CTypeMag

CTypeMag An online photography magazine and independent photo gallery in Bangkok In early of 2021, he established a photo gallery in Bangkok called CTypeMag’s gallery.

CTypeMag is a photographic e-magazine founded by photo artist Akkara Naktamna since 2016. Aims to promote contemporary photographic works focusing on unknown photo artists around the globe

A PARALLEL HISTORYBrodbeck & de Barbuathttps://www.ctypemag.com/featuredwork/A-PARALLEL-HISTORYในวันหนึ่ง สื่อทุกอย่างไม...
02/07/2025

A PARALLEL HISTORY
Brodbeck & de Barbuat
https://www.ctypemag.com/featuredwork/A-PARALLEL-HISTORY
ในวันหนึ่ง สื่อทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง เลยไปถึงข้อมูลสาธารณะของพวกเรา เช่น ภาพข้อมูลจราจร ภาพกล้องวงจรปิดตามจุดต่าง ๆ ฯลฯ บวกกับข้อมูลประกอบจากสิ่งแวดล้อมที่สามารถวัดได้ ทุก ๆ อย่างจะกลายเป็นข้อมูลดิจิตัลดิบ (Digital Raw Data) ให้ AI เข้ามาจัดการ ตีความ และประมวลผล และในอนาคตอันใกล้, วันที่พวกเราเก็บข้อมูลได้มากเพียงพอ วันที่พวกเขา (AI) ฉลาดเพียงพอ พวกเขาจะให้ผลลัพท์ที่เป็นมุมเดียวกันกับที่กล้องถ่ายภาพผลิตออกมาอย่างไม่ผิดเพี้ยน โดยที่เพียงรับคำขอ (Prompt) ที่เราส่งเข้าไปเท่านั้น รวมไปถึงปรับปรุงคุณภาพ คาดการณ์อดีต-อนาคตของภาพจริงนั้น ๆ ได้ และผลลัพธ์นั้นก็จะกลายไปเป็นข้อมูลให้กับการประมวณผลครั้งต่อไปและต่อไป จนมิอาจสืบค้นได้แล้วว่า ‘ความแท้’ ของเรื่องเหล่านั้นเริ่มมาจากจุดใด
งานชุด ‘A PARALLEL HISTORY — A Study of Artificial Intelligence and the Mechanisms of Memory’ ของ ซิม่อน โบรดเบค และ ลูซี่ เดอ บาร์บูอา (Simon Brodbeck & Lucie de Barbuat) ไม่ใช่เรื่องสนุก ๆ ที่ใช้ AI สร้างภาพเลียนแบบภาพถ่ายที่เป็นตำนานของวงการถ่ายภาพเท่านั้น แต่อาจกำลังทำนายสิ่งเดียวกันกับข้อความในย่อหน้าแรก ๆ ของข้อเขียนนี้ ไซมอนและลูซี่ใช้ความสามารถของ AI ในการถ่ายภาพขึ้นมาใหม่ โดยป้อนข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพถ่ายเก่าเหล่านั้นให้มากที่สุด “Each image results from meticulous research into the original techniques, the context of capture, location, and date, aimed at recreating the scene with precision.” จากคำแถลงการณ์ของโครงการ
ขณะที่ทั้งคู่สร้างโครงการนี้ เป็นปี 2022-2023 ซึ่งเป็นโปรแกรมสร้างภาพจาก AI เวอร์ชั่นแรก ๆ อยู่ช่วงปีเดียวกันกับ บอริส เอลแด็กเซ่น (Boris Eldagsen) สร้างงานที่ชื่อ ‘THE ELECTRICIAN’ จากภาพชุด ‘PSEUDOMNESIA’ (Fake Memory) ที่กลายเป็นประเด็น Generative AI Photography ไปทั่ววงการภาพถ่ายโลก ซึ่งเป็น AI ช่วงที่กำลังพัฒนาในเรื่องการสร้างภาพต่าง ๆ จากภาษามนุษย์ง่าย ๆ (Prompt) ที่ป้อนเข้าไป และผลลัพธ์ของภาพในช่วงเวลานั้นยังไม่มีคุณภาพที่ดีนัก มีข้อบกพร่อง และตำหนิมากมาย แต่กลับเป็นความงาม (Aesthetic) รูปแบบใหม่ของภาพถ่ายที่ถูกเจนออกมาจาก AI ในช่วงปีแรก ๆ อาทิ หน้าของคนที่เหมือนดินน้ำมันหลอมเหลว นิ้วที่ไม่ครบหรือถูกให้มาเกิน และความผิดเพี้ยนทางรูปทรงต่าง ๆ ที่เหนือจริงราวกับหลุดออกมาจากฝันสยอง
