The Isaan Record - Southeast

The Isaan Record - Southeast The Isaan Record - Southeast พื้นที่สื่อสารของคนอีสานใต้

เวียนบรรจบครบมาอีกปีสำหรับประวัติศาสตร์ผู้มีบุญ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี The Isaan Record - Southeast ชวนทบทว...
03/04/2024

เวียนบรรจบครบมาอีกปีสำหรับประวัติศาสตร์ผู้มีบุญ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี The Isaan Record - Southeast ชวนทบทวนหน้าประวัติศาสตร์แห่งลุ่มน้ำมูลอีกครั้งถึงทุ่งสังหาร การเมือง และขบวนการผู้มีบุญ ว่าวันที่ 4 เมษายน เมื่อ 123 ปี ที่แล้วเกิดอะไรขึ้น ณ อุบลราชธานี

4 เมษายน 2444 มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์คือการรบกันระหว่างผู้มีบุญกับรัฐสยาม นำไปสู่ความตายของ 300 ชีวิตที่ศึกโนนโพธิ์ บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี รวมทั้งเกิดการจับกุมคุมขังกวาดล้าง “กบฏ” ในสายตาของรัฐไทยครั้งใหญ่ ฐานที่แข็งขืนและต่อต้านอำนาจราชอาณาจักร เรื่องนี้ถูกสื่อสารมาสักพัก นำไปสู่ความสนใจเป็นวงกว้าง

จากเมษายนของปี 2444 เราอาจพอเห็นบ้างว่าเรื่องเล่าถัดจากนี้คืออะไร แต่เหตุปัจจัยที่พาสถานการณ์ไปถึงวันที่ 4 ของ 123 ปีที่แล้วคืออะไร เรื่องนี้จำเป็นต้องพาไปทำความเข้าใจบริบททางสังคม การเมือง และจุดยุทธศาสตร์ ว่าเหตุใดอุบลราชธานีจึงกลายเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของการรบกัน

อ่าน: อุบลราชธานี เมืองยุทธศาสตร์ของสยาม และขบวนการผู้มีบุญ
https://theisaanrecord.co/2024/04/03/ubonratchatani-and-the-history-of-holy-people/

---

เรื่อง: Ubon Agenda
ภาพ: โกวิท โพธิสาร

---
สนับสนุน The Isaan Record เพียงกดลิงก์นี้และบริจาค https://www.zfer.me/theisaanrecord/
#ผู้มีบุญ #อุบลราชธานี

ธีระพล อันมัย นิเทศศาสตร์ ม.อุบลฯความกังวลต่อการทำงานของสื่อไทยการไม่นำเสนอข่าวต่างหากที่เป็นปัญหาจากเหตุการณ์เมื่อวันที...
14/02/2024

ธีระพล อันมัย นิเทศศาสตร์ ม.อุบลฯ
ความกังวลต่อการทำงานของสื่อไทย
การไม่นำเสนอข่าวต่างหากที่เป็นปัญหา

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ กรณี ณัฐพล เมฆโสภณ หรือ เป้ นักข่าวประชาไท และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ หรือ ยา ช่างภาพอิสระ ถูกจับกุมจากการทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัง และถูกตั้งข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน และ พ.ร.บ.ความสะอาด ทำให้ประชาชนและสื่อต่างตั้งคำถามในการถูกดำเนินคดีว่ามีความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการทำงานของผู้สื่อข่าว

ธีระพล อันมัย อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า การคุกคามสื่อเป็นปัญหาของประเทศที่มีรากเหง้าจากเผด็จการ และเป็นปัญหาที่ต้องอธิบายกับชาวโลกให้ได้ว่า ทำไมผู้สื่อข่าว ไปทำข่าวจึงถูกจับกุมตั้งข้อหา ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต้นปี 2566 แต่เพิ่งถูกจับในตอนนี้ และตนคิดว่านี้คือความไม่ปกติของกระบวนการยุติธรรมประเทศนี้ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกหมายจับ การจับกุม การควบคุมตัวที่มีปัญหา เพราะตามหลักสากลแล้วผู้สื่อข่าวทำหน้าที่ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทั่วโลกยอมรับ เว้นแต่ประเทศที่เป็นเผด็จการเท่านั้น

“ในฐานะอาจารย์ที่สอนนิเทศศาสตร์ ผมรู้สึกว่า ต่อจากนี้อาชีพนักข่าว ไม่มั่นคงและไม่ปลอดภัย เพราะไม่ได้มีพื้นที่ให้ได้ทำข่าว โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง แต่ผมมองว่าถ้าเราปล่อยและยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ กระบวนการยุติธรรมบ้าบอพวกนี้ก็จะทำหน้าที่ต่อไป คือจะอ้างความมั่นคง อ้างวัตถุโบราณเรื่องความเป็นโบราณสถานมาเล่นงาน ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้สื่อข่าวทำหน้าที่รายงานความเป็นไปของเหตุการณ์เท่านั้น

“ปัญหาของประเทศเราตอนนี้คือมีอำนาจที่เรียกว่า จารีตนิยมครอบอยู่ คือไม่ได้สนใจกฎหมาย ไม่ได้สนใจจรรยาบรรณอะไรด้วย จารีตนิยมจะทำอะไรก็ได้ พอสื่อจะทำหน้าที่ก็บอกว่า สื่อไม่มีจรรยาบรรณ พื้นฐานแรกของจรรยาบรรณสื่อ คือการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ความจริงที่ถูกต้องครบถ้วน สิ่งเหล่านี้คือคุณสมบัติที่นักข่าวต้องทำอยู่แล้ว นักข่าวแค่รายงานข่าวนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่นำเสนอต่างหากที่เป็นปัญหา”

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการของประชาไท ได้ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยกล่าวว่า กรณีการดำเนินคดี 2 นักข่าวจากประชาไทที่รายงานข่าวเกี่ยวกับนักกิจกรรมพ่นกำแพงด้วยข้อความ 112 บางคนบอกว่า ไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไรนั้น ประเด็นไม่ใช่ความกลัวหรือไม่กลัว แต่การจับกุมนำมาสู่การถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และกระทบกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิต

“เราไม่ได้กลัว เพราะเราไปทำข่าว ที่สำคัญนักข่าวและสื่อที่ต้องลงไปทำข่าวภาคสนามทั้งหลายต้องรู้สึกอย่างไร จะถูกหาว่าสนับสนุนไหม จะมีหมายจับติดปลายนวมหรือเปล่า

“ที่ผ่านมา คดีจะมาที่กองบรรณาธิการก่อน แต่ครั้งนี้เข้าถึงตัวนักข่าวภาคสนามเลย รู้ตัวอีกทีก็มีหมายจับแล้ว โดยหมายจับก็ค้างไว้เกือบปี โดยไม่รู้ว่ามีหมาย ทั้งที่ปรากฏตัวในที่สาธารณะตลอด แถมไม่มีหมายเรียกก่อน พอโดนจับ เสียงาน เสียเวลา เสียอิสรภาพ ทั้งถูกสายเคเบิลไทร์รัดข้อมือ ต้องถูกคุมตัวข้ามวัน เสียเงินประกันและอื่นๆ ที่เหมือนเป็นการลงโทษเขาไปก่อนที่จะตัดสินแล้ว

“นี่เป็นการเล่นงานที่กระบวนการได้มาซึ่งข่าว ไม่ใช่เนื้อข่าวที่เผยแพร่ไป คนที่เปราะบางที่สุดในกระบวนการทำข่าวก็คนเหล่านี้ นักข่าว ช่างภาพสนาม ไม่ต้องพูดถึงความมั่นคงในการทำงานของอุตสาหกรรมนี้ มองตาคนทำงาน น้องๆ ที่มาทำงานภาคสนามเขากังวลไหม จึงไม่แปลกที่นักศึกษานิเทศศาสตร์ออกมาเคลื่อนไหวเพราะมันคือสภาพการทำงานที่เขาอาจต้องเผชิญในอนาคต สุดท้ายคนที่เสียประโยชน์ คือคนสาธารณะชน ที่จะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือแม้แต่คนที่อยากจะสื่อประเด็นสาธารณะแต่มีความเสี่ยง มีคู่ขัดแย้งซึ่งอาจเป็นคนมีอำนาจ เขาก็อาจจะไม่ถูกนำเสนอ เพราะสื่อกลัวว่าเสนอไปแล้วหรือไปทำข่าวตัวเองจะกลายเป็นผู้สนับสนุนคู่ขัดแย้งหรือคนเหล่านั้นไปด้วยไหม วันดีคืนดีมีหมายจับมาจากไหนไม่รู้”

หลังจากมีการจับกุมนักข่าวประชาไท สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีแถลงการณ์ลงในเพจเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ โดยระบุว่า กังวลสิทธิเสรีภาพสื่อถูกปิดกั้น และแสดงความกังวลการตั้งข้อกล่าวหา คือ “ร่วมสนับสนุนการกระทำผิดในคดีอาญา” เป็นการบั่นทอนต่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องเข้าไปทำหน้าที่รายงานข่าวในเหตุการณ์ ทำให้โอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการยุติธรรมจะมีความชัดเจนกับสังคม และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม

ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีท่าทีหลบหนีการต่อสู้คดีในชั้นศาล เพื่อความเป็นธรรม สมาคมนักข่าวฯ เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาสมควรจะได้รับสิทธิ์ ในชั้นศาล ในการพิจารณารับการประกันตัวชั่วคราว เพื่อออกมาสู้คดีแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่ตามหลักของกระบวนการยุติธรรม และเพื่อพิสูจน์ว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากการทำหน้าที่สื่อมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรม

“หากสื่อมวลชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฎิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจภายใต้กรอบกฎหมาย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มีช่องทางในการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายโดยเฉพาะด้านความช่วยเหลือในการจักหาทนายความต่อสู้คดีตามกรอบความร่วมมือข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับสภาทนายความ

“สุดท้ายขอเรียกร้องให้บรรณาธิการและต้นสังกัด กำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานข่าวทำงานอยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ กฎหมาย ยึดหลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นำเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน นำเสนอข่าวสารด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รอบด้าน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” ข้อความทิ้งท้ายในแถลงการณ์

อ่านบนเว็บไซต์: https://theisaanrecord.co/2024/02/14/journalists-were-arrested/

---

เรื่อง: วีรภัทรา เสียงเย็น

#จับนักข่าวประชาไท #คุกคามสื่อ

Human Library คุยกับผู้ต้องหาคดีการเมืองและผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน13 กุมภาพันธ์ 2567 Amnesty Thailand ร่วมกับกลุ...
14/02/2024

Human Library
คุยกับผู้ต้องหาคดีการเมือง
และผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน

13 กุมภาพันธ์ 2567 Amnesty Thailand ร่วมกับกลุ่มคบเพลิง จัดกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ต้องหาคดีทางการเมือง HUMAN LIBRARY ณ ร้านส่งสาร จ.อุบลราชธานี โดยมีผู้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์คดีทางการเมืองอย่าง หัสวรรษ รัตนคเชนทร์, กิตติพล ไทยงามศิลป์ อีกทั้งยังร่วมผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป

ไบค์-หัสวรรษ รัตนคเชนทร์ อดีตผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกรณีชูป้าย ‘I HERE TOO’ เมื่อปี 2564 กล่าวถึงวันที่ตนตัดสินใจไปชูป้ายว่า ตอนนั้นตนรู้สึกถึงผลกระทบที่มันเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลจัดการปัญหาโควิด 19 ไม่ได้ ทั้งพิษเศรษฐกิจ คนตกงาน ในตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะลงพื้นที่ตรวจระบบการบริหารจัดการน้ำที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จึงตัดสินใจไปชูป้ายต่อหน้า เพื่อให้รับรู้ว่ามีคนอีกมากที่ไม่พอใจกับการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล

ไบค์กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนเป็นการย้ำสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยประชาชนเป็นสิ่งที่ชอบธรรมอย่างสูง และไม่ควรที่จะถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก คือเสรีภาพของประชาชนที่จะมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ในประเทศที่เรียกตนเองว่าเป็นประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน ฟลุค-กิตติพล ไทยงามศิลป์ อดีตผู้ต้องหาคดี 112 ที่ศาลยกฟ้องไปเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรณีชูป้าย ‘ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10’ ในกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ เมื่อปี 2564 เขากล่าวถึงความลำบากและล่าช้าของคดีว่า ในเดือนมีนาคมปี 2565 ตนได้รับหมาย ต่อมาในเดือนเมษายนจึงไปรับทราบข้อกล่าวหา ตอนนั้นทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่นานก็ต้องกลับอุบลฯ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เหตุการณ์วนซ้ำอยู่แบบนี้หลายครั้ง จึงตั้งใจทำในสิ่งที่อยากทำให้จบก่อนที่คดีจะดำเนินในขั้นตอนต่อไป ปีที่แล้วเขาบวชและไปศาลทั้งผ้าเหลือง กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ศาลตัดสินให้มีการยกฟ้อง

“ความลำบากคือการล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายสูงในการต้องเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ - อุบลฯ ทั้งที่ตอนนั้นฟลุคก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจเนื่องจากการระบาดของโควิด 19

“รัฐควรพึงสังวรไว้ว่าตนอยู่ในระบอบประชาธิปไตย อย่าให้ความสำคัญกับคำหลังมากจนทำลายประชาธิปไตยด้วยน้ำมือของตัวเอง การนิรโทษกรรมประชาชนในการแสดงออกทางการเมืองเป็นหนึ่งหมุดหมายที่รัฐต้องจดจำและพึงสังวร” ฟลุคกล่าวสั้นๆ เมื่อพูดถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

อ่านข่าวบนเว็บไซต์: https://theisaanrecord.co/2024/02/14/people-amnesty/

---

เรื่อง : ศิริลักษณ์ คำทา

#นิรโทษกรรมประชาชน

“ถ้าคุณชื้อคาปูชิโน่จากร้านเราแล้วนั่งรถจากวารินไปถึงเดชอุดม รสชาติของคาปูชิโน่ร้านเรายังคงความเข้มข้นเหมือนเดิม ผมรับปร...
05/02/2024

“ถ้าคุณชื้อคาปูชิโน่จากร้านเราแล้วนั่งรถจากวารินไปถึงเดชอุดม รสชาติของคาปูชิโน่ร้านเรายังคงความเข้มข้นเหมือนเดิม ผมรับประกัน”

ร้านกาแฟริมทาง อยู่นอกเมืองวารินชำราบถนนสถลมาร์คทางผ่านขาเข้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีจุดเริ่มต้นจาก วีระยุทธกิติพล โสมฉาย “เจ้าของร้าน BS กาแฟ” หรืออีกชื่อคือ “บุญศรีกาแฟ”

ก่อนวันเริ่มต้น เขาเรียนด้านช่างอิเล็กทรอนิกส์ จากวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี และศึกษาต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จากนั้นมุ่งหน้าเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วยการขายซีดี 2 ปี ก่อนกลับมาบวชที่บ้านเกิด และตัดสินใจเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง

อ่าน - B.S.Coffee แห่งเมืองอุบลฯ กาแฟทางเลือกที่แท้ทรู แบบโบราณก็มี กาแฟสดก็ได้ https://theisaanrecord.co/2024/02/05/b-s-coffee/

---

เรื่อง: วีรภัทรา เสียงเย็น

"ที่อยากเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ อยากทำงานในสำนักพิมพ์ เกี่ยวกับการทำหนังสือ ถึงแม้ว่าจะได้เงินเดือน 15,000 บาท ในการใช้ชี...
25/01/2024

"ที่อยากเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ อยากทำงานในสำนักพิมพ์ เกี่ยวกับการทำหนังสือ ถึงแม้ว่าจะได้เงินเดือน 15,000 บาท ในการใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ เราว่ามันก็ยังไม่พอนะ แต่อีกใจก็อยากทำตามความฝันไง มีงานที่เราชอบให้ทำ เงินเดือน 15,000 บาท เราอาจจะกัดฟันสู้ไปได้ หาอาชีพเสริมทำไปด้วยก็ได้"

นัน (นามสมมติ) กล่าวกับ The Isaan Record ถึงความฝันในการประกอบอาชีพที่รักและตรงสาย เธอสำเร็จการศึกษาจากสาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ปัจจุบันเธอได้กลับมาบ้านที่ จ.ระยอง ประกอบอาชีพแตกต่างจากสิ่งที่เธอได้ร่ำเรียนมา เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องทุนและสักวันหนึ่งเธอจะก้าวเข้าสู่กรุงเทพมหานครเมืองแห่งโอกาสที่จะวาดฝันของเธอให้เป็นจริง แม้จะได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ก็ตาม แต่สิ่งที่มีค่ามากกว่านั้นคือการเติมเต็มความฝันในอาชีพที่อยากทำ ซึ่งอาชีพเหล่านี้ไม่มีในพื้นที่ที่เรียกว่า ต่างจังหวัด

อ่าน - ไม่มีงานสำหรับเราใน ตจว. จะยอมทำงานไม่ตรงสาย หรือไม่ก็ต้องเป็นข้าราชการ
https://theisaanrecord.co/2024/01/25/rural-first-jobber-2/

---

เรื่อง: ศิริลักษณ์ คำทา

#งานต่างจังหวัด

ท่ามกลางเทศกาลการยินดีกับบัณฑิตใหม่ป้ายแดงที่สำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยและก้าวขาเข้าสู่การเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษ...
24/01/2024

ท่ามกลางเทศกาลการยินดีกับบัณฑิตใหม่ป้ายแดงที่สำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยและก้าวขาเข้าสู่การเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลายคนเลือกที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวงทันทีที่เรียนจบ หลายคนยังเป็นผู้รอโอกาสที่จะได้เข้าไปทำงานเมืองหลวง เพียงเหตุผลว่าที่นั่นมีงานรองรับตรงกับสายที่พวกเขาเรียนมา

The Isaan Record ชวนอ่านบทสัมภาษณ์เด็กจบใหม่ที่เลือกเริ่มต้นการทำงานใกล้บ้านเกิด แต่ทว่างานใกล้บ้านกลับไม่ค่อยตอบโจทย์ในด้านสายงานที่เรียนจบมา จึงจำเป็นต้องทำงานอย่างอื่นไปก่อน เพื่อเก็บประสบการณ์และเงินทุน เข้าไปหางานตรงสายในเมืองหลวง

อ่าน - First Jobber ภูธร เมื่องานต่างจังหวัดหายาก และการใช้ชีวิตใน กทม. ก็ไม่ง่าย
https://theisaanrecord.co/2024/01/24/rural-first-jobber/

---

เรื่อง: ศิริลักษณ์ คำทา

#เด็กจบใหม่ #หางาน

หากสังเกตโรงพยาบาลในอีสานใต้หลายแห่งมักมีป้ายภายในโรงพยาบาลเขียนเป็น 3-4 ภาษาเป็นอย่างต่ำ คือ ไทย อังกฤษ กัมพูชา และลาว ...
19/01/2024

หากสังเกตโรงพยาบาลในอีสานใต้หลายแห่งมักมีป้ายภายในโรงพยาบาลเขียนเป็น 3-4 ภาษาเป็นอย่างต่ำ คือ ไทย อังกฤษ กัมพูชา และลาว หากสังเกตทะเบียนรถที่จอดในโรงพยาบาล จะพบว่าป้ายเหล่านั้นระบุว่าเดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเช่นนี้มาระยะหนึ่งแล้วที่คนไข้จากประเทศกัมพูชาและ สปป.ลาว เดินทางมารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดในเขตชายแดน

เมื่อคนไข้ไม่ได้ใช้ภาษาไทย จึงจำเป็นต้องมีล่าม ที่เชื่อมการรักษาพยาบาลระหว่างคนไข้กับบุคคลากรทางการแพทย์ การแปลนั้นไม่ใช่แค่เพื่อทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายสำคัญคือการทำความเข้าใจศัพท์ทางการแพทย์ เพื่อรับประกันว่าทั้งคนไข้และหมอเข้าใจตรงกัน เพราะมันสำคัญต่อชีวิตของผู้ป่วย

The Isaan Record - Southeast ชวนรู้จัก "ล่ามทางการแพทย์" ในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี กับหน้าที่สะพานของการรักษาพยาบาล พวกเขาต้องทำงานอย่างไร และทำไมคนไข้จากประเทศเพื่อนบ้านจึงข้ามพรมแดนมาที่นี่

อ่าน - ล่ามทางการแพทย์ คุยกับล่ามกัมพูชาใน รพ.สรรพสิทธิฯ เมื่อคนไข้ข้ามพรมแดนมารักษาที่ไทย https://theisaanrecord.co/2024/01/19/cambodian-interpreter-in-sunpasitthiprasong-hospital/

---

เรื่อง: วีรภัทรา เสียงเย็น
ภาพ: ศิริลักษณ์ คำทา

#กัมพูชา #เขมร #ลาว #รพสรรพสิทธิ #อุบลราชธานี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ร้านแคมป์ฝ้ายถูกพูดถึงและเล่าที่มาในรายการเรื่องเล่าหอการค้าของเพจข่าวท้องถิ่นอย่างอุบล VR เคเบิล...
16/01/2024

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ร้านแคมป์ฝ้ายถูกพูดถึงและเล่าที่มาในรายการเรื่องเล่าหอการค้าของเพจข่าวท้องถิ่นอย่างอุบล VR เคเบิลทีวี โดย “ดีเจรัตน์ - ปิติ จันทร์เสนา” เล่าว่า ร้านแคมป์ฝ้ายนั้นเป็นสมาชิกหอการค้ามาตั้งแต่เริ่มต้นทำกิจการ เมื่อปี 2524 เป็นร้านแรกที่เอาผ้าฝ้ายจากชาวบ้านมาขาย เนื่องจากชาวบ้านมีเวลาว่างก็มักทำฝ้าย

ร้านแคมป์ฝ้ายจึงมีความคิดที่อยากจะให้ชาวบ้านมีงานทำ จากนั้นจึงเริ่มรับซื้อผ้าฝ้ายจากชาวบ้านมาขายที่ร้าน โดยร้านออกแบบและดีไซน์เองเป็นแฟชั่นที่ทันสมัย ถือเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านให้มีงานนอกเหนือจากการทำเกษตร เรียกได้ว่านี่คือร้านตำนานของเมืองอุบลฯ

อ่าน - จากอรุณรุ่งสู่อัสดง พยอม ตังคโณบล แห่งร้านแคมป์ฝ้าย เมื่อความนิยมผ้าฝ้ายลดลง
https://theisaanrecord.co/2024/01/16/camp-fai-ubonratchatani/

---
เรื่อง: ศิริลักษณ์ คำทา
#แคมป์ฝ้าย #อุบลราชธานี #ผ้าอีสาน

“ปัญหาต้นตอจริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่แนวคิดการพัฒนาระบบขนส่งทั้งระบบไม่สมดุล ไม่มีทางเลือกให้คน คนก็ใช้ถนนเยอะ การควบคุมการใ...
10/01/2024

“ปัญหาต้นตอจริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่แนวคิดการพัฒนาระบบขนส่งทั้งระบบไม่สมดุล ไม่มีทางเลือกให้คน คนก็ใช้ถนนเยอะ การควบคุมการใช้ที่ดินก็ไม่เหมาะสม เพราะว่าถนนเลี่ยงเมืองไม่ควรที่จะมีห้างร้านเปิดเยอะขนาดนั้น ส่งผลให้รถติดที่สี่แยก การที่รถติดที่แยกดงอู่ผึ้ง-วนารมย์เป็นปลายเหตุ”

ผศ.ดร.สิทธา เจนศิริศักดิ์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมการขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงโครงสร้างของวงเวียนแยกดงอู่ผึ้งและแยกวนารมย์ และปัญหาของการใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม

ลักษณะของวงเวียนแยกดงอู่ผึ้งและแยกวนารมย์ เป็นลักษณะวงเวียนที่มีทางลอดด้านล่างทางเดียว ด้านบนของทางลอดคือวงเวียนสี่เส้นทาง จุดตัดทางหลวงหมายเลข 231 (แยกดงอู่ผึ้ง) กับทางหลวงหมายเลข 23 ทางลอดคู่ขนาน หากมาจากทาง จ.ศรีสะเกษ จะมุ่งหน้าสู่แยกวนารมย์ หลังคาวงเวียนมุ่งสู่เมืองอุบลราชธานี และ จ.ยโสธร ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นโครงการของกรมทางหลวงที่สร้างขึ้นเพื่อจัดระเบียบการจราจรและความปลอดภัยในการสัญจร อยู่ในเขตรับผิดชอบของแขวงทางหลวงอุบลราชธานีที่ 1 งบประมาณ 800 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาทำโครงการเมื่อ 30 เมษายน 2562 ถูกเปิดใช้งานเมื่อ 31 ธันวาคม 2565 มาจนถึงปัจจุบัน

แม้เจตนาของโครงการนี้คือเพื่อแก้ปัญหาจราจร แต่สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาคือการเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนเนื่องจากผู้สัญจรไม่เชี่ยวชาญในการใช้วงเวียน ทั้งยังพบว่าในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวจะมีรถพ่วงบรรทุกข้าวขนาดใหญ่ใช้เส้นทางมากขึ้น การเข้าวงเวียนหรือเลี้ยวออกตามจุดตัดมีความเสี่ยงในการเฉี่ยวชนทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ปัญหาต่อมาพบว่าปริมาณรถที่ใช้งานเริ่มมีมากขึ้น สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของอาจารย์สิทธา ถึงประเด็นที่ว่า เมื่อประมาณรถเริ่มล้นวงเวียน กรมทางหลวงจะจัดการอย่างไรต่อไป

อ่าน - มองผังเมืองและระบบขนส่งสาธารณะ ผ่านปัญหาวงเวียนแยกวนารมย์ เมืองอุบลฯ https://theisaanrecord.co/2024/01/10/wanarom-roundabout/

---

เรื่อง: ศิริลักษณ์ คำทา

#อุบลราชธานี #แยกวนารมย์

70 ปี ร้านมิตรสัมพันธ์ รสชาติของคนอุบลราชธานี จากรสมือชาวเวียดนามผู้หนีสงคราม“ถ้าย้อนไปถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ ไม่มีใครได้สัญช...
21/12/2023

70 ปี ร้านมิตรสัมพันธ์
รสชาติของคนอุบลราชธานี
จากรสมือชาวเวียดนามผู้หนีสงคราม

“ถ้าย้อนไปถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ ไม่มีใครได้สัญชาติ มาถึงรุ่นของเราถึงจะได้สัญชาติไทย ตอนนั้นไม่ได้วิ่งเต้นเดินเรื่องแต่อย่างใด แต่เป็นรัฐบาลที่มอบสัญชาติไทยให้เลย จำได้ว่าเป็นเหมือนมีนโยบายออกมา แล้วก็มอบสัญชาติให้คนเวียดนามที่อพยพมา ส่วนมากจะเป็นรุ่นลูกที่ได้ ส่วนตัวของแม่เพิ่งได้สัญชาติไทยได้ไม่นาน จำได้ว่ามีครอบครัวแล้ว มีลูกแล้วถึงได้สัญชาติ”

ริมถนนพรหมราช ห่างจากวัดสุปัฏนาวรวิหาร เพียงไม่กี่ก้าว คือร้านมิตรสัมพันธ์ จำหน่ายลูกชิ้นปลีกและส่ง ที่นั่น กัลยา อนุพันทางกูร เล่าถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาของเธอและครอบครัวเมื่อครั้งต้องอพยพหนีสงครามเวียดนามเข้ามาสู่ประเทศไทย เธอแนะนำตัวสั้นๆ พร้อมมือที่เสียบลูกชิ้นไปคุยไป

“ก่อนแต่งงานกับสามี เดิมมีนามสกุลเดิมว่า แซ่ฮว่า ปัจจุบันอายุ 70 ปี และเป็นทายาทรุ่น 2 แห่งร้านมิตรสัมพันธ์ ซึ่งขายลูกชิ้นเป็นหลัก”

+ กว่าจะมาเป็นมิตรสัมพันธ์

หากจะเอ่ยถึง ‘อุบลราชธานี’ อาหารขึ้นชื่อคือหมูยอและก๋วยจั๊บญวน กระทั่งกลายเป็นภาพจำที่คนต่างถิ่น ทว่าภายในร้านมิตรสัมพันธ์ที่มีผู้คนเข้าออกร้านกันไม่ขาดสาย พนักงานเดลิเวอรี่มากมายเรียงหน้ากันรอรับออเดอร์ให้ลูกค้า เป็นอีกสิ่งที่ยืนยันว่าคนอุบลฯ นิยมทานลูกชิ้นไม่แพ้ของขึ้นชื่ออื่นๆ

“เมื่อก่อนนี้ขายดี ทำมาค้าขึ้น สมัยนั้นลูกชิ้นไม้ละ 3 บาทยังได้ยอดขายมากกว่าตอนนี้ ไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นในรัฐบาลยุคไหน แต่อยู่ในช่วงปี 2527 เพราะเริ่มขายตั้งแต่นั้นมา หลังจากนั้นปี 2529 – 2531 ก็เริ่มขายดีมาเรื่อยๆ แม่เกิดที่เมืองไทย ส่วนพ่อกับแม่ของแม่เองอพยพสงครามมาจากเวียดนามอีกที”

กัลยา บอกว่า กว่าจะมาเป็นมิตรสัมพันธ์ ไม่ได้อพยพหนีสงครามมาจากเวียดนามแล้วประสบความสำเร็จเลย ก่อนจะเป็นร้านดังล้วนผ่านลองผิดลองถูก ไม่ว่าจะเป็นการหาบเร่ขายขนมจีน จากนั้นเปลี่ยนมาขายก๋วยเตี๋ยว และก๋วยเตี๋ยวที่ทำมีความเป็นเฝอแบบเวียดนามผสมผสานเข้าด้วย ถัดจากนั้นก็เริ่มเป็นที่รู้จักคุ้นตาและคุ้นลิ้นของคนอุบลฯ

“เมื่อก่อนไม่ได้ใช้ชื่อมิตรสัมพันธ์แต่เป็นชื่อร้าน ‘เฝอโองม่อง’ เฝอแปลว่าก๋วยเตี๋ยว Ông nội-โองโหนย ม่อง คือชื่อของคุณพ่อ แต่หลังจากที่เป็นที่รู้จักจึงเริ่มมีชื่อร้านเป็นกิจลักษณะ”

