
11/07/2025
"รู้จัก - เข้าใจ" 6 ชนเผ่า/ชาติพันธุ์ ในภาคใต้
กลุ่มที่ 1 #ไทดำ หรือที่มีชื่อเรียกตนเองว่า ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทดำ ไทยทรงดำ ไตดำ โซ่ง
และมีชื่อที่ผู้อื่นเรียก คือ ลาวทรงดำ ผู้ไทยดำ ไทยดำ
"ไทดำ" มีถิ่นฐานดั้งเดิมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนามเหนือ เชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ จากนั้นได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรีต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5 คนกลุ่มนี้มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมจากรากฐานความสัมพันธ์ของระบบสายตระกูลและเครือญาติ มีความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษอย่างเข้มข้น มีเครือข่ายทางสังคมข้ามพรมแดนรัฐชาติ อีกทั้งเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและธำรงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็ง
“ไทดำ” เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่เริ่มถูกนำมาเป็นชื่อที่ใช้เรียกตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวในการฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมที่มีต้นกำเนิดจากดินแดนดั้งเดิมในเขตสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ต้องการเรียกชื่อของตนเองว่า “ไทดำ” ตามผู้คนและแหล่งกำเนิดดั้งเดิม ชื่อเรียกดังกล่าวจึงถูกใช้อย่างกว้างขวางและเป็นสากล สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำข้ามรัฐชาติเพื่อสร้างความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันในขณะที่ชื่อเรียกที่มีคำนำหน้าว่าลาว เช่น ลาวโซ่งหรือ
ลาวทรงดำ เริ่มถูกปฏิเสธเนื่องจากพวกเขายืนยันอัตลักษณ์การเป็นกลุ่มคนไท แต่เนื่องจากการถูกบังคับในย้ายถิ่นจึงได้เดินทางมาพร้อมกับกลุ่มลาวหลายกลุ่ม ทำให้ถูกเรียกอย่างเหมารวมว่าเป็นชาวลาว
กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาขร้าไท (Kra-Dai) สาขาตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Language Group) มีระบบภาษาเขียนเป็นของตนเองเรียกโดยทั่วไปว่า “โตสือไตดำ” (ตัวสือไทดำ) สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากตัวอักษรสมัยสุโขทัย ไทดำในประเทศไทย มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศเวียดนาม แถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงปัจจุบันอยู่ในเขตเวียดนามเหนือตอนเชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ เคยเป็นที่รู้จักในนามของสิบสองจุไทส่วนการเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. 2322 เป็นต้นมา ช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายครั้งสำคัญเข้าสู่ประเทศไทย 7ครั้ง คือ1) สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2322) 2) รัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ. 2335) 3) รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2378) 4) รัชกาลที่ 3กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2379) 5) รัชกาลที่ 3กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2381) 6) รัชกาลที่ 3กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2382) และ 7) รัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2429)
ในระยะแรกที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทย ชาวไทยดำได้รับอนุญาตในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเขตเมืองเพชรบุรี และได้ตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นจึงได้เริ่มโยกย้ายออกจากเพชรบุรี ไปตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ปัจจุบันพบชุมชนชาวไทดำอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และเลย
ในมิติสังคมและวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำถือเป็นกลุ่มที่มีความเข้มเข็งทางวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นจากความผูกพันในระบบสายตระกูลและเครือญาติและระบบผีบรรพบุรุษที่มีอยู่อย่างเข้มข้น แม้ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายแยกออกห่างจากถิ่นฐานดั้งเดิมมายาวนานกว่าสองร้อยปี แต่ชาวไทดำยังสามารถรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ร่วมกับชาวไทดำในภูมิภาคได้ชาวไทดำจึงเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและธำรงรักษาอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความเข้มแข็งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน..
ผู้เรียบเรียงข้อมูล : พิเชฐ สายพันธ์
ที่มาข้อมูล : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)..
ชวนมาสัมผัสและเข้าใจวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของ 6 ชนเผ่า/ชาติพันธุ์ให้มากขึ้น ในงาน "ชาติพันธุ์มั่นยืนในแผ่นดินใต้ด้วยกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์" ในระหว่างวันที่ 22 - 23 กรกฎาคม 2568
ณ ชุมชนไทดำ (วัดดอนมะลิ) ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี