15/06/2025
“แค่เดินออกมาหน้าบ้าน ก็เห็นกองภูเขาขยะอยู่ไกลๆ เลย ตอนแรกคิดว่าเป็นเศษหินกรวด แต่เพื่อนมาเล่นที่บ้านถึงได้รู้ มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เลย”
นับสิบปีในช่วงชีวิตที่จำความได้ ของเด็กเกาะเต่าแต่กำเนิด อย่าง ไข่มุก-ศิริมล เกื้อสกุล ในวัย 15 ปี ท้องทะเลที่ใสสะอาด และหาดทรายในระยะเดินถึง คือส่วนหนึ่งของชีวิตแสนธรรมดา จนหลายครั้งยังแปลกใจว่าที่นี่พิเศษ ขนาดที่คนอีกมุมโลก ปักหมุดจะมาให้ได้สักครั้ง
เมื่อบ้านใครใครก็รัก ความเปลี่ยนแปลงทีละนิด ของเนินเขาสุดสายตา เพิ่มความไม่สบายใจให้ไข่มุก เช่นเดียวกับ ศรันย่า-ศรัณญา เดการ์ เพื่อนร่วมชั้นเรียน ที่โตมาบนเกาะขนาด 21 ตรม. แห่งนี้ ที่ก็เริ่มกังวลใจ โดยเฉพาะเมื่อบ้านของเธอค้าขายกับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก
“อยากให้เกาะสะอาดๆ เคยไปดูกองภูเขาขยะ ยังคิดว่าเขาจะเอาไปทิ้งกันยังไง”
ชื่อของ ‘เกาะเต่า’ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ปรากฏบนพื้นที่สื่อนับตั้งแต่ช่วงต้นปี เพียงแต่ต่างออกไป เพราะไม่ใช่จับจองพื้นที่เพื่อการประชาสัมพันธ์เช่นที่ผ่านมา ทว่า กลับถูกพูดถึงในกรอบประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงวิกฤตเชิงนโยบาย โดยมีภูเขาขยะปริมาณนับหมื่นตัน ยืนยันความหนักหนาของสถานการณ์นี้
กลิ่นที่ส่งทะลุผ่านภาพและข้อความ หรือจะสามารถเก็บความทุกข์ใจ ของผู้คนในพื้นที่ไว้ได้หมด ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะตระหนักมากน้อยลดหลั่นกันไป แต่ผลกระทบถูกหารเฉลี่ยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
อะไรทำให้สวรรค์ของนักดำน้ำแห่งนี้ ถูกซ้อนทับด้วยปัญหา ‘ขยะเกาะ’ ที่ผนึกรวมกับ ‘ขยะทะเล’ ไปได้ แล้วการแก้ไขและรับมือระยะยาวจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
สำนักข่าว TODAY มีโอกาสลงพื้นที่พูดคุยกับ ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงองค์กรภาคเอกชน ที่กำลังทำงานอย่างหนัก ในตอนนี้
[สถานการณ์ ‘ขยะทะเล’ ร้ายแรงขนาดไหน]
จัดทำหลุมฝังกลบ... พับแผนเนื่องจากจากข้อจำกัดเชิงพื้นที่ และผลกระทบต่อชาวบ้าน
เตาเผาขยะ...เดินเครื่องได้ระยะหนึ่ง เครื่องเสียและยังไม่สามารถซ่อมแซมได้
ขนทิ้งนอกเกาะ...ติดปัญหาพื้นที่รองรับบนฝั่ง และงบประมาณขนส่ง ที่ทำให้ไม่ยั่งยืน
3 แนวทางในการจัดการขยะ ที่เคยเกิดขึ้นบนเกาะเต่าล้วนหยุดชะงักไป ด้วยหลากปัจจัย ตามการให้ข้อมูลของ อภิชาติ มีเพียร นายกเทศบาลตำบลเกาะเต่า ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งหมาดๆ
นี่เองทำให้ที่ผ่านมา การจัดการขยะของเกาะโดยเทศบาล สิ้นสุดลงที่พื้นที่บ่อพักขยะบนเกาะเท่านั้น โดยส่วนหนึ่งที่ถูกขัดแยกออกไป เป็นเพียงขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ที่จะขายให้โรงงานรับซื้อบนเกาะ โดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้าน และเอกชน
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่จะเกิดกรณีร้องเรียนเรื่องบ่อขยะส่งกลิ่นเหม็น ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อช่วงต้นปีมานี้ เพราะหากย้อนดูสถิติช่วง 2-3 ปี ในช่วงเทศกาลปีใหม่มีนักท่องเที่ยวแตะถึงราว 500,000 คน ยังไม่รวมคนท้องถิ่นและแรงงานข้ามชาติ ทำให้มีปริมาณขยะเกิดขึ้น ไม่น้อยกว่า 15-20 ตันต่อวัน
