23/06/2025
The Keys Effect EP.1 K‑Ration อาหารจากสนามรบ สู่ประตูแห่งอำนาจ
ถ้ามีใครสักคนเดินเข้ามาหาเฮีย แล้วพูดด้วยสีหน้าเรียบนิ่งว่า "ผมอยากรู้ว่าถ้าคนเราไม่กินอะไรเลยสักหลายเดือนจะเกิดอะไรขึ้น" เฮียคงคิดว่าคนคนนี้คงจะบ้า...
แต่ในประวัติศาสตร์ของวงการโภชนาการ มีอยู่หนึ่งคนที่ตั้งคำถามนี้ขึ้นมา และเขาไม่ใช่บ้า แต่ฉลาดจนเปลี่ยนโลกได้
เขาคือ Ancel Benjamin Keys หรือ Ancel Keys
ในยุคที่สงครามโลกครั้งที่สองยังคุกรุ่นและคำว่า "nutrition science" ยังเป็นเพียงหมวดเล็กๆ ในมหาวิทยาลัย ชายชาวอเมริกันคนนี้ กลับเดินหน้าตรงเข้าหาคำถามที่ไม่มีใครกล้ามองนั่นคือ
"คนอดอาหารจะตายอย่างไร?"
ไม่ใช่เพราะเขาโหดเหี้ยม แต่เพราะเขาเห็นว่า หากโลกกำลังเดินเข้าสู่หายนะ อาหารอาจเป็นความหวังสุดท้าย
Ancel Keys เติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางในโคโลราโด ก่อนจะย้ายไปอยู่แคลิฟอร์เนียในวัยเด็ก เขาเป็นเด็กเรียนดี สนใจวิชาหลายแขนงแบบจับฉ่ายจนใครก็เดาไม่ถูกว่าจะเอาดีทางไหนกันแน่
เขาเริ่มต้นการศึกษาที่ University of California, Berkeley โดยเรียนสาขาเคมี แต่รู้สึกไม่พอใจนัก จึงพักการเรียนชั่วคราวและออกไปทำงานเป็นช่างน้ำมันบนเรือ SS President Wilson ของบริษัท American President Lines ซึ่งพาเขาเดินทางไปถึงจีน ก่อนจะกลับมาเรียนต่อที่ Berkeley อีกครั้ง แต่เปลี่ยนสายไปเรียนเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ จบปริญญาตรี (B.A.) ในปี 1925 และต่อด้วยปริญญาโท (M.S.) สาขาสัตววิทยาในปี 1928
หลังเรียนจบ เขาทำงานเป็นนักฝึกงานด้านการจัดการที่ Woolworth's อยู่ช่วงสั้น ๆ จากนั้นจึงกลับเข้าสู่วงการวิชาการอีกครั้ง ด้วยทุนไปศึกษาที่ Scripps Institution of Oceanography ใน La Jolla
ในปี 1930 Keys ได้รับปริญญาเอก (Ph.D.) สาขาสมุทรศาสตร์และชีววิทยา จาก UC Berkeley และได้รับทุนจาก National Research Council ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมที่ห้องแล็บ Zoophysiological Laboratory ของ August Krogh ในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งที่นั่นเขาได้ทำวิจัยเกี่ยวกับสรีรวิทยาของปลา และตีพิมพ์งานวิจัยหลายฉบับ
หลังหมดทุน เขาเดินทางต่อไปยังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) แต่ก็แวะไปสอนที่ Harvard University ชั่วคราว ก่อนจะกลับไปยัง Cambridge อีกครั้ง ศึกษาระดับสูงต่อด้านสรีรวิทยาที่ Cambridge ซึ่งบางแหล่งเรียกว่าเป็น Ph.D. ใบที่สอง
