01/06/2025
#สระแก้ว : สสจ.สระแก้ว เผยพบผู้ป่วยแอนแทรกซ์ รายแรก เตรียมส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ 2 มิ.ย.
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นพ.ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สระแก้ว เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์รายแรกของจังหวัด เป็นชาย อายุ 53 ปี อาชีพรับจ้างตัดไม้ มี ภูมิลำเนาอยู่ ตำบลท่าแยก อำเภอเมืองสระแก้ว ขณะนี้ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพัทยาปัทมคุณ จังหวัดชลบุรี
นพ.ธราพงษ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ด้วยอาการเป็นตุ่มแผลบริเวณศีรษะ ด้านหลังคอ แขน และขา และจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่า พบเชื้อ Bacillus anthracis ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคแอนแทรกซ์ และจากการ ซักประวัติพบว่า ผู้ป่วยมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ ดื่มสุราเป็นประจำทุกวัน และชอบบริโภคก้อย ซอยจุ๊ เนื้อดิบเป็นปะจำ ล่าสุดได้รับประทานเนื้อดิบเมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดว่าผู้ป่วยติดเชื้อจากการบริโภคเนื้อสัตว์ป่วยที่ไม่ได้รับการปรุงสุก
นพ.ธราพงษ์ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ ( 2 มิ.ย) ทีมสอบสวนโรคจากกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สสจ.สระแก้ว ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองสระแก้ว โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าแยกจะลงสอบสวนโรคเพื่อเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัสเชื้อ
นพ.สสจ. สระแก้ว กล่าวอีกว่าขอแจ้งเตือนประชาชน ในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้วและพื้นที่ใกล้เคียง หลีกเลี่ยงการสัมผัสโค กระบือ แพะ แกะ ที่ป่วยหรือตายผิดปกติ , ล้างมือและชำระล้างร่างกายหลังสัมผัสสัตว์ ,เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัย ,บริโภคอาหารที่ปรุงสุก ร้อน และสะอาดเท่านั้น ,หากพบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ ห้ามชำแหละสัตว์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที และหากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์
“โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ซึ่งสปอร์ของเชื้อมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและสามารถก่อให้เกิดโรคได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายปี แหล่งรังโรคหลักคือสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ แพะ และแกะ การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ การบริโภคเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุก หรือการสัมผัสกับหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่มีเชื้อ หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง มีแผลคล้ายบุหรี่จี้ หายใจขัด หายใจลำบาก หากมีอาการรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 80 ทั้งนี้ โรคแอนแทรกซ์ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คน” นพ.ธราพงษ์กล่าว
ที่มา : มติชนออนไลน์