10/03/2025
"พื้นบ้าน-พาณิชย์ ผลประโยชน์และข้อเรียกร้องย่อมแตกต่างกัน"
- วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย-
ในการดำรงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านทั่วโลกมีความแตกต่างอย่างเด่นชัดกับ ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์
ในการเคลื่อนไหวภาคประชาชนทุกประเทศที่ผมเจอและพอรู้จัก มีขบวนการของชาวประมงพื้นบ้าน ในชื่อเรียกและสถานะแตกต่างกัน
ในชาติที่ค่อนข้างมีการพัฒนาการทางการประมงมากหน่อย จะแยกพิจารณาและให้สิทธิบทบาท Small scale fisher กับ Fishing operator กันชัดเจน
ถ้าในชาติที่ กำลังพัฒนา และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มักพบเห็น ในทวีปเอเชีย, ทวีป อัฟฟริกา, อเมริกาใต้ ค่อนข้างเยอะสุด (รวมประเทศไทย) จะมี ทั้ง Artisanal fisher, Small scale fisher และ Fishing operators (ชาวประมงพื้นบ้าน, การประมงขนาดเล็ก และ การประมงพาณิชย์)
ในหลักการสากล มีความพยายามศึกษาค้นคว้า และชี้แนะแนวในการช่วยเหลือ แก้ปัญหา และให้การสนับสนุนคุ้มครองผู้คนในสังคมที่เกี่ยวข้องกับวิถีประมงมากมาย
โดยหลักการที่ยอมรับกันทั่วไป คือ "หลักการสิทธิมนุษยชน" โดยพบว่า ผู้ที่มีความเปราะบางสุด คือ กลุ่มประมงพื้นบ้าน และประมงขนาดเล็ก ดังนั้น การพิจารณาในการให้การช่วยเหลือ แก้ปัญหา และคุ้มครอง เฉพาะกลุ่ม ด้วย มาตรการที่แตกต่างกัน เป็นหลักสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง
หลักการการประมงอย่างรับผิดชอบ (Code of conduct on Fisheries) เป็นหลักการสากลที่ขับเคลื่อนโดย "องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ" (FAO) หลักการนี้เรียกร้อง ให้ผู้เกี่ยวข้องกับการประมง(การจับปลา) ทั่วโลก ต้อง อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ
พูดบ้านๆง่ายๆ คือ "พวกมึง คิดอยากจะจับบัก ห...า กันตามใจ" ไม่ได้
และเมื่อปี 2557 (คศ.2014) "คณะกรรมการการประมงโลก" (Commitee Of Fisheries-COFI) ซึ่งเป็นกลไกระหว่างประเทศ ในFAO -UN ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย ได้มีมติเห็นชอบ "แนวทางการสนับสนุนการประมงขนาดเล็กฯ " (VGSSF) ที่ทุกประเทศสมาชิกUN ควรนำไปปฏิบัติใช้
ในแนวทางนี้ บันทึกบริบท อธิบายที่มา บรรยายว่า การประมงพื้นบ้าน การประมงขนาดเล็ก ไว้อย่างชัดเจน และ เสนอแนวทางกลยุทธ ที่สามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติ ไว้ครอบคลุมทุกมิติ การคุ้มครองตั้งแต่วิถีชีวิต ที่อยู่อาศัย -สนับสนุนการเข้าถึงอย่างเป็นธรรม -การผลิตที่ยั่งยืน ไปจนถึง การส่งเสริมการตลาด
ผมจำได้ว่า เรียกร้องและบันทึกไว้ชัดเจนกระทั่งประเด็นว่า "แม้นในกรณีที่มีสงครามรบพุ่งในแผ่นดินใดก็ตาม ก็ไม่อาจล้มล้างสิทธิของชาวประมงพื้นบ้านที่จะจับปลาจากแหล่งน้ำมากินมาใช้ตามวิถีชีวิต"
ในหลักการนั้น กล่าวไว้ชัดเจน ว่า ชาวประมงพื้นบ้าน ชาวประมงขนาดเล็ก จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาช่วยเหลือ สนับสนุน และมีมาตรการที่แยกไว้เป็นการเฉพาะ ที่แตกต่าง
หลักการสิทธิมนุษยชน และหลักการว่าด้วยการทำงานสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านที่ยอมรับกันทั่วโลก เรียกร้องให้ นักการเมือง รัฐ ต้องพิจารณามอง และให้การสนับสนุน "ชาวประมงแต่ละกลุ่ม" แตกต่างกันตามเงื่อนไขและปัจจัย
จะอย่างไรก็แล้วแต่ รัฐ และนักการเมือง จะต้องให้การคุ้มครอง "ชาวประมงพื้นบ้าน" "ชาวประมงท้องถิ่น" และประมงขนาดเล็ก
การส่งเสริมให้มีสหภาพ มีการรวมกลุ่ม ตั้งองค์กรชาวประมงพื้นบ้านเป็นเอกเทศ เป็นหลักประกันพื้นฐาน ที่จะทำให้ได้ยินเสียงของพวกเขา เสียงเขาดังขึ้น ไม่ใช่ถูกกลบอื้ออึงไปด้วยข้อเรียกร้องของเหล่าผู้ประกอบการ
เปรียบเทียบตามภาษาผม ก็คือ "อย่าใจอำมหิตด้วยการเลี้ยงงูเหลือมไว้กรงเดียวกับลูกไก่"
ผมจึงไม่เห็นด้วยกับใครก็ตาม โดยเฉพาะ ผู้มีอำนาจ รัฐ เถ้าแก่เรือ และนักการเมือง ที่ชอบเล่นคำสวยหรู "ชาวประมงทุกคนคือพวกเดียวกัน พาณิชย์-พื้นบ้าน ไม่แยกกัน" เพราะ ความคิดแบบนี้ คือ รากฐานของความคิดกดขี่ แล้วขูดรีด
แต่มันก็ไม่ใช่ทุกเรื่อง เช่น ในกรณีที่มีปัญหาร่วมกัน ประมงพื้นบ้าน-พาณิชย์ ก็สามารถมีจุดร่วมเดียวกันได้ เช่น ทะเลตะวันออก มีมลพิษอุตสาหกรรมเยอะ , กลุ่มที่จับปลา ทั้งประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ ก็อาจเป็นแนวร่วมกัน ในการต่อสู้เรียกร้องร่วมกัน ได้ในเรื่อง นั้นๆ
แต่ ทำอย่างไร ไม่ให้ เกิดการ "หงำกัน" หรือ "มีอิทธิพลเหนือ" จน คนตัวเล็กโงหัวไม่ขึ้น /
อย่าให้ กลายเป็นว่า ประมงพื้นบ้าน ไม่กล้า มีความเห็นต่าง ในเรื่องกติกาการประมง เพราะ กลัวว่า "ประมงพาณิชย์" ซึ่งมีบารมีอิทธิพลทางสังคมมากกว่า จะไม่ช่วยเรื่องมลพิษ
การเลี้ยงงูเหลือมในกรงเดียวกับลูกไก่ แล้วเรียกร้องให้ทั้งสองรักกัน, ฉันใด
ให้ ชาวประมงพื้นบ้านอยู่รวมกลุ่มเดียวกันกับผู้ประกอบการประมง มีข้อเรียกร้องเดียวกัน
ก็ฉันนั้น ...
#สื่อเถื่อน #ประมงพื้นบ้าน #สมาคมรักษ์ทะเลไทย #สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย #เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย