15/07/2025
ชาวบ้านต.นากลาง บุก สนง.อุตสาหกรรม ยื่น 1,060 รายชื่อ ค้านสร้างโรงกำจัดขยะ หวั่นทำลายสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นางจรัญ ทิพย์สูงเนิน ราษฎรบ้านบุตาต้อง หมู่ 7 ต.นากลาง อ.สูงเนิน พร้อมพวกซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้าน ต.นากลาง เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านและเรียกร้องให้ทบทวน ยกเลิกโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนด้วยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นากลาง ดำเนินงานโดย บริษัท สยาม พาวเวอร์ นากลาง จำกัด พร้อมแนบรายชื่อสำเนาบัตรประชาชนพื้นที่ ต.นากลาง ซึ่งเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบจำนวน 1,060 รายชื่อ และการแสดงความคิดเห็นคัดค้านการดำเนินโครงการ ฯ โดยมีนางลัดดาพร ชานันโท วิศวกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นตัวแทนรับหนังสือ
นางปรารถนา เภาโพรงาม อายุ 65 ปี ชาวบ้าน หมู่ 5 ต.นากลาง อ.สูงเนิน เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าต้องเผาไหม้ขยะทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต อาจนำไปสู่โรคร้ายแรงต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุและผู้ป่วย การขนส่งการจัดเก็บขยะและกระบวนการผลิตไฟฟ้าอาจก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนในวงกว้าง โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนหรือมีลมพัดแรง รวมทั้งกรณีระบบบำบัดน้ำเสียหรือจัดการกากเถ้าจากขยะไม่รัดกุม อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำใต้ดินและผิวดินเป็นอันตรายต่อการเกษตรกรรม การปศุสัตว์และระบบนิเวศโดยรวม
ด้านนางเอื้อมพร ดุงโคกกรวด อายุ 57 ปี ชาวบ้าน หมู่ 1 ต.นากลาง อ.สูงเนิน เผยว่า ชาวนากลางทั้ง 9 หมู่ ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาดำเนินการยกเลิกหรือทบทวนการอนุมัติโครงการอย่างละเอียดและรอบด้านโดยคำนึงถึงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ขอให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพิ่มเติม โดยมีผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ได้รับการยอมรับและเป็นกลาง ทั้งหมดและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในทุกขั้นตอนของกระบวนการศึกษา จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) อีกครั้ง ในรูปแบบเปิดกว้าง โปร่งใสและเข้าถึงทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อกังวลได้เต็มที่ พิจารณาทางเลือกอื่นในการจัดการขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพของ
ประชาชนมากกว่าการเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า เช่น การลด ปริมาณขยะจากต้นทาง,การคัดแยกและรีไซเคิลขยะ,หรือการนำขยะอินทรีย์ไปผลิตปุ๋ย ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ พยายามลักลอบลัดขั้นตอนกระบวนการที่ถูกต้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อมูลหรือผลกระทบที่อาจตามมาในอนาคต ตนในฐานะตัวแทนประชาชนขอปกป้องสิทธิ์และพื้นที่ให้ลูกหลานสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างผากสุกไม่กลายเป็นแหล่งสะสมมลพิษ
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงซึ่งเป็นขยะมูลฝอยชุมชนปริมาณ 500 ตันต่อวัน ใช้เทคโนโลยีเตาเผาแบบตะกรับเคลื่อนที่ (Stoker Great Fired Incinerator) ผลิตกระแสไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ เข้าสู่โครงข่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ประมาณ 8.0 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 1.9 เมกะวัตต์ ใช้สำหรับกิจกรรมภายในโครงการฯ งบดำเนินการเบื้องต้น 2,000 ล้านบาท