รวมไปถึงการที่คลังข้อมูลในระบบที่ยังไม่มากนัก และการโค้ด (Coding) ที่ยังไม่สมบูรณ์และมีจุดผิดพลาด ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดูน่าสงสัยเคลือบแคลงในบางอย่าง เช่น ภาพ ‘Raising a Flag over the Reichstag’ ของ Yevgeny Khaldei ที่เป็นการชูธงประกาศชัยชนะของรัสเซียต่อเยอรมันที่อาคารไรชส์ทาคในกรุงเบอร์ลิน, AI ไม่น่าพลาดที่จะกวาดเอาข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เป็นสาธารณะไปเก็บในคลังอย่างแน่นอน (เช่นข้อมูลของ Wikipeia) แต่หากภาพที่ถูกเจนออกมากลับเป็นภาพของคนที่ชูธงชาติที่มีความใกล้เคียงธงชาติรัสเซียเท่านั้น, AI ไม่น่าพลาดเรื่องข้อมูลง่าย ๆ แบบนี้—แต่ขนาดนิ้วยังเจนออกมาขาด ๆ เกิน ๆ นับประสาอะไรกับรูปค้อนเคียวบนธงชาติเล่า
งานชิ้นนี้ยังเปิดบทสนทนาเรื่องศิลปะของการหยิบยืม (Appropriation Art) ที่เคลื่อนย้ายจากกรรมวิธีเดิม ๆ มาเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้น งานไม่ได้ถูกหยิบยืมกันแบบตรงไปตรงมาอีกต่อไป อย่างงานของ ริชาร์ด พริ้นซ์ (Richard Prince) หรือ เชอร์รี่ เลวีน (Sherrie Levine) แต่หากเป็นการหยิบยืมทาง ‘ข้อมูล-ความทรงจำ’ เป็นกระบวนการเดียวกันกับ ซินดี เชอร์แมน (Cindy Serman) แสดงเป็นนางเอกหนังเกรดบีในผลงานภาพถ่ายของเธอ เป็นเวอร์ชันผสมผสานเอาความทรงจำ และองค์ความรู้ร่วมกันของมนุษย์คนอื่น ๆ มาสร้างงานอีกชิ้นหนึ่งขึ้นมา ที่ยังคงกลิ่นอายที่มีสเน่ห์ของศิลปะการต่อต้านนิยามความเป็นหนึ่งเดียวของศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) รวมไปถึงผลกระทบที่ตามมาในมิติต่าง ๆ ของศิลปะภาพถ่ายแขนงนี้ ที่ได้ AI มาเป็นอาวุธชิ้นสำคัญในปัจจุบัน และจะกลายร่างเป็นขีปนาวุธทรงอำนาจในกาลอนาคต
เกี่ยวกับศิลปิน
ซิม่อน โบรดเบค และ ลูซี่ เดอ บาร์บูอา (Brodbeck & de Barbuat) เป็นศิลปินคู่ชาวฝรั่งเศส-เยอรมันที่อาศัยอยู่ในกรุงปารีส ทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2005 ผลงานของพวกเขามักตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการถ่ายภาพและการสะท้อนความจริงในภาพร่วมสมัย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความเชื่อเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ผลงานจึงสะท้อนความเงียบงันและความเหงาของมนุษย์ พร้อมทั้งเน้นย้ำช่องว่างระหว่างโลกแห่งความจริงกับความฝัน
ทั้งสองเคยเป็นศิลปินพำนักที่วิลล่า เมดิซี (Villa Medici) กรุงโรม (ปี 2016–2017) จบการศึกษาจากโรงเรียนการถ่ายภาพแห่งชาติเมืองอาร์ลส์ และสถาบันภาษาตะวันออกแห่งชาติที่ปารีส พวกเขาเคยได้รับรางวัลหลายรางวัล เช่น รางวัล HSBC Award for Photography ปี 2010, Prix Jeune Création ปี 2013 และรางวัลจาก Nestlé ที่เทศกาลภาพถ่าย Vevey
ผลงานของพวกเขาเคยจัดแสดงทั้งในนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มตามสถานที่สำคัญ เช่น Fotomuseum ที่แอนต์เวิร์ป, Maison Européenne de la Photographie ที่ปารีส, Villa Médicis ที่โรม และในงาน Biennale ที่ไคโร รวมถึง Saatchi Gallery ที่ลอนดอน และพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งทั่วโลก

