27/06/2025
ประวัติการก่อสร้างโดยย่อของอาสนวิหารอัครเทวดาราฟาแอล
จ.สุราษฎร์ธานี
อาสนวิหารหลังใหม่นี้ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า และใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีและเพื่อการภาวนาของคริสตชน นอกจากนี้ อาสนวิหารอัครเทวดาราฟาแอล ยังเป็นวัดหลักหรือศูนย์กลางของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้พระสังฆราชประกอบพิธีสมโภชต่างๆ และยังเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจแห่งการสั่งสอน และปกครองในสังฆมณฑลของพระสังฆราชอีกด้วย
อาสนวิหารหลังนี้เป็นการสร้างขึ้นแทนอาสนวิหารหลังเก่าซึ่งได้สร้างขึ้นสมัยของพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ในในปี ค.ศ. 1962 และยกฐานะเป็นอาสนวิหารเมื่อปี ค.ศ. 1969 เสกและฉลองเมื่อปี ค.ศ. 1975 และเนื่องจากตัวอาคารมีสภาพเก่าและทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการใช้สอย ดังนั้นสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีภายใต้การนำของพระสังฆราชโยเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 เรื่อยมา โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง สัตบุรุษทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ได้ร่วมกันบริจาคเพื่อสร้างโบสถ์หลังใหม่นี้ด้วยใจยินดี
อาสนวิหารอัครเทวดาราฟาแอลออกแบบก่อสร้างโดยคุณมาโนช สุชชัย และคุณวันดี พืชผาทีมงานผู้ออกแบบโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ประการใด โดยมีบริษัทประดิษฐ์เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด สำหรับการก่อสร้างโครงสร้าง บริษัทปฐม อินทีเรีย คอนเทรค จำกัด สำหรับการตกแต่งภายใน บริษัท เอส.เอ็น. ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด สำหรับงานระบบแอร์ บริษัทโมเดิลฟอร์มสาขาสุราษฎร์ธานี สำหรับเฟอนิเจอร์สำนักงาน บริษัทแม็กโครแมชสำหรับงานระบบเสียง บริษัทชีฟาสำหรับงานไฟฟ้า และคุณธรรมรัตน์ ถนอมในเมืองผู้ออกแบบภายใน อาจารย์ระพี ลีละสิริและทีมงานรับผิดชอบงานศิลปะทั้งหมดภายในโบสถ์ และทีมช่างปั้นจากประเทศอินเดีย
แนวความคิดในการอออกแบบสถาปัตยกรรมของอาสนวิหารอัครเทวดาราฟาแอล ผู้ออกแบบได้นำแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม อันเนื่องมาจากพิธีกรรมและประโยชน์ใช้สอยมาผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อแนวคิดทั้งสองและมีลักษณะเฉพาะของอาคารที่เป็นศาสนสถาน โดยแนวคิดพิธีกรรมซึ่งพัฒนามาตั้งแต่การมีส่วนร่วมในพิธีบิขนมปังตั้งแต่ในสมัยแรกเริ่มของพระศาสนจักรเมื่อโบสถ์เป็น “บ้าน” ต่อมาพัฒนาจาก “บ้าน” มาเป็นมหาวิหาร และมหาวิหารไปสู่ “โบสถ์” ตามแบบสังคายนาเตร็นท์ จนถึง “โบสถ์” ในพิธีกรรมหลังจากพระสังคยานาวาติกันที่ 2 ซึ่งเน้นพระแท่นเป็นศูนย์กลาง และมีพื้นที่สำหรับสัตบุรุษผู้มาร่วมฉลองในพิธีและสามารถมองเห็นที่นั่งของประธาน มีบรรณฐานสำหรับเพื่อการประกาศพระวาจาของพระเจ้า และตำแหน่งกางวางตู้ศีลไว้ในสถานที่น่าเคารพและปลอดภัย ส่วนการนำแนวคิดอันเนื่องมาจากประโยชน์การใช้สอยให้มากที่สุด ได้มีการออกแบบโดยให้ตัวอาคารของอาสนวิหารมีพื้นที่เพื่อใช้สอยสำหรับงานอภิบาลของพระศาสนจักรท้องถิ่น ซึ่งจัดอยู่บริเวณด้านล่างของตัวอาคาร อาทิเช่น ห้องประชุมอเนกประสงค์ สำนักงานคุณพ่อเจ้าอาวาส ฯลฯ อันทำให้ตัวอาคารของอาสนวิหารมีความสูงและสง่างามมากขึ้น นอกจากนี้ยังนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ผสมผสานกับวัสดุสมัยใหม่เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ตอบสนองกับประโยชน์ใช้สอยและพิธีกรรมได้อย่างลงตัวอีกด้วย
สำหรับพระธาตุที่นำมาบรรจุยังพระแท่นศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ พระธาตุของนักบุญจำนวน 4 องค์
1. นักบุญฟิเดลิส แห่ง ซิกมาริงเกน (Saint Fedelis of Sigmarigen)
2. นักบุญฟรันเชสกา แห่งโรม (Saint Frances of Rome, Obl.S.B.)
3. มรณสักขีแห่งเวียดนาม เปโตร หยุง และ เปโตร ถวน ( Peter Dung and Peter Thun)
Cr.หอจดหมายเหตุอัครสังมณฑลกรุงเทพ