มีข้อมูลว่าเขาเคยไปทำงานวิจัยระยะสั้นที่ยุโรปจริง เช่น Cambridge, Basel, Copenhagen แต่ไม่มีหลักฐานว่าไป “อย่างเป็นทางการ” หรือในฐานะ postdoc ตำแหน่งหลักๆ ส่วนมากระบุแค่ "worked briefly at Cambridge" มีดีกรีมากพอจะเป็นอาจารย์เงียบๆ จบชีวิตที่ห้องแล็บ แต่ Keys ไม่ต้องการใช้ชีวิตแบบนั้น เขามีความหลงใหลในคำว่า “รอดชีวิต” มากเป็นพิเศษ
เขาไม่เคยหยุดหาคำตอบว่า "คนจะรอดชีวิตได้อย่างไรในสถานการณ์เลวร้าย" “ร่างกายจะรับมือสถานการณ์สุดขีดอย่างไร”
ในช่วงทศวรรษ 1930s Keys ศึกษาทุกเรื่องเกี่ยวกับการปรับตัวของร่างกาย โดยเฉพาะในภาวะที่อาหารขาดแคลน เขาเคยปีนเขาในเปรู ดำน้ำในอิตาลี ใช้ชีวิตกับชาวประมงและเผ่าพื้นเมือง เพื่อศึกษาอาหารที่ไม่อุดมสมบูรณ์ เขาสังเกตว่าคนที่กินน้อยบางคนอายุยืน และบางคนที่อดอาหารไม่นานกลับพังทั้งร่างกาย
จังหวะฟ้าประทาน
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้จะปะทุขึ้น รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มเกณฑ์ชายหนุ่มเข้ากองทัพ และจัดหาเสบียงให้กองกำลังทั่วโลก เริ่มเตรียมบทเรียนสงครามใหม่ โดยเฉพาะการเคลื่อนพลอย่างรวดเร็ว พลร่ม รถถัง และพลลาดตระเวน แต่ "อาหารสำหรับทหารเคลื่อนที่" ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เพราะกระป๋องที่หนัก น้ำหนักถ่วง ย่อยสลายช้า หรืออาหารปรุงสด แต่ต้องมีครัวและยังต้องพึ่งพาระบบขนส่งสินค้าที่ซับซ้อน
เขาได้รับการติดต่อจาก War Department/Quartermaster Corps ด้วยเหตุผลว่าห้องแล็บของเขาที่ University of Minnesota มีผลงานเรื่อง “physiological resilience” ที่สอดคล้องกับโจทย์สงคราม มหาวิทยาลัย Minnesota ได้รับทุนจากรัฐบาลให้มาวิจัยว่า “อาหารสำหรับทหารควรเป็นอย่างไร” แม้บาดแผลสำคัญคือ Keys ไม่ใช่ทหาร ไม่มียศ และไม่มีตำแหน่งราชการ แต่เขามีความรู้เชิงลึกด้านร่างกายมนุษย์ในสภาวะสุดขีด และมีผลงานวิชาการที่หนักแน่นจากการศึกษามาอย่างดีทั้งสภาพภูเขาและใต้ทะเล ซึ่งทำให้โครงการวิจัยของ War Department เห็นว่า "เขาเข้าใจเรื่องสุขภาพแบบไม่เหมือนใคร" จึงให้ Keys เข้าไปคุยและนำเสนอแนวคิด
ความคิดของเขาในตอนนั้นชัดเจนมาก "อาหารสนามรบต้องเบา พกง่าย ไม่เสียง่าย กินเร็ว และให้พลังงานทันที"