กำลังรวบรวมงานที่เคยเขียนและเผยแพร่ไว้ในเพจออกมาเป็นเล่มนะครับ ใครอ่านทางเวบ หรือมือถือไม่สะดวก มาอ่านทางหนังสือได้ คิดว...
22/06/2025

กำลังรวบรวมงานที่เคยเขียนและเผยแพร่ไว้ในเพจออกมาเป็นเล่มนะครับ ใครอ่านทางเวบ หรือมือถือไม่สะดวก มาอ่านทางหนังสือได้ คิดว่าน่าจะออกเป็น Self-Published ภายในปีนี้ (ถ้าขอ image permission ไม่ล่าช้าเกินไป) / สำหรับศิลปินไทยที่จะมีภาพในเล่ม ผมจะส่งข้อความหรืออีเมล์ไปขอยืมภาพนะครับ - ขอความกรุณาล่วงหน้า 🙏
อันนี้ตัวอย่างครับ
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับศิลปะภาพถ่าย
พื้นที่ ผู้คน และปรากฏการณ์
พื้นที่ ผู้คน และปรากฏการณ์ ไม่สามารถแยกจากกันได้อย่างอิสระ ทั้งพื้นที่ที่อยู่บนโลกจริง และพื้นที่สมมติที่มนุษย์ต่างครอบครองกันอยู่ หรือสร้างมันขึ้นมาเองเพื่อจุดประสงค์หลากหลาย แม้ว่าพื้นที่ที่มีอยู่จริงบนโลกจะไม่สามารถขยับขยายได้ง่ายนัก แต่พื้นที่สมมติขยับเขยื้อนได้ตามแต่ละการปะทุของปรากฏการณ์รอบ ๆ ตัวของมนุษย์ผู้ครอบครอง มันคาบเกี่ยวไปยังพื้นที่จริงบนโลกที่จับต้องได้ กระทั่งคาบเกี่ยวไปบนพื้นที่สมมติของบุคคลอื่นที่ต่างสัมพัทธ์กันอย่างเป็นระบบระเบียบ และมักมองไม่เห็นเป็นรูปธรรม หนำซ้ำยังแปรเปลี่ยนไปไวเกินกว่าจะจับต้องได้
โครงการภาพถ่ายอย่าง ‘The Americans’ ของ โรเบิร์ต แฟรงก์ (Robert Frank) เป็นสิ่งที่อาจนำมาอธิบายถึงความเชื่อมโยงที่มีระหว่างกันของสิ่งเหล่านี้ เมื่อแฟรงก์เดินทางข้ามรัฐทั่วอเมริกาด้วยรถยนต์ ตระเวณถ่ายภาพเรื่องราวต่าง ๆ มองหาการปะทะกันของ ผู้คน สถานที่ และปรากฏการณ์ ถอดผลลัพธ์ออกมาเป็นงานที่ตีแผ่สังคม และชนชั้นในอเมริกาได้มากกว่าที่อเมริกันชนเคยพบเจอ แฟรงก์ช่วงใช้พื้นที่ได้ขาญฉลาดทั้งในพื้นที่ที่เขาไปเยือน และพื้นที่เนื้อกระดาษบนหนังสือภาพถ่าย โดยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาพและเหตุการณ์ จนไปถึงการสร้างความตระหนักรู้ใหม่ต่อแวดวงศิลปะภาพถ่ายในเรื่องการจัดวาง และเรียงร้อยภาพแต่ละภาพเข้าด้วยกัน เป็นคุณูประการต่อแวดวงศิลปะภาพถ่ายมาจนถึงปัจจุบัน
ลี ฟรีดแลนเดอร์ (Lee Friedlander) ตามรอยแฟรงก์ในการถ่ายทอดสังคมคนอเมริกัน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ต่างออกไปในเรื่อง พื้นที่ (การทำงานและสำรวจ) ผู้คน และสถานการณ์ เขาเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเช่นเดียวกับแฟรงก์ แต่ถ่ายภาพผ่านหน้าต่างรถออกไปแทน ฟรีดแลนเดอร์ลดรูปทรงของแนวคิดให้กระชับขึ้น และโน้มเอียงไปทางภาพถ่ายเชิงความคิดอย่างชัดเจนทั้งเรื่องรูปแบบ และความงามที่ต่างออกไป [1]
ในแง่หนึ่ง งานของฟรีดแลนเดอร์อาจไม่ได้ลงลึกเข้าไป ในพื้นที่ พบเจอผู้คนมากมายอย่าง The Americans แต่งาน ‘America by Car’ ของเขาก็พาผู้ชมหลุดเข้าไปในกระบวนวิธีที่ตีความสังคมอเมริกันในอีกรูปแบบหนึ่งผ่านกรอบกระจกรถยนต์ เราได้เห็นภาพกว้างของสังคมทุนนิยมในอเมริกา ตึกสูงเสียดฟ้า สภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เลยไปถึงพื้นที่ห่างไกล รกร้าง และหลาย ๆ สิ่งที่ไม่ได้พบเห็นใน The Americans
งานของฟรีดแลนเดอร์ไม่ได้วิพากษ์สังคมอเมริกันมากเท่าที่แฟรงก์ทำ กลับจะดูคลุมเครือและทดลองมากกว่า ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญของภาพถ่ายเชิงความคิด และเป็นเครื่องมือหลักของภาพถ่ายร่วมสมัย America by Car ของฟรีดแลนเดอร์ถมช่องว่างความเป็นไปได้ของ The Americans, โครงการภาพถ่ายทั้งสองได้สร้างบทสนทนาที่ไหลลื่น สอดรับ บรรจบด้วยความคิดที่ต่างและเหมือนกันในบางจังหวะ เป็นความต่างกันในด้านกรรมวิธี แต่กลับได้ข้อความระหว่างภาพของทั้งสองคนที่เติมเต็มกันอย่างน่าพิศวง
