อที่ 4 จะพบว่าห้างสรรพสินค้าถูกจัดอยู่ในหมวด “กำหนดให้สถานที่ดังต่อไปนี้เป็น “เขตปลอดบุหรี่เฉพาะส่วนที่ระบุ” รวมถึงระยะ 5 เมตร จากพื้นที่ที่ระบุ หรือจากประตู หน้าต่าง ทางเข้า ทางออก ท่อ หรือช่องระบายอากาศ” เราจึงสอบถามว่า สรุปแล้วในบริเวณห้างสรรพสินค้าสามารถจัดตั้งได้หรือไม่
ผอ.ธนัช กล่าวว่า ถ้าตามกฎหมายแล้วห้างสรรพสินค้าไม่สามารถจัดพื้นที่เขตสูบบุหรี่ได้ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าในชีวิตจริงนั้นยังมีคนที่ต้องการสูบอยู่ ดังนั้น หากมีความจำเป็นจริง ๆ ทางห้างสรรพสินค้าต้องมาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขต หรือศูนย์บริการสาธารณะสุข เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาว่าจุดไหนน่าจะจัดตั้งเป็นเขตสูบบุหรี่ได้บ้าง
อ้างอิง :https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/932420191120044709.pdf
#จุดสูบ #กทม #ธนัชพจน์พิศุทธิพงศ์

ผู้สูบวอนสังคมเคารพสิทธิผู้สูบ ย้ำ เราทำในพื้นที่ของเราแล้วจะดีกว่าไหมถ้าคนสูบและไม่สูบสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยให้ความเค...
15/04/2024

ผู้สูบวอนสังคมเคารพสิทธิผู้สูบ ย้ำ เราทำในพื้นที่ของเราแล้ว

จะดีกว่าไหมถ้าคนสูบและไม่สูบสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ? JudSoob ชวนทุกคนเข้าใจปัญหาของผู้สูบที่เราอาจไม่เคยรู้ ผ่านบทสัมภาษณ์จากการลงพื้นที่สำรวจรอบสยามสแควร์วัน

❗️จุดสูบมีน้อย แถมยังหายาก
เราเริ่มต้นบทสนทนากับผู้สูบด้วยคำถามสั้น ๆ ว่า “คิดว่าจุดสูบบริเวณสยามมีน้อยเกินไปไหม” แทบทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าค่อนข้างน้อย อีกทั้งบางคนทราบเพียงแค่จุดเดียวจากทั้งหมด คุณเอ (นามสมมติ) พนักงานร้านสะดวกซื้อเผยกับเราว่า ตอนแรกที่ตนเพิ่งมาทำงานใหม่ ๆ ก็ต้องอาศัยรุ่นพี่เอาว่าที่ไหนสามารถสูบบุหรี่ได้ เนื่องจากในบริเวณนั้นไม่มีป้ายบอกอย่างชัดเจนเลย หรือบางทีก็สังเกตว่าจุดไหนมีคนมายืนสูบเยอะ ๆ ก็จะเข้าไปร่วมวงด้วย

คุณชัย (นามสมมติ) ชายวัยกลางคนอายุราว 55 ปี ให้สัมภาษณ์กับเราอย่างออกรสว่า ตนคิดว่าการตั้งจุดให้บริการสูบบุหรี่แบบนี้เป็นการ ‘ด้อยค่า’ จุดสูบเกินไป เนื่องจากบางจุดทั้งเล็ก และไม่สะอาดเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้ต่างเป็น ‘สิทธิ’ ที่ผู้สูบควรจะได้รับไม่ต่างจากคนทั่วไป

“ผมมองอย่างนี้นะ อย่างจุดสูบนี้ (หัวมุมสยามซอย 2) ทั้งเล็กแล้วก็ไม่มีที่ทิ้งขี้บุหรี่มากพอ แล้วก็ตรงที่จอดรถข้างหลังนู่น (ข้างอาคารสยามกิตติ์) ก็ไม่สะอาดอีก ผมว่าพวกเขาด้อยค่าจุดสูบเกินไปนะ” คุณชัยกล่าวพลางมองบุหรี่ในมือ