ความฉลาดของ Keys คือเขาเลือกใช้คนที่จริงจังและทำได้จริง ขั้นตอนแรกของการพัฒนาไม่ได้เริ่มจากห้องทดลองล้ำๆ แต่เขาและเจ้าหน้าที่ของ War Department และ Quartermaster Corps เดินไปยัง "ร้านของชำสมัยใหม่" (grocery store) ใกล้มหาวิทยาลัย Minnesota เพื่อคัดเลือกสินค้าง่าย ๆ แต่ให้พลังงานสูง เช่น แครกเกอร์ไแห้ง ชีสแห้ง เนื้อสัตว์อบแห้ง ลูกกวาด และช็อกโกแลต ซึ่งแนวคิดนี้ง่ายแต่ทรงพลัง เพราะมันเป็นการออกแบบให้ใกล้กับชีวิตจริงของทหาร มาจากจินตนาการเรียบง่ายว่า “ของที่หาซื้อง่าย ต้องกินได้จริงในสนาม” มันชัดเจนว่ารสชาติไม่ใช่ประเด็น แต่เรื่อง ต้นทุน, พลังงาน และการใช้งานได้จริง คือหัวใจ
สิ่งนี้ทำให้กองทัพเกิดโอกาสเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลและเชิญให้ร่วมคิดค้นผลิตภัณฑ์ในกล่อง เช่น Nabisco, Sunshine, Hershey's ผลคือ K‑Ration กลายเป็นกล่อง “สปอนเซอร์ร่วม” ช่วยสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยง Keys เข้ากับอุตสาหกรรมอาหารทันที รวมถึงการริเริ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปอย่างใหญ่โตด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเนื้อสัตว์อบแห้ง ไข่แดงผง ไข่ขาวผง การแปรรูปผักต่างๆ ให้กับหน่วยหลังด้วยเช่นกัน
หลังเลือกวัตถุดิบจากร้านของชำ Keys สร้าง prototype กล่องอาหาร 28 ออนซ์ (ประมาณ 800 กรัม) ต่อชุด ในขนาดที่สามารถใส่ได้ในกระเป๋าทหารหนึ่งคน โดยกินได้ 3 มื้อต่อวัน ครบจบในกล่อง โดยมีทั้งเวอร์ชัน Breakfast, Dinner และ Supperไม่ต้องปรุง ไม่ต้องแช่เย็น เก็บไว้ได้นาน เรียกภายหลังว่า K-Ration (มีการสันนิษฐานว่าอักษร K อาจมาจากชื่อของ Keys)
ในเวอร์ชันแรกสุดของ Keys เขาใช้กล้วยอบ แครกเกอร์ แยม ลูกเกด และเนื้อกระป๋อง
แล้วจัดส่งให้ทหารหกนายที่ Fort Snelling ทดลองกิน เพื่อวัดความอร่อยและให้คะแนนว่า “กินได้ ไม่อร่อยเกินไป แต่ช่วยลดหิว” ที่ทีม Keys บันทึกว่า ทหารให้ความเห็นว่า "better than nothing" งสะท้อนเป้าหมายของ K-Ration ได้ชัดเจนว่า “ใช้งานได้จริงในสนาม”
ต่อมาจึงขยายไปยัง Fort Benning ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกพลร่ม ทหารพลร่มทดลองและให้คะแนนเชิงบวก
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไม Keys คำนวนถูกต้อง
กำลังหลักของ K‑Ration คือการให้พลังงานเพียงพอต่อ “การเคลื่อนพลในสนามรบ” โดยเฉลี่ยต้องการแคลอรี 3,000–3,500 ต่อวัน Keys ใช้ความรู้ทางสรีรวิทยาเรื่องเมตาบอลิซึ่มที่เขาสะสมจากการศึกษาสภาพ Extreme Conditions เช่น สูงและความหนาว รวมถึงจากงานในห้องแล็บที่วัดความต้องการพลังงานของร่างกายมนุษย์ เขาจึงเข้าใจว่าร่างกายมนุษย์กลางภารกิจต้องใช้พลังงานเท่าไหร่ โปรตีนเท่าไร จึงออกแบบให้ K‑Ration ประกอบด้วยอาหารที่มีแคลอรีประมาณ 2,800 kcal/วัน ใน K-Ration 3 มื้อ และโปรตีนประมาณ 70–80 กรัม/วัน นี่คือพลังงานที่จำเป็นจริงตามความต้องการของร่างกายทหารบนสนามรบระยะยาว
แต่แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้นักโภชนาการเก่งๆก็น่าจะทำได้ใช่ไหมครับ
สิ่งที่ทำให้ Keys แตกต่างจากคนอื่นๆคือ สกิลการสื่อสารและบุคลิกที่ดี เขาไม่มีความเป็นนักวิชาการซีเรียสหนัก แต่กลับฉลาดเลือกใช้คำพูดให้เข้าถึงใจทั้งทหารและผู้มีอำนาจ เขาไม่ติดกับศัพท์วิจัย เขาอธิบายภาพรวมก่อน แล้วใส่ข้อมูลทีละเลเยอร์
เขาพูดถึงกล่อง K‑Ration ว่า
“กล่องนี้ช่วยให้ทหารเดินได้ และ เพิ่มประสิทธิภาพการรบ”
เชร้ดดดดโด้ เหมือนขายไอเดียผ่านเส้นด้ายแห่งอารมณ์ แถมด้วยข้างในจะมีข้อมูลเชิงลึกของชีววิทยาและโภชนาการรองรับรวมกับคอมเมนท์ของทหารจากการทดสอบที่ว่า "better than nothing" ทำให้ตอกตะปูปิดจ๊อบได้สะดวกขึ้นมาก
ในห้องประชุมระดับสูงหรือ War Department แทนที่เขาพูดถึงตัวเลขมาเป็นชุดๆแล้วพาลจะทำให้ผู้บริหารกองทัพปวดหัวขมวดคิ้วเสียเปล่าๆ เขาเริ่มต้นจากภาพเดียวที่ทุกคนเข้าใจ เป็นภาพตัวอักษรที่บอกว่า
“ทหารที่หิว คือทหารที่แพ้”
“อาหารคือการเสริมกำลังใจ… ไม่ใช่แค่พลังงาน”
มันทำให้เขากลายเป็นมากกว่านักโภชนาการเขาเป็น “นักวางยุทธศาสตร์ด้านพลังชีวิต”
นี่ยังไม่รวมการเว้นระยะเล่าเรื่องอย่างชาญฉลาดทำให้เขากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ “พูดไม่มาก แต่ผลสะท้อนกลับมาชัด” คนมีอำนาจตัดสินใจสามารถตัดสินใจได้ง่าย โดยเฉพาะ Prototype ที่เห็นภาพชัดเจน เป็นกล่องเล็กๆ 1 กล่องสำหรับ 1 มื้อใส่ครบทุกอย่างในมื้อนั้น ด้วยขนาดที่สามารถใส่กระเป๋าเสื้อของทหาร ออกไปลุยในสนามรบได้ โดยไม่ต้องมีขวดถ้วยถังกะละมังหม้อใดๆ ขนาดเล็กประมาณ 5 x 4 x 2 นิ้ว พอจะพกพาในกระเป๋าสะพายสนามของทหารได้สบายๆ
เมื่อทดสอบจริงจนทหารยอมรับและประกาศว่าสามารถใช้แทนมาตรฐานเดิมได้ ทำให้ Department of War มองว่ามันคือ “ทางเลือกที่ใช้งานได้จริง” ในปี 1942 ก็ผลิตออกมากว่า 100 ล้านชุดและนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ประกอบด้วยข้าวเช้า กลางวัน เย็น และรวมบุหรี่, ลูกอม, ซองน้ำรส และถุงขนมปริมาณเล็กน้อย โดยมี Keys เป็นหนึ่งในผู้คุมทิศทางเบื้องหลัง
แม้จะมีเสียงบ่นเรื่องโภชนาการไม่ครบถ้วน แต่ในยุคนั้นมันคือจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยเคลื่อนทหารให้ถึงแนวรบลดภาระโลจิสติกส์ ไม่เกี่ยวกับรสชาติหรือโภชนาการว่าจะครบถ้วนหรือไม่ ถ้ากองทัพไปต่อได้ คือถูกต้อง รวมถึงที่ปานามาเพื่อทดสอบป่าร้อน ผลการทดลองส่งผลให้กองทัพปรับลด Mountain & Jungle Ration และหันมาใช้ K‑Ration เป็นหลักในปี 1943–1945