‘กรุงเทพ ดำ-ขาว’ (Bangkok in Black & White) ของ มานิต ศรีวานิชภูมิ (Manit Sriwanichpoom) เป็นโครงการภาพถ่ายในที่สาธารณะ (Street Photography) อันเป็นหมุดสำคัญของการถ่ายภาพของไทย รวมทั้งการทำหนังสือภาพถ่าย ที่อาจไม่ได้เดินทางไกลข้ามรัฐเหมือน The Americans แต่มานิตใช้ระยะการทำงานที่มากกว่าหลายเท่าตัว ทั้งสองโครงการมีเนื้อหาและภาพรวมใกล้เคียงกันอย่างน่าสนใจ ‘กรุงเทพ ดำ-ขาว’ เป็นภาพหลอนที่หลงเหลือจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 ที่ส่งผลให้เกิดความสิ้นหวังของผู้คนในทุก ๆ ด้าน ‘สถานการณ์’ ส่งผลต่อ ‘ผู้คน’ และเมื่อมองไปยัง ‘พื้นที่’ ใด ๆ ย่อมพบเห็นสิ่งที่หลงเหลือจากสถานการณ์เหล่านั้น กระทั่งเห็นไปถึงต้นรากของปัญหาที่สั่งสมกันมานับสิบนับร้อยปี กรุงเทพในมุมมองของมานิตจึงเป็น ‘พื้นที่จำลอง’ ที่ฉายภาพแทนแห่งความเละเทะพังพินาศอันเกิดมาจากสถานการณ์ ที่ระเบิดออกมาอย่างรุนแรง มันได้ส่งคลื่นยักษ์กวาดทำลายล้างผู้คนจำนวนมากในแต่ละระดับชั้นอย่างน่าสยดสยอง
ไม่ต่างกับสถานการณ์ในช่วงปี 2020 ที่เกิดการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสหรือโควิด-19 (COVID-19) ที่ทอดตัวยาวหลายปี ได้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านคน [3] สิ่งที่หลงเหลือคือการดำรงชีวิตแบบปกติใหม่ (New Normal) พื้นที่สมมติของแต่ละคนถูกกระชับให้หดแคบลง ปล่อยให้เกิดช่องว่างทั้งทางกายภาพและทางความรู้สึกของผู้คน ยิ่งในช่วงการระบาดเกิดปรากฏการณ์ที่หลาย ๆ คนในโลกไม่เคยพบเจอมาก่อน โดยเฉพาะการที่เมืองใหญ่ร้างผู้คนในระยะเริ่มแรกอันเกิดจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) [4] มันเป็นภาพที่สั่นสะเทือนความรู้สึกของทุก ๆ คนที่ยังรอดชีวิต ความว่างเปล่าที่เห็นตามพื้นที่ต่าง ๆ เป็นดังสัญลักษณ์แห่งความตายที่จะเห็นได้แต่ในหนังวันสิ้นโลกเท่านั้น
งานภาพถ่ายหลายต่อหลายงานถูกสร้างจากสถาน-การณ์ระดับโลกครั้งนี้ นำโดยภาพถ่ายเชิงข่าวเพราะอยู่ชิดขอบเหตุการณ์มากที่สุด ตัวอย่างเช่นงานที่ชนะรางวัล World Press Photo ปี 2021 ที่เป็นภาพของหญิงชราชาวบราซิลอายุ 85 ปีที่ได้รับกอดแรกจากนางพยาบาลที่มีพลาสติกหุ้มกันเอาไว้ [5] งานศิลปะภาพถ่ายของไทยหลาย ๆ งานก็ผลิตออกมาจากการที่ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน เช่น โครงการภาพถ่ายของ เกริกบุรินทร์ เกิ้งบุรี ในงานชุด ‘The Quarantine Report’ ที่ถ่ายภาพข่าว และรายการต่าง ๆ จากจอโทรทัศน์ช่วงที่ต้องกักตัวเองอยู่แต่ในบ้านเป็นระยะเวลาหนึ่งปี หรือช่างภาพอาหาร อนวัช เพชรอุดมสินสุข (Anawat Petchdom-sinsuk) ที่ไม่มีทั้งงานและรายได้ในช่วงเวลาอันยากลำบากนั้น แต่ก็สร้างโครงการ ภาพถ่าย ‘365’ [6] ออกมาเพื่อหาทางรอด และคำตอบของชีวิต
‘อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว’ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้า ชื่อดังของเชียงใหม่ เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1992 ก็ได้รับพิษภัยทางเศรษฐกิจจากโควิต-19 เช่นเดียวกัน จนปิดตัวลงไปในปี 2022 ช่างภาพไทยสองคน ศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์ (Sirawit Kuwawattananont) และ ศิริน ม่วงมัน (Sirin Muangman) ทั้งสองได้เข้าไปถ่ายภาพสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในห้างกาดสวนแก้วก่อนการปิดตัว เป็นการบันทึกร่องรอยของการใช้พื้นที่ และภาพเงาจาง ๆ ผู้คนที่เคยอยู่ตรงนั้น ความรุ่งเรือง-ร่วงโรย การเคลื่อนผ่านของเวลา ปรากฎการณ์หลากหลายที่ส่งผลต่อเนื่องกันไปจากสิ่งก่อสร้างไปจนถึงมนุษย์ที่อาศัยอยู่