ไม่เพียงแค่ ‘ขยะเกาะ’ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากมองภาพที่กว้างขึ้น ภาพรวมของการท่องเที่ยว จ.สุราษฎร์ธานี ในปี 2567 รับนักท่องเที่ยวราว 34 ล้านคน โดยเป้าหมายหลักก็อยู่ที่ เกาะสมุย เกาะพะงัน รวมถึงเกาะเต่านั่นเอง
และด้วยทำเลที่ตั้งของ เกาะเต่า รายล้อมด้วยพื้นที่ท่องเที่ยว รวมถึงช่วงฤดูมรสุมเกาะจะได้รับอิทธิคลื่นลมเข้าสู่ชายฝั่งตะวันออก โดยไม่มีพื้นที่เกาะใดกั้นกลาง จึงไม่น่าแปลกที่ ‘ขยะทะเล’ ที่พบในพื้นที่เกาะเต่าบางส่วน มีฉลากที่เขียนด้วยภาษาเวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์
แม้จะไม่มีข้อยืนยันว่า ขยะเหล่านี้เดินทางมาไกลด้วยแรงคลื่นลม หรือเกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่นำเข้ามาในเกาะกันแน่ แต่นั่นก็เพิ่มปริมาณขยะทะเลเกิดขึ้นจำนวนมาก
อธิบายคร่าวๆ ขยะทะเล คือ ของเสียที่เกิดจากมนุษย์ ที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งขยะดังกล่าวเป็นขยะพลาสติกมีน้ำหนักเบา และไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาที่สั้นๆ จึงถูกพัดพาไปในที่ที่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิด โดยคลื่น ลม กระแสน้ำ และน้ำขึ้นน้ำลงนั่นเอง
ข้อยืนยันหนึ่งที่เกิดขึ้น เมื่อ 8 มิ.ย. ในวันมหาสมุทรโลกปีนี้ ซี่งโครงการ MA-RE-DESIGN ผ่านความร่วมมือระหว่าง GIZ Thailand, WWF Thailand และ UNEP COBSEA จัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดและใต้ทะเล ก็พบผลลัพธ์ที่น่าตกใจไม่น้อย
ด้วยพลังจากกว่า 600 คน ที่มีตั้งแต่เด็กเล็ก ที่มาพักผ่อนพร้อมครอบครัว ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ ไปจนถึงนักดำน้ำมืออาชีพจากหลายประเทศ ภายใต้เวลาราว 5 ชั่วโมงโดยประมาณ สามารถเก็บขยะได้มากกว่า 1.8 ตัน
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การจำแนกเบื้องต้น คือ มากกว่า 600 กิโลกรัม เป็นขยะที่เกิดขึ้นบนบก และมีขยะที่สามารถใช้ประโยชน์ต่อได้ ปะปนอยู่หลายร้อยกิโลกรัม ทั้ง พลาสติก PET ขวดแก้ว เป็นต้น รวมถึงขยะบางส่วนก็สามารถสร้างอันตรายให้กับสัตว์น้ำได้ เช่น เชือก ที่พบมากกว่า 144 กิโลกรัม และทั้งหมดย่อมเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
เท่ากับว่าในขยะ 1,800 กิโลกรัม ถ้าเราสามารถแยกขยะที่รีไซเคิล หรือใช้ใหม่ ออกไปได้ อาจทำให้เหลือขยะส่วนเกินที่ต้องจัดการไม่ถึง 1,000 กิโลกรัมเสียด้วยซ้ำไป
สอดคล้องกับข้อมูล ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่เคยเผยสถิติข้อมูลขยะทะเลในปี 2567 พบว่า ขยะที่ตกค้างในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทพลาสติก ซึ่งคิดเป็น 88% ของขยะทะเลที่พบทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยที่ ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานนั่นเอง
[เริ่มต้นจาก ‘สิ่งที่ใช้ได้’ และ ‘ใช้ไม่ได้’]
“รู้ไหมพวกนี้น่าสงสารนะ ผลักกันไปกันมา ผมถึงเรียก ‘ขยะกำพร้า’ ไม่มีใครเอา เยอะจนแก้ไม่ได้แล้ว ขยะทั่วไปยังขายได้ เอาไปทำพลังงาน ขยะรีไซเคิลก็เอาไปหลอมใหม่”