K‑Ration อาจดูธรรมดา แต่ผลกระทบในสนามจริงชัดเจนทหารที่ถูกใช้งานหนักในภูเขาหรือป่าร้อนต้องเดินลุยเกิน 20–30 กิโลเมตรต่อวัน ไม่ต้องห่วงเรื่องอาหารสะดวกสบายอีกเลย มันกลายเป็น อาหารที่ให้พลังงานทันที ไม่มีการปรุง และช่วยลดภาระการแบกอาหารไปในสนามรบเป็นอย่างมาก ละเมื่อสงครามโลกยืดเยื้อ กองทัพก็ยิ่งพึ่งพาความรู้ของเขา
ถึงรสชาติจะไม่ได้หรูหรา แต่ทหารใน Normandy, Italy หรือป่าร้อนในแปซิฟิก ต่างพูดตรงกันว่า มันช่วยชีวิตได้ เพราะไม่ต้องห่วงเรื่องอาหารจึงโฟกัสกับภารกิจได้เต็มที่ นี่คือพลังแกนกลางของวิทยาศาสตร์ฉุกเฉินที่ใช้ได้จริงของ Ancel Keys
K‑Ration กลายเป็นดีลระดับโลกมากกว่าแค่ชนะใจทหาร เพราะทำให้ Keys กลายเป็นคนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่เจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้ที่เข้าใจปัญหาอาหารสนามรบมากที่สุด รัฐบาลเริ่มมอง Keys ว่า "คนนี้ไม่ธรรมดา" เขาไม่ได้แค่เสนอสูตรอาหาร แต่เขาวิเคราะห์ระบบการกินของคนในสภาวะสุดโต่งได้แม่นยำ นั่นทำให้เขาได้รับบทบาทใหม่ ที่ปรึกษาด้านโภชนาการของกองทัพ อย่างไม่เป็นทางการ
เขากลายเป็น “นักวิจัยที่รัฐไว้ใจ”
ทำให้แม้ว่าเขาไม่ต้องติดอาวุธ ไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในกระทรวงกลาโหม ก็ได้รับเชิญเข้าห้องประชุมนโยบายของ War Department USDA และ Office of Strategic Services ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของ CIA ในอนาคต เขาทำหน้าที่แบบไม่เป็นทางการ แต่ชื่อเขาปรากฏในรายงานและหนังสือของกองทัพกระทรวงกลาโหม และเริ่มถูกเชิญไปพูดในงานระดับชาติเกี่ยวกับโภชนาการและอาหารสงคราม
Keys กลับกลายเป็นผู้ชนะในเกมอำนาจด้าน nutrition science เขากลายเป็นเสียงสำคัญในสำนักงานของ War Department และหน่วยงานพันธมิตรระดับชาติ ที่ไม่มีใครปฏิเสธเสียงของเขาได้ ไปเรียบร้อยแล้วครับ
K‑Ration คือบัตรผ่านที่ทำให้ Ancel Keys ก้าวเข้าสู่โลกของอำนาจรัฐโดยไม่ต้องมีตำแหน่งทางราชการ เขาพิสูจน์ว่า “นักวิจัยภาคสนาม” สามารถกำหนดนโยบายด้านอาหารได้ และเมื่อสงครามดำเนินไป รัฐบาลให้ Keys ขับเคลื่อนโครงการสำคัญอย่าง Minnesota Starvation Experiment ซึ่งเป็นพื้นฐานการฟื้นฟูยุโรปหลังสงคราม
ใครคุมอาหาร คนนั้นคุมโลก
โปรดติดตามตอนต่อไป
#กูต้องรู้มั๊ย #ม้วนหางสิลูก