งานที่ชื่อ ‘รังสีคู่ขนาน’ (Parallel Rays) [7] ศิรวิทย์จับภาพบรรยากาศ สิ่งของ สถานที่ ซอกมุม ภายในห้างกาดสวนแก้ว นำมาร้อยเรียงเปรียบเทียบไปกับภาพถ่ายเรื่องราวส่วนตัว เป็นการเปิดบทสนทนาควบคู่กันไปเป็นห้วง ๆ แสนชั่วคราว ส่งต่อข้อกังขาในรักแท้ไปให้กับผู้ชมดังที่เขียนไว้ในคำแถลงการณ์ ส่วนศิรินสร้างงานชุด ‘ดินแดนแห่งฝัน’ (Dream Construction) ฉายภาพสถานที่ต่าง ๆ ในกาดสวนแก้วด้วยสไตล์ เรียบเฉยไร้ความรู้สึก (Deadpan) ศิรินปล่อยให้ผู้ชมจินตนาการถึงภาพของผู้คนที่คราคร่ำซ้อนทับไปกับฉากของห้างอันเงียบสงัด ก่อนที่จะเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่างเปล่า หลังการจินตนาการสิ้นสุดลง [8]
อีกงานหนึ่งที่ฉายภาพการดำรงอยู่ของมนุษย์ในช่วงเวลาของการระบาดใหญ่และมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นฉากหลัง คืองานที่ชื่อ ‘Photographs of Tackriji / Route 777’ โดยช่างภาพ คิม ฮงฮี (Kim Hong-Hee) ที่เดินทางตามรอย ลี จุงฮวาน (Lee Jung-Hwan) นักเขียน นักวิชาการในช่วงปลายยุคโชซอนที่สำรวจคาบสมุทรเกาหลี และเขียนหนังสือชื่อ Tackriji ออกมา โครงการภาพถ่ายของ คิม ฮงฮี เป็นโครงการระยะยาวที่เริ่มต้นด้วย Route 777 [9] และจะมีต่อเนื่องกันไปอีกหลายเส้นทางที่ จุงฮวาน ได้ไปสำรวจ ซึ่งงานนี้น่าจะเป็นภาพที่เห็นสภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปของเกาหลีเทียบกับสิ่งที่จุงฮวานเขียนเอาไว้ใน Tackriji
สถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศแถบเอเซียรวมทั้งเกาหลีใต้ ได้ปรับมุมมองของโครงการนี้ให้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ที่ไม่เพียงเป็นการตามรอยเท่านั้น แต่เป็นบันทึกความไม่ปกติของประวัติศาสตร์โลกอันมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสงครามโลกและคู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์การสำรวจคาบสมุทรเกาหลีของลี จุงฮวาน
สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ฮงฮีได้เดินทางไปถึง รกร้างว่างเปล่าราวกับผู้คนหายล้มตายและสาบสูญไปจากโรคระบาด, นักท่องเที่ยวสวมใส่หน้ากากป้องกันโรค โครงการภาพถ่ายนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พื้นที่ สถานการณ์ และผู้คน อันเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกันไป ในการถ่ายทอดเรื่องราว และประวัติศาสตร์ที่ตกทอดจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดินแดนที่ถูกแบ่งแยกอันเกิดจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง (จุงฮวานเคยเดินทางสำรวจทั่วคาบสมุทรเกาหลีได้อย่างเสรี โดยที่ไม่มีคำว่า เหนือ-ใต้ ในยุคโชซอน แต่ดูจะเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับชาวเกาหลีใต้อย่าง คิม ฮงฮี ในยุคปัจจุบัน [8])
การที่ผู้คนต่างพยายามดิ้นรนใช้ชีวิตแบบปกติในช่วงที่สถานการณ์โควิดยังแพร่ระบาด [10] สถานที่ต่าง ๆ ถูกปล่อยทิ้งร้างอันเนื่องมาจากแผนการพัฒนาเมืองที่ผิดพลาด และผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมืองของสองเกาหลี อย่างไรก็ดี โครงการการสำรวจครั้งใหม่ของ คิม ฮงฮี ได้ชี้ให้เห็นถึงเส้นทางแห่งความหวังของผู้คน ทั้งในเรื่องการอยู่รอดให้ได้ในสภาวะวิกฤติ เลยไปถึงความหวังทางการเมืองอันแสนยาวไกลอย่างการรวมชาติเกาหลี (Korean Reunification) [11] ตลอดจนเน้นย้ำเรื่องเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในรูปแบบต่าง ๆ การโอบกอดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยท่าทีที่เปี่ยมด้วยความหวังและไม่ยอมจำนน สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนอาวุธสำคัญของมนุษย์ที่เอาไว้ต่อกรกับความร้ายกาจของโรคร้ายและการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบันที่ยากจะทางหลีกเลี่ยงได้
เชิงอรรถ