ปกติแล้วร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วไปจะซื้อลูกชิ้นที่อื่นมาใช้ แต่มิตรสัมพันธ์ทำลูกชิ้นเอง ซึ่งเป็นร้านเดียวในขณะนั้นที่ทำลูกชิ้นเอง ก๋วยเตี๋ยวขายดีแต่ที่ดีกว่าคือลูกชิ้นทำเองกลับถูกปากลูกค้ากระทั่งมีคนมาขอซื้อแค่ลูกชิ้นไปกิน นั่นจึงทำให้ร้านทำลูกชิ้นทั้งเพื่อก๋วยเตี๋ยวและเผื่อแยกขายด้วย

“เริ่มแรกขายด้วยรถเข็นอยู่ที่ทุ่งศรีเมือง ลูกค้าก็พากันเอาเสื่อไปปูนั่งทานแถวๆ สวนย่อม มี 20-30 เจ้าขายอยู่ตรงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ลูกชิ้นมิตรสัมพันธ์คือเจ้าแรกที่ริเริ่มการนั่งปูเสื่อทานลูกชิ้น ตอนนั้นขายดี ไม่ได้ขายให้แค่คนเวียดนาม เป็นลูกค้าทั่วไปเลย วัยรุ่นทานลูกชิ้นเยอะ เมื่อก่อนการค้าขายในเมืองอุบลฯ ครึกครื้นมาก เข็นรถออกไปลูกค้าก็มายืนรอแล้ว ตอนนี้เทียบไม่ได้ จัดร้านตั้งแต่เช้ายังไม่มีใครมาซื้อเลยก็มี”

+ ความลำบากเมื่อไร้สัญชาติไทย

หากย้อนไปถึงรุ่นพ่อแม่ของกัลยา เธอบอกว่าไม่มีใครได้สัญชาติไทยเลย ส่วนตนนั้นกว่าจะได้สัญชาติไทยก็แต่งงานมีลูกแล้ว โดยครั้งนั้นเป็นนโยบายของรัฐบาลที่มอบสัญชาติให้คนเวียดนามที่อพยพสงครามมา ส่วนหากจะพูดถึงคนเวียดนามปัจจุบันที่อยู่ในอุบลฯ นับว่าเยอะมากจนตั้ง “ชมรมคนไทยเชื้อสายเวียดนาม” “กลุ่มสตรีเวียดนาม” และ “กลุ่มคนรุ่นใหม่เวียดนาม”

“เมื่อก่อนยังไม่มีการจัดตั้งเป็นชมรม พวกเขารวมตัวกันในวันสำคัญเช่น วันชาติ ตรุษจีน การใช้ชีวิตค่อนข้างลำบาก เพราะตอนที่มีสงครามเวียดนาม กอ.รมน.(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) มีกฎหมายมาตรา 114 (ระบุว่า – ผู้ใดสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคมกับเป็นกบฏ หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อเป็นกบฏ หรือยุยงราษฎรให้เป็นกบฏ หรือรู้ว่ามีผู้จะเป็นกบฏ แล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี) เนื่องจากตอนนั้นไทยช่วยสหรัฐอเมริกา ช่วยไซง่อนรบ (ปัจจุบันคือเมืองโฮจิมินห์) เราคนเวียดนามทางนี้ก็ลำบาก คิดว่าเราฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ แต่จริงๆ ไม่ได้มีอะไร เราแค่ประชาชนคนหนึ่ง การเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ตอนที่อยู่ไทยค่อนข้างลำบาก ตัวของแม่ทำประกันไว้กับบริษัทเอกชนมากกว่าทำกับรัฐ และใช้สิทธิ์ประกันชีวิตนั้นเลยในการเข้าถึงการรักษาต่างๆ”

+ จุดเด่นลูกชิ้นร้านมิตรสัมพันธ์

“เราใช้วัตถุดิบที่ไม่เหมือนลูกชิ้นในท้องตลาดทั่วไป หมู เนื้อ ที่นำมาทำลูกชิ้นก็เป็นหมูสด ไม่ใช่หมูแช่เย็น ไร้สารเคมี ในตอนแรกที่ทำลูกชิ้นทำเป็นอุตสาหกรรมครอบครัว ไม่ใช่โรงงาน สูตรของลูกชิ้นไม่ได้มาจากเวียดนามแต่อย่างใด เป็นสูตรที่คิดตอนมาอยู่ไทย ร้านไม่ได้มีสาขาในจังหวัดอื่น อยากทานต้องมาที่อุบลฯ เท่านั้น” กัลยา เล่าถึงกระบวนการทำลูกชิ้นอันเป็นเอกลักษณ์ของร้าน

ปัจจุบันร้านมิตรสัมพันธ์ถูกขยายสาขามากมายทั่วทั้ง จ.อุบลราชธานี เป็นทั้งร้านที่ขายก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น และร้านที่ขายลูกชิ้นโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ด้วยร้านเปิดมานานลูกค้าส่วนใหญ่มีอายุใกล้เคียงกับอายุของร้าน การมองหาลูกค้าใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นมิตรสัมพันธ์ไว้อยู่

ห่างจากร้านของกัลยาประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ถนนพโลชัย มีป้ายมิตรสัมพันธ์อีกร้านที่อยู่ตรงสี่แยกถนนพโลชัย กลางเมืองอุบลฯ ที่นั่น แชมป์-อรรถชัย นัยวิกุล ทายาทรุ่น 3 อายุ 43 ปี เป็นผู้ดูแลร้าน แม้จะมีชื่อมิตรสัมพันธ์กำกับไว้ แต่ร้านนี้เน้นการขายก๋วยเตี๋ยวเป็นหลัก และจัดร้านด้วยบรรยากาแบบคาเฟ่ แม้จะแตกต่างกันบ้าง แต่พระเอกของมิตรสัมพันธ์ก็ยังเป็นลูกชิ้นทำเองอันมีเอกลักษณ์

