04/07/2025
#ปลาช่อนก็อาจเป็นตัวแพร่พยาธิสู่มนุษย์ ได้มากกว่าที่คิดนะจ๊ะ...จงอย่ากินดิบ !
พยาธิใบไม้ตับคล้าย Opisthorchis viverrini ในปลาช่อนที่เมียนมา!
👉 ทีมนักวิจัยจากเกาหลีใต้และเมียนมาพบพยาธิชนิดใหม่ที่มีลักษณะคล้ายพยาธิใบไม้ตับ Opisthorchis viverrini ในปลาช่อน (Channa lucius และ Channa striata) จากตลาดในย่างกุ้ง เมียนมา
👉 นักวิจัยได้ทดลองนำเมตาเซอร์คาเรีย (ระยะติดต่อ) ที่พบในกล้ามเนื้อปลาไปป้อนหนูแฮมสเตอร์ (ปกติพยาธิใบไม้ตับที่ระบาดในบ้านเราก็จะนิยมใช้สัตว์ชนิดนี้ในการติดเชื้อ) เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 50 วันหลังการป้อนพยาธิ ก็ทำการฆ่าหนูแฮมสเตอร์ ตรวจท่อทางเดินน้ำดีภายในตับและถุงน้ำดี ก็พบตัวเต็มวัยของพยาธิ
👉 แม้พยาธิตัวนี้จะมีรูปร่างคล้าย O. viverrini อย่างมาก แต่กลับมีความแตกต่างชัดเจน เช่น
➡️ เมตาเซอร์คาเรียมีขนาดเล็กกว่า
➡️ มีถุงน้ำเชื้อที่ขดเป็นเกลียวมากกว่า 5 รอบ (มากกว่าที่พบใน O. viverrini)
➡️ มดลูกยาวกว่าครอบคลุมถึง 50–60% ของลำตัว
➡️ การจัดกลุ่มของต่อมไข่ (vitelline follicles) ไม่ชัดเจน
และไม่ล้ำไปถึงปลายรังไข่เหมือนใน O. viverrini
👉 แม้ยังไม่สามารถยืนยันชนิดทางพันธุกรรมได้ (เพราะตัวอย่างไม่เพียงพอสำหรับตรวจโมเลกุล) นักวิจัยตั้งชื่อเบื้องต้นว่า “พยาธิใบไม้ตับ O. viverrini-like” และเชื่อว่าอาจเป็นชนิดใหม่ที่อาศัยในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือในนกก็เป็นได้
💡ประเด็นที่น่าสนใจ
=> ปลาช่อนอาจเป็นแหล่งแพร่พยาธิในมนุษย์ได้มากกว่าที่คิด
=> ความหลากหลายของพยาธิกลุ่ม Opisthorchis ในแถบลุ่มน้ำโขงยังไม่ถูกสำรวจครบ
=> จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มด้วยเทคนิคพันธุกรรม เพื่อยืนยันว่าเป็นพยาธิชนิดใหม่จริงหรือไม่
🔬 การค้นพบนี้เน้นย้ำว่า...แม้ในพื้นที่ที่พบพยาธิน้อย ยังอาจมีความเสี่ยงแฝงจากพยาธิที่ไม่รู้จักมาก่อน 🐟⚠️
📚 อ้างอิง:
Sohn WM, Jung BK, Lee KH, Hong SJ, Seo SH, Htoon TT, Tin HH, Shin EH, Chai JY. Identification of an Opisthorchis viverrini-like liver fluke from Myanmar: Metacercariae recovered from snakehead fish and adults from an experimentally infected hamster. Parasites Hosts Dis. 2025 May;63(2):174-181. doi: 10.3347/PHD.24063. Epub 2025 May 26. PMID: 40452279; PMCID: PMC12127820.