[1] งานของฟรีดแลนเดอร์มีความเป็นภาพถ่ายเชิงความคิดเด่นชัดกว่าช่างภาพในรุ่นเดียวกันอย่าง ไดแอนด์ อาร์บัส (Diane Arbus) ที่เป็นเชิงสารคดี หรือ แกร์รี่ วิโนแกรนด์ (Garry Winogrand) ที่เป็นภาพสตรีท

[2] Bangkok in Black & White 1985-1999, The Americans 1955-1957

[3] ผู้เสียชีวิตจำนวน 7,076,993 คน, ข้อมูลจาก WHO, Number of COVID-19 deaths reported to WHO (cumulative total), เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2024

[4] มาตรการปิดเมืองในช่วง COVID-19 คือการจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ โดยรวมถึงการห้ามออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ปิดสถานที่สาธารณะ จำกัดการเดินทาง และกำหนดเคอร์ฟิวในบางพื้นที่ กรณีประเทศไทยมีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน (มีนาคม 2020) จำกัดการเดินทาง ปิดห้างฯ ร้านอาหาร และมีเคอร์ฟิวช่วงกลางคืน

[5] World Press Photo of the Year, 2021 Photo Contest, The First Embrace, แมดส์ นิสเซ่น (Mads Nissen)

[6] อนวัช ใช้ทักษะของการถ่ายภาพสินค้าและอาหาร โดยเลือกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิต สังคม การเมือง และเรื่องต่าง ๆ ของไทยตลอด 365 วัน และเผยแพร่ทางอินสตาแกรม, เคยจัดแสดงทั้งที่ คัดมันดู โฟโต้ แกลลอรี่ และ VS gallery

[7] ศิรวิทย์ เคยจัดแสดงนิทรรศการเดียวชื่อ รังสีคู่ขนาน (Parallel Rays) เมื่อปี 2022 ที่ CTypeMag แกลลอรี่ ย่านพระโขนง (ปัจจุบันปิดตัวลง)

[8] ศิรวิทย์ และ ศิริน ทั้งคู่เคยจัดนิทรรศการร่วมกันในชื่อ Dear Customer, Ticket Sold are Non-Refundable เมื่อปี 2023 ฐิตพัฒน์ ฉิมประเสริฐ เป็นภัณฑารักษ์ จัดแสดงที่ Window Gallery and Cafe แถวสะพานหัวช้าง (ปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่แพร่งภูธร)

[9] ถนนสายหลักของเกาหลีที่เชื่อมต่อปาจู และมกโพไปตามแนวชายฝั่งตะวันตกและนำไปสู่ ปูซานคือทางหลวงหมายเลข 77 ถนนสายหลักเริ่มต้นที่ปูซาน และเชื่อมต่อกับโกซอง คังวอน-โด ไปตามแนวชายฝั่งตะวันออกเรียกว่าทางหลวงหมายเลข 7 ทั้งสองทางหลวงเชื่อมต่อเส้นทางที่เริ่มต้นที่ปาจูและสิ้นสุดที่โกซอง เส้นทางนี้คือ 'Route 777'

[10] ชาวเกาหลีใต้เดินทางเข้าไปฝั่งเหนือยากมาก จากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ แต่จะมีบางกรณีที่ทำได้ อาทิ การเดินทางเยี่ยมญาติ, เพื่อกิจกรรมทางกีฬา หรือวัฒนธรรม

[11] Route 777 สร้างในปี 2021 ซึ่งอยู่ในช่วงแพร่ระบาด COVID-19 ระรอกใหม่ของเกาหลีใต้

[12] Korean Reunification หมายถึงกระบวนการรวมเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ให้เป็นประเทศเดียวกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของทั้งสองชาติหลังการแบ่งแยกตั้งแต่ปี 1945 แม้ว่าจะมีความพยายามในการเจรจาและความร่วมมือ เช่น เขตอุตสาหกรรมแกซองและการพบปะผู้นำ แต่ความแตกต่างทางการเมือง เศรษฐกิจ และอุดมการณ์ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ

After Sunday Photo Work
02/06/2025

After Sunday Photo Work

Sunday Photo Work
11/05/2025

Sunday Photo Work

Theatres -โรงมหรสพ (2019) A photo series by Akkara Naktamna
17/04/2025

Theatres -โรงมหรสพ (2019)
A photo series by Akkara Naktamna

ดาวอังคารสีชมพู - Pink MARS https://www.ctypemag.com/featuredwork/Pink-Marsพิงค์แมนถูกพบว่าตายกลางกรุงนิวยอร์ค ประเทศสหร...
12/04/2025

ดาวอังคารสีชมพู - Pink MARS
https://www.ctypemag.com/featuredwork/Pink-Mars

พิงค์แมนถูกพบว่าตายกลางกรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2561 ร่างของเขาอยู่ในถุงบรรจุศพสีชมพูช็อคกิ้งพิงค์สีเดียวกับรถเข็นช็อปปิ้งที่วางอยู่ใกล้ ๆ วิญญาณของพิงค์แมนเปลี่ยนตัวเองเป็นข้อมูลดิจิทัลแล้วถ่ายโอนเข้าไปในโลกปัญญาประดิษฐ์ (AI) เวียนว่ายและเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะการก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ไม่เคยเชื่อในภาวะโลกร้อน และมีความฝันที่อยากจะเห็นนักบินอวกาศชาวอเมริกันไปปักธงชาติสหรัฐบนดาวอังคารอันเป็นความฝันเดียวกันกับ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกที่อยากจะพิชิตดาวอังคารให้ได้เช่นเดียวกัน