นอกจากนี้ เขายังฝากให้สังคมเคารพสิทธิของผู้สูบเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาก็มาสูบในที่ที่ถูกจัดไว้ให้แล้ว พวกเขาจึงไม่ควรได้รับสายตาเหยียดหยาม หรือมองว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันแปลกประหลาด

❗️ควรปรับปรุง ติดตั้งป้ายให้ชัดเจน
เมื่อถามถึงสิ่งที่คาดหวังให้จุดบริการสูบบุหรี่พัฒนาขึ้น ผู้สูบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าควรติดป้ายให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าบริเวณนี้เป็นเขตสูบบุหรี่ แต่เมื่อพิจารณาจาก ‘พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560’ จะพบว่า ในหมวดที่ 5 มาตรา 44 (1) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ให้มีเครื่องหมายติดแสดงไว้ให้เห็นได้โดยชัดเจนว่าเป็นเขตสูบบุหรี่” แต่ในปัจจุบัน (4 เมษายน 67) จุดให้บริการรอบสยามสแควร์วันกลับไม่มีป้ายติดแสดงไว้อย่างชัดเจนเลย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นความปลอดภัยของผู้สูบหญิงที่ควรได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน โดยคุณหญิง (นามสมมติ) พนักงานบริษัทสาวบอกกับเราว่า ประเด็นที่ตนอยากให้เร่งแก้ไขคือเรื่องของไฟส่องสว่าง เนื่องจากตอนกลางคืนจะค่อนข้างมืด ทำให้ผู้สูบที่เป็นผู้หญิงไม่ค่อยจะกล้ามาสูบสักเท่าไหร่

อีกหนึ่งประเด็นที่ค่อนข้างเป็นไปได้คือการเปลี่ยนจาก ‘จุดสูบบุหรี่’ เป็น ‘ตู้สูบบุหรี่’ ซึ่งคุณหนุ่ม (นามสมมติ) เผยว่า ตนอยากให้ตั้งเป็นตู้สูบบุหรี่เหมือนตามสถานบันเทิงต่าง ๆ ไปเลย เพราะนอกจากจะสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาควันบุหรี่ลอยไปกระทบผู้อื่นได้อีกด้วย

#จุดสูบ

‘อิ้งค์ วรันธร’ วอนไม่สูบพอดในร้าน ย้ำ “ศิลปินมีกล่องเสียงเป็นทุกอย่าง”อิ้งค์-วรันธร เปานิล ให้สัมภาษณ์กับสื่อในงาน est ...
20/03/2024

‘อิ้งค์ วรันธร’ วอนไม่สูบพอดในร้าน ย้ำ “ศิลปินมีกล่องเสียงเป็นทุกอย่าง”

อิ้งค์-วรันธร เปานิล ให้สัมภาษณ์กับสื่อในงาน est Awaken Awesome Senses เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมเปิดตัวเป็นพรีเซ็นเตอร์คนใหม่คู่กับ เจฟ-วรกมล ชาเตอร์ อย่างเป็นทางการ

อิ้งค์เผยว่าตนพบคนสูบบุหรี่ขณะทำการแสดงอยู่มาตลอดตั้งแต่เริ่มทำงานแรก ๆ ซึ่งช่วงแรกจะยังไม่กล้าพูดสักเท่าไหร่ เนื่องจากไม่รู้จะแก้ปัญหานั้นอย่างไร แต่ในช่วงนี้ตนรู้แล้วว่าการพูดคุยสามารถช่วยได้ เช่น ขอความร่วมมือจากเจ้าของร้าน หรือขอความร่วมมือจากผู้จัดคอนเสิร์ต โดยในปัจจุบันผู้จัดงานมักจะจัดพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ไว้ให้แล้ว ซึ่งช่วยให้ศิลปินแก้ปัญหาเหล่านี้ได้มากขึ้น