“เอกลักษณ์ของร้านคือการทำลูกชิ้นเอง เพราะคุณตาเป็นคนคิดสูตรเองตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีเครื่องจักร โดยการเอาเนื้อสดๆ ใช้ค้อนทุบให้ละเอียด ส่วนน้ำจิ้มคุณยายเป็นคนคิดสูตรโดยมีส่วนประกอบจากสมนุไพรกว่า 20 ชนิด ปัจจุบันแม่ของผมก็ปรับเปลี่ยนสูตรบ้างเล็กน้อย”

+ การรีแบรนด์ของทายาทรุ่น 3

อรรถชัย เล่าให้ฟังว่า หลังเรียนจบและทำงานที่กรุงเทพฯ ได้สักพัก ตนตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านด้วยเหตุผลคือแม่เริ่มอายุมากแล้ว ในวันที่กลับบ้าน เขาเริ่มทบทวนว่าจากธุรกิจที่เคยขายดี แต่วันหนึ่งเริ่มได้รับความรู้จักน้อยลง นั่นจึงไปสู่ความคิดที่จะรีแบรนด์ร้านก๋วยเตี๋ยวและลูกชิ้นในตำนาน

“ช่วงแรกก็มาช่วยร้านของคุณแม่ที่โต้รุ่ง ผมก็เริ่มศึกษากลุ่มลูกค้าเป็นยังไง ก็เลยตัดสินใจมาเปิดร้านมิตรสัมพันธ์ตรงนี้ (สาขาถนนพโลชัย) ซึ่งกลายเป็นว่าร้านตรงนี้เปิดมาได้ 8 ปีแล้ว

“ที่ผ่านมาผมศึกษาทั้งข้อดี ข้อเสียของร้านเราเป็นยังไง ตลาดเป็นแบบไหน อย่างร้านเราคือ Street Food เป็นที่รู้จักมานานกว่า 70 ปีแล้ว เราก็หาจุดอ่อนของเราว่ามีอะไรบ้าง เราเลยออกแบบบรรยากาศของร้านให้คงความเป็น Street Food แต่เสิร์ฟในบรรยากาศคาเฟ่ เมนูยอดนิยมที่ลูกค้านิยมมาทาน จะเป็นก๋วยเตี๋ยวสูตรต้นตำรับ ส่วนลูกชิ้นก็หลากหลาย นอกจากนั้นในร้านก็มีเครื่องดื่มและของทานเล่นต่างๆ จากเดิมที่ลูกค้าส่วนใหญ่มีอายุก็เปลี่ยนมาจับกลุ่มลูกค้าที่เด็กลงหน่อย อาหาร”

แม้การกลับบ้านพร้อมกับรีแบรนด์ร้านมิตรสัมพันธ์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งจะนับเป็นหมุดหมายสำคัญและอาจเป็นแรงบันดาลใจสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด แต่เมื่อถามว่าคนรุ่นใหม่สามารถเริ่มสร้างธุรกิจของตน หรือประกอบอาชีพในบ้านเกิดได้เลยหรือไม่ เขาตอบว่าควรนับหนึ่งด้วยการออกไปหาประสบการณ์ก่อนก็ได้

“การกลับมาทำงานที่บ้านเกิด มันคือสิ่งที่เราคิดว่าเราต้องกลับมาทำอยู่แล้ว อย่างผมถ้าหากไม่กลับมา ร้านมิตรสัมพันธ์ก็คงจะหายไป แต่ถ้าให้พูดถึงเด็กรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่เริ่มกลับมาทำงานที่บ้านเกิดกัน แนะนำว่าถ้าเรียนจบให้ออกไปหาประสบการณ์ก่อน แล้วค่อยกลับมาพัฒนาบ้านเกิด”

---

เรื่อง: ศิริลักษณ์ คำทา
ภาพ: ร้านลูกชิ้นมิตรสัมพันธ์

อ่านผ่านเว็บไซต์ https://theisaanrecord.co/2023/12/21/70th-years-mitsampan/

---

#อุบลราชธานี #อาหาร #เวียดนาม #อาหารเวียดนาม #มิตรสัมพันธ์

ขยะ 360 ตันต่อเดือนจากชุมชนรอบ ม.อุบลฯ เทศบาลร้องนักศึกษาโอนชื่อเข้าพื้นที่ เพื่อดึงงบประมาณจัดการขยะชุมชนใกล้เคียงส่งเส...
18/12/2023

ขยะ 360 ตันต่อเดือนจากชุมชนรอบ ม.อุบลฯ เทศบาลร้องนักศึกษาโอนชื่อเข้าพื้นที่ เพื่อดึงงบประมาณจัดการขยะ

ชุมชนใกล้เคียงส่งเสียงถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีช่วยกระตุ้นนักศึกษาให้ความสำคัญกับการย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในเขตพื้นที่ที่อาศัยปัจจุบัน เพื่อให้ได้งบประมาณที่มากขึ้นเท่ากับผู้อยู่อาศัยจริงที่ชุมชนต้องดูแล เพื่อช่วยให้การจัดการขยะในเขตรับผิดชอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากขยะส่วนใหญ่นั้นมาจากมหาวิทยาลัย

พื้นที่ ต.เมืองศรีไค และ ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นชุมชมที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของร้านอาหาร ร้านค้า และธุรกิจหอพักให้นักศึกษา, บุคลากร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชาวบ้านและนักศึกษาใช้พื้นที่ชุมชนร่วมกัน เมื่อผู้อาศัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนักศึกษาที่สวนทางกับงบประมาณที่ใช้ดูแลชุมชน

นายอรรถวิทย์ แสงดิษฐ์ หัวหน้าสำนักปลัด ให้ข้อมูลว่า ต.เมืองศรีไค มีปริมาณขยะ 6 ตันต่อวัน คิดเป็น 180 ตันต่อเดือน หมู่บ้านที่อยู่ในเขตรับผิดชอบทั้งหมด 11 หมู่บ้านและขยะส่วนใหญ่นั้นมาจากหอพักและร้านอาหารที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี งบประมาณที่ยังไม่ถูกจัดสรรรวม 45-48 ล้านบาทต่อปี เจ้าหน้าที่เก็บขยะ 14 คน รถเก็บขยะ 3 คัน การมีรถขยะเพิ่มเข้ามา ช่วยให้การเก็บขยะไม่ตกค้างมากเท่าเมื่อก่อน เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

“เราพูดตามตรงทางมหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล ทางเทศบาลเองก็เป็นนิติบุคคล ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับเทศบาลยังไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องการจัดการขยะ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเองก็มีวิธีการจัดการขยะของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว จะต้องแยกส่วนกัน แต่มองว่าคำถามนี้ตรงประเด็นมาก ข้อ 1 ทางเทศบาลนโยบายของผู้บริหารคือท่านนายกเทศมนตรี มองว่าอยากให้ทางมหาวิทยาลัยช่วยเรื่องงบประมาณ และอยากขอความร่วมมือให้ทางมหาวิทยาลัยโอนนักศึกษาในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยที่มาอาศัยหรือมาอยู่ที่นี่เข้ามาอยู่ในเขตพื้นที่บริการ เพื่อให้ได้งบประมาณที่มากขึ้น สามารถจัดสรรเพียงพอต่อประชากร และการจัดการขยะนั้นดีอยู่แล้ว ไม่มีผลกระทบ ผมขอการันตี”

ด้าน จ.ส.อ.หญิงปัญจภรณ์ ประมายะ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน ต.ธาตุ ที่ในแต่ละวันต้องรองรับขยะ 4-5 ตัน คิดเป็นเดือนละ 170-180 ตัน จาก 11 หมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ และให้ข้อมูลเช่นเดียวกันว่าขยะส่วนใหญ่นั้นมาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

“การสร้างวิสัยทัศน์ปลูกจิตสำนึกให้กับคนในชุมชน ในการคัดแยกขยะและจัดการขยะของตัวเอง หากมีการรณรงค์สำเร็จก็อาจทำให้ไม่จำเป็นต้องเสียค่าทิ้งขยะถึงปีละ 900,000 บาทเลยด้วยซ้ำ”

สำหรับเทศบาล ต.ธาตุ มีงบประมาณในการจัดเก็บขยะอยู่ที่ 900,000 บาทต่อปี เจ้าหน้าที่เก็บขยะ 9 คน รถเก็บขยะ 2 คัน ไม่เพียงพอทั้งในแง่ของงบประมาณและการบริหารจัดการขยะ เมื่อไม่เพียงพอส่งผลกระทบในเรื่องของขยะตกค้าง ส่งกลิ่นเหม็น แม้มีโครงการรณรงค์ให้ชาวบ้านทำบ่อขยะเปียกของตนเองที่บ้าน บางส่วนให้ความร่วมมือ แต่ทว่าหอพักนักศึกษากลับมองว่ามีความยุ่งยากในการจัดเก็บและคัดแยกขยะ

“ยังไม่เคยประสานความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย แต่ทางมหาวิทยาลัยมีโครงการ อย่างคณะวิทยาศาสตร์ก็มาเป็นภาคีเครือข่ายที่มาร่วมด้วยช่วยกันกับเทศบาลใกล้เคียงมหาวิทยาลัย เป็นโครงการเกี่ยวกับชุมชนเกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม อันนี้เป็นความคิดเห็นในฐานะที่ทำงานด้านขยะอยากให้ช่วยคิดค้นหรือเป็นแม่งานในการทำให้ขยะลดลง ทางมหาลัยมีศักยภาพทั้งทางด้านวิชาการและงบประมาณ และอยากให้ทางมหาลัยมาร่วมด้วยช่วยกันในการทำให้ขยะรอบมหาวิทยาลัยลดน้อยลง” จ.ส.อ.หญิงปัญจภรณ์ ประมายะ กล่าว

---

เรื่อง: ศิริลักษณ์ คำทา

หมายเหตุ - ข่าวนี้สัมภาษณ์และถ่ายภาพโดย วันฉัตร กุลสิงห์ ณัจฉรียา ลิ้มถวิล และนัชชา สุขนิจ นักศึกษานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

---

อ่านบนเว็บไซต์ https://theisaanrecord.co/2023/12/18/waste-management-in-the-community-around-ubu/

#มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี #มออุบล #อุบลราชธานี

อีสานเป็นดินแดนที่มีผู้ศรัทธาในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นชุมชนชาวคริสต์กระจายตัวอยู่ทั่วทั...
06/12/2023

อีสานเป็นดินแดนที่มีผู้ศรัทธาในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นชุมชนชาวคริสต์กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งอีสาน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อัครสังฆมณฑล ท่าแร่-หนองแสง (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์) เฉพาะในพื้นที่ ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งประชากรเกือบทั้งหมดใน 8 หมู่บ้าน นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและเป็นชุมชนผู้นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยปัจจุบัน

เพราะเหตุใดผู้คนในภาคอีสานจึงกลับใจมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากเช่นนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาอ่านดูแล้วก็ค้านกับภาพจำสังคมอีสานโดยทั่วไปเมื่อนึกถึงภาคอีสานแล้วจะพบว่าผู้คนโดยส่วนใหญ่มีความเชื่อยึดมั่นในพุทธศาสนาและศาสนาผี (ความเชื่อท้องถิ่น) แต่นั่นเป็นเพียงมายาคติที่ส่วนกลางกรุงเทพฯ มองมายังภาคอีสาน ดังนั้น

บทความนี้จะพาผู้อ่านได้มารากเหง้าแห่งความเชื่อที่สำคัญอย่างศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งเป็นศาสนาที่อยู่คู่กับผู้คนในท้องถิ่น โดยมีหมุดหมายสำคัญอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี ก่อนความคิด ความเชื่อ และอิทธิพลของคริสตศาสนา จะสร้างเปลี่ยนแปลงในด้านสังคมการเมืองทั้งอีสานและประเทศไทยอีกหลายแง่มุม

อ่าน - ไถ่ทาสจากกุลา ให้การศึกษาเด็กยากจน โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกที่อุบลฯ ร่องรอยคริสตชนในอีสาน https://theisaanrecord.co/2023/12/06/propagation-of-christianity-roman-catholic-church-in-isaan/

---

เรื่อง: พงศธร​ณ์​ ตัน​เจริญ​

#คริสตศาสนา #อุบลราชธานี #คริสต์ #คริสตัง #ท่าแร่ #สกลนคร

ที่อยู่

Ubon Ratchathani

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ The Isaan Record - Southeastผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

แชร์