เมื่อมนุษย์บ้าอำนาจและเต็มไปด้วยความโลภมาร่วมมือกันถลุงทรัพยากรให้หมดโลก แล้วหวังว่าจะไปถลุงต่อบนดาวเคราะห์ดวงใหม่ นับเป็นความโหดร้าย โง่เขลา และไร้สำนึกอย่างสิ้นเชิง พิงค์แมนจึงอาสาเดินทางไปสำรวจดาวอังคารล่วงหน้า สร้างภาพว่าเราจะเห็นอะไรเมื่อได้ไปเหยียบบนดาวเคราะห์สีแดง พิงค์แมนแตกตัวเองออกไปเป็นหลายร่างเหมือนอะมีบ้า และ “Pink Men” ได้ถือกำเนิดขึ้น ท่องเที่ยวไปเหมือนซอมบี้หรือหุ่นยนต์ที่ไม่สนใจอะไรนอกจากออกเดินช้อปปิ้งราวกับคนบ้าไร้สติ

ดาวอังคารสีชมพู คือนิทรรศการภาพถ่ายและวิดีโอประดิษฐ์ ที่ผลิตภาพออกมาจากถ้อยคำ (Prompt) ผนวกกับข้อมูลขนาดมหึมา (Big Data) จากระบบปัญญาประดิษฐ์, มานิต ศรีวานิชภูมิ ส่งเหล่า Pink Men ให้เดินทางไปไวกว่าเทคโนโลยีอวกาศในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงการบ้าบริโภคอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ได้เข้าไปแพร่พันธุ์บนดาวอังคาร จากดาวเคราะห์ที่เคยเป็นสีแดง ถูกแปลงสภาพจนกลายเป็นดาวเคราะห์สีชมพูช็อคกิ้งพิงค์

มานิต ศรีวานิชภูมิ เป็นศิลปินภาพถ่ายแถวหน้า และเป็นผู้บุกเบิกวงการภาพถ่ายร่วมสมัยไทยมากกว่า 30 ปี

"ดาวอังคารสีชมพู"
นิทรรศการภาพถ่ายโดย มานิต ศรีวานิชภูมิ Manit Sriwanichpoom
ภัณฑารักษ์ อัครา นักทำนา Akkara Naktamna

คัดมันดู โฟโต้ แกลลอรี่
(เปิดเฉพาะวันอังคาร, พฤหัสบดี, และเสาร์)
3 พฤษภาคม – 21 มิถุนายน 2568
[เปิดนิทรรศการ เสาร์ที่ 3 พฤษภาคม เวลา 18.30 – 21.00 น.]
Pink Man was found dead in New York City, USA, in 2018. His body was placed in a shocking pink body bag, the same color as the shopping cart nearby. His spirit transformed into digital data and transferred itself into the world of artificial intelligence (AI), observing the changes of the world—especially the return of Donald Trump as U.S. President. Trump, who never believed in global warming, shared a dream with Elon Musk, the world’s richest man: to see American astronauts plant the U.S. flag on Mars.

As power-hungry and greedy humans join forces to consume Earth’s resources, hoping to continue their exploitation on a new planet, their actions reveal a terrifying, foolish, and completely irresponsible mindset. Pink Man volunteered to journey to Mars ahead of them, creating visions of what we might see when we arrive on the red planet. He split himself into something like an amoeba, “Pink Men” emerged—wandering like zombies or mindless robots, obsessed only with shopping in a crazed consumerist rush.

Pink MARS is a photographic and AI-generated video exhibition that transforms words (prompts) into images, integrating Big Data through AI. Manit Sriwanichpoom sends his Pink Men to travel beyond the limits of current space technology, illustrating humanity’s insatiable consumption as it spreads to Mars. Once a red planet, Mars is transformed into a shocking pink world of consumerist excess.

Manit Sriwanichpoom is a leading photographic artist and a pioneer of contemporary photography in Thailand for over 30 years.

Pink Mars
A photographic exhibition by Manit Sriwanichpoom
Curated by Akkara Naktamna

Kathmandu Photo Gallery
(Only Tue, Thu, and Sat)
3 May – 21 June 2025
[Opening party Sat 3 May, 6.30 – 9.00 pm.]

10 ปีก่อน (2015) เคยจัดเวิร์คช็อปการถ่ายภาพสตรีทครั้งแรกกับ Tavepong Pratoomwong  ครบรอบสิบปี กลับมาจัดอีกครั้งเลยใช้ชื่...
10/03/2025

10 ปีก่อน (2015) เคยจัดเวิร์คช็อปการถ่ายภาพสตรีทครั้งแรกกับ Tavepong Pratoomwong ครบรอบสิบปี กลับมาจัดอีกครั้งเลยใช้ชื่อว่า “สิบปีมีครั้ง สตรีทโฟโต้เวิร์คช็อป” ที่จะมาแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพสตรีท คำจำกัดความที่หลากหลาย รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกมุมมองในการถ่ายภาพ, วิธีจัดการภาพถ่ายเพื่อนำเสนอ (photo editing), การสนับสนุนให้พัฒนางานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำโครงการภาพถ่าย, โฟโต้บุ๊ค, นิทรรศการ ฯลฯ จนสุดท้ายสร้างงานชิ้นใหม่ออกมา และแสดงงานร่วมกันทางออนไลน์และออฟไลน์