อิ้งค์เสริมว่าคนชอบคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เหมือนบุหรี่มวน จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสามารถสูบในร้านอาหาร หรือพื้นที่คอนเสิร์ตได้ โดยส่วนตัวอิ้งค์มองว่าเขาอาจจะคิดว่าควันจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่ส่งผลกระทบกับผู้อื่น แต่ว่าจริง ๆ มันส่งผลกระทบไม่แพ้กับควันบุหรี่แบบปกติเลย โดยเฉพาะกับศิลปินที่จำเป็นต้องหายใจถี่กว่าปกติเวลาแสดง ซึ่งจะทำให้ควันเข้าไปที่คอโดยตรงและเกิดผลกระทบในการร้อง ซึ่งส่วนตัวจะขอความร่วมมือจากทางร้านก่อนว่าห้ามสูบในช่วงที่ตนกำลังแสดงอยู่ และหลังจากที่ขอความร่วมมือไปส่วนมากก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยตนมองว่าการสูบเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลแต่ควรสูบโดยที่ไม่มีคนที่ไม่ได้สูบอยู่ด้วยจะดีกว่า

“ศิลปินมีกล่องเสียงเป็นทุกอย่าง บางทีถ้าสายกีตาร์ขาดก็ยังปรับเปลี่ยนได้ แต่พอเป็นร่างกายมันไม่สามารถจะปรับให้มันกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้” อิ้งค์ย้ำ

ส่วนปัญหาฝุ่น PM 2.5 อิ้งค์วอนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้น เพราะทุกคนเผชิญปัญหานี้มานานมากแล้ว ซึ่งการแก้ไขด้วยตนเองนั้นทำได้เพียงใส่แมสก์แต่ทุกคนยังคงต้องดำเนินชีวิตของตัวเอง ซึ่งส่วนตัวมองว่ามันอันตรายมาก ๆ และอยากให้รีบแก้ปัญหาโดยเร็ว

ภาพ : INK WARUNTORN

อ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=qb61hnXKOqI&t=2s
#จุดสูบ

📌มัดรวมจุดสูบโซนสยามสแควร์-สามย่าน-จุฬาฯ ปี 2024🚬JUDSOOB รวบรวมจุดให้สูบบุหรี่รอบสยามสแควร์วัน-สามย่าน-จุฬาฯ ใครสายควันส...
03/03/2024

📌มัดรวมจุดสูบโซนสยามสแควร์-สามย่าน-จุฬาฯ ปี 2024🚬
JUDSOOB รวบรวมจุดให้สูบบุหรี่รอบสยามสแควร์วัน-สามย่าน-จุฬาฯ ใครสายควันสามารถเซฟไว้แล้วไปสูบให้ถูกที่จุดได้เลย!
หรือจะดูใน Google Maps ได้ง่าย ๆ ผ่านลิงก์ bit.ly/JUDSOOB ได้เลย✨
#จุดสูบ #จุดสูบใกล้ฉัน #จุดสูบกรุงเทพ

JUDSOOB ขอแนะนำตัวคับ ! 👀เราคือสื่อสุขภาพที่จะเน้นเรื่องบุหรี่เป็นหลัก❗️เพราะเราอยากเห็นสังคมสูบบุหรี่โดยคิดถึงคนรอบข้าง...
01/03/2024

JUDSOOB ขอแนะนำตัวคับ ! 👀
เราคือสื่อสุขภาพที่จะเน้นเรื่องบุหรี่เป็นหลัก❗️
เพราะเราอยากเห็นสังคมสูบบุหรี่โดยคิดถึงคนรอบข้างกันให้มากขึ้น เหมือนสโลแกนของเรา “จัดให้ถูกสูบที่จุด” 🚬
*โครงการปริญญานิพนธ์วารสารสนเทศและสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2566*
#จุดสูบ

ที่อยู่

Phra Nakhon

เบอร์โทรศัพท์

+66815782954

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ JudSoob - จุดสูบผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

ติดต่อ ธุรกิจของเรา

ส่งข้อความของคุณถึง JudSoob - จุดสูบ:

แชร์