
25/02/2025
BIZ: คนรวยด้วยฝีมือตัวเองแนะ
ถ้าอยากให้ลูกมีทัศนคติการเงินที่ดี
อย่าบอกลูกว่า “เราไม่มีเงินซื้อ”
แต่ให้สอนว่า “ทำไมเราไม่ควรซื้อ”
เวลาพูดถึงทักษะด้านการเงินการลงทุน คนจำนวนไม่น้อยก็มักจะไม่ค่อยรู้วิธีการลงทุนที่เหมาะสม และคนอีกไม่น้อยก็มักจะบอกว่านี่เป็นสิ่งที่ 'ควรจะมีสอนในโรงเรียน' อย่างไรก็ดี ถ้าขุดลงไปอีก หลายคนก็จะพบว่าบางทีสิ่งเหล่านี้มันมีพื้นฐานมาจากการเลี้ยงดูในครอบครัว
และหลายคนมักจะคิดว่าคนที่บริหารเงินเก่งนั้น 'พ่อแม่สอนมาดี' ในเชิงเทคนิค ทั้งที่จริงๆ บางทีมันอาจเป็นเรื่องของทัศนคติเสียมากกว่า โดยรามิต เซติ ผู้เป็นเศรษฐีจากน้ำพักน้ำแรงตัวเองนั้น ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขาชื่อ ‘Money for Couples’ ได้อย่างน่าสนใจ
เซติบอกว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่จะไม่สอนลูกเรื่องเงิน และเวลาพูดกับลูกเรื่องเงิน ก็จะพูดกับลูกในประเด็นว่า 'เราไม่มีเงินซื้อ' อะไรต่างๆ ที่ลูกอยากได้ ซึ่งสำหรับเด็ก ถ้าเขาได้รับการตอกย้ำสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ เขาก็จะมีทัศนคติที่ 'ไม่ดี' ต่อเงิน คือเขาจะไม่กล้าใช้เงินไปกับสิ่งที่ชอบ ทั้งๆ ที่บางทีเขาอาจมีเงินมากเพียงพอแล้ว
กลับกัน เซติยังบอกอีกว่านั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องซื้อทุกอย่างที่ลูกอยากได้ ประเด็นคือ เราต้องทำให้ลูกเข้าใจว่าทำไมเราถึงจ่ายเงินกับสิ่งหนึ่ง แทนที่จะเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่น ถ้าลูกอยากกินขนมแพงๆ แทนที่จะบอกว่าเราไม่มีเงินซื้อ เราก็ต้องอธิบายว่า 'บ้านเรา' ไม่จับจ่ายกับอะไรที่ไม่มีประโยชน์อย่างขนม แต่บ้านเราพร้อมจะจับจ่ายกับผักผลไม้แทน เป็นต้น
ประเด็นคือเราต้องไม่สร้างความเข้าใจกับลูกว่าเราไม่ซื้อสิ่งต่างๆ เพราะเรา 'ไม่มีเงิน' แต่เราเลือกจะใช้เงินกับสิ่งต่างๆ เพราะมัน 'มีประโยชน์' มัน 'เป็นวิธีของบ้านเรา' หรือกระทั่งเพราะ มัน 'จะสร้างรายได้ให้กับเราต่อไปในอนาคต' เป็นต้น
หรือพูดสั้นๆ ก็คือ อย่าเน้นสอนเหตุผลในการไม่ใช้เงินกับลูก เท่ากับสอนเหตุผลในการใช้เงินกับสิ่งต่างๆ
ในทางปฏิบัตินี่หมายถึงการไม่พยายามให้ลูกรู้สึกว่าอะไรมัน 'แพงเกินกว่าจะซื้อ' แต่ให้ลูกมีความรู้สึกว่า 'ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อ' กับสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ไปพร้อมๆ กับให้ลูกมีความเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นที่ต้องจ่ายเงินซื้อ ไม่ว่ามันจะแพงแค่ไหน เช่น เราต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าค่าเงินผ่อนบ้าน รวมถึงค่าน้ำค่าไฟมันแพง (แม้ว่ามันจะแพงจริงๆ) แต่ให้ลูกมีความเข้าใจว่า ถ้าเราไม่จ่ายเงินไปกับสิ่งเหล่านี้ เราก็จะไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ลูกก็จะไม่มีที่เล่นวิดีโอเกม เป็นต้น
ทั้งนี้ การสอนลูกเรื่องการเงินก็ไม่ใช่แค่สอนในภาคทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติการให้ลูกมีส่วนร่วมในการคิดคำนวณเรื่องเงินภายในบ้านก็เป็น 'บทเรียน' ที่ดี เช่นเราอาจตั้งงบสำหรับทริปครอบครัวไว้ และให้ลูกมีส่วนร่วมในการบริหารงบส่วนนี้ ให้ลูกเห็นว่าถ้าเราอยากได้สิ่งหนึ่ง เราก็จะเสียอีกสิ่งไป และให้ลูกรู้จักเรียนรู้การบริหารงบ เพราะสุดท้าย ไม่ว่าคนจะรวยแค่ไหน ไม่มีใครมีเงิน 'ไม่จำกัด' ทั้งนั้น
ทั้งหมดนี้เป็นการปลูกฝังทัศนคติทางการเงินที่ดีให้กับเด็กในระยะยาว และมันจำเป็นอย่างยิ่งแน่ๆ สำหรับสังคมที่ไม่มีระบบ 'ประกันรายได้' ยามแก่ชราที่ดีอย่างอเมริกา และประเทศส่วนใหญ่ในโลก