รายละเอียด
- รับจำนวน 5 คน
- สร้างงานภาพถ่ายอย่างต่อเนื่อง (ระดับกลางขึ้นไป)
- สถานที่ Alphabet Cafe&Bar
- เรียน 29 มีนาคม, 5 เมษายน และ 19 เมษายน 2025
- ค่าสมัคร 20,000 บ.
- ส่งผลงานภาพถ่ายที่เป็นภาพเดี่ยวหรือภาพชุด เข้ามาได้ที่ [email protected]

เกี่ยวกับผู้สอน

อัครา นักทำนา
ศิลปินและภัณฑารักษ์ภาพถ่าย / ผู้ก่อตั้ง CTypeMag
https://www.akkaranaktamna.com

ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์
ช่างภาพสตรีทที่มีผลงานมากมายระดับนานาชาติ
http://www.tavepong.com

Metamorphosisโดย เคลาเดีย ฟูกเก็ตติ (Claudia Fuggetti)https://www.ctypemag.com/featuredwork/Metamorphosis_Claudia-Fugget...
10/02/2025

Metamorphosis
โดย เคลาเดีย ฟูกเก็ตติ (Claudia Fuggetti)
https://www.ctypemag.com/featuredwork/Metamorphosis_Claudia-Fuggetti
การเปลี่ยนสัณฐาน* (Metamorphosis) สะท้อนถึงช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านและการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับเราเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือธรรมชาติ โดยอ้างอิงจากนักปรัชญาด้านนิเวศวิทยา เดวิด เอบราม (David Abram):

"ผมคิดว่ามันเป็นประโยชน์ที่จะหาวิธีรับมือกับวิกฤติทางนิเวศวิทยาในฐานะของวิกฤตของการรับรู้ วิกฤตในวิธีที่เรารับประสบการณ์โลกภายนอกผ่านร่างกายของเรา เสียง กลิ่น และความรู้สึกต่าง ๆ มันดูเหมือนว่าเราจะไม่สามารถรับรู้ความเป็น ป่าไม้ ภูเขา หรือแม่น้ำว่ามีชีวิตเช่นเดียวกับที่เราเป็นได้อีกต่อไป"

โครงการนี้เชิญชวนให้เราพิจารณาธรรมชาติใหม่ว่าเป็นสิ่งมีชีวิต การแทรกแซงด้วยสีในภาพถ่ายแสดงถึงการมีอยู่ของชีวิตที่ยังคงดำรงอยู่แม้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม สีที่ประดิษฐ์ออกมาเน้นให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ: ความเป็นจริงถูกมองว่ามีหลายแง่มุมและเปลี่ยนแปลงได้ เปราะบางและมีข้อจำกัด การมีอยู่และเป็นไปของมนุษย์ถูกหยุดให้อยู่ในภาวะแห่งการใคร่ครวญและไตร่ตรอง เพื่อพยายามให้เกิดการสร้างความเชื่อมโยงใหม่กับธรรมชาติ สัญลักษณ์ของสีแสดงออกถึงศักยภาพในการฟื้นฟูและเต้นไหวที่อยู่ในใจกลางของโลก สร้างสรรค์ภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ท่ามกลางความท้าทายของยุคสมัยแอนโทรโปซีน** (Anthropocene) ธรรมชาติแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการวิวัฒน์และเปลี่ยนแปลงที่ฝังลึกอยู่ในตัวเองตั้งแต่แรกเริ่ม

* การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง โครงสร้าง อย่างก้าวกระโดด เช่น ลูกอ๊อดกลายเป็นกบ เป็นต้น
** ช่วงเวลาที่การดำรงอยู่มนุษย์ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลกอย่างมีนัยยะสำคัญ

----

Metamorphosis represents the historical period we are living in, a phase of transition and change that concerns not only us but also, above all, nature. Quoting the ecological philosopher David Abram:

"I think it is useful to approach the issue of the ecological crisis as a crisis of perception, a crisis in the way we experience, with our bodies, sounds, smells, the world around us. It seems that we no longer perceive forests, mountains, rivers as living as we do."

The project invites viewers to reconsider nature as a living entity. Chromatic interventions in the photographs symbolize the presence of life that persists even in adverse environmental conditions. However, artificial colors simultaneously highlight the consumption of natural resources: reality is perceived as manifold and changeable, fragmented and limited. Human presence is suspended, contemplative, and meditative, in an attempt to establish a new connection with the natural elements. The symbolism of colors expresses the regenerative and pulsating potential at the heart of the Earth, constructing new imagery. Amid the challenges of the Anthropocene, nature demonstrates an innate capacity for evolution and metamorphosis.

Address

CTypeMag

Opening Hours

13:00 - 18:00

Alerts

Be the first to know and let us send you an email when CTypeMag posts news and promotions. Your email address will not be used for any other purpose, and you can unsubscribe at any time.

Contact The Business

Send a message to CTypeMag:

Shortcuts

  • Address
  • Opening Hours
  • Alerts
  • Contact The Business
  • Claim ownership or report listing
  • Want your business to be the top-listed Media Company?

Share