ต่อศักดิ์ ยวนานนท์ รองประธานศูนย์เรียนรู้รักษ์แบนเกาะเต่า เล่าให้เราฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนเกาะเต่า เพราะครั้งหนึ่งตัวเขาเองเคยพบแพขยะ ที่จับตัวรวมกันจนยาวกว่า 4-5 กิโลเมตร เลยทีเดียว
ในฐานะที่ทำงานด้านการอนุรักษ์มาต่อเนื่อง ต่อศักดิ์ เล่าว่า ในแวดวงนักดำน้ำ จะมีกิจกรรมเก็บขยะเป็นประจำทุกเดือน ขณะที่ชาวบ้านที่ซึ่งช่วยกันเก็บ จำนวนหนึ่งก็มีเป้าหมายชัดเจน ว่าสิ่งที่นำมาจะต้องใช้งานต่อได้ ไม่อย่างนั้น เขาก็ไม่รู้จะจัดการกับสิ่งที่เก็บมาได้ยังไง
“อย่างเวลามีขยะลอยมาแพใหญ่ๆ กองเยอะๆ แล้วชาวบ้านแจ้งท้องถิ่น เขาก็ไปเก็บมา เรา (ศูนย์เรียนรู้ฯ) ก็ไปขอมาใช้”
เล่าเพิ่มเติมก่อนว่า ศูนย์เรียนรู้รักษ์แบนเกาะเต่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในโรงแรม ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำที่ได้รับการยอมรับระดับโลก อย่าง Ban’s Diving ด้วยจุดตั้งต้นของเจ้าของ ที่เป็นผู้ก่อตั้งชมรมรักษ์เกาะเต่าด้วย ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘เราทำให้เกิดขยะ เราก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบ’
การที่เราได้เห็นโรงแรมที่ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือพยายามลดขยะ สร้างเป็นพื้นที่แห่งการอนุรักษ์ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับธุรกิจบริการสมัยใหม่ แต่การที่วิวจากห้องพักที่จะได้เห็น อาจเป็นบ่อกักเก็บน้ำ สวนผักสวนครัว โรงบดขวดแก้ว สถานีรีไซเคิล บ่อบำบัดน้ำเสีย และอีกสารพัด
แถมยังมีรถรับดูดสิ่งปฏิกูลแห่งเดียวของเกาะ เพื่อนำกลับมามักเป็นแก๊สเพื่อใช้ในรีสอร์ต ทำให้พื้นที่แห่งนี้น่าตื่นเต้นไปอีกขั้น ประกอบกับเปิดสาธิตให้กับนักเรียน และคนทุกกลุ่มที่อยากเรียนรู้
การจัดการที่ต้อง ‘เข้าใจง่ายที่สุด’ คือสิ่งที่ ต่อศักดิ์ เล่าว่าสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ไม่ใช่แค่เพื่อให้นักท่องเที่ยวร่วมมือ แต่กำลังหลักอย่าง ‘แรงงานข้ามชาติ’ ที่เป็นทั้งกำลังหลักในการทำงาน และผู้อาศัยกลุ่มใหญ่บนเกาะเต่า ต้องรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต และไม่ซับซ้อนจนไม่อยากทำตาม
“เขาบอกการคัดแยกขยะ แยก 3 ถัง 4 ถัง ของผมไม่คิดแบบนั้น แยกแค่ใช้ได้กับใช้ไม่ได้ก่อน แยกหลายถังคุณต้องการหวังอะไรล่ะ หวังความสะอาดความสวยงาม แค่แยกแค่ 2 ก็เพื่อขายและใช้ต่อ” ต่อศักดิ์ เล่า
เช่นเดียวกับ จุฑารัตน์ จิตมหา คุณครูโรงเรียนบ้านเกาะเต่า เล่าว่า การเป็นสถานศึกษาที่อยู่บนพื้นที่เกาะ ทำให้ ‘วิชาสิ่งแวดล้อม’ ที่เน้นพื้นที่ทางทะเล ถูกหยิบขึ้นมาพูดคุย
และความพิเศษ คือ ไม่ใช่แค่การปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการคัดแยก หรือการให้นักเรียนมีโอกาสร่วมลงมือปฏิบัติ ในกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ แต่พวกเขาเริ่มต้นจากสิ่งที่โรงเรียนทำได้ทันที
“เมื่อก่อนเวลาขนส่งวัตถุดิบทำอาหารกลางวันให้เด็ก ใช้กล่องโฟม แต่ตอนนี้ใช้กล่องที่ส่งไปส่งกลับได้ และหลังที่ส่งของ ขวด ก็ใช้วิธีการรีไซเคิล ถุงพลาสติกก็แยกไว้เพื่อร่วมโครงการทำรับซื้อไว้ทำพลังงาน”
ด้วยแนวทางเช่นนี้ ทำให้โรงเรียนเชื่อว่า จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะของเกาะเต่าได้จริง และต่อเนื่องระยะยาว
ท่ามกลางสถานการณ์ทั้งหมด จากการพูดคุยกับ ต่อศักดิ์ คุณครู และผู้ประกอบการบางราย สิ่งหนึ่งที่สะท้อนตามมาคือ พวกเขาต่างพึ่งพิง ‘ต้นทุนทางธรรมชาติ’ ของเกาะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น จึงห่วงแหนและยินดีให้ความร่วมมือ และด้วยศักยภาพพื้นฐานยังสามารถต่อยอดได้อย่างดี
[ควบคุม ‘ขยะของเรา’ ลดการรั่วไหล]
ราวปีเศษนับตั้งแต่ เอกนฤน อริยวงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนงานอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้จัดการโครงการ MA-RE-DESIGN ลดการใช้ การออกแบบที่ยั่งยืน และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ เขาและทีมงานยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งที่ผนึกกำลังกับ MARE-DESIGN, GIZ Thailand และ UNEP COBSEA ที่ช่วยผลักดันเชิงนโยบาย
ด้วยความซับซ้อนในทุกมิติของพื้นที่เกาะเต่า จากแรกเริ่มวางแผนโครงการไว้เพียง 2 ปี ถึงตอนนี้จำเป็นต้องขยายระยะเวลาต่อ เพราะไม่ต้องการพลาดหวัง กับเป้าหมายสูงสุดที่ต้องการ “ทำให้ขยะที่รั่วไหลลงสู่ธรรมชาติ ลดลงอย่างน้อย 30%”
เอกนฤน เล่าว่า ในการทำงานพวกเขาให้น้ำหนักกับศึกษาความจริงในพื้นที่มากที่สุด เพราะไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา และความทุ่มเททั้งหมด ทำให้พวกเขาค้นพบแล้วว่า ‘การเพิ่มศักยภาพให้กับผู้คน’ คือแนวทางการทำงานบนพื้นที่เกาะเต่า
หน้าตาของผู้คนบนเกาะเต่าคือใคร? นับเป็นคำถามเริ่มต้น เพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น แต่พื้นที่แห่งนี้ยังมีนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ คนทำงานที่จำนวนมากเป็นแรงงานข้ามชาติ และบุคลากรภาครัฐ เพื่อจะหาวิธีตอบโจทย์แต่ละกลุ่มให้ถูกต้อง
ตัวอย่างชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่นอกบริเวณที่ท้องถิ่นจะมีรถขยะเก็บครอบคลุมถึง ทางโครงการจึงเริ่มต้นร่วมมือกับเทศบาล เพิ่มรถที่จะใช้เก็บ ‘ขยะอินทรีย์’ เพราะจะทำให้การคัดแยกในขั้นตอนถัดๆ ไปสะดวกขึ้น เป็นต้น
ต่อเนื่องถึงฝั่งผู้ประกอบการ ที่จำนวนหนึ่งเสนอตัวร่วมมือตั้งแต่ต้น และยินดีดำเนินธุรกิจตามข้อแนะนำ จึงคาดหมายได้ว่าสิ้นปี จะสามารถลดปริมาณขยะได้ถึง 40 ตันต่อปี เป็นพื้นฐาน ก่อนจะขยับมองหาพันธมิตรอื่นๆ เพิ่มเติม ขยะเดียวกัน หากธุรกิจใดเสนอโครงการเฉพาะกิจ เช่น การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็สามารถยื่นขอสนับสนุนในเชิงสิ่งของได้
มาถึง ‘เทศบาล’ ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่ร่วมรับผิดชอบปัญหานี้โดยตรง MARE-DESIGN จึงวางแผนเพิ่มศักยภาพใน 3 ส่วนหลัก คือ
- วางโครงสร้างระบบจัดการขยะ เช่น การเพิ่มระบบขนส่ง รูปแบบการคัดแยก ประสานการรับต่อ เป็นต้น
- สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ
เอกนฤน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เป็นรูปธรรมเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ อย่างที่กล่าวถึงเตาเผาขยะที่สุดท้ายต้องเลิกใช้ไป ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการรักษามาตรฐาน และทำนุบำรุง เทคโนโลยีการจัดการขยะ บางส่วนจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ หลายพื้นที่จึงเลือกใช้วิธีให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน (operate) ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนแบบ PPP
- ทำระบบจัดการขยะอินทรีย์ เช่น การใช้หนอนแมลงวัน ที่ต้องคำนึงถึงวิธีจัดการปลายทาง เป็นต้น
“ขยะทางทะเลควบคุมยาก เกาะเต่ายังเคยพบบรรจุภัณฑ์จากต่างประเทศเลย ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ ควบคุมขยะของเรา”
[ปัญหาร่วมของเกาะท่องเที่ยว วกกลับสู่ ‘กับดักวิธีงบประมาณรัฐ’]
เป็นที่รู้กันดีว่า ช่วงสุญญากาศทางการเมือง ย่อมทำให้การเดินหน้าทำงานหลายอย่างหยุดชะงัก จึงไม่แปลกที่การเข้ามาของนายกเทศบาลตำบลเกาะเต่าคนใหม่ อย่าง อภิชาติ มาพร้อมโจทย์ใหญ่ที่รออยู่
สิ่งหนึ่งที่ต้องย้ำอีกครั้งคือ เกาะเต่ามีนักท่องเที่ยวแตะหลักแสนต่อเดือน และประชากรแฝงที่เป็นแรงงานข้ามชาติอีกหลักหมื่นคน ยังไม่นับร่วมผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวแล้วอยู่เกินกว่ากำหนด
ทว่า ประชากรตามสถิติการบริการด้านการทะเบียนราษฎร ปี 2567 มีเพียง 2,531 คน
ผลที่ตามมาคือ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และจัดการทรัพยากรในพื้นที่ ไม่สอดคล้องกับประชากรจริง เนื่องจาก ‘การจัดสารงบประมาณภาครัฐ เหมาจ่ายตามรายหัวประชากร’
“งบประมาณที่เราได้มาจากรัฐบาลกลาง ที่เราเรียกว่า ‘เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เงินอุดหนุนทั่วไป’ ไม่เพียงพอในการจัดการพื้นที่ เหมือนเราเตี้ยอุ้มค่อม มีประชากรแฝงเยอะ ทั้งนักท่องเที่ยว แรงงาน”
อภิชาติ อธิบายว่า บริบทก่อนเงินที่เอามาพัฒนาท้องถิ่น มาจากภาษีและรายได้ ซึ่งเป็นภาษีที่ผู้ประกอบการจ่ายตรงให้ส่วนกลางในรูปแบบภาษีนิติบุคคล และภาษีบุคคลธรรมดา ก่อนจะถูกจัดสรรกลับไปให้ท้องถิ่นตามรายหัวประชากร ซึ่งอาจไม่ใช้วิธีจัดการงบประมาณที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเกาะเต่า รวมถึงพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ
เป็นที่มาของข้อเสนอ ของการจัดเก็บงบนอกเหนือจากที่รัฐกำหนด แต่ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมาย อย่าง ‘การร่วมจ่าย’ ที่ผ่านมามีรายได้บางส่วนให้ท้องถิ่นตรง คือที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และภาษีป้าย ที่ยังเก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทำไมถึงไม่สามารถจัดเก็บได้ 100%? คือคำถามที่เราสงสัย ก่อนจะได้คำตอบว่า “สมัยก่อนเป็นระบบสังคมพี่น้อง เหมาจ่าย อนาคตถ้าเราใช้บังคับได้ชัด และทำให้ทุกคนยอมรับได้ว่าภาษีที่เทศบาลเก็บ จะเอาไปพัฒนาท้องถิ่นเต็มที่”
นี่เป็นสิ่งที่ นายกเทศบาลตำบลเกาะเต่า กล่าวกับเราอย่างมั่นใจ ว่าจะทำให้เกิดขึ้นจริง และเชื่อมั่นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหา ‘ขยะเกาะ’ และ ‘ขยะทะเล’ ภายในเกาะเต่าคลี่คลายตามลำดับ
สำนักข่าว TODAY
สำนักข่าวออนไลน์ เปิดความรู้ ดูทูเดย์
#สำนักข่าวทูเดย์